กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร – งานวิจัยล่าสุดพบ เต่ามะเฟืองหลังจากวางไข่บริเวณหาดฝั่งในประเทศเฟรนซ์เกียนา ในทวีปอเมริกาใต้เสร็จ พวกมันต้องเดินทางไกลขึ้นถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้  เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเต่ากำลังเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นและกระแสของมหาสมุทรที่เปลี่ยนไปอย่างเฉียบพลัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

เมื่อเต่าต้องเดินทางไกลขึ้น พวกมันจำเป็นต้องเอาพลังงานที่สะสมไว้มาใช้มากขึ้นส่งผลต่อเนื่องให้มีแนวโน้มที่จะวางไข่น้อยลง กระทบต่อจำนวนประชากรเต่าทะเลให้ลดลงตามไปด้วย เห็นได้จากจำนวนของไข่เต่ามาในประเทศเฟรนซ์เกียนา มีจำนวนลดลงถึง 100 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงทศวรรษ 1990  โดยปัจจุบันมีรังไข่เต่าน้อยกว่า 200 รัง เมื่อเทียบกับช่วงปี 1990 ที่มีถึง 50,000 รัง

วิล แมคคัลลัม ผู้ประสานงานรณรงค์ปกป้องมหาสมุทรของกรีนพีซ กล่าวว่า “แม้ว่าเต่าทะเลจะสามารถรอดจากการสูญพันธุ์ในยุคไดโนเสาร์ แต่พวกมันจะไม่รอดจากการสูญพันธุ์ด้วยน้ำมือของมนุษย์  กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์กระตุ้นให้ประชากรของเต่าทะเลทั่วโลก 6 ใน 7 ชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์และหากเราไม่ลงมือทำอะไร สถานการณ์ของเต่าทะเลจะเลวร้ายลงมากกว่านี้”

“ทั้งนี้ การตายของเต่า 1 ใน 10 ที่เราติดตาม พบว่าเต่าตัวนั้นตายห่างจากรังเพียง 120 กิโลเมตร เนื่องจากเข้าไปติดอวนประมงที่ถูกทิ้งไว้  ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจว่ามนุษย์กำลังทำร้ายท้องทะเล เราต้องปกป้องมหาสมุทรของเราด้วยเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล เพื่อเป็นสถานที่ที่เต่าและสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ จะสามารถแพร่พันธุ์และหาอาหารได้อย่างปลอดภัย  โดยสนธิสัญญาทะเลหลวงฉบับใหม่จะมีผู้นำจากทั่วโลกมาเจรจาลงความเห็นกันที่องค์การสหประชาชาติในเร็วๆ นี้”

ทีมนักวิจัยนำโดยดาเมียน ชีวาลลีเยร์ ได้ติดเครื่องติดตามบนเต่าเพศเมียจำนวน 10 ตัวที่มาทำรังบนชายหาดยาลีมาโป (Yalimapo) และชายหาดเรอมีร์-มงโชลี (Remire-Motjoly) ในประเทศเฟรนซ์เกียนา เพื่อติดตามการย้ายถิ่นของพวกมันซึ่งผ่านบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ โดยพบว่า เต่าบางตัวว่ายไปไกลถึงแคนาดาและฝรั่งเศสเพื่อไปหาแหล่งอาหารใหม่ ทีมนักวิจัยตั้งชื่อให้กับเต่าบางตัว โดยหนึ่งในชื่อเต่าที่นักวิจัยตั้งชื่อคือ ฟรีด้า อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิจับพบซากศพของฟรีด้าบนชายหาดที่ประเทศซูรินาม ห่างจากจุดที่พรีดาเริ่มเดินทางไป 120 กิโลเมตร โดยสาเหตุการตายมาจากติดกับอวน ทำให้ขาดอากาศหายใจ

เต่ามะเฟืองอพยพถิ่นฐานโดยเริ่มจากทางตอนเหนือตามกระแสน้ำเย็นไปยังแหล่งที่มีแมงกระพรุน ซึ่งเป็นอาหารของเต่า แต่การที่มหาสมุทรมีอุณหภูมิอุ่นขึ้นและกระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง ทำให้เต่าทะเลจำเป็นต้องเดินทางไกลขึ้นเพื่อไปยังแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์

เราสามารถช่วยกันปกป้องเต่าทะเลและสัตว์ทะเลทุกชนิด ผ่านการรณรงค์เพื่อให้โลกมีสนธิสัญญาทะเลหลวงฉบับใหม่  ซึ่งจะปูทางไปสู่เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก ที่จะครอบคลุมพื้นที่มหาสมุทรถึง 30% ของมหาสมุทรทั่วโลกภายในปี พ.ศ.2573

ร่วมปกป้องมหาสมุทรเพื่อสัตว์ทะเลร่วมกัน >> https://act.gp/2JDwazY

คลิก เพื่ออ่านข่าวประชาสัมพันธ์ต้นฉบับ