จาการ์ตา, 12 กุมภาพันธ์ 2563- กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และศูนย์วิจัยด้านพลังงานและอากาศสะอาด (Center for Research on Energy and Clean Air : CREA) เผยรายงานวิจัยล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่า มลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งส่วนใหญ่หมายถึง ถ่านหิน, น้ำมัน และก๊าซ เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนประมาณ 4.5 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตในแต่ละปี ทั้งยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3.3% ของจีดีพีโลก โดยรายงานฉบับนี้ถือเป็นรายงานฉบับแรกที่ประเมินมูลค่าความเสียหายของมลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีต่อโลก

“มลพิษทางอากาศเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพและเศรษฐกิจของเรา โดยในแต่ละปี มลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้คร่าชีวิตผู้คนหลายล้านคน เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคภาวะเส้นเลือดอุดตัน, มะเร็งปอด และโรคหอบหืด และทำให้เราสูญเงินมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต่างรู้วิธีที่จะแก้ไข นั่นคือการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ลดละเลิกรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันดีเซลหรือน้ำมันเบนซิน และสร้างระบบขนส่งสาธารณะ พวกเราจำเป็นต้องพิจารณาถึงความเสียหายที่แท้จริงของเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้โลกใบนี้ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราด้วย” มินวู ซัน ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอากาศสะอาดของกรีนพีซ เอเชียตะวันออก กล่าว 

ข้อค้นพบหลัก : 

– ประชากรเด็กประมาณ 40,000 คน โดยเฉพาะในประเทศรายได้ต่ำ เสียชีวิตก่อนวันเกิดครบ 5 ขวบ เพราะเผชิญกับมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 จากเชื้อเพลิงฟอสซิล

– ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ผลผลิตจากกระบวนการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลของรถยนต์ โรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตทั้งหลาย มีส่วนทำให้เกิดโรคหอบหืดในเด็กประมาณ 4 ล้านคนต่อปี โดยประชากรเด็กราว 16 ล้านคนทั่วโลกต้องใช้ชีวิตอยู่กับโรคหอบหืด โดยมีสาเหตุมาจากไนโตรเจนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล

– มลพิษ PM2.5 จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ถือเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการลาป่วย ราว 1,800 ล้านวันต่อปี เทียบกับมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อปีประมาณ 101,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3.15 ล้านล้านบาท)*

– จีนแผ่นดินใหญ่ สหรัฐอเมริกา และอินเดีย แบกรับความเสียหายทางเศรษฐกิจของมลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลสูงที่สุดในโลก โดยมูลค่าความเสียหายของจีนแผ่นดินใหญ่คิดเป็นประมาณ 900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 28.13 ล้านล้านบาท) ต่อปี ขณะที่สหรัฐอเมริกา อยู่ในราว 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี (ราว 18.75 ล้านล้านบาท) ส่วนอินเดีย อยู่ที่ 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี (ราว 4.68 ล้านล้านบาท)

การลดละเลิกการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างสิ้นเชิงจะนำมาซึ่งประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสุขภาพอย่างยิ่ง ซึ่งจากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์โดยองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมสหรัฐ (the United States Environmental Protection Agency) พบว่า ทุกๆ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ลงทุนภายใต้กฎหมายอากาศสะอาด (the United States Clean Air Act : CAA) ให้ผลตอบแทนคืนอย่างน้อย 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ [1] ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารสุขภาพเขตเมือง (Journal of Urban Health) พบว่า การลงทุนทุกๆ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในโครงการวันปลอดรถ (Car-free day) ประจำสัปดาห์ของเมืองโบโกตา ในโคลัมเบีย ให้ผลประโยชน์ทางสุขภาพคิดเป็นมูลค่า 3.20-4.30 ดอลลาร์สหรัฐฯ [2]

“รัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ทั้งหมด ทยอยยุติโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ ลงทุนในระบบขนส่งสาธารณะ และเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผู้คนทั่้วโลกในขณะนี้ต้องการอากาศที่สะอาด และรัฐบาลทุกประเทศต้องลงมือปฏิบัติได้แล้ว” บอนดาน อันดริยานุ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและสภาพภูมิอากาศของกรีนพีซ อินโดนีเซีย กล่าว

หมายเหตุ

[1] ค่าเงินไทยที่ระบุไว้ในรายงาน คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.25 บาท

[2]  บทคัดย่อรายงานอากาศพิษ : ราคาของเชื้อเพลิงฟอสซิล สามารถอ่านได้ที่นี่

[3] บทสรุปรายงานอากาศพิษ : ราคาของเชื้อเพลิงฟอสซิล สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่

[4] รายงาน Toxic Air: The Price of Fossil Fuels (อากาศพิษ : ราคาของเชื้อเพลิงฟอสซิล) ฉบับเต็ม ภาษาอังกฤษ สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทยอีเมล: [email protected] โทร. 081 929 5747

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม