ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 77 กำหนดให้ก่อนการตรากฎหมาย
ทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ได้กำหนดแนวทางให้หน่วยงานรัฐดำเนินการตราร่างพระราชบัญญัติตามหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของการรับฟังความคิดเห็นไว้ว่า ให้หน่วยงานรัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์อย่างน้อย 15 วัน ผลปรากฏว่าหน่วยรัฐจำนวนมากเร่งดำเนินการนำร่างกฎหมายเปิดรับฟังความคิดเห็นด้วยหลักเกณฑ์ขั้นต่ำดังกล่าว โดยไม่สนใจว่าจะเป็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริงหรือไม่

หลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ส่งผลต่อประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบกลับไม่สามารถมีส่วนร่วมต่อร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว  เช่น การรับฟังความคิดเห็นของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา เป็นการขาดการรับฟังความคิดเห็นก่อนกระบวนการร่างกฎหมาย โดยที่รัฐเป็นผู้ร่างกฎหมายอยู่ฝ่ายเดียว และนำมารับฟังความคิดเห็นเมื่อร่างกฎหมายทั้งฉบับเสร็จเรียบร้อยแล้ว และด้วยระยะเวลาแสดงความคิดเห็นที่สั้น ช่องทางการแสดงความคิดเห็นที่แคบ ตลอดจนไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็นในด้านต่างๆ เช่น สภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหาของกฎหมายดังกล่าว  หลักการอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมายที่จะตราขึ้น ความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายขึ้นเพื่อแก้ปัญหานั้น  ประเด็นที่จะรับฟังความคิดเห็นหรือร่างพระราชบัญญัติที่จะรับฟังความคิดเห็น

ดังนั้นกระบวนการร่างกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ….. ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วนั้น สะท้อนถึงความไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย และไม่เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญมาตรา 77

ตามที่มาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ดำเนินการ อันจะมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ ประกอบกับมาตรา 278 ที่ให้หน่วยงานของรัฐที่คณะรัฐมนตรีกำหนดดําเนินการ ให้จัดทําร่างกฎหมายที่จําเป็นตามมาตรา 58 ให้แล้วเสร็จและเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น

เมื่อพิจารณามาตรา 50 ของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ…. ซึ่งกำหนดว่า กรณีที่โครงการหรือกิจการประเภทหรือขนาดใดหรือที่จะจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ใด มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและได้รับความเห็นชอบแล้ว และเป็นมาตรฐานที่สามารถใช้กับโครงการหรือกิจการประเภทหรือขนาดเดียวกันหรือในพื้นที่ลักษณะเดียวกันนั้น และรัฐมนตรีสามารถประกาศกำหนดให้โครงการหรือกิจการ ในทำนองเดียวกันถือปฏิบัติโดยได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ได้ ตลอดจนการให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายนำมาตรการต่างๆ ที่กำหนดไว้สำหรับโครงการหรือกิจการที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปกำหนดเป็นเงื่อนไขในการสั่งอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาต โดยให้ถือเป็นเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎหมายในเรื่องนั้นด้วย

จากที่กล่าวมา มาตรา 50 กลับเป็นการลดทอนสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้แคบลงอย่างเห็นได้ชัดจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นการดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ดำเนินการ กลับลดทอนเหลือเพียงเป็นโครงการหรือกิจการเท่านั้น ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงการดำเนินการของรัฐที่อาจเกิดผลกระทบขึ้น อีกทั้งยังขาดรายละเอียดในการกำกับการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งเป็นการเขียนอำนาจลอยไว้ โดยไม่มีการกำหนดให้ชัดเจน ทั้งนี้ควรจะมีการออกกฎหมายลูกเพื่อรองรับหลักเกณฑ์ต่างๆ และต้องกำหนดรายละเอียดเงื่อนไข เพื่อกำกับการใช้อำนาจรัฐไว้ เพื่อที่จะสามารถใช้สิทธิกระบวนการทางศาลตรวจสอบได้ หากว่าไม่เป็นไปตามที่กฎหมายแม่บทกำหนดไว้ เช่น

  • การไม่เปิดเผยรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ชุมชนได้รับทราบ ซึ่งต้องกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการพิจารณารายงาน EIA ว่าต้องเปิดเผยรายงานให้ชุมชนได้รับทราบด้วย
  • มีการหลบเลี่ยงการทำ EIA เช่น กรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้นกำหนดขนาดที่ต้องจัดทำ EIA  อยู่ที่ขนาด 10 เมกะวัตต์  แต่กลับพบว่าบริษัทผู้ประกอบการหลบเลี่ยงการทำ EIA  โดยยื่นขออนุญาต เป็นขนาด 9.9 เมกะวัตต์ เพื่อหลบเลี่ยงการจัดทำ EIA

ดังนั้น มาตรา 50 ของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. … จึงเป็นการบัญญัติที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

ภาคประชาชน และเครือข่ายองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในนามเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงได้มีข้อเสนอเพื่อให้เป็นมาตรฐานในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1. ระบบของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

เนื่องจากระบบการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. … ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นนั้น กล่าวถึงระบบของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพียงแค่ 2 ระบบคือ การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment- EIA ) และ กระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ( Environmental Health Impact Assessment – EHIA)

ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีข้อสรุปในเรื่องการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment – SEA ) ปรากฏตามผลการรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายดังกล่าวว่าจะดำเนินการตามข้อเสนอการปฏิรูปของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คือใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการปฏิรูป SEA ของประเทศ

ภาคประชาชนเห็นว่าการอาศัยการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีนั้นอาจไม่เพียงพอต่อการนำมาปฏิบัติ จึงเห็นว่า ควรมีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment – SEA ) ที่เป็นการประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสามารถช่วยให้เห็นถึงความเหมาะสมกับพื้นที่และเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ โดยลักษณะของโครงการพัฒนาต้องสอดคล้องกับ SEA ของแต่ละพื้นที่และการเกิดขึ้นของโครงการจะต้องมีการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ก่อนว่าสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่หรือไม่ หากว่าสอดคล้องจึงค่อยมีการจัดทำรายงาน EIA/EHIA หากไม่สอดคล้องต้องไม่ดำเนินการโครงการนั้น

นอกจากนั้นแล้วภาคประชาชนเห็นว่าต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อเป็นกรอบหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังต่อไปนี้

  • ต้องพิจารณาถึงทางเลือกอย่างรอบด้านโดยมีการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนโดยรวมของแต่ละทางเลือก ทั้งที่เป็นต้นทุนด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านสุขภาพ
  • ต้องศึกษาประเมินผลกระทบ และความเสียหาย โดยรวมถึงการประเมินต้นทุนภายนอก (Externality) ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ และคิดรวมคุณค่าในเชิงระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ต้นทุนการให้บริการเชิงนิเวศ (Ecological Service) ต้องเอาต้นทุนภายนอกนี้ไปรวมกับต้นทุนภายใน และใช้ประกอบการประเมินความคุ้มค่าของโครงการ
  • หากพื้นที่ที่ดำเนินโครงการนั้นอยู่ในพื้นที่ระบบนิเวศเฉพาะ ต้องออกแบบการศึกษาเป็นการเฉพาะสอดคล้องกับความจำเพาะของระบบนิเวศ เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ (Ramsar Site)
  • ต้องกำหนดแยกสัญญาว่าจ้างการกำหนดขอบเขตการศึกษาและแนวทางการประเมินผลกระทบโดยสาธารณะ (Public Scoping) กับสัญญาว่าจ้างการดำเนินการประเมินผลกระทบ (Assessment) ออกจากกัน เพื่อนำผลจากการทำ Public Scoping มากำหนดเป็นสัญญาว่าจ้างการประเมินผลกระทบที่เหมาะสมและมีงบประมาณดำเนินการเพียงพอ โดยจะต้องให้มีกลไกพิจารณาเห็นชอบขอบเขตการศึกษาและแนวทางประเมินผลกระทบโดยสาธารณะก่อนที่จะมีการดำเนินการประเมินผลกระทบต่อไป

ข้อเสนอของภาคประชาชนดังกล่าวนั้นมีความสอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. …. ของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ฉบับคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม) ที่ได้กำหนดไว้ในหมวดที่ 6 การประเมินสิ่งแวดล้อม ส่วนที่ 1 การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ อันเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ได้เสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำกฎหมาย ประกอบกับร่างมติของสมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 5 (มติ 6 ผนวก 1 วันที่ 20 ธันวาคม 2555) ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดทำขึ้นโดยผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนจากหลายภาคส่วน โดยเสนอให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนก่อนให้ความเห็นชอบนโยบายและแผนด้านการพัฒนา และมีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยเพิ่มเติมเรื่องการจัดทำรายงาน SEA และความเชื่อมโยงระหว่างการทำ SEA กับ EIA/EHIA

2. มีการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) ของพื้นที่

ภาคประชาชนเห็นว่า ควรมีการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับ(Carrying Capacity) ของพื้นที่ ในการศึกษาข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะด้านพื้นที่ ระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่  ตลอดจนถึงการแก้ไขผลกระทบหรือการเยียวยา โดยคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหากมีโครงการหรือกิจกรรมเพิ่มเข้าไปในพื้นที่จะส่งผลต่อศักยภาพในการรองรับของพื้นที่อย่างไร ซึ่งเห็นควรมีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดรับกับศักยภาพของพื้นที่และการพัฒนาที่ยั่งยืน อันเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ได้เสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำกฎหมาย ประกอบกับร่างมติของสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 5 (มติ 6 ผนวก 1 วันที่ 20 ธันวาคม 2555) ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดทำขึ้น

และปรากฏว่าในมาตรา 53 วรรค 4 ของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. …. นั้นเป็นการนำคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2559 มาบัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าว ซึ่งกำหนดว่า ในกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการดำเนินโครงการหรือกิจการด้านการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล ที่อยู่อาศัย หรือความมั่นคงทางพลังงาน ในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามวรรคหนึ่ง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการนั้น อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไม่ได้

การกำหนดไว้เช่นนี้เข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 58 ที่กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียของประชาชนก่อน เพื่อนำมาประกอบในการพิจารณาการดำเนินการหรืออนุญาต รวมทั้งเป็นการลดทอนไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกระบวนการขั้นตอนของ  EIA  ให้ครบถ้วนก่อนการดำเนินการใดๆ ตามหลักป้องกันไว้ก่อน(Precautionary Principle) จึงเห็นว่าสมควรตัดมาตราดังกล่าวออกจากร่างกฎหมายฉบับนี้

3. องค์กรบริหารจัดการระบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมควรแยกเป็นหน่วยงานอิสระ
หรือหน่วยงานกลาง

ในการจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะมีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการในการพิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และฉบับร่างกฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นนั้น

เห็นว่าควรกำหนดบทบัญญัติในเรื่องการจัดจ้างผู้จัดทำรายงานฯ โดยมีการตั้งหน่วยงานขึ้นใหม่
ให้มีหน้าที่จัดจ้างผู้จัดทำรายงาน (ไม่ใช่การว่าจ้างโดยเจ้าของโครงการตามที่ปฏิบัติในปัจจุบัน)  ภาคประชาชนจึงมีข้อเสนอเพิ่มเติมต่อไปนี้

  • กระบวนการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

– ผู้จัดทำรายงานต้องเป็นหน่วยงานกลางที่มีการยอมรับร่วมกัน
– ความสัมพันธ์ของเจ้าของโครงการและบริษัทผู้จัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต้องแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง
– มีการจัดทำรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นโดยการมีส่วนร่วม และแสดงถึงผลการพิจารณาข้อคิดเห็นของประชาชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย
– กำหนดขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นให้เป็นไปโดยชอบธรรมโดยมีคณะกรรมการตรวจสอบควบคุมดูแลในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นโดยเฉพาะ
– กำหนดให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงขั้นตอนการทำรายงานฯ ได้ตลอดทั้งในระยะก่อนเริ่มดำเนินการ ระหว่างดำเนินการ และหลังจากดำเนินการ

  • คณะกรรมการผู้ชำนาญการ

– คณะกรรมการผู้ชำนาญการในการพิจารณาอนุมัติรายงานจะต้องมีองค์ประกอบที่เท่าเทียมกันระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ และชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ และอาจมีคณะกรรมการผู้ชำนาญการในระดับพื้นที่ เช่น คณะกรรมการผู้ชำนาญการในระดับจังหวัด โดยจะมีความสอดคล้องตามร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. …. ของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ฉบับคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม) ที่ได้เสนอเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ไว้

ข้อสนับสนุนของภาคประชาชน

ภาคประชาชนเห็นด้วยกับการพิจารณาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. … มาตรา 50 ในประเด็นที่กำหนดให้การขอต่ออายุใบอนุญาตสำหรับโครงการหรือกิจการที่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นหลักการเดิมที่มีอยู่ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 อยู่แล้ว (มาตรา 49 วรรคท้าย) รวมถึงหลักการสำคัญในขั้นตอนการออกประกาศกระทรวงตามร่างมาตรานี้ ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย

และเห็นด้วยกับร่างมาตรา 59 ที่กำหนดให้รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความเห็นจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติหรือได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการสามารถนำไปใช้ได้เป็นระยะเวลาห้าปี หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวต้องมีการทบทวนความเหมาะสมก่อนนำไปใช้

ภาคประชาชนเห็นว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมและควรสนับสนุนให้นำไปใช้ในทางปฏิบัติต่อไป