อัมสเตอร์ดัม, เนเธอร์แลนด์ – แม้ว่าจะมีการประกาศจากผู้นำจากหลายประเทศในการประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศ แต่นั่นก็ยังไม่แก้ไขปัญหาระดับน้ำทะเลที่กำลังสูงขึ้น น้ำแข็งละลาย และการตัดไม้ทำลายป่า ผู้นำจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร จีน แคนาดา และญึ่ปุน ต่างก็ให้คำสัญญาใหม่ ๆ ในการป้องกันวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่พวกเราก็ยังไม่เห็นแผนการดำเนินงานที่เป็นรูปเป็นร่างและเส้นทางที่ชัดเจนที่จะทำตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) นั่นคือการควบคุมอุณหภูมิพื้นผิวโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
เจนนิเฟอร์ มอร์แกน ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ สากล กล่าวว่า
ผู้นำประเทศยังหลบเลี่ยงความจริงของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ พวกเขามีศักยภาพที่จะลงมือทำแต่ยังลังเลที่จะหาทางออกในการป้องกันวิกฤตสภาพภูมิอากาศและทำให้อุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เหล่าผู้นำทำให้ตัวพวกเขาเอง ประชาชน และโลกต้องผิดหวังโดยไม่ทำตามข้อตกลงปารีส เรารอการลงมือทำที่มุ่งมั่นมานานเกินไปแล้ว และผู้นำเหล่านั้นจะต้องไม่ปล่อยให้เรารอถึงการประชุมสุดยอดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (COP26) ที่จะถึงนี้ สิ่งที่จำเป็นและเร่งด่วนคือการลงมือปกป้องสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืนและเป็นธรรม เปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด และท้ายสุดคือต้องมีการปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติ ซึ่งเป็นเกราะป้องกันวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่สำคัญที่สุดของโลกใบนี้
โครงการพันธมิตรด้านการเงินที่สนับสนุนธุรกิจการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (The Net-Zero Banking Alliance) เป็นการริเริ่มอย่างไม่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในข้อผิดพลาดที่เห็นคือเป้าหมายของธุรกิจนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องล้อไปกับข้อตกลงปารีสหรือการทำธุรกรรมนอกงบดุล เช่น การรับประกันภัย ผู้มีอำนาจออกกฎหมายจะต้องเปลี่ยนแปลงภาคธนาคารและการเงินให้หยุดการฟอกเขียว แล้วให้ความสำคัญกับสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับแรก
เจเน็ต เรดแมน ผู้อำนวยการการรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า
“ขณะที่พวกเรากระตือรือร้นที่อยากให้ประธานาธิบดีไบเดนนำสหรัฐเข้าร่วมกับประชาคมโลกในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่จากคำมั่นสัญญา เราไม่เห็นความเป็นผู้นำของการลงมือปกป้องสภาพภูมิอากาศและความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ วิทยาศาสตร์และกระบวนการยุติธรรมเรียกร้องให้เราต้องหยุดการลงทุนด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล ทำแผนลดการขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิล และลงทุนในภาคแรงงานและชุมชน เพื่อให้เราค่อย ๆ เดินทางเข้าสู่เศรษฐกิจพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ การฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมคือการที่โจ ไบเดนจะต้องปลดแอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล”
หลี่ ซัว เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสภาพภูมิอากาศและนโยบายพลังงาน กรีนพีซ เอเชียตะวันออก กล่าวว่า
“นับว่าเป็นเรื่องดีที่ได้เห็นความพยายามร่วมมือกันระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เอเชียตะวันออกได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่สำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ด้วยเงื่อนไขภายในประเทศของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เร็วขึ้นทำให้จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จำเป็นต้องมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่ทะเยอทะยานก่อนที่การประชุม COP26 จะมาถึง สามประเทศที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงระดับโลก ต้องสนับสนุนประเทศที่กำลังพัฒนาเพื่อที่จะมีการขยายธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนที่มากขึ้นและยกเลิกการใช้ถ่านหิน”
คีธ สจ๊วต นักยุทธศาสตร์อาวุโสด้านพลังงาน กรีนพีซ แคนาดา กล่าวว่า
“ถึงแม้ว่าแคนาดาเป็นประเทศที่ร่ำรวย แต่เป้าหมายและความพยายามที่จะลงมือปกป้องสภาพภูมิอากาศนั้นกลับไม่ท้าทายเทียบเท่าประเทศอื่น ๆ หนำซ้ำยังน้อยกว่าที่สหรัฐฯ ได้เสนอมาด้วยซ้ำ เป้าหมายที่ประธาธิบดีทรูโดเสนอมีความทะเยอทะยานน้อยกว่าที่นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศต้องการ ทรูโดไม่ได้ให้คำมั่นในการลดและเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศและนอกประเทศ เขาควรที่จะเสนอการลดการปล่อยก๊าซอย่างน้อยร้อยละ 60 ให้ได้ในปีพ.ศ. 2573 (โดยคำนวนจากระดับที่ปลดปล่อยในปีพ.ศ. 2548) และนอกจากการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว รัฐบาลจะต้องวางแผนการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรมให้แก่แรงงาน ในช่วงที่กำลังลดและเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลด้วย”
ฟาเบียอานา อัลเวส ผู้ประสานงานด้านสภาพอากาศและความเป็นธรรม กรีนพีซ บราซิล
“ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ควรรับฟังผู้นำชนพื้นเมือง อดีตรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของบราซิล และกลุ่มต่าง ๆ เกือบ 200 กลุ่มที่ไม่ลงนามในข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมใด ๆ กับประธานาธิบดีโบลโซนาโร คำมั่นสัญญาของโบลโซนาโรที่จะไม่ลงมือจัดการการตัดไม้ทำลายป่าอย่างผิดกฎหมายจนกว่าจะถึงปีพ.ศ. 2573 ไม่เพียงแค่เป็นภัยคุกคามต่อการมีสภาพภูมิอากาศที่ปลอดภัย แต่ยังทำให้เขาไม่ได้รับความไว้วางใจเนื่องจากเขาได้รื้อถอนกฎหมายที่เอื้อให้เกิดการปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและป้องกันการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมในบราซิล เขาเพิ่มความมุ่งมั่นในการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปีพ.ศ. 2593 แต่นโยบายของเขาเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการตัดไม้ทำลายป่าและการเกิดไฟป่าในแอมะซอนเกิดขึ้นเป็นประวัติการณ์ โบลโซนาโรยังให้ความสำคัญกับตลาดคาร์บอนว่าเป็นทางออกโดยให้ธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิลมีวิธี “ชดเชย” มลพิษที่พวกเขาปล่อยด้วยการปลูกป่าทนแทน แทนที่จะบอกให้พวกเขาลดการปล่ายก๊าซคาร์บอน”
เคท บลาโกเยวิค หัวหน้าฝ่ายสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ สหราชอาณาจักร กล่าวว่า
“การประชุมสุดยอดผู้นำครั้งนี้มีเป้าหมายมากกว่าการแข่งขันยิงธนู ความทะเยอทะยานระดับโลกยังคงเป็นสิ่งจำเป็นหากเราต้องการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศในช่วงเวลาอันสำคัญเช่นนี้ เป้าหมายจะไม่นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน นั่นต้องมีการบังคับใช้นโยบายและมีเงินสนับสนุน และนั่นคือจุดที่โลกทั้งใบยังคงมีอุปสรรค ประธานาธิบดีบอริส จอห์นสันอาจเดินออกไปจากการประชุมสุดยอดครั้งนี้ด้วยความพอใจ โดยที่สหราชอาณาจักรยังคงอยู่ในอันดับต้น ๆ ของประเทศที่มีแต่คำพูดที่สวยหรู แต่ยังคงสนุกสนานกับการขยายสนามบินหลายแห่ง การขุดเจาะน้ำมันและก๊าซเพิ่มเติมและการสร้างเหมืองถ่านหินที่ใหม่ เขายังไม่มีแผนการที่น่าเชื่อถือในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนแต่กลับมีงบจัดสรรหลายหมื่นล้านปอนด์สำหรับการสร้างถนนใหม่ หากเรามีโอกาสที่จะให้คำมั่นสัญญาและโน้มน้าวให้คนอื่น ๆ ในโลกทำตามเช่นเดียวกับเรา เราจะต้องเห็นทิศทางและการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายภายในประเทศที่ชัดเจนเสียก่อน”
เมลิทา สตีล ผู้จัดการโครงการ กรีนพีซ แอฟริกา
“ผู้นำชาวแอฟริกันต้องทำมากกว่าแค่ไปนั่งเฉย ๆ ที่การประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศ เราอยากให้พวกเขาจริงจังกับการจัดการกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพตามธรรมชาติในประเทศเพื่อรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทำให้หลายประเทศในทวีปแอฟริกาได้ผลกระทบจากสภาพอากาศที่เลวร้ายและถี่ขึ้นทุกปี การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศหมายถึงการตัดสินใจอย่างยากลำบาก เช่น การห้ามสร้างโครงสร้างพื้นฐานของการขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิลแหล่งใหม่ และทำให้แน่ใจว่าชุมชนท้องถิ่นและชนพื้นเมืองได้รับอำนาจในการปกป้องที่ดินของตนเอง ไม่มีการฟื้นตัวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยปราศจากการบรรเทาหนี้ ดังนั้นผู้นำประเทศของเราอาจผลักดันให้มีการสนับสนุนทางการเงินซึ่งแตกต่างจากผู้นำประเทศอื่น ๆ เนื่องจากประเทศในแอฟริกาได้ปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นผลมาจากประเทศแถบตะวันตก”
Media Contact:
Marie Bout, Global Communications Strategist, Greenpeace International Political Unit, [email protected], +33 (0) 6 05 98 70 42
Greenpeace International Press Desk: [email protected], +31 (0) 20 718 2470 (available 24 hours)