จากการที่บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้นำเสนอแนวทางการจัดการพลาสติก ตามกรอบสนธิสัญญาพลาสติกโลก ผ่านบทความ “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” คืออะไร ทำไมจึงสำคัญ และไทยต้องปรับตัวอย่างไร ?
เนื้อหาในบทความกล่าวถึงการคาดการณ์ถึงการเพิ่มขึ้นของการผลิตพลาสติกที่อาจจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2583 จากรายงานของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) แต่อย่างไรก็ตามเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาวัสดุทดแทนพลาสติก เช่น พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ซึ่งจากรายงาน“Beyond the Label: Debunking the Biodegradable Plastic Myth” ของกรีนพีซ ประเทศไทย ได้ชี้ให้เห็นว่าพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพไม่ใช่คำตอบของการจัดการปัญหาขยะพลาสติกอย่างแท้จริง และถือเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดพลาด (False solution) เพราะไม่สามารถย่อยสลายได้ตามที่กล่าวอ้าง และยังคงเป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอยู่ดี
นอกจากนี้รายงานดังกล่าวยังได้นำบรรจุภัณฑ์แก้วกระดาษ All café ซึ่งเป็นแบรนด์ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ มาทดสอบประสิทธิภาพของการย่อยสลาย โดยทำลองแช่ในน้ำทะเล (135 วัน) แช่ในตู้ปลาที่ใส่น้ำทะเล (161วัน) และฝังกลบในดิน (178วัน) ผลปรากฎว่าบรรจุภัณฑ์มีการย่อยสลายบางส่วนเท่านั้น และพบไมโครพลาสติกจากการทดลองแช่ในน้ำทะเล
พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) เทคโนโลยีรีไซเคิล (Chemical Recycling & Advanced Recycling Technologies) หรือบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เป็นเพียงการเปลี่ยนรูปแบบของปัญหามลพิษพลาสติก หากยังมีการเดินหน้าผลิตพลาสติกอย่างต่อเนื่อง มีการใช้ทรัพยากรและพลังงานจำนวนมหาศาล ปัญหามลพิษพลาสติกก็คงไม่หมดไป
ในฐานะภาคเอกชน เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนให้ “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” มีความเข้มแข็งและมีมาตรการที่มุ่งมั่นในการลดมลพิษพลาสติกได้จริง การปรับตัวของบริษัทเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทาง “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” จึงไม่ควรหยุดอยู่ที่การพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล หรือวัสดุทดแทนพลาสติกเท่านั้น แต่ต้องมุ่งไปที่การลดใช้พลาสติกตั้งแต่ต้นทาง ผ่านการสนับสนุนระบบเติม (Refill) และระบบใช้ซ้ำ (Reuse System) อย่างจริงจัง
เครือเจริญโภคภัณฑ์ ควรขยายตู้เติมน้ำยาจากโลตัสไปที่ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์เก็ต ในเครือของบริษัทตัวเองทุกสาขา และมุ่งพัฒนาระบบใช้ซ้ำ (Reuse System) เพื่อลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งตลอดวงจรชีวิตพลาสติกและตอบโจทย์การลดมลพิษพลาสติกตลอดวงจรชีวิตพลาสติก (Plastic Life Cycle) ตั้งแต่กระบวนการผลิต การกระจายสินค้า การใช้งาน ไปจนถึงการกำจัด
นอกจากนี้ ในฐานะบริษัทค้าปลีกระดับโลก เครือเจริญโภคภัณฑ์ สามารถเป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้ด้วยการสนับสนุนมาตรการลดการผลิตพลาสติกโดยรวม รวมถึงการเลิกใช้พลาสติกที่เป็นปัญหา พลาสติกที่ไม่จำเป็น พลาสติกที่หลีกเลี่ยงได้ (Problematic, Unnecessary, and Avoidable) แนวทางนี้จะทำให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ไม่เป็นเพียงผู้นำด้านการค้าปลีก แต่ยังเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในการจัดการมลพิษพลาสติกอย่างแท้จริง
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติกของกรีนพีซ ประเทศไทยได้ที่ https://www.greenpeace.org/thailand/single-use-plastic/