เชียงใหม่, 30 เมษายน 2568 – กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ และสภาลมหายใจเชียงใหม่ พร้อมกับพี่น้องประชาชนภาคเหนือ นักวิชาการ นักกฎหมาย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ร่วมนำเสนอและแชร์ไอเดียเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดน รวบรวมเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายจากประชาชนต่อพรรคการเมืองและผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ให้แก้ไขวิกฤตนี้ในภาคเหนืออย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม โดยครอบคลุมประเด็นข้อเสนอต่างๆ ทั้งด้านปัญหาเชิงโครงสร้าง สิทธิมนุษยชน สิทธิที่ดินและวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง อุตสาหกรรมและผลกระทบข้ามพรมแดน รวมถึงกฎหมายและพรบ.ที่เกี่ยวข้อง ณ TCDC เชียงใหม่

เครือข่ายผู้จัดงานจะนำผลลัพธ์ที่ได้จากพี่น้องภาคเหนือ ไปประมวลและสรุปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อนำเสนอต่อภาครัฐ พรรคการเมือง และผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย เพื่อผลักดันการแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่นพิษข้ามพรมแดนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนพื้นที่ภาคเหนือทุกปีให้มีประสิทธิภาพและสร้างความเป็นธรรมต่อทุกคนมากขึ้น

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์นักรณรงค์ด้านอาหารและป่าไม้ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “ปัญหาฝุ่นพิษภาคเหนือและข้ามพรมแดนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดจากการผลักดันนโยบายของรัฐบาลไทยมาอย่างยาวนานเพื่อเกื้อหนุนการเติบโตของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เห็นได้ชัดจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด และการขยายตัวของพื้นที่ปลูกข้าวโพดไปยังประเทศเพื่อนบ้านตามข้อตกลงตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ( ACMEC) ที่เอื้อให้บริษัทจากไทยลงทุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ประเทศเพื่อนบ้านได้ รวมถึงกลไกสิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากรตามข้อตกลง AFTA ที่ทำให้นำเข้ากลับมายังไทยได้ด้วยภาษี 0%”

ต้นทุนที่ไม่ได้ถูกคำนวนในการเติบโตของธุรกิจส่งออกเนื้อไก่ของไทยนั้นคือ สุขภาพของประชาชน ป่าไม้ที่หายไป และการชี้นิ้วกล่าวโทษเกษตรกรและชนพื้นเมืองว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤต การแก้ปัญหาของรัฐจึงเป็นการกำหนดนโยบายแบบรวมศูนย์ สั่งห้ามการเผาเชิงวัฒนธรรม แต่อนุญาตให้พื้นที่เกษตรแปลงใหญ่เผาได้ จนกระทั่งเกิดมาตรการรุนแรงอย่างโทษจำคุกและปรับจำนวนเงินมหาศาล แต่กลับละเลยการกำหนดมาตรการภาระรับผิดของบริษัทอุตสาหกรรมที่ก่อฝุ่นพิษตลอดห่วงโซ่การผลิตทั้งภายในและนอกประเทศ

“การกระจายอำนาจคือหัวใจในการแก้ปัญหา เพื่อให้เกิดแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงระดับชุมชน ใช้ความรู้ของชุมชน ประกอบกับความรู้วิชาการ ความรู้ป่าไม้ ปัญหาฝุ่นพิษจะแก้ไม่ได้ถ้าคนในพื้นที่ไม่ลุกขึ้นมามีแผนจากท้องถิ่น แต่ไม่อยากให้มีในระดับชุมชน ต้องมีระดับจังหวัดและประเทศ และแผนระดับภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่ไม่ใช่มาจากรัฐอย่างเดียว ต้องมีหลายฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐบาล” ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าว

อำนาจรวมศูนย์นี้ยังส่งผลให้เกิดมาตรการห้ามเผาเด็ดขาด (Zero Burn) ซึ่ง พชร คำชำนาญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวเสริมว่า “มาตรการห้ามเผาแบบเหมารวมนอกจากจะไม่แก้ปัญหาไฟป่าและ PM 2.5 ยังทำให้สถานการณ์แย่ลงในทุกมิติรวมถึงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราไม่สามารถใช้มาตรการเดียวจัดการปัญหาที่มีความซับซ้อนขนาดนี้ได้ การแก้ปัญหาจึงควรคำนึงถึงความจำเป็นในการใช้ไฟ ความหลากหลายในมิติทางวัฒนธรรม ควบคู่กับการคืนสิทธิในที่ดินทำกินด้วย รูปธรรมที่สำคัญคือยกเลิกมาตรการห้ามเผาที่ไม่แยกแยะ แล้วให้ชุมชนสามารถเสนอแผนการจัดการเชื้อเพลิง รวมถึงการจัดการทรัพยากรของชุมชนเองได้ ไม่ใช้วิธีการรวมศูนย์จากส่วนกลางเพราะจะไม่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่และจะซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรงขึ้น”

มาตรการทางกฎหมายที่เอื้อต่อสิทธิของประชาชนจึงเป็นหัวใจสำคัญ วัชลาวลี คำบุญเรือง ทนายความ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่า “ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นเพียงไข่แดงเท่านั้น โดยที่ไข่ขาวทับซ้อนหลายเรื่อง เช่น ฝุ่นพิษข้ามพรมแดน อคติต่อชาติพันธุ์ว่าเป็นต้นเหตุของการเผาป่า ปัญหาพืชเชิงเดี่ยว ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจ นโยบายมาจากส่วนกลางที่ไม่ตอบโจทย์พื้นที่ ทรัพยากรและงบประมาณในแต่ละจังหวัดที่ไม่เท่ากัน ฯลฯ ซึ่งต้องแก้ด้วยการบูรณาการทั้งระบบ การสั่งการตาม พ.ร.บ. การบริหารราชการแผ่นดินฯ แบบที่รัฐไทยทำยังไงก็แก้ปัญหา PM2.5 ไม่ได้ จะแก้ฝุ่นต้องแก้รัฐธรรมนูญให้กระจายอำนาจ และด้วยกฎหมายใหม่ เช่น กฎหมายอากาศสะอาด และกฎหมาย PRTR”


ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย

โทร. 081 929 5747 อีเมล. [email protected]