“ผลผลิตทางความคิดที่ดีที่สุดของโลก ?”
“ใช้ของครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพื่อความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต”

นี่คือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพลาสติก

ในช่วงสัปดาห์สิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) ที่ผ่านมา กรีนพีซประเทศไทยได้จัดฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Story of plastic ซึ่งสร้างขึ้นโดยกลุ่ม Break Free From Plastic ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ทำให้ปัญหามลพิษพลาสติกเป็นเรื่องใกล้ตัวและเราทุกคนควรหันมาช่วยกันแก้ปัญหานี้กันแบบจริงจังสักที

พลาสติกมาจากไหน? 

ภาพยนตร์เริ่มต้นด้วยการย้อนกลับไปสักประมาณสิบถึงสิบห้าปีก่อนที่จะมีการคิดค้นพลาสติกขึ้นบนโลกใบนี้ หลังจากนั้นจึงมีการผลิตพลาสติกโพลิสไตรีน (Polystyrene) ขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ในแง่ของความสะดวกสบาย แต่ไม่มีใครรู้เลยว่าพลาสติกเหล่านั้นมีการผลิตอย่างไรบ้าง และที่มาที่ไปของมันแท้จริงแล้วมาจากไหน?

ที่มาของพลาสติกเหล่านี้หลายคนอาจจะยังไม่รู้ แต่99% ของพลาสติกนั้นถูกผลิตขึ้นมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะสมมาเป็นเวลานาน หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ ปิโตรเลียม พลาสติกกับเชื้อเพลิงฟอสซิลจึงมีความเกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยยะสำคัญ นั่นคือ โดยทั่วไปแล้วกระบวนการจัดการของเสียจากการผลิตเชื้อเพลิงนั้นทางบริษัทต้องเลือกระหว่างจ่ายเงินเพื่อกำจัดอย่างถูกวิธีหรือเปลี่ยนให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ในแง่ของธุรกิจ ผู้ผลิตส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง และนี่คือที่มาของพลาสติก

ขยะพลาสติกเกิดขึ้นเพราะผู้บริโภคจริงหรือ?

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ได้นำเสนอมุมมองปัญหามลพิษพลาสติกที่กำลังเกิดขึ้นว่า ปัญหานี้แท้จริงแล้วอาจไม่ได้เกิดจากการเลือกใช้งานของผู้บริโภคซึ่งเป็นปลายทางของห่วงโซ่ชีวิตพลาสติกแต่จริง ๆ แล้วเกิดจากการที่ผู้ผลิตส่วนใหญ่เลือกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องของการผลิตสิ่งของต่าง ๆ ทำให้เมื่อมีการจำหน่ายสินค้าออกไปแล้วหากเกิดปัญหาเรื่องขยะพลาสติกที่เราเห็นจากการรายงานของสื่อว่ามีขยะพลาสติกลอยอยู่ตามมหาสมุทรหรือตามชายฝั่งทะเล เป็นเรื่องของภาครัฐที่ไม่มีการจัดการที่ดีพอ แต่ไม่มีใครถามหาว่าต้นตอของพลาสติกเหล่านี้มาจากไหน 

ถ้าเราสามารถลดการผลิตพลาสติกเหล่านี้ได้ตั้งแต่ต้นทาง ปัญหาขยะตามท้องทะเล หรือปัญหาการจัดการขยะที่ไม่ดีพอก็จะไม่เกิดขึ้น รวมทั้งการผลักภาระไปให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานนั้นไม่ใช่ทางออก ผู้ผลิตควรมองตัวเองว่าที่จริงแล้วปัญหานี้เกิดจากการผลิตของตัวเอง ไม่ใช่เกิดจากพฤติกรรมการใช้งานเพียงอย่างเดียว

“เราเป็นประเทศหมู่เกาะ การทำประมงจึงเป็นอาชีพหลักของคนฟิลิปปินส์ แต่เวลาที่เราจับปลาจากทะเล 40%ที่พวกเราจับได้กลับเป็นขยะพลาสติกที่อยู่ในทะเล” โจเซฟ บอร์โกนยา ชาวประมงชาวฟิลิปปินส์พูดถึงขยะพลาสติกที่ลอยอยู่ทะเล เขายังบอกอีกว่า เราทุกคนถูกบังคับให้แบกรับค่าทำความสะอาดขยะพวกนี้จากการจ่ายภาษี แต่ใครควรเป็นคนจัดการปัญหานี้ เราที่เป็นผู้บริโภค หรือผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการบริโภค แต่ไม่มีความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ของตัวเอง 

“ไม่ว่าคลื่นทะเลจะซัดอะไรเข้ามาก็ตาม ขยะพลาสติกก็จะตกค้างอยู่ตามรอบอ่าวมะนิลา ทำความสะอาดได้ แต่ปัญหาจะยังอยู่ เราทำความสะอาดไปตลอดชีวิตไม่ได้ การลดจากต้นทางจากผู้ผลิตนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของปัญหานี้” วอน เฮอนันเดซ จาก Break Free From Palstic กล่าว

แล้วใครคือผู้ได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นทั้งหมด?

The Story of Plastic ไม่เพียงนำเสนอที่มาและต้นตอของพลาสติกเท่านั้น แต่ยังได้มีการนำเสนอปัญหามลพิษพลาสติกที่กำลังได้รับผลกระทบทั่วทุกมุมโลก ประเทศต้นทางอย่างยุโรป หรือสหรัฐอเมริกาที่ส่งขยะออกไปยังประเทศในแถบเอเชีย รวมไปถึงถ่ายทอดชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่อยู่ใกล้ชิดกับกองภูเขาขยะในอินเดีย 

“ผมอาศัยอยู่ที่นี่มา 20 กว่าปีแล้ว แต่เพราะไม่มีที่ไปเลยต้องทำงานอยู่ที่นี่ ที่ที่เต็มไปด้วยมลพิษ และหมอเชื่อว่าคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้จะมีอายุขัยน้อยกว่าปกติ 15 ถึง20 ปี” มันนัน คาน เกษตรกร ฟาร์มวัวนมกาซีปูร์ ประเทศอินเดีย เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ข้างบ่อขยะกาซิปุร์ บ่อขยะที่รองรับขยะเกือบครึ่งจากเมืองหลวงนิวเดลี มันนันยังบอกอีกว่าสิ่งเดียวที่พลาสติกสร้างคือกองภูเขาขยะในอินเดียเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการค้าขยะพลาสติก

สิ่งแวดล้อมถูกปนเปื้อนไปด้วยสารพิษจากเตาเผาไหม้ของปิโตรเลียมเพื่อผลิตพลาสติก เรื่องราวของพลาสติกที่ไม่มีใครรู้เริ่มต้นจากโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ที่ดำเนินงานโดยบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ในเมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส ซึ่งเป็นบริษัทที่มีกำลังการผลิตพลาสติกที่สูงที่สุดในโลก เกือบทุกชิ้นส่วนของพลาสติกเริ่มมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ความจริงที่น่าตกใจคือวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เรากำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ มีความเชื่อมโยงกับกระบวนการผลิตพลาสติกและสุขภาพของทุกคนบนโลกใบนี้ด้วย

สารคดีเรื่องนี้ได้เปิดมุมมองของการมองพลาสติกต่างออกไปจากที่เคยทราบอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางสังคม ทางสุขภาพ การจัดการที่ดี หรือแม้กระทั้งสิ่งที่บอกอย่างชัดเจนว่า พลาสติกนั้นส่งผลกระทบอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเรา

#StoryOfPlastic #BreakFreeFromPlastic