หลังจากเรือรณรงค์ของกรีนพีซใช้เวลา 1 ปี สำรวจภัยคุกคามมหาสมุทรจากขั้วโลกเหนือสู่ขั้วโลกใต้ ในภารกิจ ‘Pole to Pole Expedition’ ช่างภาพระดับโลกได้หยิบภาพถ่ายในดวงใจของพวกเขา มาเล่าประสบการณ์กลางมหาสมุทรเร้นลับ ที่น้อยคนบนโลกจะเข้าถึง

ตอนสุดท้ายนี้ เราจะร่วมเดินทางในครึ่งหลังของภารกิจ ที่มหาสมุทรในซีกโลกใต้ เจอทั้งวินาทีฆ่าฉลามเพื่ออาหารจานหรู การเดินทางสุดทุลักทุเลไปภูเขาใต้ทะเล การอยู่ใกล้วาฬ นาทีระทึกขณะปีนเรือขนสัตว์น้ำ และความคิดถึงครอบครัวจนน้ำตาไหล  (อ่านตอนที่ 1 ที่นี่)

Spanish Longliner Pedra da Grelo in the Atlantic Ocean. © Tommy Trenchard / Greenpeace
มหาสมุทรแอตแลนติกใต้ © Tommy Trenchard / Greenpeace

นี่คือวินาทีที่ฉลามถูกดึงขึ้นมาบนเรือประมงเบ็ดราว นอกชายฝั่งแอฟริกาใต้ บริเวณนี้ไม่มีการคุ้มครองสายพันธุ์ฉลามและไม่ควบคุมโควตาการล่า เรือประมงจึงฆ่าฉลามมากแค่ไหนก็ได้ ครีบคืออวัยวะที่ราคาสูงที่สุดเพราะเป็นอาหารจานหรูในบางประเทศ อวัยวะอื่น ๆ ของฉลามก็ถูกใช้ผลิตทุกอย่างตั้งแต่ปุ๋ยยันเครื่องสำอาง ประเมินกันว่าฉลามราว 100  ล้านตัวถูกจับมาฆ่าทุกปี

ผมได้ภาพนี้หลังใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่บนเรือเล็ก คอยเฝ้าประกบเรือประมงลำนี้ ผมเห็นลูกเรือดึงเบ็ดเปล่ากลับขึ้นเรือโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้นอยู่นานพอสมควร ทันใดนั้น ฉลามก็ถูกลากขึ้นมาอยู่บนเรือภายในไม่กี่วินาที ความท้าทายคือ ต้องคอยเก็บกล้องไม่ให้เปียกน้ำทะเลที่กระเซ็นตลอดเวลา แต่ก็ต้องชักกล้องออกมาทันทีที่ฉลามขึ้นมาจากน้ำ เรือบางลำที่เราถ่ายภาพ ลากฉลามขึ้นมาได้ 4-5 ตัว เพราะเป็นเป้าหมายการล่า ผมทำใจยากทีเดียวที่ต้องเห็นฉลามดิ้นบนเรือแบบทำอะไรไม่ได้ ก่อนถูกคมมีดของลูกเรือกรีดไปตามสันหลัง

Tristan Rock Lobster on One of Mount Vema's Summits. © Richard Barnden / Greenpeace
ภูเขาใต้ทะเลวีมา (Mount Vema) มหาสมุทรแอตแลนติกใต้ © Richard Barnden / Greenpeace

ผมมีประสบการณ์อยู่กลางมหาสมุทรและดำน้ำทั่วโลกมาเกือบ 20 ปี แต่ไม่เคยรับมือกับกระแสลมแรงแบบ Roaring Forties (กระแสลมที่ละติจูด 40-50 องศาใต้ เคลื่อนวนรอบซีกโลกใต้) เราใช้เวลาถึง 5 วันในการเดินทางไปจุดหมาย ผมได้รู้จักทีมงานบนเรือช่วงนั้นแหละครับ

คลื่นสูง 4 เมตรซัดเข้ามาตลอดเวลา เรือโคลงเคลงมาก บางครั้งเอียงตั้ง 40 องศา เอาแค่จะชงกาแฟตอนเช้า หรือเดินทรงตัวไปเคบินตัวเองก็ท้าทายแล้วครับ บางคนแทบกินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือคุยกันยังลำบาก เป็นแบบนี้อยู่ 3 วัน หลังผ่านช่วงเวลานี่ผ่านไป เรือก็มาถึงภูเขาใต้ทะเลวีมา (Mount Vema) ราว ๆ 800 กิโลเมตรจากชายฝั่งตะวันตกของแอฟริกา เราจะทำวิจัยกันที่นี่ครับ

ช่วงนั้นใจผมเต้นรัว ๆ มันกดดันครับ นึกภาพไม่ออกเลยว่าข้างหน้าจะมีอะไรต่อ มโนไปเรื่อยว่าจะเจอฉลามไหม หรืออาจเจอเศษแหพันยอดเขาใต้ทะเล คลื่นจะแรงขนาดไหน

พอเราเริ่มดำน้ำลงไป ก็เจอฝูงปลาหางเหลืองมาว่ายมาต้อนรับรอบ ๆ เมื่อดำลงไปถึงยอดภูเขาใต้ทะเล เราก็เจอกุ้งล็อบสเตอร์ Tristan ตัวยักษ์ กำลังคอยเราอยู่ที่ยอดเขาใต้ทะเล อย่างกับภาพในฝันเลยครับ

Humpback Whale in Antarctica. © Christian Åslund / Greenpeace
ทวีปแอนตาร์กติกา ขั้วโลกใต้ © Christian Åslund / Greenpeace

คุณกำลังเห็นวาฬหลังค่อม หนัก 30 ตัน ตีหางบนน้ำ ระหว่างที่มันหาอาหารบริเวณคาบสมุทรแอนตาร์กติก ตอนนั้นเราล่องเรือเอสเพอรันซาอยู่ใกล้หมู่เกาะ Palmer แล้วเจอฝูงวาฬหลังค่อมมาว่ายวนรอบ ๆ น่าจะนานอยู่เหมือนกัน วาฬกระโดดขึ้นมาหลายครั้ง เห็นเกือบหมดเลยครับ ตัวมันโผล่ขึ้นมาสักเกือบ ๆ 90% จนผมอึ้งกับความมหึมา ผมถ่ายภาพสัตว์ป่าและธรรมชาติมา 22 ปี แต่ยังไม่เคยเห็นวาฬกระโดดต่อหน้าชัด ๆ แบบนี้ ซาบซึ้งเลยว่าธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่และงดงามจริง ๆ

Activists Inspect the Taganrogskiy Zaliv Reefer in Antarctica. © Andrew McConnell / Greenpeace
ทวีปแอนตาร์กติกา ขั้วโลกใต้ © Andrew McConnell / Greenpeace

เราติดตามเรือห้องเย็นลำนี้อยู่ใกล้หมู่เกาะเซาท์ออร์กนีย์ (South Orkney) ตั้งแต่วันที่เรือเข้ามาบริเวณทวีปแอนตาร์กติกา เรือห้องเย็นพวกนี้จะขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลจากเรือประมง มันเป็นขั้นตอนที่ไร้การควบคุม และเปิดโอกาสให้เรือประมงอยู่ในทะเลได้ตลอดโดยไม่กลับเข้าฝั่ง เพื่อเลี่ยงการถูกตรวจสอบ เรือที่นี่จะกวาดตัวเคย สัตว์คล้ายกุ้งตัวเล็ก ๆ แหล่งอาหารสำคัญในระบบนิเวศของแอนตาร์กติกา

กรีนพีซตัดสินใจส่งทีมงานขึ้นไปดูเรือลำนั้น เพื่อสำรวจมาตรฐานสุขภาพและความปลอดภัยของลูกเรือ รวมถึงสัตว์น้ำที่เก็บไว้ ทีมงานถูกบรีฟให้เข้าใจความเสี่ยงในปฏิบัติการนี้ แต่ก็ไม่มีใครถอยครับ ปฏิบัติการแบบซึ่งหน้าของกรีนพีซครั้งนี้ถือเป็นตำนาน ผมตื่นเต้นที่ได้เห็นกับตาตัวเอง

ก่อนเรือห้องเย็นลำนั้นจะรู้ตัวว่าถูกติดตาม เรือเล็กของเราก็เร่งความเร็วเข้าประชิดแล้วส่งทีมงาน 3 คนปีนบันไดเชือกขึ้นไปบนท้ายเรือลำนั้น ช่วงนั้นทั้งระทึกและตึงเครียด เพราะเริ่มมีลูกเรือเดินออกมาแล้ว แต่ก็โล่งใจที่พวกเขาท่าทางเป็นมิตร ถึงจะปฏิเสธไม่ให้เราเข้าไปตรวจดูสิ่งต่าง ๆ แต่ก็ยอมให้ข้อมูลเกี่ยวกับปลาหมึกที่เรือเก็บไว้ เราเห็นชัดว่าเรือนี้ไม่มีการบันทึกและรายงานข้อมูลสตอกอย่างเป็นระบบ นี่เป็นเรื่องท้าทายที่อุตสาหกรรมประมงต้องแก้ไขครับ

Chinstrap and Gentoo Penguins in Antarctica. © Abbie Trayler-Smith / Greenpeace
ทวีปแอนตาร์กติกา ขั้วโลกใต้ © Abbie Trayler-Smith / Greenpeace

ทำใจยากเหมือนกันที่ต้องอยู่กลางทะเลนาน 6 สัปดาห์ และไม่ได้เจอครอบครัว ตั้งแต่วันแรกที่ขึ้นเรือ เราเริ่มงานกันตอน 7 โมงเช้า เริ่มจากทำความสะอาดเรือ แล้วนั่งเรือเล็ก 2-3 รอบ ออกไปเก็บตัวอย่างทางวิทยาศาสตร์ หลายครั้งก็นั่งแต่งรูปถ่ายยันมืด งานทั้งหมดกินเวลา 43 วันบนเรือ ก็สนุกดี แต่พอถึงสัปดาห์ที่ 3 ฉันก็ร้องไห้ออกมาเพราะคิดถึงลูกชายวัย 9 ขวบมาก

ฉันเคยคิดอยู่นานว่าจะเข้าร่วมการเดินทางไหม นี่เป็นภารกิจในฝัน แต่ครั้งนี้ฉันจะไม่ได้เจอลูกนานที่สุดในชีวิต สุดท้ายแล้ว ลูกกลับเป็นคนที่บอกว่าแม่ต้องไป “แม่จะได้ถ่ายรูปเพนกวิน ได้ช่วยโลกใบนี้ แม่จะจำประสบการณ์ครั้งนี้ไปตลอดชีวิต แม่ต้องไปให้ได้นะ” ในคืนนั้น ฉันนั่งแต่งรูปที่ถ่ายมา พลางนึกถึงลูกไปพร้อม ๆ กับภาพเพนกวินที่แหวกว่ายอยู่ในใจ

นักวิทยาศาสตร์บนเรือได้ศึกษาเพนกวิน ในฐานะที่เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทวีปแอนตาร์กติกา สิ่งที่ฉันค้นพบที่แอนตาร์กติกา คือช่วงเวลาน่าทึ่งที่ได้เฝ้าดูเพนกวินแบบไม่รู้เบื่อ ในภาพมันดูมีความสุขจังเลย และนี่คือสิ่งที่พวกเราต้องปกป้องค่ะ

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ผลักดันเขตคุ้มครองทางทะเล

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม