นี่คือเรื่องราว 1 ปีแห่งการผจญภัยในมหาสมุทร จากขั้วโลกเหนือสู่ขั้วโลกใต้ บนเรือรณรงค์ของกรีนพีซ ช่วงเมษายน 2562 ถึงเมษายน 2563 ภารกิจครั้งประวัติศาสตร์นี้รวมพลนักวิทยาศาสตร์ สื่อมวลชน และนักรณรงค์หลายร้อยชีวิต รวมถึง 13 ช่างภาพชั้นนำระดับโลก ร่วมกันสำรวจและเปิดโปงภัยคุกคามที่มหาสมุทรโลกกำลังเผชิญ

ภารกิจ ‘Pole to Pole Expedition’ เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญกรีนพีซที่เรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกลงนาม ‘สนธิสัญญาทะเลหลวง’ ที่อยู่ระหว่างการเจรจาในเวทีสหประชาชาติ เพื่อสร้างเขตคุ้มครองระบบนิเวศในทะเลทั่วโลก มอบพื้นที่ปลอดภัยให้สิ่งมีชีวิต

ทีมงานที่ร่วมภารกิจนี้ ไม่ได้อยู่กันแบบสบาย ๆ เพราะชีวิตบนเรือแต่ละเที่ยวกินเวลานานหลายสัปดาห์ ต้องทนคลื่นไส้กลางคลื่นลมบ้าระห่ำ เจออากาศแปรปรวน และขั้นตอนการขนย้ายข้าวของสุดหิน ช่างภาพมือรางวัลจะมาแชร์ประสบการณ์ ‘จำไม่ลืม’ จากการเดินทางครั้งนี้ ผ่านภาพถ่ายที่พวกเขาชอบที่สุด

Walruses on Ice in the Arctic. © Denis  Sinyakov / Greenpeace
มหาสมุทรอาร์กติก ขั้วโลกเหนือ © Denis Sinyakov / Greenpeace

เราล่องเรือรอบหมู่เกาะสวาลบาร์ด (Svalbard) ที่นอร์เวย์ นานอยู่ 1 เดือน แต่ที่ผมจำได้ดีคือวันแรก ๆ ของทริป เรือทอดสมออยู่ที่อ่าวฟยอร์ด ใกล้ธารน้ำแข็งยักษ์ ดาฮ์ลเบรเอ่น (Dahlbreen) ผมยืนที่ดาดฟ้าเรืออยู่หลายชั่วโมง ถ่ายรูปกับวิดีโอ เรือก็ลอยตุ๊บป่องไปรอบ ๆ สมอ ตอนนั้นมันดึกแล้วนะ แต่แสงสวยมาก เพราะเป็นฤดูร้อนที่ขั้วโลก มหาสมุทรมันฉาบไปด้วยน้ำแข็ง ราบสุดลูกหูลูกตา งามเหมือนมนต์สะกด ผมนี่รัวชัตเตอร์ไม่ยอมหยุด คิดไปด้วยว่าธรรมชาติช่างดูบอบบาง แต่ก็แอบซ่อนความโหดร้าย

วันต่อมา หิมะตก วิวรอบ ๆ เปลี่ยนไปเยอะ มองไม่เห็นธารน้ำแข็งใหญ่ตรงหน้าแล้ว เรือของเราล่องอยู่กลางน้ำแข็ง ได้อารมณ์อยู่ในหนังของอังเดรย์ ทาร์คอฟสกี้ ผู้กำกับที่ผมชอบน่ะ ตอนที่ผมกำลังงง ๆ ว่าเราอยู่ไหนแล้ว ผมก็เหลือบไปเห็นครอบครัววอลรัสนอนบนแผ่นน้ำแข็ง กลางมหาสมุทรสีขาวบริสุทธิ์ เงียบสงบยามราตรี ผมแทบจะหยุดเวลาไว้ตรงนั้น ภาพนี้ยังอยู่ในหัวผมมาตลอด

Crew on MY Esperanza in Svalbard. © Will Rose / Greenpeace
มหาสมุทรอาร์กติก ขั้วโลกเหนือ © Will Rose / Greenpeace

ผมกลับมาอีกแล้ว หลังจากได้รับคำชวนแบบฉุกละหุกให้ร่วมคณะเดินทาง Pole to Pole Expedition กับกรีนพีซ ทั้งที่ยังเหนื่อยจากภารกิจอื่นที่เพิ่งจบไป อยากจะพักสักหน่อย แต่ผมก็เซย์เยส จริง ๆ แล้วผมได้ไปเยือนมหาสมุทรอาร์กติกในหน้าร้อนทุก ๆ ปี ตั้งแต่ปี 2552 อยู่แล้ว ไปถ่ายภาพสำรวจผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังไม่เคยขึ้นเหนือไปไกลจนถึงทะเลน้ำแข็ง ผมตื่นเต้นแทบรอไม่ไหว

ย้อนกลับไป 2 วันก่อน ผมยังนั่งดูคอนเสิร์ตชิลล์ๆกับครอบครัวที่โรงละคร London Palladium ตอนนี้มายืนแข็งอยู่กลางลมหนาวติดลบ 48 องศา กลางมหาสมุทรอาร์กติก แต่สิ่งที่อยู่ในใจผมมากกว่า คือความรู้สึกหดหู่ สิ้นหวัง เราได้เฝ้าสังเกตมานานว่าเมื่อไรจะเห็นสัตว์ต่าง ๆ ที่นี่ เมื่อก่อนเราจะเห็นวาฬทางใต้ เห็นหมีขั้วโลกแถว ๆ หมู่เกาะสวาลบาร์ด (Svalbard) แต่ตอนนี้กลับว่างเปล่า มีแต่นกฟูลมาร์เท่านั้นที่ยังเหลือให้เห็น มันรู้สึกจุกนะ ไม่รู้ว่าเรากำลังเห็นจุดจบของมหาสมุทรอาร์กติกอยู่หรือเปล่า

ภาพที่ผมเลือกมาให้ดู คือทีมเจ้าหน้าที่ประจำเรือ ที่เป็นหูเป็นตาของเรือลำนี้ แม้พวกเขาจะเศร้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เห็น แต่ก็ยังมีความรู้สึกดี ๆ ทุกคนคงรู้สึกไม่ต่างกัน ว่านี่เป็นประสบการณ์พิเศษที่ได้อยู่บนเรือเอสเพอรันซา มองวิวที่เปลี่ยนไป ฝ่าทะเลน้ำแข็ง อาบแสงพระอาทิตย์เที่ยงคืน สิ่งที่คุณอาจไม่เห็นในภาพคือเสียงหัวเราะ เสียงเพลง ขณะที่เรือเด้งขึ้นลงผ่านน้ำแข็ง สถานที่ทำงานสุดประหลาดนี้เปี่ยมไปด้วยมิตรภาพ ความผูกพัน ถ้าให้นับวันที่ผมทำงานบนเรือเอสเพอรันซาตั้งแต่ปี 2552 ผมก็ใช้ชีวิตบนเรือนี้มากว่าหนึ่งปีแล้วครับ รู้สึกเหมือนได้กลับบ้านทุกครั้งที่ขึ้นเรือ

Investigating the Catching of a Shark in North Atlantic. © Kajsa Sjölander / Greenpeace
มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ © Kajsa Sjölander / Greenpeace

ตอนเช้าของวันสุดท้ายบนเรือ เราพบเรือประมงสัญชาติสเปน กำลังดึงฉลามขึ้นจากน้ำ มันสะเทือนใจมากที่เห็นสัตว์สำคัญของระบบนิเวศทะเลต้องถูกลากขึ้นมาแบบนี้ ฉลามถูกเกี่ยวด้วยเบ็ดขนาดใหญ่ ไม่มีทางสลัดหนีได้ ในฐานะช่างภาพ ฉันเคยเห็นอะไรมาเยอะ แต่ตอนนั้นฉันถึงกับน้ำตาไหลอาบแก้มขณะถ่ายรูป

วันนั้นคลื่นลมแรง ผู้ประสานงานของเราประเมินความเสี่ยงมาอย่างดี ก่อนตัดสินใจส่งเรือเล็กแล่นไปใกล้เรือประมง นั่นเป็นโอกาสครั้งเดียวที่จะได้บันทึกภาพการกระทำน่าสะพรึง ในน่านน้ำสากลที่ขาดการดูแล ภาพนี้จะเป็นสักขีพยานต่อคนทั่วโลก ตอนนั้นฉันทั้งเสียใจ อะดรีนาลีนหลั่งไปทั่วร่าง น้ำทะเลก็สาดไม่หยุดระหว่างที่เราเข้าใกล้เรือประมงเพื่อบันทึกเหตุการณ์

เรือลำนี้จับสัตว์น้ำด้วยเบ็ดราว (longline) ปล่อยเบ็ดตะขอหลายร้อยอัน ผูกตามสายที่ลากในทะเล ยาวกว่า 60 กิโลเมตร สิ่งที่เราเห็นถือว่าน้อยนิดถ้าเทียบกับอุตสาหกรรมใหญ่โต การทำประมงแบบทำลายล้างนี้คือตัวอย่างที่บอกว่าระบบจัดการดูแลมหาสมุทรโลกล้มเหลวแค่ไหน สิ่งที่เราต้องการเร่งด่วนคือสนธิสัญญาทะเลหลวง เราต้องสร้างเครือข่ายเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลทั่วโลกเพื่อให้สัตว์ทะเลอย่างเช่น ฉลาม มีโอกาสฟิ้นฟูตัวเอง

Crew Member aboard the MY Esperanza in the Azores. © Bárbara Sánchez Palomero / Greenpeace
Lost City มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ © Bárbara Sánchez Palomero / Greenpeace

คนนี้เขาชื่อ Han Bum ค่ะ เป็นเพื่อนคนที่สองของฉันบนเรือเอสเพอรันซา เราเจอกันตอนเดินทางจากหมู่เกาะอะโซร์ส (Azores) ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปประเทศจาเมกา (Jamaica) นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันได้ขึ้นเรือเดินสมุทรและพบปะคนทั่วโลก แม้ผู้คนจะหลากหลาย แต่เราก็จูนกันได้เพราะความสนใจที่คล้ายกัน

และ Han Bum ก็เป็นหนึ่งในนั้นค่ะ ฉันถ่ายรูปเขาตอนทำงานอยู่หลายวัน เจอทีไรแกก็ยิ้มทุกครั้ง ฉันเลยแซวแกว่า ซีเรียสกับเขาหน่อยไหม คุณเป็นหัวหน้างานนะ แล้วแกก็ทำหน้าแบบที่เห็นในรูป กลายเป็นภาพ portrait ที่ฉันชอบในทริปนี้

การเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ในคณะเดินทางแบบนี้ทำให้ได้ประสบการณ์แปลกใหม่ ได้เห็นทีมงานตรากตรำออกไปเก็บข้อมูลภูเขาใต้ทะเล โดยอยู่บนเรือเป่าลมกลางมหาสมุทร รู้สึกเหมือนอยู่ในหนังเลย พอเขากลับมาพร้อมภาพถ่ายสุดอลัง มันรู้สึกว่า เออ ก็คุ้มกับความเหนื่อย เป็นเวลาแห่งความสุขของทุกคน ตอนนั้นฉันเห็นแล้วว่าภารกิจนี้สำคัญกับปัจจุบันและอนาคตของโลกยังไง แต่ฉันก็ชอบภาพนี้อยู่ดี ภาพผู้คนที่เต็มไปด้วยแพชชันในการปกป้องมหาสมุทร

Flying Fish in the Sargasso Sea. © Shane Gross / Greenpeace
ทะเลซาร์แกสโซ มหาสมุทรแอตแลนติก © Shane Gross / Greenpeace

พวกเราดำน้ำลงไปลึกกว่า 30 เมตร ในความมืด กลางมหาสมุทรแอตแลนติกเวิ้งว้าง เราดำน้ำกลางคืน หรือ Blackwater dives เพื่อรูปที่มีฉากมืดมิดสุดพิศวงแบบนี้ ในช่วงท้ายของการดำน้ำแต่ละรอบ ผมจะเผื่ออากาศในถังออกซิเจนเอาไว้ดูปลาบิน (Flying fish) เป็นสัตว์ที่ประหลาด ปลาบ้าอะไรบินได้ โคตรเท่ เราไม่สามารถเข้าใกล้ปลาพวกนี้ตอนกลางวัน แต่กลางคืน มันชอบเข้ามาหาแสงไฟของเราเพื่อหาอาหาร ชอบมากครับที่ได้ดูปลาพวกนี้ใกล้ ๆ

Deep Divers in the Amazon Reef. © Pierre  Baelen / Greenpeace
แนวปะการังแอมะซอน เฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ © Pierre Baelen / Greenpeace

นี่เป็นครั้งแรกที่นักดำน้ำลึกลงไปสำรวจแนวปะการังแอมะซอน (Amazon Reef) ระบบนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะตัวลึกลงไปใต้น้ำ 130 เมตร ทีมเราลงไปสำรวจทุกวันกลางกระแสน้ำเชี่ยวกรากนอกชายฝั่งเฟรนช์เกียนา (French Guiana) ผมดำน้ำตัวเปล่าแบบ freediving ไปอำนวยความสะดวกให้นักดำน้ำ และถ่ายรูปก่อนที่พวกเขาจะหายลับไปที่ระดับความลึก 20 เมตร หลังพยายามถ่ายรูปแบบนี้อยู่ 10 ครั้ง ตลอด 10 วัน ในที่สุด ผมก็เจอจังหวะเหมาะ ได้ภาพนักดำน้ำล่องลอยกลางความเวิ้งว้าง ก่อนจะหายไปในความมืดของทะเลลึก เพื่อไปยังแนวปะการังแอมะซอน

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ผลักดันเขตคุ้มครองทางทะเล

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม