ในช่วงวิกฤตโรคระบาด Covid-19 ผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะเติบโตต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น ในฐานะที่เราทุกคนกลายเป็น “ลูกหนี้” ร่วมกัน เราจะนำงบนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์อะไร ได้อย่างไรบ้าง? 

เสวนาคุยกันใต้หลังคาโซลาร์เซลล์ ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม โดยกรีนพีซประเทศไทย เราและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและพลังงานได้เสนอข้อเสนอการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยด้วยการ “ปฏิวัติพลังงาน 1 ล้านหลังคาเรือน ภายใน 3 ปี” นั่นคือการนำเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์เข้ามาติดตั้ง บนหลังคาครัวเรือน โรงเรียน และโรงพยาบาล โดยคาดหวังว่าพลังงานแสงอาทิตย์นี้จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยไปพร้อม ๆ กับการชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กำลังเป็นภัยคุกคามต่อเรา 

Solar panels on refrigeration plant (for keeping fish fresh). Likiep Atoll, Marshall Islands. © Greenpeace / Steve Morgan
© Greenpeace / Steve Morgan

ในบทความนี้เราจะพูดถึงข้อเสนอการปฏิวัติบนหลังคาบ้านเรือน 1 ล้านหลังคาเรือนภายใน 3 ปี (ปี 2564-2566) กับ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการเศรษฐศาสตร์และพลังงาน ถึงความเป็นไปได้ของข้อเสนอ

อย่าปล่อยให้หลังคาบ้านว่าง โซลาร์เซลล์ในทุกวันของ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หรืออาจารย์ต้น เป็นนักวิชาการเศรษฐศาสตร์และพลังงานที่สนใจเอาวิธีการประหยัดพลังงานมาใช้กับบ้าน เริ่มจากแนวคิดการสร้างบ้านที่เน้นเป็นอาคารเปิดโล่งทำให้ไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาต้องเจอปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ทำให้ที่บ้านจำเป็นต้องติดแอร์และเครื่องฟอกอากาศ เดิมจากต้องจ่ายบิลค่าไฟฟ้าราวๆ 500 บาททุกเดือนก็เพิ่มขึ้นเป็น 2,000 กว่าบาทในแต่ละเดือน นั่นทำให้อาจารย์ต้นเริ่มมองหาวิธีการประหยัดพลังงานแบบใหม่พร้อม ๆ กับประหยัดเงินในกระเป๋าสตางค์ไปด้วย จึงเริ่มหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์แล้วก็ทราบว่าปัจจุบันโซลาร์เซลล์มีต้นทุนการติดตั้งที่ถูกลงรวมทั้งมีช่างผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้งเพิ่มมากขึ้นจึงตัดสินใจลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน

บ้านของอาจารย์ต้นลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไป 5 กิโลวัตต์ด้วยกัน  ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับที่บ้านของอาจารย์ใช้ไฟฟ้าตามปกติ รวมแล้วราคาในการติดตั้งคือ 200,000 กว่าบาท ตอนนี้ติดตั้งเน้นการใช้งานแค่ในบ้านเป็นหลักก่อน แต่จริง ๆ อาจารย์เองก็สนใจที่จะติดตั้งเพิ่มหากระบบการซื้อขายไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ของภาครัฐมีความสะดวกและคุ้มค่ามากกว่านี้ แน่นอนว่าผลก็คือสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าไปได้มากซึ่งอาจารย์ต้นคำนวนไว้ว่า โซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านหลังนี้จะใช้เวลาคืนทุนการติดตั้งประมาณ 8 ปี

นอกจากเรื่องการประหยัดไฟฟ้าแล้ว บ้านของอาจารย์ยังเป็นบ้านที่น่าสนใจมากเช่นเดียวกันเพราะครอบครัวมีการคำนวนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย ซึ่งการติดตั้งโซลาร์เซลล์ 5 กิโลวัตต์ช่วยให้บ้านหลังนี้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไปถึง 3 ตันต่อปี (ปกติครอบครัวอาจารย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 8 ตันต่อปี)

Solar Panels in Dharnai Village in India. © Ravi Sahani / Greenpeace
© Ravi Sahani / Greenpeace

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่จะมีทุน 200,000 บาท เพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับบ้านตัวเอง เพราะฉะนั้นจึงอยากให้ภาครัฐมองการนำงบประมาณมาลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ในครัวเรือนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยเป็นโอกาสและทางเลือกหนึ่งหลังวิกฤต Covid-19 ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนอย่างยั่งยืนแทนที่การช่วยลดค่าไฟฟ้าตรง ๆ โดยมีข้อเสนอสำหรับบ้านเรือนก็คือ

1. การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาเรือนประชาชน 1 ล้านหลังคาเรือน

  • รัฐลงทุนบนหลังคาบ้านประชาชน ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กมาก 
  • ติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาด 1.5 กิโลวัตต์ เงินลงทุน 60,000 บาท
  • ติดตั้งให้บ้าน 1 ล้านหลัง ภายใน 3 ปี
  • แต่ละบ้านสามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้เองประมาณ 225 วัตต์ต่อเดือน หรือคิดเป็น 855 บาทต่อเดือน

2. การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาเรือนทั่วไปโดยใช้มาตรการ Net metering

  • โดยติดตั้งครัวเรือนละ 3 กิโลวัตต์ จำนวน 74,000 หลัง

ข้อเสนอแรกอธิบายได้ดังนี้ คือการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาเรือนประชาชน 1 ล้านหลังคาเรือน คิดเป็นเงินลงทุนจากภาครัฐรวมกัน 60,000 ล้านบาท ช่วยให้ครัวเรือนประหยัดไปได้ทั้งหมด 10,403 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งสามารถคืนทุนได้ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 6 ปี อธิบายง่าย ๆ คือเหมือนรัฐบาลเอาเงินหมื่นกว่าล้านไปช่วยผู้ที่มีรายได้น้อย ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าน้อย และเมื่อติดตั้งไปแล้วยังสามารถใช้แผงโซลาร์เซลล์ไปได้นานอีก 25 ปี หรือแผงหมดอายุ นอกจากนี้การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 1 ล้านหลังคาเรือนนี้ยังจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน แค่เฉพาะส่วนการติดตั้งก็คาดว่าจะมีประมาณ 1,000 หน่วยธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่กระจายทั่วประเทศ ถ้าพูดถึงภาพรวม การติดตั้ง 3,000 เมกะวัตต์ทั้งหลังคาบ้าน โรงเรียนและโรงพยาบาลก็จะช่วยให้เกิดการจ้างงานในภาพรวม 3 ปี  ดังนี้

  • เจ้าหน้าที่ติดตั้ง 38,333 ตำแหน่ง 
  • ตำแหน่งพนักงานดูแลรักษา 15,000 คน
  • ตำแหน่งวิศวกรมากกว่า 3,750 คน
  • ช่างเทคนิค 15,500 คน
  • ฝ่ายบริหาร / ธุรการ ประมาณ 5,000 คน
  • พนักงานทั่วไป

ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้คาดว่าจะเกิดรายได้แก่แรงงานทั้งหมดประมาณ 3,200 ล้านบาทต่อปี

แล้วครัวเรือนที่เหลือล่ะ? ก็ต้องอธิบายในข้อเสนอที่ 2 คือ สำหรับอีก 74,000 ครัวเรือนที่เหลือจะเป็นผู้ที่สามารถลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้เอง โดยติดตั้งครัวเรือนละ 3 กิโลวัตต์ ประมาณ 120,000 บาท การติดตั้งนี้จะช่วยให้ประหยัดไป 19,000 บาทต่อปี ซึ่งหากมีระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้า Net Metering เข้ามาช่วย ครัวเรือนเหล่านี้ก็จะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าคืนให้รัฐได้อีกด้วย และใช้เวลาคืนทุนไล่เลี่ยกันคือประมาณ 6 ปี

เราได้ประโยชน์อะไรจากข้อเสนอนี้

อาจารย์ต้นให้ความเห็นไว้ว่า ข้อเสนอเหล่านี้มีจุดสำคัญคือ การปฎิวัติ1ล้านหลังคาโซลาร์รูฟท็อปสามารถช่วยผู้ที่มีรายได้น้อยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น รัฐบาลประหยัดค่าใช้จ่ายโดยเงินที่ต้องไปช่วยค่าไฟฟ้าของประชาชนในระยะยาวก็สามารถเอาไปใช้พัฒนาด้านอื่นได้ ในขณะเดียวกันถ้าเรามีระบบ Net Metering ซื้อขายไฟฟ้าหักลบหลบหน่วยและในราคาที่เท่ากัน อีก 74,000 ครัวเรือนที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้เองก็สามารถขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่ง ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และสถาบันการเงินอาจมีระบบสินเชื่อเพื่อการกู้ยืมเงินในการลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ด้วย การให้สินเชื่อในระบบโซลาร์รูฟท็อปจึงถือว่ามีความเสี่ยงต่ำมาก และอาจจะสามารถจัดระบบชำระคืนสินเชื่อแบบอัตโนมัติได้ด้วย 

ประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อม ระบบโซลาร์รูฟท็อป 3,000 เมกะวัตต์ในระยะเวลา 3ปี หากประเมินว่าประเทศไทยจะใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแทนดังกล่าวจะช่วยลดมลพิษทางอากาศจากการปล่อยออกไซด์ของไนโตรเจน (NOX) ลงได้ประมาณ 10,098 ตันต่อปี และระบบโซลาร์รูฟท็อปจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ประมาณ 4.52 ล้านตันต่อปี เทียบเท่ากับการดูดซับของพื้นที่ป่าไม้ที่มีพรรณไม้อเนกประสงค์เท่ากับ 3 ล้านไร่ เลยทีเดียว ที่ผ่านมาการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากอุตสาหกรรมถ่านหินของประเทศไทยเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรประมาณ 1,550 คนต่อปี  การเปลี่ยนผ่านพลังงานจากถ่านหินไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดอย่างเช่นพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์หลังจากสถานการณ์โรคระบาดนี้ เป็นโอกาสที่รัฐบาลควรฉกฉวยเอาไว้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

solar-revolution-poster

กรีนพีซรณรงค์ร่วมผลักดันรัฐบาลนำงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้ครัวเรือน 1 ล้านหลัง โรงพยาบาล 8,170 แห่ง และโรงเรียน 31,021 แห่งทั่วประเทศภายในเวลา 3 ปี (พ.ศ.2564-2566) ด้วยมาตรการ Net Metering สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่และยั่งยืน

ข้อเสนอการปฏิวัติหลังคาด้วยโซลาร์เซลล์ยังไม่จบแค่บนหลังคาครัวเรือนเท่านั้น แต่ยังมีข้อเสนอการปฏิวัติหลังคาโรงเรียนและโรงพยาบาลอีกด้วย ติดตามข้อสรุปของข้อเสนอการปฏิวัติหลังคาโรงเรียนและโรงพยาบาลได้ในตอนต่อไป หรืออ่านรายละเอียดเต็มๆได้ในรายงาน ปฎิวัติพลังงานบนหลังคา ข้อเสนอเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืนและเป็นธรรมผ่านระบบโซลาร์รูฟท็อปในประเทศไทย (พ.ศ.2564-2566) 

#GreenAndJustRecovery

Solar Rooftop at Luang Suan Hospital in Thailand. © Greenpeace / Arnaud Vittet
พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อทุกคน

ยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟระดับครัวเรือน ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม