นับถึงสิ้นปี 2561 ทั่วทั้งโลกมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แล้วจำนวน 500,000 เมกะวัตต์ โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 24  แต่หากคิดสัดส่วนพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์เมื่อเทียบกับพลังงานไฟฟ้าที่ชาวโลกบริโภคในปี 2561 พบว่ามีเพียงร้อยละ 2.6 เท่านั้น โดย 3 ประเทศที่มีสัดส่วนสูงสุดคือ ฮอนดูรัส (ร้อยละ 14.0) เยอรมนี (ร้อยละ 7.9)  และกรีซ (ร้อยละ 7.5)  ในขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกคือร้อยละ 2.3  เท่านั้น 

ที่น่าเสียดายยิ่งกว่านั้นก็คือเกินกว่าร้อยละ 90 ของการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยเป็นแบบโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ แทนที่จะเป็นหลังคาบ้านสำหรับที่อยู่อาศัย ทั้งๆ ที่ในปัจจุบัน ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ผู้บริโภคสามารถผลิตไฟฟ้าจากหลังคาบ้านตนเองได้แล้ว สามารถลดจำนวนเงินที่เคยไหลออกอย่างเดียวให้ลดลงได้ หรือถ้าดีกว่านี้อีกก็สามารถทำให้เงินไหลเข้ากระเป๋าตนเองได้ด้วย  จนมีการกล่าวกันว่า ผู้บริโภค หรือ consumer ได้กลายเป็น “prosumer” แล้ว

solar-revolution-poster

นโยบายการสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ง่ายที่สุด ลงทุนน้อยที่สุด ไม่ต้องซื้อมิเตอร์เพิ่มเติม ไม่ต้องติดอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าไหลย้อน และไม่ต้องซื้อแบตเตอรี่ ก็คือ นโยบาย “net – metering”  คือการอนุญาตให้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์เซลล์ (ในตอนกลางวันซึ่งเจ้าของบ้านส่วนใหญ่ไม่อยู่บ้าน) สามารถไหลเข้าสู่สายส่งได้ก่อน  และในเวลากลางคืน (เจ้าของบ้านกลับมา) ไฟฟ้าจากสายส่งก็ไหลกลับเข้าบ้าน เมื่อครบเดือนก็คิดการใช้สุทธิ (net) ตามที่ปรากฏในมิเตอร์  

ปัจจุบัน หลายประเทศได้นำนโยบาย net-metering ไปใช้อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน เช่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา  อินเดีย ปากีสถาน และ เคนยา เป็นต้น แต่ประเทศไทยเรายังไม่นโยบายนี้เลย นอกจากนี้ แม้ว่ารัฐบาลไทยจะมีการส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในบ้านเรือนมากกว่า 10 ปี แต่ก็มีปัญหาอุปสรรคหลายประการในการติดตั้ง จนทำให้ระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟท็อป ในประเทศไทยมีความคืบหน้าช้ามาก ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

รายงานฉบับนี้ จึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการนำระบบ net-metering มาใช้ในประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายที่จะมีระบบโซลาร์รูฟท็อป 3,000 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลา 3 ปี จากนั้นจะวิเคราะห์ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว รวมถึงแนวทางในการรับมือกับความห่วงกังวลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำระบบโซลาร์รูฟท็อปมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของความมั่นคงในระบบไฟฟ้า ผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า และการจัดการกับแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งาน

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม