ความแห้งแล้ง โรคระบาด และนโยบายทางการเมืองที่สนับสนุนให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า เป็นภัยคุกคามที่สร้างหายนะในฤดูการเผาป่า
เว็บไซต์ Unearthed โดย Greenpeace ได้วิเคราะห์ข้อมูลของทางการและพบว่าฤดูเผาป่าในแอมะซอนเริ่มต้นเร็วขึ้นและรุนแรงอย่างน่าเป็นห่วง โดยในเดือนสิงหาคมพบว่าสถานการณ์ไฟป่าเลวร้ายที่สุดในรอบทศวรรษ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าคุ้มครองที่พบไฟป่าเพิ่มขึ้นในช่วงสิบวันที่ผ่านมา
การตัดไม้ทำลายป่ายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างความหวาดหวั่นว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าอาจนำความเสียหายร้ายแรงมาสู่ภูมิภาคนี้
ข้อมูลจาก INPE ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านอวกาศของบราซิลแสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ต้นปีนี้ (พ.ศ.2563) จนถึงเดือนกรกฎาคม ป่าแอมะซอนสูญเสียพื้นที่ไปแล้วถึง 9,205 ตารางกิโลเมตร เทียบเท่ากับขนาดสนามฟุตบอลมากกว่า 2 แห่งต่อนาที ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วถึงหนึ่งในสาม
เมื่อปีที่แล้วไฟป่าในแอมะซอนกระตุ้นเตือนให้สังคมนานาชาติออกมาเรียกร้อง โดยในเดือนสิงหาคม ควันไฟจากการเผาป่าอย่างรุนแรงกินบริเวณกว้าง ทำให้ท้องฟ้ายามบ่ายเหนือเมืองเซาเปาโลซึ่งอยู่ห่างจากเขตป่า 2,500 กิโลเมตรมืดมิดเหมือนยามค่ำคืน ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ามีภัยคุกคามการตัดไม้ทำลายป่าทั้งหมด 3 ประการ ประกอบด้วยการตัดไม้ทำลายป่าที่ไร้การตรวจสอบ การสนับสนุนอย่างเงียบๆ จากรัฐบาลของนายโบลโซนาโร และสภาพอากาศที่แห้งกว่าปกติ สามารถกระตุ้นให้เกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายยิ่งขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
การตัดไม้ทำลายป่าและไฟป่ายับยั้งความสามารถของป่าเขตร้อนในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ แอมะซอนเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญระดับโลก แต่ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าเมื่อไฟป่าเพิ่มขึ้นและแอมะซอนต้องดูดซับควันที่เต็มไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ ภูมิภาคนี้อาจมีความเสี่ยงที่จะเปลี่ยนไปเป็นแหล่งปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิ ซึ่งเป็นตัวเร่งให้สภาพภูมิอากาศเสื่อมโทรมเร็วขึ้น
ในสิบวันแรกของเดือนสิงหาคม มีจุดฮอตสปอตในชีวนิเวศแอมะซอนสูงขึ้น 17% หรือเป็นจำนวน 10,136 แห่ง ซึ่งสูงกว่าจุดฮอตสปอตที่มีการบันทึกไว้เมื่อปีที่แล้วที่มีจำนวน 8,669 แห่ง ข้อมูลจาก INPE ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านอวกาศของบราซิลเผยให้เห็นว่าเป็นตัวเลขสูงสุดในช่วงต้นเดือนสิงหาคม นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2553 ที่เป็นปีที่เกิดภัยแล้งรุนแรงในแอมะซอน ทำให้พื้นที่ริโอนิโกรหดตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 109 ปี ในปีนั้นมีจุดวิกฤติ 11,280 แห่ง ฤดูไฟป่ามักจะเริ่มในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมและจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อในช่วงต้นเดือนสิงหาคม
ช่วงสิบวันแรกของเดือนสิงหาคมไฟป่าในชีวนิเวศแอมะซอนเกิดขึ้นมากกว่าช่วงเดียวกันของปีอื่น ๆ นับตั้งแต่เกิดภัยแล้งอย่างรุนแรงในปีพ.ศ.2553เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีไฟป่าในแอมะซอน 6,803 ครั้ง มากกว่าเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2563 คิดเป็น 28% (ในเดือนกรกฎาคมก็ยังมีไฟป่าเพิ่มขึ้นอีกด้วย)
“ฉันกังวลมาก” แอนเน อเลนการ์ (Ane Alencar) ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมแอมะซอน (IPAM) กล่าว “ เราคาดการณ์ว่ามันจะเป็นฤดูเผาป่าอันหายนะได้เลย”
ในเดือนกรกฎาคม จุดฮอตสปอตในดินแดนของชนพื้นเมืองเพิ่มสูงกว่าพื้นที่ทั้งหมดถึง 77% จาก 305 แห่ง ในปีพ.ศ. 2553 เป็น 540 แห่ง จุดฮอตสปอตในพื้นที่อนุรักษ์ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยไฟป่าในพื้นที่ป่าของรัฐเพิ่มสูงกว่าเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2563 ถึง 51% และป่าของรัฐบาลกลางเพิ่มสูงขึ้น 48%
แม้ว่าในช่วงไวรัสระบาด ผู้ยึดครองที่ดินและคนตัดไม้ผิดกฎหมายก็ยังคงทำงานต่อไป
ไฟป่าในพื้นที่ของคนพื้นเมืองยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนสิงหาคม แต่กราฟไม่ได้สูงชันมาก โดยเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่พื้นที่อนุรักษ์ของรัฐบาลกลางมีจุดฮอตสปอตเพิ่มขึ้น 81% ในช่วงสิบวันที่ผ่านมา พื้นที่ไฟป่าส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เดียวคือ Floresta Nacional do Jamanxim จุดฮอตสปอตนี้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเกือบสองเท่า จาก 172 แห่ง เป็น 328 แห่ง ป่าผืนนี้อยู่ล้อมรอบเมืองโนโว โปรเกรสโซ ในรัฐพารา ซึ่งเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วได้จัดงาน “วันแห่งไฟ” ภายใต้การสนับสนุนของนายโบลโซนาโร

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการเพิ่มขึ้นของไฟป่าในพื้นที่คุ้มครองมีแนวโน้มที่จะเชื่อมโยงกับการยึดครองที่ดิน เนื่องจากการป้องกันอาชญากรรมตามปกติได้รับกระทบจากโรคระบาด (โควิด) และการตัดงบประมาณ
“ผู้ยึดครองที่ดินไม่ได้ทำงานจากที่บ้าน คนตัดไม้ผิดกฎหมายไม่ได้ทำงานจากที่บ้าน” คริสเตียน ปออิเรีย ผู้อำนวยการโครงการของ Amazon Watch กล่าว “ ท่ามกลางการระบาดครั้งใหญ่ พวกเขายังอยู่ที่นั่น ยังคงทำลายป่าไม้ ยังคงรุกรานดินแดนของชนพื้นเมืองโดยไม่ต้องรับโทษ และคนพื้นเมืองตอบโต้ได้น้อยลง”
หนึ่งในดินแดนของชนพื้นเมืองที่เกิดไฟป่าล่าสุดคือมุนดุรุกู ในรัฐพารา โดยในช่วงเวลาแค่สิบกว่าวัน ที่นั่นเกิดไฟป่าแล้ว 88 แห่ง เมื่อปีที่แล้วพื้นที่นี้มีไฟป่า 117 แห่ง ซึ่งสูงกว่าในปีพ.ศ. 2561 ที่มีไฟป่า 84 แห่งอย่างมาก
ดินแดนของชนพื้นเมืองกำลังถูกบุกรุกโดยกลุ่มเหมืองแร่ทองคำที่ผิดกฎหมายและกลุ่มไม้เถื่อน
เขตแดนของมุนดุกุรูทอดยาวเหนือที่ราบลุ่มแม่น้ำตาปาโจส ซึ่งถูกคนงานเหมืองทองรุกรานมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยตัดไม้และเผาป่าเพื่อนำเครื่องจักรกลหนักเข้าพื้นที่หรือสร้างทางจอดยานพาหนะ
อิบาม่าซึ่งเป็นหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการเพื่อเคลื่อนย้ายคนงานเหมืองแร่ทองคำที่ผิดกฎหมายออกจากพื้นที่ของมุนดุกุรุ ซึ่งการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องเร่งลดการติดต่อระหว่างคนงานเหมืองกับคนพื้นเมือง โดยเฉพาะผู้มีความเสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจ แต่ ภายหลังการประชุมระหว่างนายริคาโด ซาลลิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและกลุ่มคนงานเหมืองที่ผิดกฎหมาย กระทรวงกลาโหมของบราซิลก็ได้ระงับปฏิบัติการนี้
“ดินแดนของชนพื้นเมืองกำลังถูกบุกรุกโดยกลุ่มเหมืองแร่ทองคำและกลุ่มทำไม้ผิดกฎหมาย” มาร์ซัว อัสตรินี เลขาธิการบริหารขององค์กร Climate Observatory ซึ่งเป็นแนวร่วมของกลุ่มประชาสังคมกล่าว “และผู้บุกรุกกำลังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล”
ฟาร์มปศุสัตว์ก็มีบทบาทสำคัญด้วยเช่นกัน โดยข้อมูลของ INPE แสดงให้เห็นว่าในช่วงสิบวันแรกของเดือนสิงหาคม ไฟป่าในเขตป่าของรัฐพุ่งสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จาก 923 เป็น 1,233 แห่ง เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดพบว่าไฟป่า 947 แห่ง หรือมากกว่าสามในสี่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์เพียงแห่งเดียว คือพื้นที่คุ้มครองตรียุงฟูโดซิงกู (Triunfo do Xingu) ทางตอนเหนือของรัฐพารา

เขตป่าที่ทอดยาวไปทั่วพื้นที่ที่ถูกรุกรานจากการทำฟาร์มปศุสัตว์ และมีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าสูงที่สุดในประเทศ โดยเมื่อปีที่แล้วมีไฟป่า 2,647 ครั้ง ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดในบรรดาเขตป่าของรัฐ ในเดือนตุลาคมปีแล้ว Reporter Brasil ได้ระบุว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างที่ดินที่ถูกตัดไม้ทำลายป่าอย่างผิดกฎหมายในเขตอุทยานกับผู้ผลิตเนื้อสัตว์รายใหญ่ 2 รายคือ Marfrig และ Frigol
จนถึงเดือนนี้ไฟป่าเกิดขึ้นในรัฐพาราและแอมะซอนนัส ซึ่งคิดเป็น 74% ของไฟป่าทั้งหมดในแอมะซอน
วัฒนธรรมของการทำผิดแล้วลอยนวล
ผู้สังเกตการณ์รายหนึ่งกล่าวว่า นับตั้งแต่นายโบลโซนาโรและนายซาลลิสขึ้นสู่อำนาจในเดือนมกราคม พ.ศ.2562 ในเวลานั้นดูเหมือนว่ามีการออกนโยบายแบบไม่เป็นทางการที่มีเป้าหมายเพื่อทำลายสิ่งแวดล้อม พวกเขาเลิกใช้บรรทัดฐานในการปกป้องป่าไม้ ขับไล่ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ และเสนอให้เปิดพื้นที่แอมะซอนเพื่อทำเหมืองและฟาร์มปศุสัตว์ ไม่ว่าจะออกกฎหมายรองรับหรือไม่ สัญญาณต่างๆ ก็ชัดเจนอยู่แล้ว
เมื่อวันศุกร์ หนังสือพิมพ์ O Estado de S. Paulo รายงานว่ากระทรวงสิ่งแวดล้อม (MMA) กำลังลดจำนวนเฮลิคอปเตอร์ที่หน่วยงานสิ่งแวดล้อมอิบาม่าใช้ทั้งเพื่องานป้องกันอาชญากรรมและการดับไฟป่าทั่วประเทศ จากหกเป็นสี่ลำ
“เฮลิคอปเตอร์หกลำนั้นน้อยเกินไป มันน่าผิดหวังมาก” แหล่งข่าวใน MMA ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนกล่าว
เบธ อูเอมา ผู้อำนวยการสมาคมแรงงานด้านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกล่าวว่า คาดว่าในปีหน้า MMA จะตัดงบประมาณของหน่วยงานปกป้องสิ่งแวดล้อมลงระหว่าง 20 ถึง 25% เพิ่มเติมจากงบประมาณที่ลดลง 25% ในปีนี้
“การบริหารงานในปัจจุบันไม่เพียงเป็นสิ่งยืนยัน แต่ยังเสริมสร้างความกลัวที่เลวร้ายที่สุดของเราต่อความพยายามปกป้องสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” เธอกล่าว “เราต่างรู้สึกเสียขวัญอย่างรุนแรงต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในหน่วยงานเหล่านี้”
เมื่อปีที่แล้วไฟป่าทั่วเขตแอมะซอนทั้งหมดเพิ่มสูงขึ้น แต่การเกิดไฟป่าในพื้นที่ของชนพื้นเมืองนั้นเด่นชัดเป็นพิเศษ ขณะที่ไฟป่าทั่วแอมะซอนเพิ่มขึ้นจากปีพ.ศ. 2561 ถึง 30% แต่ในดินแดนของชนพื้นเมือง เกิดไฟป่ามากกว่าปีที่แล้วถึง 67% ส่วนไฟป่าในเขตอนุรักษ์ของรัฐ และเขตของรัฐบาลกลางเพิ่มขึ้น 68% และ 34% ตามลำดับ ในเวลานั้นผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าคนตัดไม้และเจ้าของคอกปศุสัตว์ที่ได้อำนาจจากการเลือกตั้งของนายโบลโซนาโรกำลังใช้โอกาสนี้บุกรุกและกวาดล้างพื้นที่คุ้มครองในแอมะซอน
แม้ว่าล่าสุดนายโบลโซนาโรจะแสดงท่าทีป้องกันการเกิดไฟป่าตามเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของนักลงทุนต่างชาติ แต่นักวิจารณ์กล่าวว่ามันไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะชดเชยกับความรู้สึกเรื่องการทำผิดโดยไม่ต้องรับโทษ

เมื่อต้นปีที่ผ่านมารัฐบาลของนายโบลโซนาโรพยายามผลักดันมาตรการที่เลียนแบบ “กฎหมายการยึดครองที่ดิน” ซึ่งจะทำให้มาตรการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าและการบุกรุกดินแดนของชนพื้นเมืองอ่อนแอลง
“ผู้คนในพื้นที่มั่นใจว่ารัฐบาลจะทำให้การรุกรานเหล่านี้ถูกต้องตามกฎหมาย และจะทำให้การทำเหมืองทองคำในดินแดนของชนพื้นเมืองถูกต้องตามกฎหมาย” อัสตรินีกล่าว
เหตุใดจึงเกิดไฟป่าในแอมะซอน
ไฟป่าในแอมะซอนไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไฟถูกจุดขึ้นเพื่อทำให้ที่ดินโล่งเตียน พวกพ่อค้าไม้ที่ถูกคัดเลือกไว้แล้วมักจะไปถึงเป็นคนแรก และขนไม้เนื้อแข็งที่มีมูลค่าที่สุดไปขาย ต้นไม้ใหญ่ที่เหลือจะถูกดึงด้วยโซ่และปล่อยให้แห้งเป็นเวลาหนึ่งหรือสองเดือนในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งจะเริ่มในเดือนเมษายน
มีการจุดไฟเพื่อเคลียร์ต้นไม้ที่ถูกโค่นและพืชที่หลงเหลืออยู่บางครั้ง เพื่อให้สามารถปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่แห้งแล้ง และเมื่อผู้ที่มีประสบการณ์ในการจัดการที่ดินเพียงน้อยนิดจุดไฟแล้ว ไฟเหล่านี้อาจไหม้จนควบคุมไม่ได้และกระเด็นเข้าไปในป่าโดยรอบ ทำให้เกิดไฟป่า
เอเลนการ์อธิบายว่านี่เป็นสาเหตุว่าทำไมการตัดไม้ทำลายป่าที่เพิ่มสูงขึ้นจึงมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ฤดูไฟป่าที่เลวร้ายยิ่งขึ้น
แม้ว่าเมื่อเดือนที่แล้ว หน่วยงานวิจัยภายใต้กระทรวงเกษตรที่ชื่อ เอ็มบราพา (Embrapa) กล่าวว่า 90% ของไฟป่าแอมะซอนในปีพ.ศ.2562 อยู่ในพื้นที่ที่เสื่อมโทรมและพื้นที่ที่ใช้เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์มากกว่าพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่าแห่งใหม่
แต่รายงานการวิเคราะห์ขององค์กร IPAM พบว่าในปี พ.ศ. 2562 34% ของไฟป่าในแอมะซอนอยู่ในพื้นที่ที่เพิ่งถูกตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ส่วนอีก 30% เป็นไฟป่าซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีการจุดไฟอย่างตั้งใจเพื่อเคลียร์พื้นที่ที่ถูกตัดไม้ทำลายป่า แล้วไฟกระเด็นเข้าไปในเขตป่าที่อยู่ติดกัน มีเพียง 36% ที่อยู่ในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่มีอยู่แล้ว
“ไฟที่ก่อให้เกิดกลุ่มควันพิษในแอมะซอนและเคลื่อนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ไม่ใช่ไฟจากการเผาหญ้า แต่เป็นไฟจากการเผาต้นไม้ที่ถูกโค่นหรือไม้ยืนต้น” เอเลนการ์เขียนไว้ในรายงานการวิเคราะห์
สภาพอากาศที่แห้งขึ้น สร้างวัฏจักรที่เลวร้ายกว่าเดิม
ฤดูไฟป่าของปีที่แล้วรุนแรงมากแค่เดือนสิงหาคมเพียงเดือนเดียวมีไฟป่า 30,900 ครั้ง ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2553 แต่เพราะฝนตกหนักในเดือนกันยายนและไม่มีภัยแล้งรุนแรงจึงทำให้ปีพ.ศ. 2562 ยังเป็นปีที่ไม่สามารถทำลายสถิติโดยรวมได้
แต่การจุดไฟขนาดใหญ่เพื่อเคลียร์ที่ดินที่พุ่งพรวดขึ้นอย่างผิดปกติ คล้ายคลึงกับรูปแบบการตัดไม้ทำลายป่าในช่วงก่อนที่จะมีกฎหมายฉบับปีพ.ศ. 2547 ที่กำหนดให้จำกัดการเผาไหม้ขนาดใหญ่และการตัดไม้แบบเตียนโล่ง
“สถานการณ์ที่เป็นฝันร้ายอย่างแท้จริงน่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่าที่อยู่ในระดับที่เคยเกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นช่วงปีที่แห้งแล้ง” แอลเบอร์โต เซตเซอร์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโสของ INPE กล่าวกับ Nasa’s Earth Observatory เมื่อต้นปีนี้ “คุณคงได้เห็นไฟลุกลามเข้าไปในป่าฝนและเผาไหม้แบบควบคุมไม่ได้เป็นเวลาหลายเดือน”

ที่น่ากังวลคือ ปีนี้ คาดว่าสภาพอากาศจะแห้งแล้งกว่ามาก เพราะช่วงฝนสูงสุดซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์มีปริมาณฝนตกเพียง 75% ของปริมาณน้ำฝนตามปกติ นอกจากนี้ข้อมูลจากนาซ่าและ INPE บ่งชี้ถึงสภาพภูมิอากาศที่วิกฤตซึ่งจะทำให้ป่าไม้ติดไฟได้ง่ายขึ้น เช่น ดินแห้ง อุณหภูมิที่ร้อนขึ้น และปริมาณน้ำใต้ดินลดลง
ความสามารถในการฟื้นตัวของป่าลดลงอย่างมาก…เรากำลังเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ
นาซ่ายังบอกด้วยว่ากระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือที่อุ่นผิดปกติ จะทำให้ฤดูกาลพายุเฮอริเคนรุนแรงขึ้นในชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ และอาจทำให้ฤดูไฟป่าของแอมะซอนรุนแรงขึ้น เอเลนการ์กล่าว
“สถานการณ์อาจถึงขั้นหายนะ เพราะเรามีวัสดุที่พร้อมจะติดไฟ และเรายังขาดเจตจำนงทางการเมืองที่จะต่อสู้กับการกระทำผิดทางอาญาที่นำไปสู่การตัดไม้ทำลายป่า และหากมีเหตุการณ์ทางภูมิอากาศที่เหนือกว่าที่คาดไว้นี้ เราจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายมาก ” เอเลนการ์กล่าว
เปาโล แบรนโด นักนิเวศวิทยาป่าไม้เขตร้อนจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-เออร์ไวน์ กล่าวว่าสภาพอากาศที่แห้งแล้งจะทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่ไฟที่จุดเพื่อทำลายป่าจะหลุดรอดเข้าไปในป่าหลัก โดยเฉพาะตามแนวชายขอบป่า ไฟป่าเหล่านี้ก็ก่อให้เกิดความแห้งแล้งและวงจรทำลายล้างอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้มีโอกาสเกิดไฟป่ามากขึ้น
“หากป่าไม้สูญเสียต้นไม้ใหญ่ ก็จะสูญเสียความชื้นในอากาศซึ่งป้องกันไม่ให้ไฟลุกลาม ความชื้นที่เป็นส่วนประกอบหลักของผลไม้และเมล็ดพันธุ์พืช และที่สำคัญคือเราจะสูญเสียแหล่งบริการระบบนิเวศที่สำคัญไปด้วย” แบรนโดเขียนไว้ในอีเมล
ทัสโซ เอซีวีโด ผู้ประสานงานของ MapBiomas ซึ่งเป็นองค์กรที่ติดตามความเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินของบราซิลกล่าวว่า หากไฟไหม้ครั้งเดียว ป่าอาจฟื้นตัวได้ภายใน 20 หรือ 30 ปี แต่เมื่อเกิดไฟไหม้ซ้ำซากปีต่อปี ป่าจะไม่มีโอกาสฟื้นตัวเลย
“ความสามารถในการฟื้นตัวของป่าลดลงอย่างมาก อาจเป็นไปได้ว่าหลังจากที่ถูกไฟไหม้สามหรือสี่ครั้ง มันจะไม่ฟื้นตัวอีกแล้ว และหากไม่ฟื้นตัว มันก็จะแห้งแล้งขึ้น และติดไฟได้ง่ายขึ้น” เอซีวีโดกล่าว “เรากำลังเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ”
“ป่าแอมะซอนถูกทำลายไปเกือบ 20% แล้ว ดังนั้นนับจากนี้ไปเรามีความเสี่ยงที่จะถึงจุดที่ไม่อาจย้อนคืนกลับมาได้” อาเซเวโดกล่าว
หน่วยงานที่เดือดร้อน
แม้ว่าวันที่ 15 กรกฎาคม ประธานาธิบดีโบลโซนาโรจะมีคำสั่งห้ามจุดไฟในแอมะซอนเป็นเวลา 120 วัน และการใช้กำลังทหารที่ใช้งบประมาณสูงมารับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมป่าไม้ แต่ก็ยังเกิดไฟป่าเพิ่มขึ้นอยู่ดี
เซตเซอร์ นักวิทยาศาสตร์ขององค์กร INPE กล่าวว่า คำสั่งนี้คล้ายคลึงกับคำสั่งเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วที่เกิดขึ้นหลังจากแรงกดดันอย่างรุนแรงจากนานาชาติ โดยคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในรัฐที่มีกองทัพตั้งอยู่
“เมื่อคุณมีเจตจำนงทางการเมือง และในทางเทคนิคหมายถึงการใช้กองทัพ ตำรวจของรัฐบาลกลางและหน่วยงานของกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุณจะสามารถลดจำนวนไฟป่าลงได้อย่างมาก” เขากล่าว

แต่นักวิจารณ์กล่าวว่าน่าจะนำเงินที่ใช้ในการส่งกองทัพ ไปให้ทุนกับหน่วยงานงานที่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่าและลดการเผาไฟแทน ซึ่งสามารถใช้ได้หลายปี
“การใช้กำลังทหารคือผักชีโรยหน้า มันเป็นม่านกรองควันที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความกังวลของผู้นำการตลาดทั่วโลก” ปัวริเยร์กล่าว “ ในด้านหนึ่ง แม้ว่าโบลโซนาโรจะพูดถึงการต่อสู้กับการตัดไม้ทำลายป่ากับ Operation Green Brazil แต่ในทางกลับกันพวกเขากำลังทำลายโครงสร้างและงดให้เงินทุนแก่หน่วยงานที่ทำงานได้โดยใช้งบประมาณน้อยกว่า ทำได้ดีกว่า และมีประสบการณ์มากกว่า”
แหล่งข่าวไม่เปิดเผยนามภายในกระทรวงสิ่งแวดล้อมกล่าวว่ากองทัพไม่คุ้นเคยกับปัญหาด้านลอจิสติกส์ในการทำงานในแอมะซอนและไม่รู้วิธีต่อสู้กับไฟ แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวเพิ่มเติมว่าสมาชิกระดับสูงของฝ่ายบริหารไม่เต็มใจรับฟังการคัดค้านของพวกเขาที่จะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของทหาร
“เราอยู่ในช่วงเวลาที่รัฐบาลไม่มีการเจรจามากนัก พวกเขามาและส่งคนไป พวกเขาไม่ถามไถ่ ไม่แลกเปลี่ยนอภิปรายใดๆ” พวกเขากล่าว
หน่วยงานด้านการตรวจสอบกำลังดิ้นรนกับงบประมาณที่ลดลง การขาดแคลนกำลังคน และการแทรกแซงจากฝ่ายบริหารของนายโบลโซนาโร
หนังสือพิมพ์ Folha de S. Paulo รายงานว่าค่าปรับจากการละเมิดสิ่งแวดล้อมของอิบาม่า ในปีพ.ศ.2563 ต่ำที่สุดในรอบ 24 ปี
กระทรวงสิ่งแวดล้อมไม่ตอบคำถามดังกล่าว
ไม่ใช่แค่แอมะซอนเท่านั้นที่ลุกเป็นไฟ
ความแห้งแล้งในเมืองปันตานาล (Pantanal) ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่ต่อเนื่องขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้เกิดไฟป่าเพิ่มขึ้นมากกว่าสามเท่าในปีนี้ ในเดือนกรกฎาคมมีไฟป่าเกิดขึ้นทั้งสิ้น 1,684 ครั้ง ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ INPE เริ่มบันทึกข้อมูลในปีพ.ศ.2541 และมากกว่าค่าเฉลี่ยของเดือนถึงสี่เท่า
ฤดูไฟป่าที่รุนแรงกำลังดำเนินอยู่ในปันตานาล ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ติดชายแดนของบราซิลกับโบลิเวียและปารากวัย เนื่องจากภัยแล้งทำให้ไฟที่จุดเพื่อเคลียร์พื้นที่เกษตรกรรมกระเด็นเข้าไปในเขตป่าอย่างควบคุมไม่ได้ ภาพกราฟฟิคนี้แสดงตัวเลขการเกิดไฟป่าในภูมิภาคนี้ที่ทำลายสถิติไฟป่าในช่วงสิบวันแรกของเดือนสิงหาคม ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาพื้นที่ชุ่มน้ำมีน้ำท่วมตามฤดูกาล ในช่วงฤดแล้งจะมีพืชผักขึ้น ในปีนี้ จนถึงวันที่ 10 สิงหาคม ดาวเทียมของ INPE บันทึกจุดฮอตสปอตไฟป่าได้ 6,388 แห่ง ซึ่งมากกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เปลวไฟป่าขนาดใหญ่ในพื้นที่ชุ่มน้ำหนึ่งครั้งได้เผาผลาญพืชพันธุ์ไปแล้ว 600 ตารางกิโลเมตรภายในเวลาไม่ถึงเดือน กลายเป็นไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 14 ปี ในภูมิภาคนี้
ดูเหมือนไฟป่าจะรุนแรงขึ้น จากการวิเคราะห์ของ Unearthed มีจุดเกิดไฟป่า 2,170 แห่งในช่วงสิบวันแรกของเดือนสิงหาคม ซึ่งสูงกว่าช่วงสิบวันเดือนเดียวกันของปีที่แล้วกว่า 600%
ภูมิภาคนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพที่ยิ่งใหญ่มหึมาและที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศอย่างมาก เป็นที่อยู่อาศัยของนกหลายร้อยชนิดและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น เสือจากัวร์ และตัวกินมดขนาดใหญ่
วินนิเชียส ซอลเกโร (Vinícius Silgueiro) ผู้ประสานงานของสถาบัน Instituto Centro de Vida ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านป่าไม้ในเมืองมาโต กรอสโซกล่าวว่าเหตุการณ์ไฟป่าในปันตานาลนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการเร่งการตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอน ซึ่งทำให้ฤดูฝนในภูมิภาคนี้ลดลงและภัยแล้งจะรุนแรงขึ้น
“ การตัดไม้ทำลายป่านี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อปรากฏการณ์ที่เรียกว่า“แม่น้ำที่บินได้” (flying rivers) ซึ่งความชื้นในป่าก่อให้เกิดท่อน้ำขนาดใหญ่ซึ่งแพร่กระจายผ่านอากาศไปยังพื้นที่อันกว้างใหญ่ของภูมิภาคอเมริกาใต้” เขากล่าว
ซอลเกโรกล่าวว่ามีข้อมูลระบุว่าไฟส่วนใหญ่ถูกจุดเพื่อสร้างใหม่หรือต่ออายุทุ่งหญ้า แต่ความแห้งแล้งนั้นทำให้ไฟป่าแพร่กระจายออกไป
“จำนวนจุดฮอตสปอตแสดงให้เห็นว่าในปีนี้ วิกฤตจะยังคงรุนแรงเหมือนปีที่แล้วหรือรุนแรงกว่า” เขากล่าวเพิ่มเติม
บทความนี้แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านต้นฉบับได้ที่นี่

ทุก ๆ วันอุรังอุตังกว่า 25 ตัวต้องสูญเสียชีวิตและที่อยู่อาศัยจากการทำลายป่าฝนเขตร้อนของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม 6% คือตัวเลขของป่าฝนเขตร้อนที่เหลืออยู่บนโลก ผืนป่าฝนเขตร้อนในอินโดนีเซียเป็น 1 ในร้อยละ 6 นี้ ป่าฝนเขตร้อนเป็นแหล่งผลิตก๊าซออกซิเจนที่สำคัญที่สุดให้กับมนุษย์ และยังเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่าสามหมื่นห้าพันล้านตัน
มีส่วนร่วม