เหมืองแร่ … ออกไป !!!  

ออกไป …. เหมืองแร่ !!!

กว่า 3 ปีที่นักสู้กะเบอะดินเปล่งเสียงจากยอดดอยเพื่อปกป้องแผ่นดิน ขุนน้ำ บ้านในหุบเขาที่ชื่อว่า “กะเบอะดิน” นี่เป็นการต่อสู้ครั้งประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์แห่งอมก๋อย และ เป็นอีกหนึ่งก้าวย่างสำคัญของการใช้ข้อมูลชุมชนต่อสู้ปกป้องอมก๋อยจากโครงการเหมืองถ่านหิน 

“แอ่งกะเบอะดิน” เป็นแอ่งหนึ่งที่มีการสำรวจพบแหล่งถ่านหินจังหวัดเชียงใหม่ ในอาณาบริเวณ หมู่บ้านมีสายแร่พาดผ่านลำห้วยกลับถูกปกคลุมด้วยเศษใบไม้ มีความพยายามอย่างมาก ของคนในชุมชนที่จะปกปิดถ่านหินก้อนใหญ่ในลำห้วยไว้อย่างมิดชิดไม่ให้เป็นจุดพบเห็นได้ง่ายพวกเขาทราบดีว่าหากถ่านหินถูกขุดขึ้นมาจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชน

2 ปีที่ผ่านมา กะเบอะดินยังคงยึดมั่น “แมแหแบ” (แปลว่า “ไม่เอาเหมืองแร่) ชี้จุดยืนสำคัญที่ชัดเจนว่าชีวิตของพี่น้องกะเหรี่ยงมีความเกี่ยวโยงกับสายน้ำ และได้ร่วมกันนำเสนอข้อมูลการสำรวจการใช้น้ำภายในชุมชน และตั้งคำถามต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับสมบูรณ์) โครงการทำเหมืองแร่ถ่านหิน คำขอประทานบัตรที่ 1/2543 ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ รายงานเล่มโต 600 หน้า ที่พูดถึงโครงการของเหมือง หรือบริษัทเอกชนเจ้าของโครงการที่จะขอใบประทานบัตร คือ บริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด

รายงานเล่มนี้ถูกที่จัดทำโดยบริษัท ทอพ-คลาส คอนซัลแทนท์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาที่ได้รับใบอนุญาตให้จัดทำรายงานอีไอเอ รวมทั้งศึกษาและจัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม วัตถุประสงค์ของรายงานฉบับนี้ระบุว่าถูกจัดทำขึ้นเพื่อประกอบการอนุญาตจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งสถานภาพปัจจุบันของโครงการยังไม่ได้ก่อสร้าง แต่จะต้องจัดทำรายงานเพราะโครงการนี้เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการ ประเภทโครงการเหมืองแร่

นับตั้งแต่ปี 2554 เป็นเวลากว่า 10 ปีมาแล้วที่รายงานเล่มนี้ได้ถูกเสนอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่  และได้มติเห็นชอบในปีเดียวกันนั้นเอง โดยในปี 2562 เป็นต้นมานับเป็นจุดเริ่มต้นที่ชุมชนเริ่มตั้งคำถามกับความถูกต้องของรายงานอีไอเอฉบับนี้ และเริ่มมีการตรวจสอบรายละเอียดและขั้นตอนการจัดทำรายงานฉบับดังกล่าวโดยชุมชนนับแต่นั้นมา

ภายหลังจากที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ได้แจ้งว่าจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ที่ขอประทานบัตร ซึ่งมีการแจ้งผ่านการปิดประกาศไว้ ณ ที่ว่าการอำเภออมก๋อย (9 กันยายน 2562) เชิญประชาชนผู้ที่มีรายชื่อตามทะเบียนบ้านบ้านกะเบอะดิน หมู่ที่ 12 และบ้านขุน หมู่ที่ 20 หลังจากชุมชนทราบว่าจะมีการจัดเวทีในวันที่ 28 กันยายน 2562 จึงได้ยื่นหนังสือให้แก่ศูนย์ดำรงธรรมและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่เพื่อขอให้ชะลอเวที ด้วยความกังวลถึงข้อบกพร่องหลายประการจากรายงานอีไอเอ  

3 เมษายน 2565 เยาวชนและชุมชนกะเบอะดิน จัดนิทรรศการเล่าเรื่องพื้นที่กะเบอะดินใน อ.อมก๋อย พร้อมกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยที่อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต สุขภาพของคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อม บริเวณประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่

แม้ว่าชุมชนจะขอให้ชะลอเวทีแล้วก็ตาม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ยังคงดึงดันให้เกิดเวทีดังกล่าวขึ้น คนอมก๋อยจากหลายชุมชนออกมารวมตัวอ่านแถลงการณ์ ตั้งข้อสงสัยในกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ของโครงการนี้ และขอให้มีการทบทวนและตรวจสอบการทำ EIA อีกครั้ง ส่งผลให้มีข้อสรุปในการเลื่อนเวทีรับฟังออกไปก่อน และตัวแทนสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับหนังสือแถลงการณ์ไว้ เพื่อส่งเรื่องร้องเรียนให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่พิจารณาต่อไป 

ชุมชนกะเบอะดินและความร่วมมือจัดทำรายงานชุมชน

Community Health Impact Assessment (CHIA) หรือตามคำเรียกบนดอยสูง คือ “การทำข้อมูลชุมชนแบบที่ต้องช่วยกัน” เยาวชนกะเบอะดินเป็น พลังสำคัญในการดำเนินการศึกษานี้ โดยวิธีการที่จะได้มาซึ่งข้อมูลนั้นกลุ่มเยาวชนมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารระหว่างรุ่นสู่รุ่น เนื่องด้วยภาษาเป็นอุปสรรคสำคัญในการสื่อสารกับคนต่างวัย กลุ่มเยาวชนกะเบอะดินจึงเป็นแรงสำคัญในการทำหน้าที่ “นักสื่อสารของชุมชน” พูดคุย ค้นหาข้อมูลและรวบรวมองค์ความรู้จากคนต่างวัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นหาข้อมูลในพื้นที่ที่มีวิถีทางวัฒนธรรมเฉพาะ 

กะเบอะดิน ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอน EIA
ร่วมจับตาโครงการเหมืองถ่านหินกับชุมชนกะเบอะดิน

ร่วมติดตามความคืบหน้าการคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยผ่าน Facebook Page โดยชุมชนกะเบอะดิน

ติดตาม

การสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมที่นำโดยกลุ่มเยาวชนจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะได้มาซึ่งข้อมูลที่ครบถ้วน ผู้นำในชุมชนที่เข้มแข็งเป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง การประกาศเสียงตามสายในหมู่บ้านที่เรียกให้ลูกบ้านมาเข้าร่วม หรือให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวผู้เชี่ยวชาญทางด้านต่าง ๆ ในหมู่บ้านทำให้ข้อมูลชุมชนมีมิติที่ครอบคลุม

เราเริ่มต้นที่ทบทวน EIA จบลงที่การจัดทำ CHIA : กระบวนการศึกษาถูกออกแบบว่าทุกขั้นตอนต้องมีคนในชุมชนอยู่ในนั้น โดยเริ่มจาก

  • การทบทวน (Review) รายงาน EIA กลุ่มเยาวชนและคนที่สนใจในการทำข้อมูลรวมตัวแบ่งกันอ่านข้อมูลและทำกระบวนการตรวจสอบข้อมูลแต่ละส่วนในรายงาน
  • การสำรวจชุมชนภาคสนาม (Field Trips) โดยเริ่มที่การสำรวจพื้นที่ชุมชนที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน สิ่งของ ความทรงจำ โดยให้ความสนใจการไหลเวียน เคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่งติดตรึงพื้นที่ (Multi-sited Ethnography) เช่น การรวมกลุ่มเดินสำรวจสายน้ำในชุมชน และการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันในพื้นที่ที่คนในชุมชนรวมตัวกัน อย่าง แปลงเพาะปลูก ไร่หมุนเวียน สถานที่นัดพบในชุมชน การสำรวจภาคสนามอย่างมีส่วนร่วม (Participatory action research) เพื่อให้เห็นภาพปฏิบัติการและสำรวจเส้นทางของพืชผลเศรษฐกิจทางการเกษตรในชุมชน และปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชนกับคนภายนอก 
  • การทำแผนที่อย่างมีส่วนร่วม (Participatory mapping) เช่น แผนที่เดินดิน แผนที่ทรัพยากรชุมชน กับแผนที่หากเกิดโครงการเหมืองถ่านหิน
  • การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth-Interview) รายบุคคลทั้งคนในชุมชน เช่น พิธีกรรม วิถีชีวิต และการจัดการน้ำในชุมชน และผู้คนจากภายนอกชุมชนที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ในพื้นที่ เช่น ผู้ประกอบการจากภายนอก อย่าง ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโกดังสินค้าทางการเกษตร  
  • การทำกระบวนการศึกษาแบบกลุ่ม (Focus Groups Discussion) เช่น การทำข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มคนเลี้ยงวัว กลุ่มคนที่เพาะปลูก กลุ่มคนที่ใช้น้ำในชุมชน กลุ่มคนที่มีพื้นที่อยู่ในแปลงเหมือง
  • การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลแบบกลุ่มในชุมชน (Data Cross-Checking)  ผ่านการตรวจสอบข้อมูลแบบกลุ่ม และผ่านการนำเสนอต่อคนในชุมชน

ทรัพยากรและจิตวิญญาณของผู้คน

ชุดความรู้สำคัญเกี่ยวกับทรัพยากรและพืชเศรษฐกิจทางการเกษตรเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญในการยืนยันความพิเศษของพื้นที่ชุมชน อีกทั้งกะเบอะดินเป็นหมู่บ้านที่อุดมไปด้วยอัตลักษณ์ ความเชื่อ และพิธีกรรมสำคัญของชาติพันธ์ุกะเหรี่ยงซึ่งเป็นจุดเกาะเกี่ยวสำคัญที่ยึดโยงจิตวิญญาณของชุมชนไว้ด้วยกัน

หลายคนในชุมชนทราบดีเกี่ยวกับทรัพยากร เพราะเป็นผู้ใช้ทรัพยากรโดยตรง น้ำในลำห้วยจึงเป็นส่วนสำคัญในการทำการเกษตรของคนในชุมชน นอกจากนั้นแล้วระบบนิเวศโดยรอบในพื้นที่ริมน้ำมีทรัพยากรสัตว์น้ำและพืชพันธ์ุผักริมน้ำอยู่ไม่น้อย นอกจากคนที่ใช้ประโยชน์แล้ว และหลายต่อหลายคนที่เป็นเจ้าของ “วัว” สัตว์เลี้ยงเศรษฐกิจที่สะท้อนการสะสมทุนไว้เป็นก้อน และมีแปลงพืชผลทางการเกษตรที่เป็นรายได้หลักสำคัญของครัวเรือน ปฎิเสธไม่ได้ว่า “น้ำ” คือทรัพยากรสำคัญที่เป็นจุดเด่นของอมก๋อย เมืองแห่งต้นน้ำ แดนมหัศจรรย์แห่งนี้มีดีที่น้ำดี ทำให้ป่าอุดมสมบูรณ์  อมก๋อยจึงเป็นเมืองศักยภาพที่มีอากาศดีแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่น 

CHIA ของชาวอมก๋อย

ในวันที่ 3 เมษายน 2565 เป็นวันสำคัญของชุมชนคนอมก๋อย ที่ได้เปิดเผยข้อมูลสำคัญของหนังสือ “จุดแสงสว่างกลางหุบเขา กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์” รายงานการประเมินผลกระทบโดยชุมชน (CHIA) ต่อสาธารณะ บริเวณลานหน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นี่เป็นอีกหนึ่งก้าวย่างที่ชุมชนเดินทางอย่างมีจุดหมายในตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ในงานประกอบด้วยเสียงของชุมชน  นำเสนอภาพรวมสำคัญของเล่มที่มีทั้งหมด 5 บท  ประกอบด้วยส่วนแรกคือ บริบทชุมชนที่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในฐานทรัพยากรในพื้นที่กฏหมายทับสิทธิ  บทที่สองเน้นย้ำไปที่ความสำคัญเรื่องน้ำที่ไม่ได้มีเพียงห้วย 2 สายดังที่ปรากฏในรายงาน EIA ยังมีลำน้ำสำคัญในพื้นที่ที่ตอกย้ำว่าการประเมินจากข้อมูลของรายงาน EIA นั้นไม่เป็นความจริง และชุมชนต่างชี้ชัดผ่านเรื่องราวว่าน้ำยังมีสำคัญกับระบบเศรษฐกิจของชุมชน ประกอบด้วยการใช้ประโยชน์จากน้ำที่หากเกิดโครงการไม่ได้มีผลกระทบแค่เพียงในโครงการ  แต่จะส่งผลกระทบต่อนิเวศลุ่มน้ำและคนท้ายน้ำเป็นวงกว้าง บทที่สาม คือสิ่งที่ชุมชนตั้งคำถามใน EIA  จากการที่มีการทบทวนเนื้อหาในตัวรายงาน EIA  ชุมชนกำลังจะบอกว่าการพัฒนานั้นย้อนแย้งกับเมืองอากาศดีที่อมก๋อยเป็นอยู่ จากนั้นในบทที่ 4 เป็นการประเมินผลกระทบร่วมกันที่จะเกิดกับฐานทรัพยากร แหล่งความมั่นคงทางอาหาร ระบบเศรษฐกิจในชุมชน และบทท้ายสุดนั้นเป็นข้อเสนอแนะจากหลายภาคส่วนในเวทีที่ชุมชนร่วมจัด

ท้ายที่สุดสิ่งที่ชุมชนพยายามจะสื่อสารกับสาธารณะมาโดยตลอด คือ “บ้านกะเบอะดินเป็นพื้นที่ที่ต้องช่วยกันปกป้อง เพราะโครงการไม่ใช่สิ่งที่ชุมชนต้องการ เป็นการตอกย้ำว่า ยังมีการแย่งยึดที่ดิน มีความเหลื่อมล้ำ และการทำอีไอเอมีปัญหา ไม่สามารถใช้ในการตัดสินใจ อีไอเอเปรียบเสมือนทางผ่านให้เกิดโครงการ เป็นตัวบอกว่าชุมชนที่มีศักยภาพในการทำโครงการทั้งที่ย้อนแย้งต่อกระแสโลกที่พลังงานถ่านหินกำลังจะกลายเป็นอดีต”

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ บรรณาธิการ CHIA ได้ชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบของรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA  ที่ผ่านมีมติเห็นชอบมายาวนานตั้งแต่ปี  2554 (10 ปี) หน่วยงานต่างพากันบอกว่าข้อมูลนั้นใช้ได้ แม้ว่าจะมีข้อมูลเสียงจากชุมชนในรายงาน CHIA ซึ่งจะเป็นตัวถอดรื้อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แต่เสียงเหล่านั้นยังไม่มีความหมาย รายงาน EIA ยังคงมีความชอบธรรมในการใช้ประกอบใบอนุญาตขอประทานบัตรได้ 

ข้อมูลจากโครงการนี้ได้มองข้ามสิทธิขั้นพื้นฐาน โครงการถูกอนุญาตให้ดำเนินการในพื้นที่สมบูรณ์ แต่กลับมีความพยายามจะให้เกิดการทำเหมืองถ่านหิน ทั้งที่ตรงนี้เป็นชุมชนกะเหรี่ยงโบราณ กลับบอกว่าพื้นที่เป็นป่าเสื่อมโทรม  วิธีวิทยา หรือกระบวนการศึกษาในข้อมูลชุมชนจึงค่อนข้างใส่ใจมากในหลักการเคารพซึ่งกันและกัน ใช้งานภาคสนามเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของกะเบอะดิน รายงานนี้จึงเป็นเอกสารในเชิงประจักษ์ ทำหน้าที่เป็นอำนาจทางความรู้ของชุมชนท้องถิ่น สถาปนาความรู้ของชุมชนในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่สัมพันธ์กับความรู้ ประยุกต์ใช้เครื่องมือในแบบฉบับของตัวเอง ความสัมพันธ์ที่นอกเหนือมูลค่า ตัวเลขทาง​เศรษฐกิจ 

รายงานเล่มนี้ได้ทำหน้าที่ประนามการมีส่วนร่วมจอมปลอม ที่เป็น  EIA ตรายางใบเบิกทางให้เกิดโครงการเหมือง การต่อสู้ครั้งนี้ของกะเบอะดิน คืออำนาจในการกำหนดความเป็นไปของชีวิต อำนาจนี้ควรอยู่ที่ใคร? EIA ทำหน้าที่อะไรกันแน่?  EIA ที่ดีต้องเป็นยังไง? ธนากรได้ทิ้งท้ายคำถามสำคัญนี้ไว้ ว่าทุกอย่างสวนทางอย่างมาก ประเทศไทยรับเอาการพัฒนาที่ยั่งยืนมา แต่ “ถ่านหินที่จะขุดขึ้นมานั้นยั่งยืนไหม?”  นี่คือเชื้อเพลิงที่ทั้งโลกกำลังจะโบกมือลา 

สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบประเมินผลกระทบโดยชุมชน สะท้อนความลักลั่นในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มองข้ามข้อมูลพื้นฐานของชุมชน และมองว่า CHIA เล่มนี้คือรายงานที่มีความก้าวหน้า มีคุณูปการทางด้านการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพ  “CHIA เล่มนี้ของชาวบ้านกะเบอะดิน มันจะดีมากถ้าข้อมูลของชุมชนเข้าไปอยู่ในบทที่ 1 ของรายงาน EIA เพราะจะเป็นส่วนสำคัญในการคาดการณ์ผลกระทบในการตัดสินใจที่จะทำโครงการเหมืองถ่านหิน”

นอกจากนี้ สมพรยังชี้ให้เห็นว่ากระบวนการจัดทำ EIA ในประเทศเราไม่เป็นธรรม  เป็นการเอื้อประโยชน์ให้บางกลุ่ม จึงชี้ชวนให้สนใจรายงานเล่มนี้  เพราะรายงาน EIA นั้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตของโครงการ อาจจะเกิดทั้งด้านดีและด้านร้าย  แต่ขั้นตอนการได้มาซึ่งข้อมูลคือ บริษัทที่ต้องการทำเหมืองต้องว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษา สมพรเน้นย้ำถึงเรื่องการใช้เงินในการว่าจ้างที่เจ้าของเหมืองจ้างนักวิชาการศึกษาในการทำการศึกษา โดยชาวบ้านมีบทบาทหน้าที่เพียงการให้ข้อมูล ส่วนอำนาจในการเขียนรายงานนั้นไม่ได้อยู่ในมือชาวบ้าน เป็นหน้าที่ของบริษัทที่ปรึกษาเขียนออกมา ซึ่งแตกต่างจาก Community Health Impact Assessment(CHIA) อยู่ภายใต้แนวคิด Community-led Impact Assessment ที่ชุมชนเป็นเจ้าของข้อมูล ชุมชนที่ลุกขึ้นมาทำข้อมูล ความรู้ในเนื้อตัวมาประกอบกัน

ในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีทั้งหมด 4 ส่วนประกอบด้วยกันในเล่ม 1. ข้อมูลพื้นฐานของชุมชน เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด 2.ข้อมูลโครงการ  3.การคาดการณ์ผลกระทบ และ 4.มาตรการลดผลกระทบ สมพรเน้นว่า หากวางข้อมูลตรงนี้ผิดแสดงถึงว่าเป็นการมองข้ามกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน 

สมพรกล่าวเสริมว่า “รายงาน CHIA เล่มนี้ของชาวบ้านมีความชอบธรรมที่ชุมชนทำเอง มีความศักดิ์และสิทธิ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มุ่งประเด็นไปที่ข้อสังเกตปัญหาทางวิชาการ และแนวทางในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ควรจะเป็น 

“ถ้าเราไม่มีความจริงใจ ความไว้ใจ EIA จะไม่ได้เป็นเครื่องมือ” ธนพลสะท้อนบทบาทหน้าที่ของผู้รับผิดชอบที่ควรจะเป็นและเขาทบทวนสิ่งที่คนกะเบอะดินได้ชี้ให้เห็นปัญหา การปลอมแปลงลายมือชื่อ การมีส่วนร่วมของชุมชน การเบี่ยงเส้นทางน้ำ ที่อาจจะทำให้ชุมชนมีน้ำไม่พอใช้ และข้อกังวลเกี่ยวกับการปนเปื้อนสารพิษอย่างโลหะหนัก  ธนพลเน้นย้ำกว่า EIA ที่ดีควรจะต้องมีทางเลือกไม่มีโครงการ หรือ  “No Project” เสนอด้วย  อีกทั้งธนพลได้ชี้จุดอ่อนในรายงานอีไอเออมก๋อยว่าไม่มีการคำนวณทางวิศวกรรม ยกตัวอย่างว่าเรื่องน้ำสามารถคำนวณได้ว่าน้ำเปลี่ยนไปยังไง น้ำจะท่วม จะแล้งตรงไหน การแสดงแผนที่คำนวณได้ ควรปรากฏในรายงาน EIA  รายงานเล่มนี้สะท้อนว่าการทำการศึกษาไม่ได้ใช้เครื่องมือเหล่านี้เลย และชี้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับถ่านหินในรายงาน EIA ของอมก๋อยมีเพียงค่าองค์ประกอบของคาร์บอนฯ ไม่ได้ชี้ให้เห็นว่าในถ่านหินมีโลหะหนัก ในถ่านหินมีกำมะถัน เมื่อไปสัมผัสอากาศ ทำให้ดินเป็นกรด และปล่อยโลหะหนัก ในอีไอเอเขียนว่าไม่มีปัญหาต่อน้ำ เพราะโครงการได้ทำบ่อไว้ดัก ธนพลยกตัวอย่างแหล่งน้ำที่เป็นสีสนิม เป็นรูปภาพที่ถ่ายมาจากพื้นที่ที่มีโลหะหนัก อย่างตะกั่ว ทำให้พื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบ พืชพันธุ์ไม้ตาย มีการฟ้องร้องกันในทางกฏหมาย  และมีการปล่อยโลหะหนักเพิ่มขึ้น EIA ที่ดีควรมีการประเมินการรั่วไหล

ธนพลได้นำเสนอผลจากแบบจำลองมลพิษทางอากาศในพื้นที่โครงการตลอดจนเส้นทางการขนส่งแร่ ในลักษณะของแผนที่ความเสี่ยง พบว่าหากมีโครงการเหมืองถ่านหินในพื้นที่จะมีจำนวนวันที่มีค่ามลพิษเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่โครงการเกิน 200 วัน ธนพลได้เน้นย้ำว่าถ่านหินสามารถลุกติดไฟได้ จำเป็นจะต้องมีการดูแลอย่างดี ถ่านหินจัดการได้ยากมาก เพราะถ่านหินมีการเผาไหม้ตัวเอง อย่างกองถ่านหินขุดขึ้นมาสามารถติดไฟได้ มีควัน เมื่อถ่านหินสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศ ทำให้เกิดไฟติดขึ้นเอง

ธนพลตอกย้ำว่าปัญหาของการไม่มีการประเมินผลกระทบโดยใช้โมเดลแสดงให้เห็นว่ารายงาน EIA ไม่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นสิ่งที่ควรจะมีในรายงาน EIA ที่ดี  ส่วน EIA ฉบับนี้ ใช้การแบบจำลอง ทำ 2-3 เดือน  เพื่อประกอบการตัดสินใจ  สิ่งที่ทำและนำเสนอเป็นแค่คำเพื่อประกอบการอนุมัติ อนุญาต และเป็นปัญหาของ EIA ฉบับนี้ที่เก่าเกิน 10 ปี ทำเพื่อเป็นเครื่องมือ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมทางกฏหมาย

อาจารย์ ดร. อชิชญา อ็อตวงศ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้สะท้อนว่าชุมชนต้องเผชิญกับความท้าทายในมิติการมีส่วนร่วมในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ท่ามกลางสถานการณ์การประเมินที่ความมีส่วนร่วมของเรามีไม่เท่ากัน  โดยอชิชญาตั้งต้นจากประเด็นปัญหาที่มักเกิดขึ้นบ่อยๆ ว่าในกระบวนการการจัดทำ EIA ในที่นี้ไม่มีกฏหมายบังคับใช้ มีเพียงกรอบกว้างๆ ที่ไม่มีเนื้อหา เป็นเสมือนคู่มือให้กับบริษัทที่ปรึกษาทำไป จึงไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วม โดยบทบาทของรัฐทำหน้าที่รอรับรายงาน EIA ไม่มีหน้าที่ในการประเมินผล

เมื่อการมีส่วนร่วมของเราไม่เท่ากัน จึงยกเครื่องมือการประเมินระดับการมีส่วนร่วม (Public Participation Index – PPI) ขึ้นมาในการให้ชุมชนทดลองตอบจากสถานการณ์การมีส่วนร่วมที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ผ่านชุดคำถามง่ายๆ ที่ให้ชุมชนทวนความจำจากเรื่องจริง ให้คะแนนการมีส่วนร่วมย้อนไปในอดีต โดยอชิชญาชี้ว่าระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ใช่เรื่องที่เป็นนามธรรม แต่สามารถนำเครื่องมือทางวิชาการมาใช้วัดระดับคะแนนที่ชัดเจนได้ 

อชิชญาสะท้อนว่า​​รายงาน EIA ของโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยอยู่ในระดับคะแนนต่ำกว่า ประกาศ สผ. ที่อยู่บนฐานในทางพิธีกรรมตั้งแต่วัตถุประสงค์การมีส่วนร่วมจนถึงกระบวนการมีส่วนร่วมที่กำหนดทุกด้าน 

ซึ่งในประกาศของสผ. เน้นย้ำเรื่องการรวบประชาชนที่มาจากกลุ่มที่หลากหลายให้มีส่วนร่วมในการรับฟังความเห็นให้มากที่สุด รองลงมาคือการเปิดเผยข้อมูล และระยะเวลา จึงสังเกตได้ว่าแม้แต่ตัวของรายงาน EIA เองก็มีหลายส่วนที่ไม่ได้เป็นไปตามประกาศของ สผ. โดยเฉพาะการรวมคนที่มาร่วมรับฟังความคิดเห็น ในการจัดรับฟังความคิดเห็น (ช่องทางในการับฟังความคิดเห็น ประเภทการรับฟังความคิดเห็น และทางเลือกที่นำมาใช้รับฟัง) อยู่ในระดับที่น้อยเกินไป ยิ่งกว่าการเป็นเพียงพิธีกรรม ซึ่งองค์ประกอบส่วนใหญ่จึงอยู่ในระดับเพียงพิธีกรรมทั้งสิ้น ส่วนที่มากกว่าประกาศนั้น มีส่วนเดียวคือการนำผลของการรับฟังความคิดเห็นไปใส่ไว้ในรายงาน EIA แต่จะเป็นปัญหา เมื่อการรับฟังความคิดเห็นไม่ได้ครอบคลุมตั้งแต่ต้น เช่นนี้ความเห็นที่ใส่ไว้ในรายงานย่อมไม่ครอบคลุมด้วยเช่นกัน  อชิชญาได้ให้ความเห็นต่อการมีส่วนร่วมใน EIA อมก๋อยอยู่ในระดับไหนเมื่อเทียบกับกฎหมาย


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นัทมน คงเจริญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงมิติทางกฏหมายและนโยบายของไทยกับการทำ EIA และการยอมรับ CHIA ในมิติของกฏหมายสิ่งแวดล้อม โดยนัทมนได้ชี้ให้เห็นว่ามีความพยายามในมิติของกฏหมายที่จะทำให้ CHIA ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์พลเมืองได้รับการยอมรับ ผ่านการแก้กฏหมายแม่บท พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ที่มีการแก้ไขฉบับที่ 2 เมื่อปี 2561 เกี่ยวกับ EIA ว่าไม่สะท้อนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในโครงการ  แผนแม่บทมีความพยายามเน้นหลักการการมีส่วนร่วมของชุมชน แต่ไม่ได้มีการลงรายละเอียดการมีส่วนร่วมว่าอยู่ในระดับไหน เป็นการเขียนเอาไว้คร่าวๆ ว่าสามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น  (แก้ไขในรายละเอียดการดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน) การแก้ไขยังไม่ชัดเจนในรายละเอียดในทางปฏิบัติ ซึ่งแผนแม่บทที่เขียนอ้างถึงการจัดทำรายงานที่ผู้ดำเนินการผู้ขออนุญาตต้องประเมินผลกระทบทางสุขภาพ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียของชุมชน ประชาชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเชื่อมโยงกับ พรบ.สิ่งแวดล้อมฯ   

นัทมนได้ชี้ชวนมองย้อนดูว่าในทางปฏิบัติจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่ามีบทบาทในการทบทวนประกาศ ทุก 5 ปี หรือเร็วกว่านั้น การเอา EIA ที่เก่าแล้ว มามีผลบังคับใช้ไม่น่าจะรับฟังได้ ดังนั้นความพยายามในการแก้ไข พรบ. สิ่งแวดล้อม พ.ศ 2535 แก้ไข พรบ. สิ่งแวดล้อมฉบับที่สอง พ.ศ.2561 จึงเป็นการแก้ปัญหาความบกพร่องและไร้ประสิทธิภาพในการจัดทำ EIA  ในตัวบท นอกจากนั้นแล้วสังเกตได้ว่ามีการจัดทำแผนกลยุทธ์ 3 ปี ปี 2563-2565 ปัจจุบันเดินทางมาสู่ในช่วงปลายของแผน มีความพยายามในการปฏิรูปในการจัดทำ EIA และ EHIA ในการปรับแผนกลยุทธ์ มีความตั้งใจผลักดันในการปรับปรุงโครงสร้าง  (ปรับปรุง จากพรบ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2561 ให้มีการเขียนไว้ว่าจะต้องมีการแก้กฏหมาย) ในด้านการใช้งบประมาณ สผ.ให้งบในการจัดทำการปฏิรูป  2 ล้านในการปรับปรุง EIA ในแต่ละปีจากงบประมาณทั้งหมดพันล้านในการปรับปรุงกำหนดแนวทางผ่านคู่มือ  นัทมนทบทวนถึงมิติทางกฏหมายและนโยบาย ของ CHIA ของชุมชนระบุไว้ในรายละเอียดเล่มอย่างชัดเจนว่ามีกฏหมายรับรองอยู่แล้วในเชิงของหลักการพื้นฐาน CHIA อยู่ภายใต้ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มีการทำรายงานผลกระทบโดยชุมชน ในส่วนของรายงาน CHIA เขียนไว้โดยละเอียดรากฐานการรับรอง CHIA ตามประกาศของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 

นัทมนได้ทิ้งท้ายไว้สั้นๆ ว่า “กฏหมาย นโยบาย เหมือนจะดี ในทางปฏิบัติไปเจอกันที่ศาลปกครอง” 


สุดท้ายนี้ ขอคารวะใจนักสู้กะเหรี่ยงในฐานะนักวิจัยบนดอยที่ปกป้องอมก๋อยจากโครงการเหมืองถ่านหิน

ขอ “อมก๋อย” เป็นแดนมหัศจรรย์ เป็นลมหายใจบนไหล่เขา เป็นรอยยิ้มของแผ่นดิน 

และเป็นเสียงหัวเราะของสายน้ำตลอดไป ร่วมปกป้องอมก๋อยของเราไปด้วยกัน

เราทุกคนคือเพื่อนกัน


ติดตามความคืบหน้าจากชุมชนได้ที่เพจเฟสบุ๊ค กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์