“สิ่งที่เราทำอยู่มันมากกว่าการเอาสิ่งของเหลือใช้หรือที่ทุกคนเรียกว่า “ขยะ” มาปะติดปะต่อกันเพื่อให้เกิดเป็นงานศิลปะเพื่อความสวยงาม แต่สิ่งที่เราต้องการสื่อสารกับคนที่มาชมงานศิลปะของเราจะต้องได้เห็นว่า ขยะที่ถูกสร้างในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาขยะพลาสติก หรือถ้าจะเรียกให้เห็นภาพที่สุดคือมลพิษพลาสติกที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ณ ขณะนี้”
เอ๋ วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ Social Activist Artist ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานจากขยะพลาสติกภายใต้แบรนด์ WISHULADA

จากขยะในบ้าน สู่ผลงานที่อยากให้คนเข้าใจปัญหาขยะพลาสติก

ขอเท้าความก่อนว่าช่วงเรียนเอ๋เห็นพ่อกับแม่เริ่มแยกขยะตามที่จะแยกได้ อย่างขวดน้ำเขาแยกไว้จุดหนึ่ง ถุงพลาสติกก็แยกไว้อีกประเภทหนึ่ง เพราะคุณพ่อและคุณแม่ของเธอมองเห็นคุณค่าของวัสดุเหล่านั้น เธอจึงอยากนำวัสดุเหล่านั้นมาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นงานศิลปะ และคุณค่าของงานศิลปะที่เธอสร้างไม่ได้มีแค่ความสวยงาม แต่ต้องเป็นงานที่ถูกประดิดประดอยออกมาแล้วให้ผู้คนเห็นแล้วฉุกคิดพร้อมกับร่วมกับตั้งคำถามกับปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย

และเป็นเพราะขยะในบ้านนี่เองที่ทำให้เอ๋ตัดสินใจทุ่มเทจนกลายเป็นทีสิสในคณะที่เธอเรียนอยู่  (คณะศิลปกรรมศาสตร์) เอ๋เริ่มต้นศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของวัสดุต่าง ๆ จนท้ายที่สุดก็พบว่าวัสดุที่เอามาทำงานศิลปะไม่ว่าจะเป็นเศษผ้า กาว ขวดน้ำ ต่างก็ทำมาจากพลาสติกที่ล้วนเชื่อมโยงไปถึงปัญหาในสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 9 ปีแล้ว นับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อขับเคลื่อนปัญหาทางสิ่งแวดล้อม ผลงานภายใต้แบรนด์ WISHULADA กว่า 200 ผลงานได้ถูกเผยแพร่ให้คนมากมายได้รับชม ทั้งในพื้นที่จัดแสดงผลงานตามห้างร้าน ไปจนถึงอีเว้นท์ต่าง ๆ อย่างเช่น งานเทศกาลบางกอกแหวกแนว 2020, Chula Sustainability Fest 2022

เริ่มต้นแยกขยะพลาสติกเพื่อทำงาน สู่การตั้งคำถามเรื่องการรีไซเคิล

เอ๋เล่าว่าผลงานที่ทำออกมาเห็นได้ชัดเลยว่าส่วนใหญ่มาจากถุงแกง ถุงหิ้วพลาสติก ฝาขวดน้ำ ขวดน้ำพลาสติกที่เห็นเป็นกองขยะอยู่เต็มบ้านซึ่งมันคือพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) ดังนั้น เธออยากให้คนที่เห็นประติมากรรมหรือชิ้นงานที่เธอทำขึ้นฉุกคิดได้ว่า ถ้ายังใช้พลาสติกไปเรื่อย ๆ โดยไม่ทันคิดว่าพลาสติกเหล่านั้นจะถูกจัดการอย่างไรหลังใช้งาน หรือการตั้งคำถามว่า การรีไซเคิลคือวิธีการกำจัดขยะที่ถูกต้องหรือไม่ ถ้าขยะถูกรีไซเคิลได้จริงก็คงไม่มีขยะพลาสติกล้นเมืองอย่างทุกวันนี้ 

“หากมองไปที่ต้นตอของปัญหาเราถูกหลอกด้วยมายาคติที่ว่าพลาสติกทุกอย่างสามารถรีไซเคิลได้ พอคนเข้าใจแบบนั้นคนไม่ได้ฉุกคิดว่าต้องลดนะ ก็ในเมื่อรีไซเคิลได้ก็จะยิ่งใช้ต่อไปเรื่อย ๆ ทำให้มีปัญหาพลาสติกเต็มไปหมด ทั้งที่ความจริงทางออกของปัญหาขยะพลาสติกคือการลดใช้จากต้นทางและการนำกลับมาใช้ซ้ำให้ได้มากที่สุด แต่เอ๋เชื่อว่าไม่มีอะไรดีไปกว่าการลดการสร้างขยะที่ต้นทางจากผู้ผลิต

อีกหนึ่งแนวความคิดงานศิลปะภายใต้แบรนด์ WISHULADA ที่เรามองว่าเจ๋งมากนั่นคืองานศิลปะการทำงานศิลปะด้วยขยะที่รวบรวมมาจากคนที่สนใจปัญหาขยะพลาสติก สร้างสรรค์ขึ้นเป็นงานชิ้นสำคัญที่อยากสื่อสารว่า ทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนในครั้งนี้

“เคยเจอคำถามหลายครั้งว่าถ้าไม่มีขยะก็จะไม่มีวัสดุมาให้เอ๋ได้ทำงาน แต่เอ๋คิดว่าดีเสียอีก แต่ที่เรายังทำอยู่ทุกวันนี้เพราะอยากให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นวาระเร่งด่วนทางสังคมที่ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหานี้ได้แล้ว เพราะโลกที่เราอยู่มีแค่ใบเดียวและลูกหลานของเราก็ยังต้องอยู่ต่อไปจากเราอีกหลายชั่วอายุคน ถ้าไม่เริ่มวันนี้ก็อาจสายเกินแก้ ไม่ว่าจะเริ่มที่ตัวเรา ภาคเอกชน หรือแม้แต่รัฐก็ตาม ทุกคนต้องเคลื่อนไปพร้อม ๆ กันเพราะเราทุกคนคือฟันเฟืองสำคัญที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมดีได้ ”

Wire Puller ผู้อยู่เบื้องหลัง: ประติมากรรมสะท้อนปัญหาขยะพลาสติก

ผลงาน Wire Puller หรือ ผู้อยู่เบื้องหลัง เกิดจากขยะมาจากการเก็บขยะและตรวจสอบแบรนด์ (Brand Audit) ในหลายแต่ละพื้นที่ทั่วไทย  โดยอาสาสมัครกรีนพีซ ประเทศไทย และขยะจากผู้บริโภคที่ร่วมสำรวจขยะภายในครัวเรือนว่าผลิตภัณฑ์ที่ตนใช้เป็นของแบรนด์ใดบ้าง รวมถึงพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วจากภาคอุตสาหกรรม ผลงานชิ้นนี้ถูกจัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เธอออกแบบให้ผลงานเป็นรูปมือขนาดยักษ์ที่ทำมาจากขยะพลาสติกแบรนด์ต่าง ๆ เป็นตัวแทนของผู้ที่อยู่เบื้องหลังมลพิษพลาสติกนั่นคือ ผู้ผลิตหรือเจ้าของแบรนด์ต่าง ๆ ที่มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหามลพิษพลาสติกที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

ขยะพลาสติกส่วนใหญ่ที่เราใช้กันทุกวันมาจากบริษัทผู้ผลิตที่เป็นคนผลิตสินค้าขึ้นมา แต่บริษัทเองไม่จัดการกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวหลังจากจำหน่ายแล้ว และเลือกที่จะผลักภาระการจัดการขยะเหล่านี้ให้กับผู้บริโภคแทน

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้แม้ว่าผู้บริโภค (ที่อยู่ปลายทาง) จะจัดการขยะได้ดีมากแค่ไหนก็ตาม จะเปลี่ยนแปลงตัวเองมากแค่ไหนก็ตามเพื่อจัดการกับปัญหาขยะพลาสติก แต่หากผู้ผลิตยังผลิตสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use Plastic) และไม่รับผิดชอบในการจัดการขยะที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เราก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกได้จริง ๆ สักที

วัสดุที่เอ๋ WISHULADA นำมาสร้างเป็นผลงานไม่ว่าจะเป็นขยะจากอุตสาหกรรมสิ่งทอหรืออุตสาหกรรมพลาสติก ล้วนส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เธอตั้งใจส่งเสียงผ่านผลงานมากมายเหล่านี้เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศด้วย

ร่วมกันสืบจากขยะว่ามีใครบ้างที่มีส่วนช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติก

ร่วมผลักดันให้เจ้าของแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของไทย ลดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง