ใกล้สิ้นปีแล้ว บรรดาร้านแฟชั่นแบรนด์ต่าง ๆ ก็อยู่ในช่วงฤดูกาลลดกระหน่ำเช่นกัน แต่ข่าวดีสำหรับนักช้อปกลับเป็นข่าวร้ายสำหรับสิ่งแวดล้อม เพราะการช้อปปิ้งอย่างถล่มถลายนี้เป็นการทำลายทรัพยากรของโลกอย่างใหญ่หลวง
เราซื้อเสื้อผ้าเยอะขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับปี 2543 แต่ใส่นานน้อยกว่าเดิมครึ่งหนึ่ง ถึงเวลาหยุดเสื้อผ้าแฟชั่นด่วน
จากยุคโบราณที่เราเคยออกล่าเหยื่อในป่า ปัจจุบันเรากลับหันมาล่าเสื้อผ้าแฟชั่นลดราคา และโปรโมชั่นสินค้าลดราคาเหล่านั้นเองที่ล่อให้เราใช้สอยจนกระทั่งกลายเป็นการบริโภคนิยมเกินขนาดด้วยสินค้าเกินความจำเป็น และซื้อเพียงเพราะแค่ราคาถูก แฟชั่นด่วนและการช้อปปิ้งสินค้านั้นเป็นความสุขแค่เพียงชั่วครู่ แต่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมคือความจริงที่ส่งผลต่อไปอีกยาวนาน
หลังจากการบูมของแฟชั่นแบรนด์ต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2543-2557 จำนวนเสื้อผ้าได้เพิ่มขึ้นจนเกิน 100,000 ล้านตัว และมีเสื้อผ้ามือสองจำนวนกว่า 4.3 ล้านตันที่แทบจะไม่ได้ถูกใส่อีก
กรีนพีซพบว่ากระบวนการผลิตสินค้าแฟชั่นนั้นใช้ปริมาณน้ำจืดที่มีค่าจำนวนมหาศาล สร้างมลพิษในแหล่งน้ำและมหาสมุทรด้วยสารเคมีอันตราย เราใช้และทิ้งเสื้อผ้าด้วยอัตราที่สูงเกินกว่าโลกของเราจะรับได้ แบรนด์แฟชั่นเร่งการผลิตกระแสแฟชั่นตั้งแต่ยุค 80 (ราวปี 2520) เป็นต้นมา ทำใช้เราซื้อและทิ้งเสื้อผ้าตามกระแสมากขึ้น จนกระทั่งอายุการใช้งานสินค้าลดลงราวร้อยละ 50 ในช่วงระหว่างปี 2535-2545 โดยรายงานล่าสุดของกรีนพีซ เผยว่าชาวฮ่องกงทิ้งเสื้อผ้าจำนวน 1,400 ตัวต่อนาที เรียกได้ว่ากระแสแฟชั่นของวันนี้ คือขยะในวันรุ่งขึ้น
แม้จะกล่าวว่าเสื้อผ้าสามารถรีไซเคิลได้ แต่ตลาดมือสองนั้นก็เต็มไปด้วยเสื้อผ้าที่ไม่มีใครต้องการ ปัจจุบันนี้เสื้อผ้าที่เราทิ้งทั่วโลกมีกี่ตัวก็ไม่สามารถคำนวนได้ แต่อย่างไรก็ตามเราพบว่า ในประเทศสหภาพยุโรป มีเสื้อผ้าใช้แล้วจำนวน 1.5-2 ล้านตันในแต่ละปี แต่มีเสื้อคุณภาพดีเพียงร้อยละ 10-12 เท่านั้นที่ถูกนำกลับมาขายใหม่ สัดส่วนที่เหลือจำนวนน้อยก็ส่งไปยังประเทศทางซีกโลกใต้ บางประเทศในทวีปแอฟริกาตะวันออก ซึ่งนำเข้าเสื้อผ้าใช้แล้วจากยุโรปและสหรัฐอเมริกากำลังพิจารณาควบคุมการนำเข้าเพื่อคุ้มครองตลาดภายในประเทศ
ภาพจำลองผลกระทบจากตลาดแฟชั่นด่วน (Fast Fashion)
กระแสแฟชั่นด่วนและคุณภาพเสื้อที่ต่ำและราคาถูกนั้นทำให้ตลาดเสื้อผ้ามือสองแย่ไปด้วย ส่วนทางออกอย่างการรีไซเคิล หรือการนำใยจากเสื้อผ้าเก่ามาทำใหม่นั้นก็แทบจะยังเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าจะมีการวิจัยจำนวนมากจากวงการดีไซเนอร์และแบรนด์แฟชั่น แต่ยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถใช้งานได้ในปัจจุบันนี้ นั่นหมายความว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันนี้เสื้อผ้าที่เราซื้อใส่ทุกตัวล้วนแล้วจะกลายเป็นขยะ ซึ่งจะถูกเผาในเตาเผาขยะ หรือฝังกลบเท่านั้น
แต่ทางออกที่แท้จริงเพียงหนึ่งเดียว คือการลดการบริโภค ซึ่งอาจจะง่าย ๆ อย่างการหยุดช้อปปิ้ง เปลี่ยนวันลดราคาเป็นวัน “ไม่ซื้ออะไร” (Buy Nothing Day) เป็นการขอเวลานอกให้กับโลก หยุดสินค้าแฟชั่นด่วน
ร้อยละ 60 ของเสื้อผ้าประกอบด้วยโพลีเอสเตอร์ซึ่งผลิตจากน้ำมันดิบที่สร้างมลพิษก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าผ้าฝ้ายถึงสามเท่า
ถึงเวลาหยุดการซื้อโดยไม่ยั้งคิด และไตร่ตรองว่าเราต้องการอะไรในตู้เสื้อผ้าบ้าง เสื้อผ้าแบบไหนที่เราสามารถใส่ได้นาน ซ่อมแซมได้ ปรับเปลี่ยนได้ และถึงเวลาที่แบรนด์แฟชั่นจะต้องคิดค้นใหม่ ออกแบบเสื้อผ้าที่เราต้องการและรักที่จะใส่อย่างแท้จริง นั่นคือการดีไซน์เพื่อคุณภาพ ใช้ได้ยาวนาน และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นแฟชั่นที่เหมาะสมกับอนาคต
บทความนี้แปลและเรียบเรียงมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านได้ที่นี่ Black Friday: Breathe, take a break – the planet can’t handle it anymore