หลังจากพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่สอง ‘รสริน คอนแนลล์’ ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘ทำไม’ เพราะการดูแลสุขภาพอยู่บรรทัดแรกสุดในลำดับของสิ่งสำคัญในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการกินหรือออกกำลังกาย
“เราเป็นคนใส่ใจเรื่องสุขภาพ ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง กินอาหารที่มีประโยชน์ เรากินอาหารวีแกนและออร์แกนิค แต่หมอบอกว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่สอง” รสรินเล่าถึงผลลัพธ์ที่ออกมาตรงข้ามกับความพยายามจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี
เธอเปิดร้านอาหารวีแกนชื่อ ‘Asa Vegan Kitchen and Studio’ ที่ย่านประตูท่าแพ กินอย่างไรก็ขายอาหารแบบนั้น ร้านอาหารวีแกนแห่งนี้เลือกใช้วัตถุดิบออร์แกนิค มีลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาติ เท่าที่เธอสังเกตลูกค้าที่เดินเข้ามาในร้าน พวกเขามีแรงจูงใจเลือกกินอาหารวีแกนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“แต่ละคนมีเหตุผลส่วนตัวในการกินวีแกน ในช่วงหลังๆ เราสังเกตเห็นว่าคนที่เลือกกินวีแกนมีแรงจูงใจเรื่อง Climate Change เพราะอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ทำให้เกิดมลพิษและคาร์บอนฟุตพรินท์ แต่สำหรับเหตุผลส่วนตัวของเรา เราสงสารสุขภาพตัวเอง สงสารสัตว์และเป็นคนไม่ชอบรสชาติเนื้อสัตว์ด้วย”
“แต่เมื่อปี 2563 เราตรวจพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเต้านม คนในครอบครัวเรามีประวัติเป็นมะเร็ง พี่สาวของยายและแม่ก็เป็นมะเร็งเต้านม เราดูแลสุขภาพดีมากแต่ยังเป็น เราก็อยากรู้ว่าทำไมถึงเป็น” รสริน เล่า
หลังเข้ากระบวนการรักษามะเร็ง รสรินต้องการหาคำตอบ ‘ทำไมจึงเป็นมะเร็ง ?’ ด้วย Genetic Testing เพื่อจะได้รู้ว่ามาจากการส่งต่อทางพันธุกรรมหรือเป็นพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวเอง เหตุแรกเธอเลี่ยงไม่ได้ แต่เหตุหลังเธอเลือกออกแบบทางหนีทีไล่ได้
“เราไปตรวจ Genetic testing เป็นจำนวน 3 ครั้ง ผลออกมาเป็นลบ ไม่เจอการกลายพันธุ์ของยีน ไม่ใช่การส่งต่อทางพันธุกรรม เราวิเคราะห์ต่อว่าเราเลือกกินอาหารที่ดี เรารักษาสุขภาพ มาจบที่ข้อสรุปว่ามันน่าจะเป็นเพราะมลพิษ ผลวิจัยในระยะหลังก็รายงานว่า PM2.5 ทำให้เกิดมะเร็งเหมือนการสูบบุหรี่ คนในภาคเหนือเป็นมะเร็งปอดอันดับหนึ่งของประเทศ แต่เราไม่เห็นรัฐบาลจะทำอะไรเลยกับสิ่งที่เกิดขึ้น
“เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ค่าฝุ่น PM2.5 ในเชียงใหม่หนักมากและลากยาวต่อเนื่อง 2-3 เดือน เพราะ Climate Change ประกอบกับฝนไม่ตก ถ้าคนที่มีเงินอย่างพวก expat จะแพลนไว้แล้วว่าในช่วงเดือนมีนา-เมษาจะบินไปอยู่ภาคใต้ แต่คนไม่มีเงินล่ะ? คนไม่มีเงินแม้กระทั่งจะซื้อเครื่องกรองอากาศก็มี ประเทศของเราไม่มีคำว่าทรัพย์เสรีค่ะ ถ้าคุณอยากได้อากาศบริสุทธิ์ คุณต้องจ่าย แม้กระทั่งปัจจัยขั้นพื้นฐาน รัฐบาลก็ไม่สามารถให้เราได้ ขอโทษนะ มันอึดอัด”
เธอขออภัยและหัวเราะในความหัวร้อนของตัวเอง
“ในช่วงเวลานั้น Clean air is a luxury. (อากาศสะอาดคือสิ่งหรูหรา) น้องที่ทำงานกับเราบางคนไม่มีแม้กระทั่งแอร์ติดตั้งที่บ้าน เขาอยู่กันยังไงในช่วงเวลาแบบนั้น คนที่มีเงินเท่านั้นที่จะซื้อตั๋วเครื่องบินแล้วหนีออกจากเมืองนี้ไปอาศัยที่อื่น แล้วป้าที่ยืนขายลูกชิ้น ลุงที่ขายน้ำผลไม้ เขามีแค่หน้ากากซึ่งไม่ได้ช่วยเท่าไหร่ คุณภาพชีวิตที่ดีในประเทศนี้มีไว้สำหรับคนรวยเท่านั้นเหรอ”
รสรินกระซิบไม่มีเสียง แต่เราสามารถอ่านปากเธอได้ว่า “What the fuck!” หลังจากเรายื่นแฮนด์บิลแคมเปญ #ฮักเจียงใหม่บ่เอาถ่านหิน ให้เธอดู
“แค่ฝุ่นยังไม่พอเหรอ แล้วคุณจะไปสร้างเหมืองถ่านหิน มันก็ต้องเกิดการปนเปื้อน บางพื้นที่ที่เขาปลูกพืชออร์แกนิค มันจะไม่ออร์แกนิคแล้วนะคะเพราะการปนเปื้อนในดิน แล้วคนกินก็จะได้รับผลกระทบสุขภาพในระยะยาว” รสรินกล่าว
สองปีแล้วที่โรคมะเร็งของเธอสงบลง แต่ข้อเท็จจริงก็คือมันมีโอกาสหวนกลับ เธอต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมัน มองไม่เห็น แต่อยู่ที่ไหนสักแห่งในร่างกาย
“เรากินอาหารออร์แกนิค ทั้งที่เรามอบความเชื่อมั่น 100 เปอร์เซ็นต์ให้มันไม่ได้ เพราะเมืองไทยมีการคอรัปชั่นเยอะ แต่พอเราเป็นมะเร็ง ชีวิตของเรารีแล็กซ์มากขึ้น เพราะถ้าตายไปคงไม่ได้กิน ดังนั้นกินดีกว่า แต่พยายามกินให้หลากหลาย” เธอยิ้ม ไม่ใช่ให้ความตาย แต่ยิ้มให้ชีวิต
หมายเหตุ : หลายปีก่อนเคยมีงานวิจัยจากสถาบันวิจัยเอ็มยูเอชวี มหาวิทยาลัยแมคกิลล์ รายงานความเกี่ยวพันระหว่างการเป็นมะเร็งเต้านมของสตรีกับการสัมผัสกับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์อันเป็นมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการจราจร ในปี 2023 ได้มีงานศึกษาชื่อ Ambient fine particulate matter and breast cancer incidence in a large prospective US cohort. ตีพิมพ์ใน The Journal of the National Cancer Institute โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด รายงานว่า พบความเกี่ยวโยงระหว่างอุบัติการณ์มะเร็งเต้านมในกลุ่มผู้หญิงที่อาศัยในพื้นที่ที่มีค่าความเข้มข้นของฝุ่นพิษ PM2.5 ในระดับสูง
สำหรับผู้สนใจความเชื่อมโยงระหว่างมะเร็งเต้านมกับ PM2.5 สามารถอ่านเพิ่มเติมที่ High levels of particulate air pollution associated with increased breast cancer incidence
#ฮักเจียงใหม่บ่เอาถ่านหิน #HugChiangmaiNoCoal