เมื่อภาคประชาชนยังตั้งคำถามต่อค่าไฟฟ้าที่แพงและไม่เป็นธรรม จึงเกิดการถกเถียงในวงกว้างต่อแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP ที่กำลังถูกร่างขึ้นใหม่อีกครั้งโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานกระทรวงพลังงาน (สนพ.)
เมื่อวันที่ 31 กรกฏาคม ภาคประชาชนร่วมจัดงาน “A better World Is Possible: ถกถาม PDP2024 เพื่อประชาชนและโลกที่ดีกว่า” หนึ่งในกิจกรรมของวงเสวนาสุดท้ายของงานได้เชิญตัวแทนประชาชน ภาคธุรกิจ เอกชน และเยาวชนมาร่วมชวนทำ ‘Possible PDP ให้แผนพลังงานไทยทำเพื่อคนใช้ไฟและนำประเทศสู่โลกที่ดีกว่า’ และนำเสนอถึงปัญหาในการทำแผนพลังงานในช่วง 10 – 20 ปีที่ผ่านมาซึ่งนำโดยคุณวีรยา วิชยประเสริฐกุล – Co-founder EcoCupid คุณฉัตร คำแสง – ผู้อำนวยการ 101 Public Policy Think Tank คุณอนุตร จาติกวณิช – Co-founder Crex และคุณธนวัจน์ คีรีภาส – ผู้เชี่ยวชาญนโยบายพลังงานหมุนเวียน USAID Clean Power Asia
พลังของเยาวชน ส่งต่อร่วมกันเพื่อพลังงานสะอาด
เยาวชนเป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญและเป็นกลุ่มที่ต้องอยู่กับโลกที่ก้าวไปข้างหน้า แต่ปัญหากลับกลายเป็นว่าเยาวชนกลับถูกหลงลืม บ่อยครั้งที่เยาวชนถูกสอนให้ประหยัดไฟฟ้า แต่กลับไม่ได้รับการเข้าถึงข้อมูลการจัดทำแผนหรือนโยบายที่ได้มาซึ่งพลังงานของการผลิตไฟฟ้าเป็นอย่างไร
พวกเขาเรียนเกี่ยวกับพลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานนิวเคลียร์ แต่นั่นเป็นเพียงแค่ทฤษฎี แต่ความจริงแล้วในทางปฏิบัติ พลังงานเหล่านี้เป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานที่อยู่ในแผนพลังงานชาติ ซึ่งควรเปิดโอกาสให้พวกเขาร่วมกำหนดนโยบาย และมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญต่อสิทธิในการตัดสินใจ (Self Determination) และสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วน (Rights to know) เพื่อการพัฒนาด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอันรวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แต่หากพวกเขายังถูกละเลยก็อาจส่งผลกระทบในอนาคต
“เยาวชนไม่เคยได้เรียนรู้หรือมีส่วนร่วมในแผนพลังงาน กลับกันเยาวชนต้องใช้ชีวิตในอนาคตที่อาจต้องแบกภาระในสิ่งที่เขาไม่ได้ก่อ แต่กลับเป็นผู้ใหญ่ในประเทศที่สร้างภาระที่เยาวชนต้องจ่าย
ถ้าย้อนไปตอนเรียนเอาจริงทุกโรงเรียนสอนให้ประหยัดไฟใช้หลอดไฟเบอร์ 5 บลา ๆ แต่ไม่เคยได้รู้ขั้นตอนจริง ๆ ว่าภายใต้แผนพลังงานพวกนี้มันมีเรื่องอะไรที่มันซ่อนอยู่บ้าง”
คุณวีรยา วิชยประเสริฐกุล – Co-founder EcoCupid
เรื่องพลังงานเป็นสิ่งที่เยาวชนให้ความสนใจน้อยที่สุด เพราะทุกคนจะรู้สึกมีแรงบันดาลใจกับสิ่งที่จับต้องได้ เป็นรูปธรรม สามารถทำได้จริงตัวอย่างเช่น การปลูกป่า การรักษาป่าชายเลน เรื่องขยะพลาสติก เรื่องเต่าทะเลตายเพราะหลอดหรือขยะจากการกระทำของมนุษย์ แต่เมื่อพูดถึงเรื่องพลังงานที่เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นจึงให้ความรู้สึกว่าแผนพลังงานเกี่ยวกับชีวิตอย่างไร จะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร เรื่องนี้กลับวนเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ นำไปสู่การพัฒนาการสื่อสารเกี่ยวกับพลังงาน เพื่อให้ประเด็นพลังงานและแผนพลังงานได้รับความสนใจมากขึ้น
“พลังงานเป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารให้ชัดเจนหรืออธิบายให้ง่ายต่อกลุ่มเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจ ยังมีเยาวชนที่ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้ เพราะข้อมูลที่รัฐบาลให้ความรู้มันน้อยมาก ๆ จนเราได้รับข้อมูลที่ไม่มากพอ ซึ่งผลเสียมันอาจก่อให้เกิดการสร้างความเข้าใจผิดหรือไม่รู้ว่าค่าไฟแพงเพราะอะไร”
คุณวีรยา วิชยประเสริฐกุล – Co-founder EcoCupid
เมื่อผู้มีอำนาจได้กำหนดนโยบายและออกแบบแผน PDP2024 แต่ความท้าทายด้านกระบวนการการยอมรับยังเป็นปัญหาหลัก เพราะแผนนี้จะถูกยอมรับได้อย่างไรในเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นเพื่อออกแบบแผน หรือแม้แต่เยาวชนที่จะต้องอยู่ต่อกับอนาคตในวันข้างหน้ายังไม่สามารถส่งเสียงได้ในแผนนี้
หยุด “จมปลัก” กับเชื้อเพลิงฟอสซิล แล้วหันมามองความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัจจุบันเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
ประเทศไทยยังคงจมปลักกับแหล่งพลังงานที่ล้าสมัยอย่างเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งที่ปัจจุบัน โลกมีเทคโนโลยีที่เข้ามาอำนวยความสะดวกเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด แต่ถ้าเราวิเคราะห์สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในร่างแผน PDP 2024 กลับยังไม่เห็นสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนที่ชัดเจน โดยเฉพาะสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจากภาคประชาชน อย่างไรก็ตามร่างแผนดังกล่าวมีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มและยังคงใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างต่อเนื่อง เป็นที่มาของคำถามที่ว่า ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero Carbon ตามที่ประกาศไว้ต่อประชาคมโลกได้หรือไม่
“แผน PDP มันมีปัญหาหลายหัวข้อประเด็นที่ผมเห็นหลัก ๆ คือเรื่องการที่เราอิงกับเชื้อเพลิงฟอสซิลมากเกินไปและพึ่งพาการนำเข้าก๊าซ LNG หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หรือ 20 ปีที่แล้ว ก๊าซ LNG เป็นทางเลือกที่น่าจะดีที่สุด ดูเหมือนจะถูกหรือไม่ก็อาจจะดีกว่าถ่านหินเมื่อเปรียบเทียบกัน ณ ตอนนั้น แต่นี่ปี 2024 ณ ปัจจุบัน เรามีทางเลือกที่ดีกว่าเยอะ ก็น่าจะต้องมีการเริ่มเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่การใช้ทางเลือกที่มีความสะอาดมากขึ้น ”
คุณธนวัจน์ คีรีภาส – ผู้เชี่ยวชาญนโยบายพลังงานหมุนเวียน USAID Clean Power Asia
20 ปีที่ผ่านมา แผนพลังงานของไทยก็ตามไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี เช่น ในแผน PDP 2018 รัฐริเริ่มแผนการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ผ่านการใช้โซลาร์เซลล์ (Solar Cell) แต่กระนั้นในแผนก็ไม่มีช่องทางที่เปิดให้เพิ่มศักยภาพการติดตั้ง ซึ่งอาจเกี่ยวกับปัจจัยภายนอกที่เหนือการควบคุม
คุณธนวัจน์ คีรีภาส แสดงให้ความเห็นด้านความท้าทายผ่านมุมมองเรื่องการแลกเปลี่ยนพลังงานในภูมิภาค หรือ Power Trade ซึ่งริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2535 ขณะนั้นมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาในประเด็นนี้ผ่านรายงานจากหลายองค์กร เช่น World Bank หรือ United Nations เป็นต้น รายงานจากหลายแหล่งระบุว่าหากเกิดการ Power Tradeโดยการแลกเปลี่ยนพลังงานในระดับภูมิภาคจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อทั่วภูมิภาคสูงสุด
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคณะทำงานเพียงแค่ทำการศึกษาแต่ยังไม่มีข้อมูลที่ออกมาเป็นรูปธรรมมากนัก มีแค่การซื้อขายไฟข้ามพรมแดนจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งเท่านั้น ตัวอย่างที่ใกล้เคียงที่สุดเช่น โครงการที่ซื้อไฟฟ้าระหว่างลาว -ไทย -มาเลเซีย -สิงค์โปร หรือที่เรียกกันว่า LTMS ถือเป็นโครงการที่ใกล้เคียงกับขั้นตอนเเรกของการซื้อขายในรูปแบบ Power Trade ในภูมิภาคนี้ แต่ปัจจุบันยังต้องกลับมาพิจารณาข้อดีข้อเสียอีกครั้งเพราะมีความท้าทายค่อนข้างสูง
“ผมมองว่าถ้าเราสามารถหารือร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้านในประเด็น Power Trade ได้จะดี แต่ก็มีความท้าทายในมุมมองด้านความมั่นคงของพลังงานที่หลากหลาย เช่น ความมั่นคงคือการที่เราสามารถผลิตไฟฟ้าได้ด้วยตัวเองหรือการใช้พลังงานที่มาจากแหล่งที่เหมาะสมที่สุด”
คุณธนวัจน์ คีรีภาส – ผู้เชี่ยวชาญนโยบายพลังงานหมุนเวียน USAID Clean Power Asia
ทั้งนี้ ความท้าทายด้านพลังงานหมุนเวียนสามารถเปลี่ยนเป็นโอกาสได้จากภาครัฐ ตัวอย่างเช่น ในเวียดนามที่ภาครัฐสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์และขายไฟฟ้าได้ ดังนั้น นโยบายของภาครัฐจึงสำคัญมาก
ปัจจุบันไทยกำลังศึกษาพลังงานหมุนเวียนอยู่หลายประเด็น แต่แม้ว่าคณะทำงานได้เปิดโอกาสให้จัดการศึกษาวิจัยหลายครั้ง แต่ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับนโยบายใหม่ที่กำลังจะออกมา เพราะรัฐบาลอาจต้องการความมั่นใจในการควบคุมมากขึ้นเช่น เกี่ยวกับการยกเลิกมิเตอร์รถไฟฟ้า หากออกนโยบายสนับสนุนนี้อาจก่อให้บางกลุ่มใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ จึงทำให้รัฐบาลต้องกลับมาทบทวนนโยบายการสนับสนุนใหม่
“จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า รัฐบาลเริ่มมีแรงจูงใจให้มีการผลักดันมากขึ้นแต่รัฐบาลอาจทำแค่ช่วงสั้น ๆ ซึ่งเราต้องการ การสนับสนุนที่ตลอดไปมากกว่าทำแค่ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ”
คุณธนวัจน์ คีรีภาส – ผู้เชี่ยวชาญนโยบายพลังงานหมุนเวียน USAID Clean Power Asia
แผน PDP ล็อกโครงสร้างการใช้พลังงาน และจมปลักอยู่ในยุค “โชติช่วงชัชวาล”
แผน PDP เป็นเหมือนการล็อกโครงสร้างการใช้พลังงานเอาไว้ “เราใช้ไฟฟ้าก็จ่ายไม่ใช้ไฟฟ้าก็ต้องจ่าย” อีกทั้งจะต้องคาดการณ์ไว้ว่าจะต้องผลิตพลังงานไฟฟ้าปริมาณสูงเพื่อความมั่นคง แต่ท้ายที่สุดกลับหันมาพึ่งพาการผลิตที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ที่แพง และล้าสมัยเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีของโลกปัจจุบัน
“แน่นอนว่า 20 ปีก่อน เรื่องก๊าซธรรมชาติ หรือ LNG เคยเป็นทางเลือกที่ดีแต่พอเรามาร่างแผนในปี 2024 เราก็กลับมองย้อนไปที่อดีต เรามัวแต่จมปลักอยู่ในยุค โชติช่วงชัชวาล เราพูดคำนี้กันมากี่รอบแล้ว“
คุณฉัตร คำแสง – ผู้อำนวยการ 101 Public Policy Think Tank
ในร่างแผน PDP 2024 รัฐไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะมาสร้างประโยชน์เพื่อพัฒนาการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน และลดการใช้ถ่านหินให้มากที่สุด กลับกัน รัฐร่างแผนนี้โดยทิ้งเทคโนโลยีและละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชน
“เรากลับทิ้งคนไทยให้เผชิญทุกข์ไว้เบื้องหลัง ในระดับโลกที่เริ่มผันเปลี่ยนมุ่งหน้าสู่ความยั่งยืนของโลกและตั้งเป้าหมายเพื่อไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 “
คุณฉัตร คำแสง – ผู้อำนวยการ 101 Public Policy Think Tank
“10 ปีที่แล้วก็เริ่มมีนักวิจัย เข้ามาทำงานผ่านมา 10 กว่าปีตอนนี้ปัญหาก็เหมือนเดิมเพราะเราคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าเยอะเกินไป ณ วันนั้นเรามี(กำลังไฟฟ้าสำรอง)เกินกว่าพีคร้อยละ 15 ก็พอแล้ว ตอนนั้นมีเกินพีคร้อยละ 30 มาตอนนี้เกินไปร้อยละ 40 – 50 “
คุณฉัตร คำแสง – ผู้อำนวยการ 101 Public Policy Think Tank
คุณฉัตร คำแสงได้เสริมเพิ่มเติมถึงการปรับตัวของประชาชน “ประชาชนยังคงเห็นปัญหาที่รัฐทำแบบเดิม แม้ว่าประชาชนจะหันมาปรับวิธีการใช้พลังงานด้วยตัวเองเช่นใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ติดฉลากประหยัดไฟเบอร์ห้า”
อย่างไรก็ตามการวางแผนโยบายด้านพลังงานของรัฐไม่เคยช่วยประชาชนเลย มิหนำซ้ำยังผลักภาระให้ประชาชนเป็นกลุ่มที่ต้องปรับตัวด้วยการพยายามประหยัดไฟเพื่อจ่ายค่าไฟฟ้าน้อยลง ยิ่งไปกว่านั้น แผนที่ออกมายังขูดรีดเงินจากกระเป๋าของประชาชนไปจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องอีกประชาชนไม่เคยได้รับประโยชน์อะไรจากแผนพลังงานของประเทศเลย
“แผน PDP พอวางแผนแบบนี้ ล็อกโครงสร้างการใช้พลังงานเอาไว้ มันก็จะเป็นเหมือนว่า เราใช้ก็จ่ายไม่ใช้ก็จ่าย และก็วางไว้ว่าจะต้องผลิตเยอะ ๆ สุดท้ายพอผลิตจริง ๆ เราก็มาเลือกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตทั้งที่มันล้าสมัยมาก ๆ “
คุณฉัตร คำแสง – ผู้อำนวยการ 101 Public Policy Think Tank
ในยุโรปมองว่าต้องหาพลังงานทดแทนหากเจอวิกฤต หรือบางประเทศที่ต้องซื้อพลังงานจากที่อื่น (ทำให้ราคาค่อนข้างสูงและมีข้อต่อรองการซื้อขาย) แต่หากเรามีปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ศักยภาพภายในประเทศจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อและนำเข้าก๊าซ LNG รัฐต้องเร่งส่งเสริมศักยภาพพลังงานหมุนเวียนและทำให้เป็นโอกาสนำไปสู่การผลิตพลังงานใช้เองในประเทศโดยไม่ผูกขาด ที่ผ่านมาผู้นำของไทยอาจมองว่าเราไม่เคยเจอวิกฤต แต่หลังจากนี้จะเป็นวิกฤตที่แท้จริงหากเรายังนำเข้าพลังงานและไม่เริ่มเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานหมุนเวียน
“ไทยมีปัญหาอยู่เยอะกว่าเนื่องจากเรื่องภาษี การกีดกันทางการค้า การสร้างเงื่อนไขทางสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ หากแผนพลังงานฉบับนี้สำเร็จจะมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก “ การเมืองไม่ใช่เรื่องของคนที่มีอำนาจเท่านั้น แต่มันเป็นเรื่องของคนในสังคม ซึ่งเป็นหน้าทีที่จะต้องเเบ่งสรรปันส่วนให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศได้มีความเห็นร่วมกัน“
คุณฉัตร คำแสง – ผู้อำนวยการ 101 Public Policy Think Tank
นโยบายการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างนโยบาย Net-Metering ที่หลายประเทศนำไปใช้อย่างกว้างขวางทั้งในกลุ่มประเทศร่ำรวยและกลุ่มประเทศยากจน เช่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา อินเดีย ปากีสถาน และ เคนยา เป็นต้น เขาสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานได้จริงและอาจรวมถึงความมั่งคั่งของประชาชนด้วย
หากภาครัฐใส่ใจและมีนโยบายที่มีการกระจายอำนาจ (Decentralization) และไม่ผูกขาดการผลิตไฟฟ้า ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้ภาคประชาชนสามารถผลิตไฟจากหลังคาบ้านสำหรับที่อยู่อาศัยเพื่อใช้เองและขายแบบหน่วยต่อหน่วยให้รัฐ และการปฏิวัติพลังงานบนหลังคาอย่างโซลาร์รูฟท็อป ที่ผู้บริโภคสามารถผลิตไฟฟ้าจากหลังคาบ้านตนเองได้แล้วสามารถลดจำนวนเงินที่เคยไหลออกอย่างเดียวให้ลดลงได้
ผู้จ่ายค่าไฟมีสิทธิที่จะรู้ข้อมูล
สำหรับคนทั่วไป แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP เป็นเอกสารที่เข้าใจได้ยากและเป็นเอกสารที่มีความละเอียดซับซ้อนที่มีข้อมูลทางเทคนิคด้านการเงินอยู่เยอะมาก
รวมทั้งยังมีปัญหาหลักคือเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ไม่ได้มีอำนาจเข้ามากำหนดโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า หรือการที่รัฐไม่ได้ทำหน้าที่ให้ประชาชนทั่ว ๆ ไปได้เข้าใจและมีส่วนร่วมในการพัฒนาแผนมากขึ้น
“ปัญหาของไฟฟ้ามันจับต้องและเข้าใจยากและรัฐควรหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้ามาสนใจด้านนี้ดังนั้นการเผยแพร่ข้อมูลที่ครบถ้วนด้านการผลิตไฟ ไม่ได้เป็นสิ่งที่เป็นความลับ เพราะเรื่องการผลิตไฟฟ้าเป็นเรื่องที่สำคัญที่คนจ่ายค่าไฟน่าจะมีสิทธิได้รับรู้ “
คุณอนุตร จาติกวณิช – Co-founder Crex
คุณอนุตร จาติกวณิช มองภาพโอกาสที่ประเทศจะพัฒนาได้อย่างยั่งยืนว่า โอกาสทางด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่โซลาร์เซลล์ มีราคาต้นทุนลดลงภายใน 10 ปีที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อและเป็นจุดเปลี่ยนของวงการพลังงาน
“ช่วงที่ผมทำไฟฟ้าเมื่อ 20 ปีก่อน ต้องมีทุน มีเทคนิคทั้งด้านการก่อสร้างอุปกรณ์ที่นำมาใช้และการบำรุงรักษา การเดินเครื่องล้วนเป็นเรื่องยากทั้งนั้น สมัยนี้โซลาร์เซลล์ที่ติดไฟที่สวน กับโซลาร์เซลล์ที่คุณเอามาใช้เข้าระบบมันเหมือนกัน ไม่ต้องมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องมีความรู้ทางเทคนิคมากเลย แค่จ้างผู้รับเหมาขอให้มีพื้นที่และเริ่มการจ่ายไฟเข้าระบบ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่นึกไม่ถึงว่าจะมี ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสที่เรามี”
และหากมองภาพความท้าทายต่อว่า “เมื่อก่อนเราไม่ต้องมีมันในแผน ปัจจุบันเรามีมันมาเป็นกระเเสโลกเราก็ยังไม่มีมันเหมือนเดิม” หมายความว่าประเด็นเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อก่อนที่ไม่มีการพูดถึงมันก็ยังไม่ได้เป็นเรื่องท้าทายต่อภาคธุรกิจ แต่กลับกันปัจจุบันประเด็นนี้กลายเป็นสิ่งที่บริษัททั่วโลกต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการร่วมลงทุนที่ไทย หรือบริษัทไทยที่จะแข่งขันกับทั่วโลกต้องหันมาเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก
“เมื่อก่อนเราไม่ต้องเอาประเด็นนี้มาคำนึงเมื่อวางเเผนจริง ๆ แล้วมันเป็นโจทย์หลัก ๆ ที่เอามาเป็นตัวตั้งในการทำ PDPเท่าที่ดูแผนตอนนี้คือทำมาเหมือนเดิม ทำมาก่อน และค่อยมาใส่ตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทีหลังซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าตัวเลขพวกนี้มาจากไหน” คุณอนุตร จาติกวณิช กล่าวทิ่งท้ายถึงปัญหาการร่างแผน PDP ของภาครัฐ ก่อนจะขยับไปคุยต่อว่าทำไมข้อมูลจึงสำคัญต่อคนจ่ายค่าไฟ
ข้อมูลถ้านำมาใช้ถูกที่ถูกทางมันทำอะไรได้เยอะมาก ๆ ตัวอย่างเช่นประชาชนหลายคนติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา หรือ Solar Rooftop พอติดตั้งก็จะมี inverter solar และมีแอปพลิเคชั่นมาให้ ซึ่งก็จะสามารถดูข้อมูลในแอปมือถือได้
ผมติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านและเปิดแอปพลิเคชั่นดู มันมีข้อมูลง่าย ๆ เช่น ณ วันนี้ เวลานี้ เราใช้ไฟเท่าไหร่ และไฟนี้มาจากการไฟฟ้าเท่าไหร่มาจากแผงโซลาร์เซลล์เท่าไหร่ แค่เรามีข้อมูลเท่านี้มันเป็นประโยชน์ต่อเราแล้ว เพราะเราสามารถรู้ได้ว่า เราจะเปิดเครื่องล้างจาน เครื่องซักผ้า ตอนสิบโมงเช้า คนที่ขับรถ EV ก็บอกว่าเราจะชาร์จรถเวลา สิบโมงถึงบ่ายสามโมงข้อมูลเพียงเเค่นี้เราสามารถจัดการการใช้ไฟได้แล้ว
คุณอนุตร จาติกวณิช – Co-founder Crex
ข้อมูลจาก EnergyDashboard ของประเทศอังกฤษ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ข้อมูล และการแสดงภาพข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตไฟฟ้าของอังกฤษ และแหล่งผลิตไฟฟ้าซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปสำหรับผู้ใช้ไฟ ระบุว่าแต่ละโรงไฟฟ้าว่าจ่ายไฟอยู่เท่าไหร่ และการได้มาซึ้งพลังงานไฟฟ้ามาจากพลังงานรูปแบบใดบ้าง ซึ่งในไทยสามารถเปิดเผยข้อมูลนี้ได้เช่นกันเพราะข้อมูลทั้งหมดที่สามารถเอามาจัดทำนั้น การไฟฟ้ามีอยู่แล้วโดยเฉพาะหน่วยงานศูนย์ควบคุมการจ่ายไฟที่สามารถตรวจสอบข้อมูลการใช้ไฟฟ้าได้เรียลไทม์
เพราะฉะนั้นข้อมูลนี้มีอยู่แล้วเพียงแต่ต้องนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยรัฐผู้มีอำนาจซึ่งทางรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานสามารถมีคำสั่งมาจากทางกองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ให้เปิดข้อมูลต่อสาธารณะและขอให้ทำการเชื่อมต่อโปรแกรมประยุกต์ หรือ API (Application Programing Interface) พร้อมทั้งให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนนำข้อมูลไปทำงานเพื่อการพัฒนาต่อได้
คุณอนุตร จาติกวณิช ให้ความเห็นบนเวทีว่า “ข้อมูลนี้ไม่ได้มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศแต่อย่างได เพราะในความเห็นของผมตอนผมทำ IPP (Independent Power Producer หรือผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่) ข้อมูลค่าไฟในสัญญาน่าจะเป็นข้อมูลที่เปิดเผยได้เพราะว่าเราเป็นประชาชนทั่ว ๆ ไปที่ใช้ไฟทุกวัน และทุก ๆ เดือนรัฐก็ขอให้ประชาชนมาจ่ายค่าไฟให้ แต่เราจะไม่บอกเขาเหรอว่าค่าไฟมาจากไหน เท่าไหร่ ดังนั้นมันไม่มีเหตุผลไม่มีความลับอะไรที่จำเป็นต้องเก็บไว้”
“จริง ๆ ผมอยากทำให้เห็นด้วยซ้ำว่าแต่ละโรงต้องจ่ายค่าไฟเท่าไหร่ ผมมั่นใจว่ามันมีข้อมูลอันนี้และสามารถเปิดเผยได้ ผมยืนยันเพราะผมเคยอยู่ในธุรกิจ IPP มันไม่มีอะไรที่จะไปส่งผลกระทบต่อประเทศ เพราะฉะนั้นผมอยากรู้ว่าโรงไฟฟ้าเมื่อก่อนที่อยู่ในแผนพีดีพี เป็นถ่านหินมาตั้งนานและอยู่ดีๆมาเปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซ มันมีการเจรจากันอย่างไร ค่าไฟเท่าไหร่ ผมว่า ผู้จ่ายค่าไฟน่าจะมีสิทธิได้รับรู้ “
คุณอนุตร จาติกวณิช – Co-founder Crex
“ข้อมูลที่มีความมั่นคง มั่นคงของผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ไม่ใช่ความมั่นคงของประเทศ”
ที่ผ่านมาเรานึกถึงระบบการผลิตไฟฟ้ามีผลกระทบกับเศรษฐกิจอย่างไรเราอาจมองง่าย ๆ แค่ค่าไฟ แต่ตอนนี้มันมากกว่านั้นนักลงทุนไม่ได้มองแค่นั้นจริง ๆ นักลงทุนพร้อมจ่ายในราคาต้นทุนที่สูงหากการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับโลกมากกว่า โดยนำเสนอทางเลือกสองวิธีที่ไทยจะช่วยนักลงทุนได้คือ
- ทำให้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ลดลงไปเรื่อยๆ เป็นเป้าหมายของภาคธุรกิจทั้งหลายที่ตั้งเป้าหมายว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกครึ่งหนึ่งให้ได้ภายในปี 2030 และเป็นศูนย์ภายในปี 2050 เพราะฉะนั้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจที่เรียกว่าขอบเขตที่ 2 หรือ scope 2 ส่วนใหญ่คือมาจากการใช้ไฟฟ้าดังนั้นค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตพลังงานไฟฟ้า (Grid emission factor) จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
- ให้สิทธิภาคธุรกิจในการทำสัญญาการซื้อไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์หรือพลังงานลมโดยตรง เพราะแม้ว่าอาจจะเป็นไฟฟ้าที่ค่อนข้างแพงแต่ถือว่าเป็นการกระจายทางเลือกให้กับภาคธุรกิจตัดสินใจในการซื้อ ซึ่งถ้าภาคธุรกิจมองว่าคุ้มก็ให้เขาทำ สิ่งสำคัญคือรัฐจำเป็นต้องกระจายทางเลือกให้
ทั้งสองข้อนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมีผลกระทบเชิงบวกอย่างกว้างขวางในช่วงที่เราเป็นห่วงเรื่องความมั่นคง เช่นปริมาณไฟฟ้า ระบบสายส่ง ที่เราเรียกรวม ๆ ว่า กริด (Grid)
ทั้งนี้ สิ่งที่เปลี่ยนผ่านเร็วกว่าพลังงานและตามไม่ทันคือเรื่องการเมือง เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงที่เราจะพูดถึงมันล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองและผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายทั้งสิ้น
“ผมทำธุรกิจไฟฟ้ามา 20 – 30 ปีผมได้ยินคำว่าโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม หรือ Third Party Access (TPA) นานมากและไม่ใช่เรื่องใหม่แนวคิดก็ง่ายมากเพียงแต่ว่าทำไมมันถึงยังไม่เกิดขึ้น”
คุณอนุตร จาติกวณิช – Co-founder Crex
การวางแผนโครงสร้างไฟฟ้าที่เริ่มต้นด้วยความผิดพลาดและขาดการมีส่วนร่วมจะถูกตั้งคำถามไปเรื่อย ๆ เพราะโครงสร้างไฟฟ้าที่เคยให้ผลลัพธ์ที่ดีในอดีต อาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งผู้กำหนดนโยบายเช่น รัฐบาล หรือกลุ่มนักการเมืองต่างก็มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำเพื่อสร้างเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด หากมองในมุมของประชาชนก็เป็นส่วนสำคัญของระบบโครงสร้างนโยบายที่ต้องร่วมกันผลักดันการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย
นักการเมืองและผู้กำหนดนโยบายเป็นกุญแจสำคัญที่ต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางด้านพลังงานไปด้วยกัน