PLASTIC PEOPLE หนังสารคดีเรื่องแรกพาเราเข้าไปเห็นชีวิตของมนุษย์ ที่รายล้อมด้วยพลาสติกในทุกช่วงจังหวะ ตั้งแต่สิ่งของที่หยิบจับ ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ดูราวกับว่าพลาสติกได้หลอมรวมกลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายโดยไม่รู้ตัว เราคุ้นชินกับมันเสียจนลืมไปแล้วว่า พลาสติกไม่ได้เป็นเพียงสิ่งของอีกต่อไป แต่มันอยู่ในตัวเราแล้วจริงๆ 

ขณะเดียวกัน หนังเรื่องที่สอง CONE พาเราไปติดตามชีวิตของมินอู เด็กชายวัย 7 ขวบ ผู้รักการกินไอศกรีมและหลงใหลในการ์ตูนเรื่อง “พินพิน” การ์ตูนเล่าเรื่องราวผ่านภารกิจคำท้า ชวนให้เด็กๆ ร่วมกันแยกขยะเพื่อรักษาโลกของพินพินไม่ให้ละลายหายไปจากจินตนาการ ภาพหนึ่งที่วนเวียนอยู่ในเรื่องคือวิถีชีวิตของผู้ใหญ่ในบ้าน ที่คุ้นชินกับการใช้พลาสติกเป็นเรื่องปกติ มินอูอาจไม่เข้าใจความซับซ้อนของระบบบริโภค แต่เขารู้ว่าพลาสติกคือสิ่งที่พินพินขอให้เขาช่วยลด และเขาก็ทำมันอย่างตั้งอกตั้งใจ จนกระทั่งวันหนึ่ง วันที่ควรจะเป็นวันแห่งความสุข “วันเกิดของเขา” กลับกลายเป็นวันที่เขาร้องไห้ เมื่อเห็นพ่อแม่ถือของตกแต่งวันเกิดที่เต็มไปอุปกรณ์จากพลาสติก พ่อกับเม่ตกใจและเข้าใจทันทีว่า ความตั้งใจของลูกคืออะไร ความตั้งใจเล็กๆ ของมินอูนี้กลับปลุกบางอย่างในใจพ่อแม่ พวกเขาหยุดและหันมาร่วมมือกับลูกชาย เปลี่ยนงานวันเกิดให้กลายเป็นพื้นที่เล็กๆ แห่งการเปลี่ยนแปลง มินอูทำภารกิจ “ลดขยะ” จนสำเร็จ และได้รับของขวัญชิ้นพิเศษจากรายการโปรด แต่เมื่อเขาเปิดกล่องของขวัญออก เขากลับพบว่า…ภายในเต็มไปด้วยเม็ดโฟมกันกระแทก และแผ่นพลาสติกห่อหุ้มอย่างหนาแน่น มินอูจ้องมันด้วยแววตาที่ดูเหมือนมีคำถามมากมายจนนิ่งเงียบไป

สุดท้ายมนุษย์ทุกคนต่างยังคงตั้งคำถามกันต่อว่า เราจะได้เรียนรู้หรือไม่ว่า สิ่งที่ยากที่สุดไม่ใช่การแยกขยะ แต่คือการต่อสู้กับ ‘ความเคยชิน’ ที่ฝังแน่นอยู่ในทุกมุมของสังคม วงคุยเพื่อชวนให้คนดูหนังกว่า 20 คนล้อมวงแลกเปลี่ยนพูดคุยเพื่อถอดบทเรียนต่อว่า ในจังหวัดภูเก็ตของเราจะทำอย่างไรเพื่อละลายความเคยชินกับพลาสติก ให้เปลี่ยนเป็นความเข้มแข็งในการจัดการปัญหามลพิษพลาสติกร่วมกัน  

“ความเคยชิน” ที่ควรส่งต่อหรือเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ตอนนี้

ในสังคมไทย เราต่างคุ้นชินกับ “วงจรชีวิตของพลาสติก” ที่แทรกอยู่ในทุกช่วงเวลาของชีวิตประจำวัน โดยไม่ทันได้ตั้งคำถาม หลังจากภาพยนตร์สารคดีจบลง วงสนทนาได้เปิดพื้นที่ให้ทั้งผู้กำหนดนโยบายในท้องถิ่น และประชาชนธรรมดาๆ ที่อยากลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง ได้สะท้อนความคิดต่อความเคยชินที่เคยถูกมองข้าม พลาสติกที่เคยดูเหมือนไม่เป็นพิษภัย กำลังสร้างผลกระทบโดยตรงต่อทรัพยากรธรรมชาติ ความสวยงามของทะเล และชีวิตผู้คนในเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะตั้งคำถามใหม่ และเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงวงจรนี้เสียที?

“เราได้ถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้เรื่องการจัดการขยะพลาสติกให้กับชุมชนรอบๆ เพื่อให้ทุกคนเห็นร่วมกันว่าปัญหามลพิษพลาสติกคือเรื่องที่เราต้องร่วมมือกันแก้ไข เมื่อได้ดูหนังเรื่องนี้ มันยิ่งทำให้ชัดเจนขึ้นว่า จุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตท่ามกลางพลาสติกนั้นอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด และหนังสะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีส่วนในการก่อปัญหานี้ เพียงแต่จะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตและการตัดสินใจของแต่ละคน”วิทิต สง่าพงษ์ หัวหน้าชุมชนหน้าองค์การสะพานปลา

การพูดคุยในวงแคบอาจไม่เพียงพออีกต่อไป เมื่อปัญหาขยะยังคงเพิ่มขึ้นตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา หนังสารคดีจึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่กลุ่มนักดำน้ำเก็บขยะอยากให้เด็กๆ และสังคมได้ใช้เพื่อเรียนรู้และเข้าใจสถานการณ์จริง โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งและโขดหินรอบเกาะ ที่กลายเป็นจุดสะสมขยะอย่างเงียบๆ ของทะเลไทยมาเนิ่นนาน

“ในช่วงเวลากว่า 20 ปี ที่ดำน้ำเก็บขยะมา ขยะ…ไม่เคยลดลงเลยขยะ พวกเรากลุ่มดำน้ำจึงเริ่มเป็นจิตอาสาเก็บขยะไปโดยปริยาย เราจะเห็นผลกระทบในวงกว้าง เพราะมลพิษทุกอย่างลงทะเลได้ง่าย ข้างบนบกเรายังพอจัดการได้ แต่พอลงไปในน้ำ การจัดการมันยากขึ้นมากโดยเฉพาะที่โขดหินและในโซนนอกๆ ที่มักจะมีขยะมากที่สุด”ป้าจิ๊ด หรรษกร ปภาพันธุ์ นักดำน้ำเก็บขยะ กลุ่ม Green hearts

ขยะทะเลที่เราพบ มันไม่ได้มาจากแค่ในประเทศไทย แต่มันมาจากขยะของประเทศอื่นๆ อย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย ก็ถูกพัดพามาโดยคลื่นลม 

ในปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปล่อยขยะลงทะเลเป็นอันดับ 6 ของโลก แต่เรายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าขยะจากประเทศไทยไหลไปที่ไหนบ้าง อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นว่า ปัญหามลพิษพลาสติกมีอยู่ทุกที่ทั่วโลก การแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติกโดยใช้นโยบายระดับโลกจึงสำคัญ ความรับผิดชอบของภาคอุตสาหกรรมและเจ้าของแบรนด์ต่างๆ ต่อการลดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งจึงเป็นสิ่งต้องทำ  นอกจากนี้ ปัญหาพลาสติกในทะเลยังเชื่อมโยงในเรื่องสิทธิทางสุขภาพของมนุษย์อีกด้วย ในทุกเดือน มนุษย์เราอาจจะกำลัง “กลืนพลาสติก” เข้าไปโดยไม่รู้ตัวในรูปแบบของไมโครพลาสติกนับพันชิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่แทบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นขยะพลาสติกไม่ได้อยู่แค่ในสายตา แต่มันกระจายตัวอยู่ทุกที่และทุกช่วงลมหายใจ

การพูดคุยไม่ได้จบแค่บทสนทนา แต่คือการเริ่มต้นของการปลูกฝังแนวคิดและจิตสำนึกให้หยั่งรากลึกในใจคน ฟังแล้วอาจไม่ได้เปลี่ยนโลกทันที แต่คือจุดเริ่มที่สร้างความเข้าใจใหม่ให้คนตระหนักว่า ทุกพฤติกรรม ทุกการเลือกใช้ ล้วนส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และนั่นคือพลังที่เริ่มจาก “ความคิด” ก่อนจะกลายเป็น “การกระทำ” ที่เปลี่ยนแปลงได้จริง

สิ่งที่ประทับใจมากคือการได้เห็นเด็กๆ ปลูกฝังแนวคิดการใช้ซ้ำและการหลีกเลี่ยงพลาสติก เด็กๆ มีแนวคิดที่ดีมาก เมื่อเห็นพ่อแม่ใช้ขวดพลาสติก พวกเขาจะถามว่าทำไมไม่ใช้ขวดแก้วแทน ถ้าทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เด็กๆ ก็จะปฏิบัติตามได้ดี เวลาเดินไปด้วยกัน พ่อแม่ทำอะไร เด็กๆ ก็มักจะทำตาม แต่สิ่งที่เราเห็นในบางครั้งคือพ่อแม่ยังไม่ให้ความสำคัญในเรื่องลดการสร้างขยะ หรือการแยกขยะ ในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่ การใช้พลาสติกที่บอกว่าสามารถย่อยสลายได้ในสภาวะที่เหมาะสม อาจจะทำให้เด็กสับสนได้ว่าเขาควรทำอย่างไรถึงจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าเรายังไม่เริ่มปลูกฝังตั้งแต่ตอนนี้ ก็จะส่งผลให้การแก้ปัญหาขยะพลาสติกในอนาคตยังคงล่าช้าอู๋ พรหมโรจน์ วิมลกุล วิสาหกิจเพื่อสังคม poonsook.craft

ในทุกๆ วัน เราต่างดำเนินชีวิตไปตาม “ความเคยชิน” ที่ดูเหมือนจะไร้พิษภัย แต่แท้จริงแล้วบางอย่างอาจกำลังสร้างผลกระทบที่เรามองไม่เห็น โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงขวดน้ำพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ถุงหิ้วที่สะดวกแต่กลายเป็นขยะไร้ทางออก หรือแม้แต่การละเลยการแยกขยะเล็กๆ ในบ้านของเรา ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะทบทวนความเคยชินเหล่านี้ ว่าควรส่งต่อ หรือควรหยุดไว้ แล้วเริ่มต้นสร้างความเปลี่ยนแปลงเสียตั้งแต่วันนี้

ศิลปะ จุดประกายเยาวชน สู่พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง

ในบทสนทนาอันเข้มข้นหลังชมภาพยนตร์ วงแลกเปลี่ยนความคิดไม่ได้หยุดแค่ปัญหาขยะพลาสติก แต่ยังหันไปตั้งคำถามต่อบทบาทของ “ศิลปะ” ที่ใช้วัสดุจากขยะเป็นแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลง ทั้งในเชิงความคิด จิตสำนึก และพฤติกรรมของผู้คน ศิลปะจะยังทำหน้าที่ของมันได้หรือไม่? ถ้าวันหนึ่ง “ขยะพลาสติก” ซึ่งเป็นทั้งปัญหาและวัตถุดิบแห่งการสร้างสรรค์หายไปจากโลกนี้อย่างสิ้นเชิง

เมื่อปี 2008 ตอนที่เราไปทำงานที่เกาะลันตา เรามักบอกเด็กๆ เสมอว่า ขยะสามารถสร้างมูลค่าได้ แต่ความจริงนั่นไม่ใช่ประเด็นหลัก สิ่งสำคัญกว่าคือการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการจัดการกับขยะ เพื่อลดปริมาณ และไม่ให้มันเพิ่มขึ้น เราต้องมองว่า ศิลปะสามารถช่วยสิ่งแวดล้อมได้ เพราะศิลปะกระตุ้นให้เกิดการคิดวิเคราะห์ และช่วยให้เราเห็นภาพชัดเจนว่า ปัญหามลพิษจากพลาสติกนั้นมีที่มาและส่งผลกระทบอย่างไร” – ครูป้อม ประสพสุข เลิศวิริยะปิติ Eco Artist (ศิลปะเชิงนิเวศ)

ครูป้อมเปิดวงสนทนาด้วยคำถามชวนคิดว่า “แล้วทุกคนคิดว่าศิลปะมีผลต่อการแก้ไขปัญหาอย่างไร?” คำถามนั้นจุดประกายให้ นีนี่ รัชนี ไลยัค บุชารา เยาวชนคนหนึ่งในวงพูดคุย ตอบขึ้นมาทันทีว่า

“สำหรับหนูแล้ว ศิลปะทำให้เกิดการคิดวิเคราะห์ และช่วยให้เราเห็นภาพของปัญหาได้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะเมื่อศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อม มันทำให้เราคิดถึงผลกระทบที่กว้างขึ้น คนเราชอบความสวยงาม การนำสิ่งที่เป็นปัญหามาดัดแปลงให้กลายเป็นผลงานศิลปะที่งดงาม มันยิ่งทำให้เห็นปัญหาชัดเจนและน่าสนใจมากขึ้นด้วยค่ะ”

ทุกคนปรบมือและพยักหน้าเห็นพ้องต้องกัน ครูป้อมตอบกลับว่า “นี่เป็นคำตอบที่ชื่นใจที่สุดเพราะศิลปะคือแรงบันดาลใจที่สามารถดึงดูดให้ผู้คนเข้ามารับรู้ผลกระทบเหล่านี้ได้ ถ้าเรานำศิลปะมาใช้ในการสื่อสาร เช่น การนำขยะมาสร้างเป็นประติมากรรมรูปวาฬในนิทรรศการ มันจะช่วยดึงดูดสายตา ทำให้คนเข้ามาเห็น และเกิดการส่งต่อ สื่อสารได้ว่านี่คือมลพิษจากพลาสติก ที่ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นงานศิลปะ เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่มันสร้างไว้ในโลกของเรา”

แน่นอนว่าการเรียนรู้ควรควบคู่ไปกับการลงมือทำ จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลง ต้องอาศัยกระบวนการการคิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย กระบวนการที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และในเส้นทางนี้ เสียงของเยาวชนจึงกลายเป็นพลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนอนาคตของโลกใบนี้ ซึ่งเป็นอนาคตของพวกเขาเช่นเดียวกัน

ในฐานะตัวแทนของคนทำงานร่วมกับเยาวชนและตัวแทนภาคประชาสังคมของสหประชาชาติ (UN) เราได้มีโอกาสในการรับฟังนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศในระดับสากลที่สามารถนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติได้จริงตามบริบทสังคมท้องถิ่น 

เราเป็นคนภูเก็ตที่เกิดและเติบโตที่นี่ นอกเหนือจากการพัฒนาและเสนอข้อคิดเห็นเชิงนโยบาย การมีส่วนร่วมกับผู้คนในหลากหลายมิติก็เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้จากนักจัดการขยะทะเลและขยะพลาสติก ข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อมจากนักการเมืองท้องถิ่น ช่องทางในการมีส่วนร่วมกับอาสาสมัครท้องถิ่นทั้งนักดำน้ำและผู้ประกอบการภาคเอกชน รวมถึงเยาวชนที่มีความสนใจในเชิงนโยบายและเชิงอนุรักษ์ เราอยากส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างเยาวชนและกลุ่มต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมา เพื่อให้เกิดกระบวนการการเรียนรู้ร่วมกัน ที่จะนำไปสู่การวางแผน การร่วมมือ การป้องกัน และการแก้ปัญหา อย่างยั่งยืนในระยะยาวพีช เพ็ญพิชชา พัฒนจักร ประธาน Young BPW Phuket สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย จังหวัดภูเก็ต

เมื่อความรู้สึก ความคิด และความตั้งใจ ต้องมาพร้อมกับมาตรการบังคับและส่งเสริม

ในยุคปัจจุบันที่พลาสติกกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน การจัดการขยะพลาสติกได้กลายเป็นหนึ่งในปัญหาที่โลกต้องเผชิญ ทั้งในแง่ของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ประชาชนต้องแบกรับต้นทุนที่ซ่อนอยู่ในระยะยาว เช่น ค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะพลาสติกและผลกระทบต่อสุขภาพจากสารพิษที่มีอยู่ในพลาสติก

ประเทศเรายังขาดทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และการใช้งบประมาณของรัฐก็ยังใช้ไม่ถูกจุด ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างการห้ามใช้โฟมในพื้นที่ชายหาด พอดูจริงๆ แล้ว กลับไม่มีกฎหมายหรือมาตรการควบคุมที่เป็นรูปธรรม ไม่มีบทลงโทษ ไม่มีการปรับจับใดๆ เกิดขึ้น เรื่องการแยกขยะก็เช่นกัน ทุกอย่างยังอยู่ในระบบ ‘สมัครใจ’ ทั้งที่เป็นเรื่องที่ควรจัดการอย่างเป็นระบบ ผลก็คือ แม้เราจะติดป้ายไว้ว่า ‘ห้ามทิ้งขยะ’ แต่ข้างใต้ป้ายนั้นกลับเต็มไปด้วยขยะ เพราะไม่มีการควบคุมหรือจัดการที่ชัดเจนเฉลิมพงศ์ แสงดี ส.ส.พรรคประชาชนจังหวัดภูเก็ต เขต 2

หนึ่งในนโยบายที่สามารถช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในระดับการผลิตและการจัดการขยะพลาสติกคือ หลักการการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility – EPR) ซึ่งเป็นหลักการที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ เป็นแนวทางให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ กระจายสินค้า​ การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด โดยมุ่งเน้นที่การลดพลาสติกและรับผิดชอบตลอดวงจรชีวิตพลาสติก

นอกจากนี้ การนำระบบ EPR มาใช้ยังช่วยสร้างการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม เพราะผู้ผลิตจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการผลิตภัณฑ์หลังการใช้งานผ่านมาตรการทางภาษี ซึ่งสามารถส่งผลให้ผู้ผลิตเริ่มปรับกระบวนการผลิตให้คำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว และส่งเสริมการสร้างระบบใช้ซ้ำ เช่น สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาระบบหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์ ให้มีระบบยืมคืนสินค้า (Deposit Return Scheme-DRS) หรือ ธุรกิจร้านรีฟิล ภายในประเทศ

เมื่อประเทศไทยต้องพึ่งพามาตรการบังคับและมาตรการส่งเสริมในการจัดการปัญหามลพิษพลาสติก หลายคนต่างพูดคุยถึงข้อเสนอใน ‘การจัดการร่วมกัน’ และรัฐบาลส่วนกลางและระดับท้องถิ่นต้องมีมาตราการบังคับที่ควบคู่ไปกับการส่งเสริม

เรื่องความพร้อมในการอำนวยความสะดวกเพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการจัดการแยกขยะในบ้านเรา การขอถังขยะจากเทศบาลสักใบมันไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าพูดถึง ‘ถังขยะแยกประเภท’ เพื่อให้แต่ละบ้านแยกขยะได้ง่ายขึ้น ถ้ารัฐบาลไม่ได้สนับสนุน  ถังขยะ 1 ใบ ขนาด 100 ลิตร ประชาชนทั่วไปต้องจ่ายอย่างน้อย 500 บาท ในการซื้อถังขยะ 1 ใบเลยทีเดียว

ในการแยกขยะ เพื่อให้สะดวกสำหรับการแยกขยะ แต่ละบ้านควรมีถังขยะอย่างน้อยที่สุด 2 ใบต่อครัวเรือน คือ ถังขยะเปียก และถังขยะทั่วไป แต่ถ้ามีถังขยะสำหรับแยกขยะรีไซเคิลด้วย ก็จะเพิ่มเป็น 3 ถัง ก็จะยิ่งทำให้การแยกขยะเป็นเรื่องที่ทุกคน ทุกครัวเรือน แยกขยะได้ดีมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถลดพื้นที่การฝังกลบขยะ ซึ่งส่งกลิ่นเน่าเหม็นและก่อให้เกิดมลพิษได้ 

การนำ ‘ขยะส่วนที่รีไซเคิลได้’ แยกออกมาจากขยะอื่นๆ ก็สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ลดจำนวนขยะที่จะไปหลุมฝังกลบ

สิ่งนี้จึงควรเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรสนับสนุนให้การเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้ง่ายขึ้นสำหรับประชาชน ดังนั้น มันต้องมีมาตรการบังคับที่ควบคู่ไปกับการสนับสนุนจากภาครัฐ” – วาววา ณิชชา โชคประจักษ์ชัด เจ้าของธุรกิจและนักกิจกรรมทางด้านสิ่งแวดล้อม โครงการโอเชี่ยน การ์เดียนส์ ประเทศไทย

แม้ปัญหาขยะจะเป็นวาระเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของคนในชุมชน แต่ในความเป็นจริง การขอเพียง “ถังขยะหนึ่งใบ” จากเทศบาลไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่ควรจะเป็นและยังถือเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนอยู่มาก เช่น ในจังหวัดภูเก็ต ขั้นตอนเริ่มต้นจากการยื่นคำร้องต่อสำนักงานเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ดูแลพื้นที่ เพื่อขอใช้บริการจัดเก็บขยะมูลฝอย ผู้ยื่นคำขอจะต้องเตรียมเอกสารประกอบ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และใบเสร็จการชำระค่าธรรมเนียม (ถ้ามี) จากนั้นคำขอจะถูกส่งต่อให้เจ้าหน้าที่พิจารณาความเหมาะสม ซึ่งในหลายกรณีอาจต้องมีการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม

ฟังดูแล้วชวนให้ตั้งคำถามว่า “ทำไมการเข้าถึงเครื่องมือพื้นฐานในการจัดการขยะจึงยุ่งยากกว่าการจัดการแยกขยะเสียอีก?” เพราะในเมื่อเราต่างพูดถึงการส่งเสริมให้ประชาชนแยกขยะหรือรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม แต่กลับไม่มีโครงสร้างพื้นฐานหรือการสนับสนุนที่เอื้อต่อความร่วมมือนั้นอย่างแท้จริง ซึ่งถังขยะอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่คือจุดตั้งต้นสำคัญที่สะท้อนถึง “ความพร้อมของระบบ” และ “ความจริงใจของนโยบาย” ในการผลักดันการจัดการขยะอย่างยั่งยืนให้เป็นเรื่องของทุกคน

การแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่เรื่องของการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ยังเกี่ยวข้องกับการสร้างความยั่งยืนในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขยะพลาสติกไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาที่คนหนึ่งคนใดต้องรับผิดชอบ แต่เป็นภาระที่ทั่วโลกต้องร่วมมือกันหาทางแก้ไขอย่างจริงจัง ปัจจุบัน หลายประเทศเริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการลดการผลิตพลาสติก และเริ่มมีการพูดถึง “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” ซึ่งเป็นความร่วมมือระดับโลกที่มีเป้าหมายเพื่อลดมลพิษพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง และป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกที่ผลิตในประเทศใดประเทศหนึ่งตกไปเป็นภาระของประเทศอื่นๆ ในการจัดการมัน

เรามองว่ารัฐควรลงทุนกับการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้มากกว่านี้ เพราะขยะไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง แต่มันเป็นปัญหาทั่วโลก ทุกประเทศจึงควรหันมาร่วมมือกันทำให้สนธิสัญญาพลาสติกโลกมีความเข้มแข็ง และมุ่งเน้นไปที่การลดพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง นั่นก็คือ การลดการผลิตพลาสติก ซึ่งเป็นวิธีการที่ยั่งยืนหมิว พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย

“อีกบุคคลสำคัญคือผู้ประกอบการต้องมีความรับผิดรับชอบ และหยุดชี้นิ้วบอกว่าผู้บริโภคเป็นผู้ร้ายอยู่ฝ่ายเดียว เพราะตราบใดที่มีการผลิตพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง โดยที่ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกอื่นในการลดใช้พลาสติก และผู้ผลิตยังลอยนวล พ้นผิด และกอบโกยผลกำไรโดยไม่คำนึงถึงหลักการและคุณค่าด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม”

รัฐบาลต้องหันมาส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้ซ้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประชาชนสามารถยกเลิกการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ โดยต้องมีการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรมให้กับประชาชนด้วย เช่น ภาชนะใช้ซ้ำควรมีราคาที่ไม่แพงและเข้าถึงง่ายเหมือนที่ประชาชนสามารถซื้อพลาสติกในราคาถูกและเข้าถึงง่ายในปัจจุบันนี้หมิว พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย

สุดท้ายนี้ ระบบที่ยั่งยืน คือการที่ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องรักษ์โลกก็ได้ แต่ระบบที่ดีจะทำให้พวกเขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดพลาสติกได้ หากรัฐบาลมีระบบการจัดการที่ดีพอและมีมาตรการลงโทษเพื่อไม่ให้เกิดการลอยนวลพ้นผิดของผู้ผลิตที่ไม่คำนึงถึงเรื่องสิทธิทางด้านสิ่งแวดล้อมและฉวยผลประโยชน์นอนกอดกำไรอยู่ฝ่ายเดียว โดยทิ้งภาระด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและผู้คนไว้ข้างหลัง!!


ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ การเจรจาสนธิสัญญาโลก(Global Plastics Treaty) ครั้งที่ 5.2 กำลังจะเกิดขึ้นที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีท่าทีในเวทีเจรจาเชิงบวก ในเชิงการจัดการสารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์พลาสติก แต่กรีนพีซยังคงเน้นย้ำอย่างหนักแน่นถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนต่อการจัดการวิกฤตมลพิษพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง คือ การมุ่งสู่การลดการผลิตพลาสติกใหม่ และคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เพื่อให้สนธิสัญญาพลาสติกโลกที่เข้มแข็งและแก้ปัญหามลพิษพลาสติกอย่างยั่งยืนที่แท้จริง