ลึกลงไปในมหาสมุทรของเรานั้น ยังมีสิ่งมีชีวิตที่มีความพิเศษและไม่เป็นที่รู้จักซุกซ่อนแฝงกายอยู่ แต่ความลึกลับเหล่านี้กำลังตกอยู่ภายใต้การคุกคามจาก “การทำเหมืองแร่ใต้ทะเล” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่

Lion’s Mane Jellyfish in the Arctic. © Alexander Semenov

แมงกระพรุนแผงคอสิงโต (Lion’s Mane) ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อาศัยอยู่ลึกลงไปในมหาสมุทรแถบอาร์กติก

แม้ว่าการทำเหมืองใต้ทะเลลึกนั้นจะยังไม่เกิดขึ้น แต่รัฐบาลและบริษัทหลายแห่งกำลังวางแผนที่จะส่งเครื่องจักรขนาดมหึมา ที่ทนทานต่อคลื่นลมลงไปใต้ทะเล ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล ที่มีลักษณะเฉพาะ เป้าหมายของเครื่องจักรยักษ์ที่จะถูกส่งมาคือเพื่อสกัดแร่โลหะหายาก ยิ่งไปกว่านั้น ใบอนุญาตในการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลยังจะเอื้อให้กลุ่มอุตสาหกรรม ขยายการสำรวจใต้ทะเลลึกได้มากกว่าหนึ่งล้านตารางกิโลเมตรของมหาสมุทร

เพราะอะไรเครื่องขุดเจาะเหมืองใต้ทะเลจึงเป็นหายนะของท้องทะเล และนี่คือ 5 เหตุผลหลักๆที่เราไม่ควรทำเหมืองใต้ทะเล

Almoco Jacks - Deep Sea Life in the Azores. © Greenpeace / Gavin Newman

ฝูงปลามง (Almoco Jacks) บริเวณภูเขาใต้ทะเล Dom João de Castro แทบหมู่เกาะ Azores ในมหาสมุทรแอตแลนติก

ข้อ 1: การทำเหมืองใต้ทะเลคือข่าวร้ายทางสิ่งแวดล้อม

นักวิทยาศาสตร์ออกมาเตือนว่าการแสวงหาผลประโยชน์จากทะเล ด้วยเครื่องจักรขนาดยักษ์นี้มีความเสี่ยง ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงและไม่สามารถฟื้นฟูมหาสมุทรและทรัพยากรใต้น้ำให้กลับมาให้ดีเหมือนเดิมได้ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่รายงาน ‘การทำเหมืองแร่ใต้ทะเลที่ไม่ส่งผลต่อระบบนิเวศใต้ทะเลไม่มีอยู่จริง’

ลึกลงไปใต้ทะเล เราพบภูเขาใต้ทะเลที่เปรียบเสมือน “โอเอซิส” ของทั้งสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล แนวปะการังโบราณ และฉลามสายพันธุ์ที่มีชีวิตยืนยาวถึงหลายพันปี เพราะระดับการเจริญเติบโตของฉลามสายพันธุ์นี้ค่อนข้างช้า จึงทำให้พวกมันมีลักษณะทางกายภาพเปราะบางเป็นพิเศษ ซึ่งนักวิจัยประเมินว่า การทำเหมืองแร่ใต้ทะเลจะทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ในทะเลให้สูญหายไปตลอดกาล

ทั้งนี้ ยังมีผลกระทบจากการทำลายล้างที่รุนแรงกว่านั่นคือ การเปิดหน้าดินใต้ทะเลจะทำให้เกิดตะกอนลอยฟุ้งและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของสัตว์ทะเลเป็นบริเวณกว้างหลายกิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีเรือที่อยู่บนผิวน้ำซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการทำเหมือง เรือที่ว่านี้สามารถปล่อยสารระเหยลงสู่น้ำและจะกลายเป็นภัยต่อสายพันธุ์สัตว์ทะเลครอบคลุมพื้นที่หลายร้อย หลายพันกิโลเมตร

ไม่ใช่แค่สารพิษเท่านั้นที่จะเข้าไปรบกวนการใช้ชีวิตของเหล่าสัตว์ทะเล แต่เสียงจากเครื่องจักรในการขุดเหมืองก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ใต้ทะเลเช่นกัน เช่น วาฬ เป็นต้น นอกเหนือไปจากเสียงแล้ว แสง ที่จะใช้ทำงานใต้ทะเลก็จะรบกวนส่วนลึกของใต้ทะเลที่มืด การเกิดแสงสว่างนั้นอาจสร้างความปั่นป่วนกับการใช้ชีวิตของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเลที่มีแสงสว่างน้อย

Spiral Tube Worm - Deep Sea Life in the Azores. © Greenpeace / Gavin Newman

สิ่งมีชีวิตใต้ทะเล หนอนเกลียว หรือ Sabella Spallanzanii อาศัยอยู่ในเยื่อบางคล้ายหลอด พบได้มากในบริเวณพื้นใต้ทะเลที่เป็นโคลน พวกมันจะหดตัวเข้าไปในหลอดเมื่อมีอันตราย

ข้อ 2 : การสูญสิ้นของสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถพบได้ที่ไหนในโลก

สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึก ส่วนใหญ่มักเป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวให้อยู่รอดกับสภาพแวดล้อมที่แทบไม่สามารถเอาชีวิตอยู่รอดได้ เรียกง่ายๆ ว่าเหมือนอาศัยอยู่ในอวกาศ หลังจากการค้นพบสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “หนอนซอมบี้ ในปี พ.ศ.2555 ไปจนถึงดอกไม้ทะเลโปร่งใสที่สามารถกินหนอนได้ 6 เท่าของขนาดตัวมันเอง ใต้ทะเลลึกแห่งนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวสิ่งมีชีวิตที่ประหลาดและน่าอัศจรรย์ ถึงร้อยละ 85 ของสัตว์ที่มีชีวิตอันน่าอัศจรรย์นี้อาศัยอยู่ใกล้กับบริเวณแหล่งน้ำพุร้อนใต้ทะเลแหล่งเดียวในโลก และพื้นที่แห่งนี้อยู่ในพื้นที่เป้าหมายของการทำเหมืองแร่ใต้ทะเล

แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ถึงผลกระทบของการทำเหมืองแร่ใต้ทะเล ว่าการที่มีเครื่องจักรลงไปจะทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ แต่กลุ่มอุตสาหกรรมก็ได้รับอนุญาตให้ลงไปสำรวจความเป็นไปได้ในการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลแล้ว โดยพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตนั้นรวมถึง Lost City พื้นที่ใต้ทะเลอันเป็นเอกลักษณ์แห่งเดียวในมหาสมุทรแอตแลนติก

Scyphozoan Jellyfish in the Arctic. © Alexander Semenov

ภาพถ่ายแมงกะพรุนในทะเลอาร์กติก

ข้อ 3 : การทำเหมืองแร่ใต้ทะเล เท่ากับการทำลายมหาสมุทร ปราการปกป้องมนุษย์จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ลึกลงไปใต้มหาสมุทรนั้นเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญมาก เพราะโดยธรรมชาติแล้ว คาร์บอนจะถูกดูดซึมโดยสัตว์ใต้ทะเล เพราะเมื่อสัตว์เหล่านั้นตายลง ซากของพวกมันก็จะจมลงสู่ก้นมหาสมุทรพร้อมกับคาร์บอน โดยคาร์บอนนั้นก็ถูกกักเก็บไว้มานานหลายพันปี กระบวนการนี้คือการชะลอการเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

แต่การทำเหมืองแร่ใต้ทะเลที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า จะสร้างความปั่นป่วนให้กับระบบการกักเก็บคาร์บอนโดยธรรมชาติ หรืออาจมีส่วนที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะการขุดเหมืองจะทำลายระบบกักเก็บคาร์บอนใต้ท้องทะเล และส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกให้เลวร้ายยิ่งขึ้น

ในเมื่อมนุษย์เราต่างรู้ดีว่าเรากำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แล้วทำไมเรายังคงทำให้มันแย่ลงกว่าเดิมอีก?

Vent Field in the Lost City, Atlantic Ocean. © NOAA/IFE/UW/URI-IAO

Hercules เป็นเครื่องมือสำรวจทะเล ได้ถ่ายภาพแมงกะพรุนใต้ทะเลลึกบริเวณ ลอส ซิตี้ ไม่กี่เมตรจากก้นทะเล

ข้อ 4 : เหมืองแร่ใต้ทะเลผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร

ผลกระทบในวงกว้างที่อาจเกิดจากอุตสาหกรรมนี้คือ ห่วงโซ่อาหารของสัตว์ใต้ทะเลจะถูกรบกวนไปทั่วทั้งมหาสมุทร จากข้อมูล กรีนพีซพบว่ากลุ่มบริษัทที่ต้องการลงทุนทำเหมืองทราบดีเกี่ยวกับความเสี่ยงนี้ เนื่องจากหลักฐานเอกสารที่แจกในที่ประชุมของผู้ถือหุ้น ระบุไว้ชัดเจนว่า “มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้สายพันธุ์ที่มีลักษณะเฉพาะที่เป็นสัตว์ชั้นแรกในห่วงโซ่อาหารสูญพันธุ์”

Aerial of Open Pit Mining Garzweiler II near Hambach Forest. © Greenpeace

เครื่องจักรขุดเหมืองถ่านหินในป่า Hambach ลองจินตนาการว่าเครื่องจักรในลักษนะนี้กำลังขุดเหมืองใต้ทะเลดูสิคะ

ข้อ 5 :  เราต้องการทำลาย “สิ่งมหัศจรรย์” ที่โลกสร้างสรรค์ไว้ให้เราเรียนรู้ ?

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เราสำรวจใต้มหาสมุทรเพื่อจะได้รู้ว่ามีสิ่งมีชีวิตอะไรบ้างใต้ผืนน้ำสีน้ำเงินนี้ไปได้เพียงแค่ 0.0001% เท่านั้น ยังมีเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลและระบบนิเวศที่รอคอยเราไม่รู้จักอีกมากมาย แต่ทั้งที่เรายังไม่เข้าใจความเป็นไปของมหาสมุทร แต่กลุ่มอุตสาหกรรมเหมืองแร่ กลับเพิกเฉยต่อความมหัศจรรย์ของโลก และวางแผนจะทำเหมืองบนพื้นที่ที่มีระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุด หากไม่มีการยับยั้ง ป้องกันการทำลายล้าง ความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจะมีมูลค่ามหาศาลเท่าไรก็ไม่อาจคาดเดาได้

ไม่มีแร่ธาตุชนิดไหนมีค่าถ้าพวกมันถูกขุดขึ้นมาด้วยการทำลายทรัพยากรที่เรายังไม่เข้าใจ กลุ่มอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้แร่ธาตุเหล่านี้ควรหาวิธีในการลงทุนกับระบบการรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีใหม่ๆแทนที่การคุกคามสัตว์ทะเลเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้ตัวเอง

ชัดแล้วว่าการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลคือข่าวร้ายของมหาสมุทรโลก

ทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่าการทำเหมืองใต้ทะเลนั้นมีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมขนาดไหน แต่กลุ่มบริษัทบางกลุ่มก็ยังเลือกที่วิธีนี้ด้วยการโน้มน้าวกับนักการเมืองว่าวิธีนี้ “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ซึ่งมันไม่จริงเลยแม้แต่น้อย

วิกฤตสภาพภูมิอากาศและการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่กำลังเป็นหายนะที่เรากำลังเผชิญอยู่ อย่าปล่อยให้อุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นนี้เกิดขึ้นอีก สิ่งที่เราควรทำคือวางแผนฟื้นฟูมหาสมุทรให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิมต่างหาก

ทั้งนี้ สิ่งที่เราทำได้คือ เรียกร้องต่อผู้นำทั่วโลกเพื่อการลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาทะเลหลวงที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า สนธิสัญญาฉบับนี้จะมีอาณาเขตในการอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ในมหาสมุทรเป็นบริเวณกว้างถึง 1 ใน 3 ส่วนของมหาสมุทรโลก  และแนวทางการฟื้นฟูก็คือ ยกมาตรฐานการอนุรักษ์ทะเลในระดับสากล การห้ามทำอุตสาหกรรมทุกรูปแบบในท้องทะเล ซึ่งรวมถึงการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลด้วย

ผู้คนกว่า 9 แสนคนตกลงใจและร่วมปกป้องมหาสมุทรของโลกแล้ว แล้วคุณล่ะพร้อมปกป้องมหาสมุทรกับเราไหม? 

ร่วมเป็นหนึ่งคน หนึ่งเสียง เพื่อบอกกับผู้นำทั่วโลกให้ฟื้นฟูมหาสมุทรเพื่อโลกของพวกเรา

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม