หลังจากเปิดประเด็นการขออนุญาตก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนขนาด 150 เมกะวัตต์ ที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.จังหวัดสระบุรี ทำให้ชุมชนมวกเหล็กกลุ่มเกษตรกรโคนม กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและกลุ่มเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ รวมตัวกันคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวด้วยความกังวลต่อโครงการฯที่อาจจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจภายในชุมชน และยังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ (EHIA) ว่ามีข้อบกพร่องในการวิเคราะห์หลายประเด็น

เครือข่ายผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมวกเหล็กมอบหนังสือ คัดค้านรายงานการประเมิน วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ(EHIA) โครงการโรงไฟฟ้ามวกเหล็กขนาด 150 เมกกะวัตต์ ให้แก่นายกิตติพงษ์ ภิญโญตระกูล รองเลขาธิการสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน
EHIAถ่านหินมวกเหล็กกับความจริงที่เลือนหาย
แม้ว่ากระบวนการการพิจารณาเห็นชอบโครงการฯจะใกล้สิ้นสุด และโครงการฯดังกล่าวของทางบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน)ใกล้จะได้รับอนุญาตตามกระบวนการการจัดทำรายงานEHIAแบบเงียบๆ แต่เมื่อเรามาเปิดรายงาน EHIA ฉบับโรงไฟฟ้าถ่านหินฉบับนี้แล้วกลับพบว่าแทบไม่มีการกล่าวถึงผลกระทบต่อชุมชนในบริเวณใกล้เคียงเลยและชุมชนมวกเหล็กถูกทำให้หายไปจากรายงานฉบับนี้อย่างสิ้นเชิง
ความล่มสลายของระบบนิเวศและการล่มสลายของวิถีชีวิตในชุมชน

การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมวกเหล็กที่ไม่ครอบคลุมและก่อให้เกิดความไม่ชอบธรรมในกระบวนการซึ่งอาจจะส่งผลต่อภาระต้นทุนทางเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อประชาชนในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
รายงาน EHIA ฉบับนี้ไม่ได้กล่าวถึงผลกระทบของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อาจเกิดกับชุมชนอย่างแท้จริง ขาดการศึกษาถึงกลุ่มอาชีพของประชาชนซึ่งกลายเป็นวิถีชีวิตของชุมชนมาเนิ่นนานและอาจจะเป็นผลทำให้เกิดการล่มสลายของชุมชนและสูญเสียอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพเกษตรกรโคนมอินทรีย์ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศและอาจเกิดการปนเปื้อนสารพิษในน้ำนม
ทั้งนี้ นอกจากความเสียหายในด้านวิถีชีวิต เศรษฐกิจ ที่รายงานไม่ได้พูดถึงแล้ว ในด้านสังคมก็มีการศึกษาผลกระทบต่อคนอย่างคร่าวๆ โดยไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบที่อาจจะรุนแรงเป็นพิเศษต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเช่น กลุ่มเด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มผู้เปราะบาง เป็นต้น
การประเมินความเสี่ยงทางด้านสุขภาพที่ถูกมองข้าม
และสิ่งที่สำคัญอีกหนึ่งประเด็นที่ควรอยู่ในรายงาน แต่กลับหายไปนั่นคือ ‘การศึกษาถึงการรับสัมผัสต่อมลพิษและสิ่งคุกคามสุขภาพ เช่น การหายใจ การสัมผัสทางผิวหนัง การรับประทาน’ กับกลุ่มผู้ปฏิบัติการในโครงการและประชาชนรอบโครงการฯ รวมทั้งไม่ได้นำค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เข้ามาเป็นหนึ่งในเกณฑ์การวัดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
“ในฐานะของคนพลังงานอาจมีมุมมองที่แตกต่างกันกับเรา แต่เราในฐานะของคนที่ดูแลเรื่องสุขภาพ เราเป็นห่วงผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ ถ้าได้ฟังพวกเราก็ขอให้ฟังว่าทำไมพวกเราจึงมีความกังวลและอยากบอกว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น” – พญ. ศิรดา ภูริวัฒนพงศ์ ตัวแทนเครือข่ายสุขภาพมวกเหล็ก
EHIA ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ตัวแทนประชาชนและเครือข่ายผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมวกเหล็ก แสดงข้อกังวลต่อโครงการโรงไฟฟ้ามวกเหล็กในงานเสวนา “EHIA พลังงานมวกเหล็ก ต้นทุนที่ต้องจ่าย?” ที่ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แม้ว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 150 เมกะวัตถ์จะยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเพื่อขอใบอนุญาตในการสร้างนั่นหมายถึงเมื่อกระบวนการการพิจารณาอนุญาตตามรายงานEHIAยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ทางเจ้าของโครงการฯยังไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ แต่ในความเป็นจริงคือโรงไฟฟ้าได้ถูกสร้างและทดลองเดินเครื่องไปแล้ว 1 ครั้ง นอกจากนี้รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ (EHIA) ฉบับนี้ยังมีช่องโหว่ขนาดใหญ่ โดยรายละเอียดหลักเกณฑ์ที่รายงานไม่ได้กล่าวไว้มีดังนี้
- EHIA ไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อชุมชนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านสุขภาพ ทั้งๆที่ประเด็นนี้คือใจความหลักในเกณฑ์การทำรายงาน
- รายงาน EHIA ไม่เปิดให้คนในพื้นที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น
- ในรายงานไม่ได้ประเมินความเสี่ยงจากสารพิษที่หลากหลาย ไม่มีการประเมินผลกระทบระยะยาวเช่น การตกสะสมสารพิษในธรรมชาติ หรือสัตว์ เช่น โคนม
- รายงาน EHIA ไม่มีมาตรการในการจัดการความเสี่ยงอย่างเป็นรูปธรรม
- ไม่มีการเปรียบเทียบพลังงานแต่ละชนิด
- ในรายงานไม่บอกเหตุผลของการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 150 เมกะวัตถ์

คุณบุญเชิด บุญจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายค้ดค้านโครงการโรงไฟฟ้ามวกเหล็ก นำเสนอความเห็นทางกฎหมาย ต่อโครงการโรงไฟฟ้ามวกหล็กขนาด 150 เมกกะวัตต์ ในงานเสวนา “EHIA พลังงานมวกเหล็ก ต้นทุนที่ต้องจ่าย?” ที่อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“EHIA ฉบับนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดการประเมินหลายข้อ ไม่ครบตามหลักเกณฑ์ที่ต้องทำ ไม่ชอบตามหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบ และโรงงานก็สร้างไปแล้วทั้งๆที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต” คุณบุญเชิด บุญจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายให้ความเห็นกับเรื่องนี้
เครือข่ายชมรมอนุรักษ์ลำน้ำมวกเหล็กจึงเสนอประเด็นดังกล่าวให้กับคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อให้ทางกกพ.พิจารณาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงนี้อีกครั้ง และทางชุมชนก็คาดหวังว่าคณะกรรมการ กกพ. ชุดใหม่จะรับฟังชุมชนและนำคำร้องดังกล่าวไปพิจารณาใหมและต้องไม่อนุญาตให้ดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้

ไม่ว่าคุณเป็นใครก็สามารถมีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัครกรีนพีซได้ ซึ่งคุณสามารถเลือกประเภทของอาสาสมัครได้ตามความสนใจ อาทิ เยาวชนกรีนพีซ (Youth) นักพูดเพื่อสิ่งแวดล้อม (Greenspeaker) นักกิจกรรมเชิงออนไลน์ (Digital Activist) และนักกิจกรรมภาคสนาม (Activist)
มีส่วนร่วม