จากเด็กหญิงติดธรรมชาติในปราจีนบุรี เดินทางลงใต้เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับทะเลและมหาสมุทร เรื่อยมาจนเข้าสู่เส้นทางการทำงานปกป้องสิ่งแวดล้อมร่วมกับกรีนพีซ เราอยากชวนทุกคนมารู้จัก ‘จิ๊บ’ อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ปัจจุบันเธอเป็นผู้จัดการงานรณรงค์ของกรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกำหนดยุทธศาสตร์การปกป้องสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพและสิทธิในการอยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดีของคนไทย

ความชอบวิชาชีววิทยาและวิชาเคมี เป็นตัวเลือกที่ทำให้อยากเรียนเรื่อง ‘น้ำ’
ตอนเด็ก ๆ เราใช้ชีวิตอยู่ที่ปราจีนบุรีซึ่งเวลาเราไปเที่ยวกับครอบครัวก็มักจะไปเที่ยวตามสถานที่ธรรมชาติ ป่าไม้ ทะเล วน ๆ ไปแบบนี้น้อยมากที่จะได้ไปเดินห้างสรรพสินค้า เราใกล้ชิดธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก สมัยเรียนมัธยมปลายเราชอบเรียนวิชาชีววิทยากับวิชาเคมี เราอยากเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ทะเลมากบวกกับตอนนั้นเชื่อครูแนะแนว (หัวเราะ) ก็เลยเลือกเรียนที่ คณะทรัพยากรธรรมชาติ สาขาวาริชศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นสาขาที่เราจะได้เรียนเกี่ยวกับทรัพยากรทางน้ำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ทะเลน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย เรียกได้ว่าเรียนเรื่องวิทยาศาสตร์ทางน้ำในทุกรูปแบบ
พอเรียนจบ เราเลือกทำงานกับสถานีประมงทะเลจังหวัดพังงา ภายใต้กรมประมงที่มีกลุ่มงานพัฒนาชุมชนรอบอ่าวพังงากับองค์กรไม่แสวงหากำไรา ซึ่งเป็นงานแนวพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมง เพราะรู้สึกว่าเราชอบทำงานออกไปเจอผู้คนมากกว่า ไม่ชอบงานที่ต้องอยู่แต่ในห้องแล็ปหรือโรงงาน ซึ่งก็เป็นงานที่เราชอบและได้เรียนรู้อะไรมาหลายอย่างมาก ๆ

“ตอนนั้นงานที่เราทำเป็นนักวิจัยชั่วคราว หน้าที่ของเราคือต้องไปสำรวจเก็บข้อมูลการจับและชนิดพันธ์ุสัตว์น้ำของชาวประมงรอบ ๆ อ่าวพังงา และการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการเก็บข้อมูลแต่ละครัวเรือนมีรายได้เท่าไหร่ ได้ปลาอะไรบ้าง เรียกว่าไปทำข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพรอบอ่าวพังงา แล้วช่วงนั้นตอนเข้าไปทำงานแรก ๆ ก็มีเหตุการณ์สึนามิ เราก็ไปช่วยสำรวจความเสียหาย ประเมินเพื่อให้ความช่วยเหลือ เราทำงานตรงนั้นยาว ๆ เลยประมาณ 3 ปี คิดว่าช่วงเวลานี้แหละที่เริ่มบ่มเพาะความเป็นนักกิจกรรมในตัวเรา”
มีช่วงหนึ่งที่ลองไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ในแล็บ เรารู้ได้เลยว่านี่ไม่ใช่ตัวตนของเรา เนื้องานจริง ๆ แล้วน่าสนใจมากเพราะจะต้องวิเคราะห์ซากสัตว์ทะเลหาสาเหตุการตายว่าตายจากอะไร แต่มันก็มีหลายปัจจัยหลัก ๆ คือเราไม่ได้เจอใครเลย ทำให้คิดได้ว่างานลงพื้นที่ไปสำรวจ ไปรับฟังและพูดคุยกับชุมชน มันเป็นงานที่พิเศษ พอเราทำไปแล้วถึงแม้ว่าจะต้องเจอปัญหาแต่เรากลับรู้สึกมีพลังที่จะยืนหยัดอยู่ข้าง ๆ พ่อแม่พี่น้องที่เราเข้าไปเจอแล้วร่วมสู้ไปกับเขา
เส้นทางการทำงานกับกรีนพีซ จุดเริ่มต้นของการเป็นนักรณรงค์
หลังจากจบโครงการของกรมประมง ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันพอดีที่กรีนพีซกำลังเปิดรับสมัคร ผู้ช่วยนักรณรงค์ด้านสารพิษ (Toxic Assist Campaign and Water Patrol Coordinator) ก็คือทำหน้าที่ช่วย Toxic Campaigner กับเก็บตัวอย่างดิน น้ำ เพราะตอนนั้นกรีนพีซกำลังเปิดงานรณรงค์เกี่ยวกับมลพิษจากอุตสาหกรรม (ช่วงปี 2551)
“มันมีความท้าทายที่ว่าการจะผลักดันอะไรสักอย่างต้องทำให้คนรู้สึกว่ามันเชื่อมโยงกับตัวเอง ซึ่งก็คือผลกระทบเชิงสุขภาพที่อยู่ในน้ำและอากาศ ก็เลยเป็นที่มาว่าทำไมต้องมีคนไปเก็บตัวอย่างน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรมลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ลงสู่ดินในบริเวณชุมชน”

ตอนสัมภาษณ์งานมีการบ้านมาให้เราทำด้วยนะ เพื่อให้เราเห็นภาพว่าถ้าเรามาทำงานจริง ๆ เราจะได้ทำงานอะไรบ้างและจะต้องเจออะไรบ้าง แล้วเราจะโอเคไหม อย่างเช่น หากมีเจ้าหน้าที่ของโรงงานเข้ามาถามระหว่างที่เรากำลังเก็บตัวอย่างน้ำ ตอนนั้นตอบไปว่า ความปลอดภัยอาสาสมัครและทีมคือสิ่งสำคัญ เราก็บอกและคุยกับเขาดี ๆ ว่ามาเก็บตัวอย่างเพื่อทำการศึกษาว่ามีอะไรอยู่ในน้ำหรือดินบ้างและไม่ได้มาทำร้ายใคร รวมทั้งการดูแลอาสาสมัครในสถานการณ์ต่าง ๆ เพราะกรีนพีซเราทำงานร่วมกับชุมชนและอาสาสมัครเป็นส่วนใหญ่ เป็นการเจรจาให้เขาเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำคือการทำงานเพื่อให้ชุมชนบริเวณนั้นมีข้อมูลเพื่อใช้ปกป้องตัวเองและครอบครัว พอได้ทำงานที่นี่ก็ลุยเรื่องสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมเลย
“พี่ธารา พี่พลาย (พลาย ภิรมย์) พูดกับเราว่าการทำงานข้อมูลสำคัญมาก เราเป็นตัวแทนขององค์กร ดังนั้นเราจะทำงานมั่ว ๆ ไม่ได้ เราต้องมั่นใจว่าข้อมูลที่เราเก็บมาเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะมันเป็นผลกระทบที่เกิดกับคนสมมติว่าเราวิเคราะห์ผลของน้ำผิดว่าในน้ำสะอาดดี แต่ความจริงแล้วมันมีโลหะหนักปนเปื้อนอยู่ ทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขและชุมชนที่อยู่ตรงนั้นก็จะได้รับมลพิษที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมคุกคาม”
“เรายึดหลักมาตลอดว่าข้อมูลที่ได้มาต้องเป็นข้อเท็จจริง อะไรที่เราไม่รู้เราต้องไปหาข้อมูลมาสนับสนุน รวมทั้งยังต้องวางแผนการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวให้รอบคอบเพื่อสนับสนุนงานรณรงค์ของเราให้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ได้มากที่สุด”

เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับงานรณรงค์ Not Just Tuna
อีกหนึ่งก้าวสำคัญที่สร้างประสบการณ์และความเข้มแข็งในการผลักดันงานของพี่จิ๊บในวันนี้ คือการทำงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทรในฐานะ นักรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร (Oceans Campaigner) กับแคมเปญ Not Just Tuna
“แคมเปญนี้ทำให้เราได้ลองทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในอีกมิติหนึ่ง เพราะก่อนหน้านี้เราทำงานในเชิงที่ว่า มลพิษทางสิ่งแวดล้อมกระทบต่อสุขภาพคน แต่แคมเปญนี้ทำให้เราเห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมกว้างกว่านั้น มันมีประเด็นของสิทธิมนุษยชนอยู่ในนั้น เช่น การละเมิดสิทธิแรงงาน อย่างแคมเปญนี้เราเห็นตรงกันว่า ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตอาหารทะเลจะได้วัตถุดิบอาหารทะเลจากการใช้เครื่องมือที่ดี ทำประมงในพื้นที่ที่ได้รับการอนุญาต ทำทุกอย่างถูกต้องหมด แต่ยังมีการละเมิดสิทธิแรงงานบนเรือยังเกิดขึ้นอยู่เราไม่สามารถยอมรับได้ เราต้องเรียกร้องสิทธิแรงงานร่วมกับการปกป้องทรัพยากรทางทะเลและสิ่งแวดล้อมคู่กันไปด้วย นี่เป็นที่มาของชื่อแคมเปญด้วย เพราะมันไม่ใช่แค่ทูน่า แต่มีเรื่องราวเบื้องหลังที่เราต้องช่วยกันแก้ปัญหา”

แคมเปญนี้เราได้ลองทำงานในหลายรูปแบบมาก ๆ ซึ่งบางอย่างก็ไม่เคยทำมาก่อน เช่น การเจรจากับบริษัทผู้ผลิตและผู้ส่งออกทูน่า การสืบสวนเพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึก (Investigation) ซึ่งเราเรียนรู้ว่าการทำข้อมูลปฐมภูมิของตัวเองสำคัญมากและเป็นความชอบธรรม ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เรามั่นใจที่จะพัฒนางานรณรงค์ให้หนักแน่นมากขึ้น
ความท้าทายของการทำงานรณรงค์
สำหรับประเทศไทย เรามองว่าสถานการณ์ทางการเมืองไทยเป็นความท้าทายของงานรณรงค์เหมือนกัน อย่างการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย ๆ ความไม่เสถียรทางการเมืองมีผลหมด นอกจากนี้จะมีเรื่องภาคเอกชน นายทุนที่มีอำนาจเหนือรัฐก็เป็นอีกปัจจัยของความท้าทาย
“แต่เรามองว่ามันเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องบาลานซ์หรือการคานอำนาจ ไม่ให้เกิดการผูกขาดจนประชาชนได้รับผลกระทบเชิงลบหรือไม่ถูกริดรอนสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและเป็นธรรม”
“เรายังเชื่อในตัวเองเสมอว่าสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ดี ทุกครั้งที่ได้ลงพื้นที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเราเชื่อเสมอว่ามันเป็นสิ่งที่ดีและเราจะทำสำเร็จ”
ผู้หญิงกับการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม
ถ้ามองในแง่ของชุมชนที่ออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี เรามองว่าผู้หญิงมีบทบาทมาต่อสู้มากพอกับเพศอื่น ๆ เช่นเดียวกับในแวดวงการทำงานรณรงค์ ถ้าเทียบกับอดีตตอนนี้เราก็มีความเสมอภาคทางเพศ (Gender-Balance) มากขึ้น ไม่ใช่แค่ผู้หญิงแต่เป็นคนทุกเพศทุกวัย แต่สำหรับแวดวงวิชาการ ภาคธุรกิจและรัฐบาลจำเป็นจะต้องเปิดกว้างเรื่องความเสมอภาคทางเพศมากขึ้น
พัฒนา ‘Work Life Balance’ ในวันที่ต้องเป็น Working Women และเป็นแม่ไปพร้อม ๆ กัน
เพราะเราเพิ่งเคยเป็นแม่ครั้งแรก ในช่วงแรกสองบทบาทนี้มันทับซ้อนกันมากและเรากดดันตัวเองว่าต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด สมัยก่อนเราทุ่มเทกับงานมากเรียกว่าบ้างานได้เลย กรีนพีซเหมือนบ้านหลังที่สองเพราะเรามีพี่น้องมีเพื่อน ๆ อยู่ที่นี่และเราสนุกกับการทำงานมาก พอเรามีลูกปุ๊บแน่นอนว่ามีอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องโฟกัสเพิ่มที่ไม่ใช่งานอย่างเดียวแล้ว ช่วงแรก ๆ สับสนและทำตัวไม่ถูกว่าเราจะทำงานและเลี้ยงลูกยังไงให้ดีที่สุดเพราะก็ไม่มีประสบการณ์มาก่อน
“หลาย ๆ คนให้กำลังใจเราว่ามันเป็นช่วงปรับตัว บทบาทแม่ในงานนักรณรงค์โดยเฉพาะที่กรีนพีซซึ่งท้าทายมาก เพราะด้วยเนื้องานที่รับผิดชอบ คือ ใช้ประสบการณ์การทำงานด้านงานรณรงค์ที่ผ่านมา สร้างแนวทางและกลยุทธ์ในงานรณรงค์น้อง ๆ ในทีม เป็นที่ปรึกษาหรือบางทีเราเองเป็นด่านหน้าที่จะช่วยให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ
“บางครั้งก็ต้องลงพื้นที่ต่างจังหวัดในวันเสาร์-อาทิตย์ ไม่ใช่การทำงานแบบเริ่ม 9 โมงเช้าเลิก 5 โมงเย็นทุกวัน สิ่งเหล่านี้ท้าทายมากในช่วงแรกที่ลูกเล็ก ๆ ”
“ตอนนั้นเครียดมาก แต่สุดท้ายก็พยายามหาบาลานซ์และลดความคาดหวังของตัวเองเพื่อไม่ให้เป็นความกดดัน เราต้องการมีโฟกัสและการวางแผนเวลางานของงานแต่ละชิ้นมีความสำคัญมาก เพื่อทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกันบทบาทหน้าที่แม่ก็คือการเป็นพื้นที่ปลอดภัยและดูแลลูกก็เป็นหน้าที่ที่สำคัญ
“ทั้งสองสิ่งนี่คือสิ่งเป็นที่สุดในชีวิตที่โฟกัส และจากการทำไปเรียนรู้ไป คำตอบที่ได้ก็คือหาบาลานซ์ให้ได้ ตอนนั้นเราใช้วิธีถ้าอยู่ตรงไหนให้โฟกัสตรงนั้น อยู่ที่ทำงานเราโฟกัสการทำงาน อยู่ที่บ้านเรามีเวลาคุณภาพอยู่กับลูก”
สุดท้ายถ้าเราปรับตัวได้และหาบาลานซ์ได้ชัดเจนแล้ว บวกกับเพื่อน ๆ ร่วมงานที่พร้อมสนับสนุนเข้าใจ มันก็จะทำให้เรามีประสิทธิภาพทั้งสองด้าน ทั้งบทบาทแม่และบทบาทคนทำงานของเราดีขึ้นนะ เราจะกลับมาโฟกัสในสิ่งที่ทำอยู่ ณ ตอนนั้นได้เลย

อนาคตการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของกรีนพีซ ประเทศไทย
ที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อต่อสู้ปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม และเราหวังว่าในอนาคตจะมีพื้นที่สำหรับชุมชนได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์ที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีได้เพิ่มขึ้น อีกด้านหนึ่งการมีอยู่ขององค์กรแบบกรีนพีซมีความสำคัญเพราะเราเป็นพื้นที่ที่คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่มาทำงานร่วมกัน เป็นพื้นที่ที่ชุมชนสามารถสร้างงานรณรงค์ด้วยกันได้
“สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นนักรณรงค์ อยากต่อสู้เพื่อสิทธิซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวนะ ให้ค้นหาตัวเองว่ามี passion ในเรื่องอะไร และอัพเดทข้อมูลข่าวสารด้านที่เรามี passion ไปเรื่อย ๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเราเชื่อและอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเด็นนั้น ๆ ไหม เราอยากทำอะไร และทำเลยเราจะเห็นทางของเราเอง”
“การทำงานรณรงค์เราต้องนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องและไม่นำเสนอข้อมูลเอนเอียง ไม่ใช่ว่าเราเป็นนักรณรงค์แล้วเราอยากให้คนเชื่อ เราก็พูดโน้มน้าวชวนเชื่อ แต่เราจะต้องนำข้อมูลมาสื่อสารเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าสิ่งที่เราเห็นว่าดีกว่า มันดีกว่าเพราะอะไร หรือปัญหาที่จะต้องถูกแก้ ต้นตอของมันอยู่ที่ไหนและใครจะต้องเป็นคนแก้ปัญหานั้น”

สำหรับกรีนพีซ ประเทศไทยในอนาคต เราเดินหน้าต่อยอดการทำงานรณรงค์ด้านสิทธิและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมและมีคุณค่ากับคนทุกคน ดังนั้น แรงสนับสนุนจากผู้บริจาค อาสาสมัครและเครือข่ายคือกำลังใจที่จะทำให้กรีนพีซทำงานต่อไปเป็นสิ่งสำคัญมาก
กรีนพีซถูกสร้างขึ้นจากคนธรรมดาทั่วไป เป็นตัวแทนของคนที่คิดว่าพวกเขาสามารถทำอะไรได้เพื่อสนับสนุนกลุ่มคนอีกมากที่ได้รับผลกระทบ เรากล้าพูดความจริงต่ออำนาจและความมุ่งมั่นแบบนี้จะถูกส่งต่อไปเรื่อย ๆ ในอนาคตข้างหน้าเพื่อสิทธิที่จะได้อาศัยอยู่สิ่งแวดล้อมที่ดีคือสิทธิของทุกคน

ร่วมสนับสนุนการทำงานของกรีนพีซ
เราส่งต่อเรื่องราวดี ๆ ที่จะช่วยให้การปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนเป็นเรื่องน่ารู้ เข้าถึงง่ายและสามารถนำไปปรับใช้ต่อไปได้