
ตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิตจนถึงการบริโภคก๊าซฟอสซิลที่ถูกตั้งชื่อให้ดูเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมว่า “ก๊าซธรรมชาติ” กลับส่งผลกระทบที่ไม่เป็นธรรมต่อชุมชนผู้มีรายได้น้อย กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองชาติพันธุ์ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก ซึ่งชัดเจนว่าเป็นการสร้างปัญหาความอยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมให้ยังดำเนินต่อไป
ทั่วโลกได้หันมาใช้ ก๊าซฟอสซิล มากขึ้น เนื่องจากถูกมองว่าเป็นพลังงานที่สะอาดกว่าถ่านหิน และน้ำมัน ในขณะที่หลายประเทศเร่งมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ก๊าซฟอสซิลจึงถูกนำมาเป็นทางเลือกพลังงานเพื่อช่วยลดมลพิษทางอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เมื่อความต้องการใช้ก๊าซฟอสซิลเพิ่มมากขึ้นผลกระทบกับชุมชนก็มากขึ้นเช่นกัน

ด้วยความต้องการที่เพิ่มขึ้นของก๊าซฟอสซิล การขุดเจาะด้วยเทคนิคไฮดรอลิก (Fracking) จึงกลายเป็นอีกวิธีการที่ได้รับความนิยมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ได้มีการปล่อยมลพิษทางอากาศในพื้นที่ใกล้กับแหล่งขุดเจาะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมลพิษเหล่านี้เป็นที่ทราบกันดีว่าสามารถก่อให้เกิดมะเร็งและส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ และระบบภูมิคุ้มกัน นักวิจัยที่ศึกษาระดับมลพิษทางอากาศใกล้กับแหล่งที่มีการทำ Fracking ในรัฐโคโลราโด พบว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของผลกระทบเรื้อรังและผลกระทบที่อาจจะตาม ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากสารมลพิษที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันและก๊าซฟอสซิลที่สามารถทำลายระบบทางเดินหายใจและระบบประสาทและนำไปสู่อาการหายใจลำบาก เลือดออกทางจมูก ปวดศีรษะวิงเวียนศีรษะ และอาการแน่นหน้าอก
แม้ว่าการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศจากพื้นที่ขุดเจาะแหล่งน้ำมันและก๊าซฟอสซิลจะไม่ได้ถูกพูดถึงอย่างเป็นทางการมากนัก แต่หลักฐานที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งคนงานและชุมชนที่อาศัยโดยรอบ ตัวอย่าง ในรัฐโคโลราโด มีการประเมินความผิดปกติที่เกิดในทารกในพื้นที่ที่มีการขุดเจาะก๊าซฟอสซิลที่หนาแน่น พบว่าแม่ที่ตั้งครรภ์ที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งผลิตก๊าซฟอสซิลจำนวนมาก มีความเสี่ยงสูงขึ้นถึงร้อยละ 30 ที่ลูกจะเกิดมาพร้อมกับความผิดปกติของระบบหัวใจ นอกจากนี้ผลจากการศึกษาเบื้องต้นจากรัฐเพนซิลเวเนียแสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อเด็กแรกเกิดที่มาจากมลพิษทางอากาศ เช่น น้ำหนักแรกเกิดที่ต่ำกว่าเกณฑ์ และโรคระบบทางเดินหายใจหรือเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจ
นอกจากนี้การขยายตัวของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซฟอสซิลทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อ แหล่งน้ำ และคุณภาพอากาศเพิ่มขึ้น หนึ่งในงานวิจัยพบว่าการพัฒนาแหล่งน้ำมันและก๊าซอย่างหนาแน่นส่งผลให้ระดับสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น เนื่องจากการปล่อยในระหว่างการขุดเจาะ และแสดงให้เห็นถึงการผลิตโอโซนในช่วงฤดูหนาวที่เกิดจากปฏิกิริยาโฟโตเคมีอย่างรวดเร็ว ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นถึงความหนาแน่นของการปล่อยสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) จากน้ำมันและก๊าซ การสะสมสารพิษทางอากาศ และการผลิตโอโซนในชั้นบรรยากาศที่ผิวดิน
ผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากการขุดเจาะด้วยเทคนิคไฮดรอลิก (Fracking)
งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากได้พิสูจน์ว่า การสัมผัสกับมลพิษและสารเคมีอันตรายที่ปล่อยจากกระบวนการการผลิตก๊าซฟอสซิลและการขุดเจาะก๊าซแบบ fracking สามารถก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ อาการหอบหืด มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก โรคหัวใจ และความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดของเด็กแรกเกิด รายงาน “ฝุ่นควันจากการแตกหักของหิน” ของ Natural Resources Defense Council (NRDC) ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำงานเกี่ยวกับนโยบายและกฎหมายเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพของประชาชน และแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ชี้ให้เห็นถึงมลพิษทางอากาศจากการแตกหักของหินแบบไฮดรอลิกที่ส่งผลคุกคามสุขภาพของประชาชนและชุมชน ในพื้นที่อเมริกาเหนือในสถานที่ผลิตก๊าซฟอสซิล จำนวนมากที่ตั้งอยู่ใกล้กับชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองชาติพันธุ์ ทำให้ชุมชนต้องทนสูดดมมลพิษที่เป็นพิษต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่องและยาวนานมาหลายชั่วอายุคนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวจำนวนมาก
นอกจากนี้ การผลิตน้ำมันและก๊าซฟอสซิลแบบเทคนิคไฮดรอลิก (Fracking) ยังสร้างมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะกับผู้ที่อาศัยอยู่ในระยะ 3-5 ไมล์ จากแหล่งผลิตก๊าซและน้ำมัน ตัวอย่างการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศจาก Fracking เช่น การปล่อยมลพิษจากเครื่องจักรและรถบรรทุกที่เกิดจากการขนส่ง การเตรียมพื้นที่ และกระบวนการขุดเจาะผ่านเครื่องจักรที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลจำนวนมาก จะเพิ่มอัตราการปล่อยสารพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM2.5 และ PM10 โดยฝุ่นละอองเหล่านี้สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ลึกและเพิ่มความเสี่ยงของโรคหอบหืดและโรคหัวใจ-ปอด นอกจากนี้สารพิษที่ปล่อยออกมาระหว่างกระบวนการขุดเจาะแบบ Fracking เช่น ไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H₂S): ก๊าซพิษที่พบในแหล่งน้ำมันและก๊าซฟอสซิล สามารถทำลายระบบประสาทส่วนกลางได้ สารจำพวก BTEX (Benzene, Toluene, Ethylbenzene, Xylene) เบนซีนที่เป็นสารก่อมะเร็งที่เชื่อมโยงกับลูคีเมีย โทลูอีนและไซลีนซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อตับและระบบทางเดินหายใจ และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย หรือ VOCs อื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองตา จมูก ลำคอ ปวดศีรษะ และอ่อนเพลีย
ความเสี่ยงต่อชุมชนจากการขุดเจาะด้วยเทคนิคไฮดรอลิก Fracking
ชาวบ้านในชุมชนรอบข้างไม่ได้รับมาตราการป้องกัน และต้องเผชิญกับอากาศที่เต็มไปด้วยสารพิษโดยตรง ซึ่งการขุดเจาะในรูปแบบ Fracking ไม่เพียงแต่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชนโดยไม่มีการป้องกันที่เพียงพอ ในขณะเดียวกันพนักงานในอุตสาหกรรมขุดเจาะก๊าซฟอสซิลและน้ำมันมีชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หรือ PPE แต่ชุมชนรอบข้างไม่มี และต้องเผชิญกับอากาศที่เต็มไปด้วยสารพิษโดยตรง ในรายงานปี 2020 ที่เผยแพร่โดยอัยการสูงสุดของรัฐเพนซิลเวเนีย รายงานนี้มีการนำเสนอคำให้การจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการขุดเจาะก๊าซฟอสซิลและน้ำมันพร้อมผลการสืบสวนโดยคณะลูกขุนซึ่งรายงานนี้ชี้ให้เห็นถึง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ที่เกิดจากการขุดเจาะในรูปแบบ Fracking รวมถึง การละเมิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่ดำเนินการผลิตก๊าซฟอสซิลผ่านการกระเทาะชั้นหิน (Shale gas)
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่ชุมชนต้องทนสูดดมอากาศที่เป็นพิษ โดยผลการรายงานของผลกระทบด้านคุณภาพอากาศของน้ำมันและก๊าซฟอสซิล Unconventional Oil and Gas Development หรือ UOGD ของการขุดเจาะในรูปแบบ Fracking ได้ชี้ให้เห็นปัญหาโอโซนในชั้นโทรโพสเฟียร์ O₃ การพัฒนาแหล่งน้ำมันและก๊าซที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศระดับภูมิภาค เช่น โอโซนระดับพื้นดิน หรือ หมอกควันโฟโตเคมี (Photochemical Smog)ที่เกิดปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างแสงแดดกับมลพิษ เช่น ไนโตรเจนออกไซด์ (NOₓ) สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) และสารเคมีอื่น ๆ ที่ปล่อยออกมาจากกระบวนการขุดเจาะในรูปแบบ Fracking สามารถทำปฏิกิริยากับแสงแดดและก่อให้เกิดโอโซนระดับพื้นดินที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้คนในชุมชนโดยรอบเช่น หายใจลำบาก ลดประสิทธิภาพการทำงานของปอด กระตุ้นอาการหอบหืด และเพิ่มความเสี่ยงของโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
ความเสี่ยงต่อการเร่งให้เกิดภาวะโลกเดือดที่เป็นผลกระทบระดับโลกของการขุดเจาะก๊าซฟอสซิล ในรูปแบบ Fracking

ก๊าซมีเทนวายร้ายที่มีอนุภาพทำให้โลกร้อนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นอีกตัวการหนึ่งที่ต้องถูกพูดถึงในภาคการผลิตน้ำมันและก๊าซฟอสซิล มีข้อมูลจากวารสารวิชาการเรื่อง Environmental Science & Technology (ES&T) ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติที่เผยแพร่โดย American Chemical Society (ACS) โดยเน้นงานวิจัยที่เกี่ยวกับ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องซึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงความเข้มข้นของมีเทนและโอโซนที่แสดงถึงแนวโน้มการปล่อยมีเทนที่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาของวัน เช่น การสะสมของมลพิษในช่วงเวลากลางคืนและการเพิ่มขึ้นของโอโซนในช่วงเวลากลางวัน ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางเคมีในชั้นบรรยากาศและการปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรมก๊าซฟอสซิลและน้ำมันในช่วงเวลาที่ต่างกัน
การศึกษาในปี 2012 ระบุว่าสัดส่วนปริมาณสสารของทั้ง มีเทน (CH₄) และโอโซน (O₃) มีความแปรปรวนสูง โดยมีเทนแสดงค่าที่สูงที่สุดในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งมักจะสะสมตัวจนถึงระดับประมาณ 10 ppmv ในขณะที่ในช่วงเวลากลางวันลดลงเหลือ 1.9−2.0 ppmv ข้อสังเกตที่สำคัญคือระดับมีเทนในช่วงเวลากลางคืนสูงเป็นพิเศษ ซึ่งสูงกว่าค่ามาตราฐานเดิมของมีเทนที่ ∼1.9 ppmv อย่างมาก รูปแบบการสะสมตัวของมีเทนในลักษณะนี้ เคยถูกบันทึกไว้ในพื้นที่ผลิตน้ำมันและก๊าซฟอสซิลอื่น ๆ มาก่อนหน้านี้ และสาเหตุที่เป็นไปได้อาจเป็นเพราะสภาพอากาศที่นิ่งในช่วงเวลากลางคืนอาจทำให้มลพิษถูกกักเก็บอยู่ใกล้พื้นดินมากขึ้น โดยไม่มีการกระจายตัวเหมือนในช่วงเวลากลางวัน

กราฟด้านบน: แสดงแนวโน้มของความเข้มข้นของมีเทนและโอโซนตลอดช่วงเวลาการศึกษาในปี 2012 ส่วนกราฟด้านล่าง: แสดงถึงวัฏจักรรายวันของค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงของมีเทนและโอโซน โดยมีแถบแสดงข้อผิดพลาด (error bars) ซึ่งระบุช่วงเปอร์เซ็นไทล์ 25−75 ของข้อมูลในแต่ละชั่วโมง
นอกเหนือจากผลกระทบในระดับท้องถิ่นของชุมชนโดยรอบแล้ว การขุดเจาะก๊าซฟอสซิลและน้ำมันในรูปแบบ Fracking ยังคงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นผลกระทบขั้นวิกฤตต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดความสูญเสียและเสียหายในระดับโลกอีกด้วย เพราะในกระบวนการขุดเจาะรวมถึงการขนส่งก๊าซฟอสซิลและน้ำมันทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน (CH₄) ในปริมาณสูง ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีอนุภาพความร้อนร้ายแรง เพราะมีเทนมีศักยภาพในการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) ถึง 86 เท่า จากการรายงานของ FracTracker Alliance ชี้ให้เห็นว่าก๊าซมีเทนอาจรั่วไหลออกจากบ่อน้ำมันและก๊าซฟอสซิลจากการขุดเจาะในรูปแบบ Fracking ได้มากถึงร้อยละ 40 ถึง 60 ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณการปล่อยมีเทนที่สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งการส่งออกน้ำมันและก๊าซฟอสซิลเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้อุตสาหกรรมทำการขุดเจาะในรูปแบบ Fracking อย่างต่อเนื่อง และยังส่งเสริมให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่ปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อก๊าซฟอสซิลและน้ำมันถูกขุดเจาะขึ้นมาเเล้วจะต้องถูกทำให้เย็นจัดจนกลายเป็นของเหลวและถูกเก็บไว้ในถัง ความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างอากาศข้างนอกและถังเก็บทำให้เกิดแรงดันที่ต้องถูกระบายออก หรือที่เราเรียกว่า “ก๊าซเดือด (boil-off gas)” ซึ่งมีอัตราการรั่วไหลที่สังเกตได้จากกระบวนการจัดเก็บและขนส่งของโรงงานก๊าซฟอสซิลที่อาจสูงถึงร้อยละ 10 ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากพอเมื่อเทียบกับการเผาไหม้ของถ่านหิน หากยุติการเพิ่มการขุดเจาะก๊าซฟอสซิลและน้ำมัน การลดการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกจะเทียบได้เท่ากับการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินราว 19-42 แห่ง
หยุดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อวิกฤตโลกเดือด
การพึ่งพาพลังงานฟอสซิลเช่น น้ำมันและก๊าซฟอสซิลที่ได้จากการขุดเจาะแบบ Fracking และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ต่อไปจะเป็นสิ่งที่เร่งให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง จนส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน หากเรามองภาพตามที่วิทยาศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสามารถลดลงได้อย่างมากหากมีการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ที่จะหยุดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรมสำหรับการผลิตพลังงาน โดยให้หันมาส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานที่ช่วยสร้างความ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้กับโลกและมวลมนุษยชาติ
รัฐบาลแต่ละประเทศควรพิจารณาไม่ส่งเสริมการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซฟอสซิลในทันที พร้อมทั้งร่วมกันหยุดแผนการเพิ่มโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากก๊าซฟอสซิล และหยุดการส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สกปรกไปสู่ตลาดต่างประเทศ เราอาจจะช่วยลดวิกฤตสภาพภูมิอากาศด้วยกันได้
อ้างอิง
The Health & Environmental Effects of Fracking
Fracking, Power Plants and Exports: Three Steps for Meaningful Climate Action
Fracking Fumes: Air Pollution from Hydraulic Fracturing Threatens Public Health and Communities

ร่วมสนับสนุนการทำงานของกรีนพีซ
เราส่งต่อเรื่องราวดี ๆ ที่จะช่วยให้การปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนเป็นเรื่องน่ารู้ เข้าถึงง่ายและสามารถนำไปปรับใช้ต่อไปได้