ซิดนีย์, 22 มิถุนายน 2564 – การสนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลของรัฐบาลออสเตรเลีย รวมถึงการขาดนโยบายสภาพภูมิอากาศที่น่าเชื่อถือ ทำให้ล่าสุด องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ออกมาเตือนว่า เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ มรดกทางนิเวศวิทยาที่สำคัญของโลกจะตกอยู่ในอันตราย [1]

องค์การยูเนสโกเปิดเผยรายงานที่เตือนว่า ‘ความคืบหน้ายังไม่เพียงพอที่จะไปถึงเป้าหมายของแผนการ Reef 2050’ และได้ระบุว่า ‘แผนการยังคงต้องการการให้คำมั่นสัญญาที่จะทำอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ’

เดวิด ริทเตอร์ กรรมการผู้จัดการ กรีนพีซ ออสเตรเลีย แปซิฟิค กล่าวว่า “เหล่านักการเมืองออสเตรเลียกำลังพบว่าพวกเขาไม่สามารถหลอกตัวเองได้ตลอดไป”

“นานเกินไปแล้วที่นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียซ่อนประเด็นไว้หลังคำโกหกคำโตที่ว่า เราสามารถปกป้องเกรท แบร์ริเออร์ รีฟ โดยไม่ต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ” เขากล่าว

“เพียงแค่สัปดาห์เดียวหลังจากนายกรัฐมนตรีมอร์ริสันเผชิญกับการที่เหล่าผู้นำโลกประเทศอื่นๆ ในการประชุม G7 ที่ผ่านมา ไม่เห็นด้วยกับนโยบายและแผนปฏิบัติการกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ย่ำแย่ของออสเตรเลีย เรากำลังจะได้เห็นผลอันเลวร้ายจากความล้มเหลวในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของออสเตรเลีย และเกรทแบร์ริเออร์ รีฟนั่นเองที่จะกลายเป็นเหยื่อของผลกระทบในครั้งนี้”

“รัฐบาลออสเตรเลียให้คำมั่นกับโลกภายใต้สนธิสัญญาของยูเนสโกว่าประเทศจะทำอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องแนวปะการัง เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ อันงดงามแห่งนี้ นักการเมืองของเราไม่เพียงแค่ล้มเหลวต่อคำมั่นสัญญานี้ แต่ยังไม่มีการกำหนดแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นรูปธรรมอีก และยิ่งไปกว่านั้นพวกเขาถึงขั้นปฏิเสธและพยายามซ่อนความผิดพลาดของพวกเขา”

“เพื่อให้นายกรัฐมนตรี สก็อตต์ มอร์ริสัน รักษาสัญญาที่ให้กับโลกและให้โอกาสปกป้อง เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ อีกครั้ง เราจำเป็นจะต้องมีแผนการระดับชาติที่น่าเชื่อถือเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 75% ภายในทศวรรษนี้”

รายงานขององค์การยูเนสโก เรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลีย ‘ปฏิบัติตามข้อสรุปจากรายงาน 2019 GBR Outlook อย่างเต็มกำลัง และยังต้องให้คำมั่นที่จะจัดการกับภัยคุกคามจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ตามเป้าหมายของความตกลงปารีส 2015 ’

การตักเตือนออสเตรเลียครั้งนี้เปรียบเหมือนแรงกดดันระดับโลกต่อออสเตรเลียในการยกระดับให้ตัวเองมีความพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการประชุม G7  กลุ่มผู้นำจากประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจระดับใหญ่ได้ตกลงที่จะเลิกพึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมทั้งยุติการให้เงินทุนแก่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ที่จะสร้างขึ้นในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา

คำมั่นสัญญาของกลุ่มประเทศนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานคำแนะนำจากทบวงพลังงานระหว่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เสนอให้ทั่วโลกมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เป้าหมายนี้เรียกร้องไปยังกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเช่น ออสเตรเลีย ในการยุติโครงการเกิดใหม่ที่จะใช้ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซในปีนี้

ออสเตรเลียคือหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ล้มเหลวในการให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และแผนการปัจจุบันคือจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 26-28% ภายในปี 2573 ทั้งนี้ กลุ่มประเทศ G7 เสนอที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 ในขณะที่สหราชอาณาจักรไปไกลกว่านั้นมาก


Notes

[1] https://whc.unesco.org/archive/2021/whc21-44com-7B.Add-en.pdf 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ แผนการ Reef 2050

ติดต่อ

มาติน ซาแวน ผู้ประสานงานด้านการสื่อสาร กรีนพีซ ออสเตรเลีย แปซิฟิค

+61 424 295 422

[email protected]