9 สิงหาคม 2564, เจนีวา – รายงานคณะทำงานที่ 1 เรื่อง “พื้นฐานวิทยาศาสตร์กายภาพ(the Physical Science Basis)” อันเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการประเมินครั้งที่ 6 (the Sixth Assessment Report) ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) จัดทำโดย นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศชั้นนำของโลก สรุปถึงความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดว่า เกิดอะไรขึ้นกับระบบสภาพภูมิอากาศของโลก และเป็นคำเตือนที่ชัดเจนว่าเรากำลังจะมุ่งหน้าไป ณ ที่ใด หากไม่ลงมือทำอย่างเร่งด่วน
ไกซ่า โคโซเนน ที่ปรึกษาทางการเมืองอาวุโสของกรีนพีซ กล่าวว่า :
“ในขณะที่รัฐบาลค่อย ๆ ดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทีละเล็กทีละน้อย วิกฤตสภาพภูมิอากาศอยู่กับเราแล้ว ทั้งหายนะจากไฟป่า อุทกภัยร้ายแรง และภัยแล้งยาวนาน รายงานของ IPCC ได้ขยายความเชื่อมโยงระหว่างการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และสภาพอากาศสุดขั้วที่ทวีคูณมากขึ้น นั่นหมายถึงว่า หากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ไม่ทำอะไรมากไปกว่าเป้าหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2573 โอกาสที่จะกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศจะยิ่งน้อยลง”
“เราจะไม่ปล่อยให้รายงาน IPCC นี้เก็บไว้บนหิ้งแล้วไม่ทำอะไรเลย เราจะใช้เพื่อเรียกร้องการที่รายงาน IPCC ยืนยันอย่างหนักแน่นถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากกิจกรรมของมนุษย์และสภาพอากาศที่รุนแรงสุดขั้วนั้นทำให้เราทุกคนไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด สามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำให้อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลและรัฐบาลต่าง ๆ รับผิดชอบโดยตรงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ตัวอย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้คือคำสั่งศาลที่ให้บริษัทเชลล์ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทำให้เราตระหนักว่าวิทยาศาสตร์ในรายงานของ IPCC นั้นทรงพลังเพียงใด”
“นี่เป็นช่วงเวลาชี้ขาดสำหรับมนุษยชาติ เราต้องลุกขึ้นมายืนหยัด เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วจากผลของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นรุนแรงกว่าที่เคยเป็นมา ในขณะเดียวกัน เรามีความก้าวหน้าของแนวทางแก้ปัญหา การที่พลังงานแสงอาทิตย์และลมในวิธีการที่ถูกที่สุดในการผลิตพลังงาน การเดินทางเคลื่อนย้ายที่ไม่พึ่งพาเครื่องยนต์สันดาปภายใน และการอุดหนุนทางการเงินที่ลดน้อยลงต่อถ่านหิน โลกที่ไม่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลจึงเป็นไปได้ นี่คือช่วงเวลาของความกล้าหาญและคิดการใหญ่ เราทุกคนต้องเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน ต้องมุ่งมั่นสร้างความเป็นธรรมและปกป้องชุมชนท้องถิ่น และผู้คนที่ต้องแบกรับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ”
ดร. โดห์ พารร์ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของกรีนพีซ สหราชอาณาจักร กล่าวว่า :
“นี่ไม่ใช่กลุ่มผู้นำโลกรุ่นแรกที่ได้รับคำเตือนจากนักวิทยาศาสตร์ถึงความเร่งเร้าของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่เป็นผู้นำโลกกลุ่มสุดท้ายที่ไม่อาจเพิกเฉยต่อวิกฤตดังกล่าว หายนะภัยจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในหลายส่วนของโลกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเป็นผลจากการเพิกเฉยในอดีต หากผู้นำโลกไม่เริ่มลงมือในตอนนี้ วิกฤตสภาพภูมิอากาศจะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ต้องทำงานอย่างเต็มที่เพื่อรับรองว่า การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ที่กลาสโกลว์ จะเป็นจุดเปลี่ยนในความพยายามของมนุษยชาติเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เป็นหายนะ เราต้องการนโยบายที่เป็นรูปธรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยเร็วที่สุด เลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ปฏิวัติระบบอาหารของเรา และกระจายทรัพยากรทางการเงินต่อกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด การประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศนี้เป็นห้วงเวลาที่สำคัญสำหรับเราเพื่อหยุดเดินหน้าไปสู่หุบเหวแห่งหายนะ นายกรัฐมนตรีจอห์นสันต้องรับรองว่าโลกของเราจะมีโอกาสรอด”
เย็บ ซาโน ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า :
“ข้อมูลในรายงานการประเมินครั้งที่ 6 เป็นเรื่องที่เราทราบดีอยู่แล้วจากประสบการณ์การเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปและหายนะที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นกับชุมชนท้องถิ่นที่เป็นกลุ่มเปราะบางที่สุด พวกเขามักเป็นคนกลุ่มแรกที่ต้องเผชิญกับหายนะที่เกิดขึ้น
รายงานฉบับนี้ยังแสดงให้เราเห็นว่าไม่มีผู้นำระดับโลกคนใดที่ให้คำมั่นสัญญาที่เป็นไปได้มากพอในทางวิทยาศาสตร์ เราจะต้องเจอกับปรากฎการณ์สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วเพิ่มขึ้นและบ่อยครั้งแบบทุบสถิติทุกๆปีหลังจากนี้ ทั้งพายุ ฝนตกหนัก คลื่นความร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วมรุนแรงและภัยธรรมชาติอีกมากมายเหมือนที่เรากำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าตอนนี้เราทุกคนได้รับผลกระทบ แต่ภูมิภาคที่เป็นด่านหน้า เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องเจอกับความไม่เป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศมากยิ่งขึ้นไปอีก หากเราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตกลงกันไว้เพื่อควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เหมือนกับเยาวชนทั่วโลกที่ออกมาเคลื่อนไหวและบอกให้พวกเรารับฟังข้อมูลทางวิทยาศาสตร์”
หลี่ ฉาว ผู้ประสานงานรณรงค์อาวุโสด้านสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออก กล่าวว่า:
“หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบนั้นชัดเจน อุทกภัยในฤดูร้อนนี้ทำให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นจริงสำหรับจีน ไม่มีเหตุผลอะไรอีกแล้วที่จะต้องหลีกเลี่ยงไม่ทำอะไรเลย การยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของจีนจะส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อการสร้างสมดุลสภาพภูมิอากาศโลก การปลดแอกถ่านหินมีเหตุผลทั้งในทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์ของจีนเองในท้ายที่สุด”
ฉันทามติทางวิทยาศาสตร์ที่นำเสนอในรายงาน IPCC นี้จะสร้างผลสะเทือนต่อการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายนที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ คาดว่าคณะเจรจาจากประเทศต่างๆ จะปรากฎตัวพร้อมกับแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศจนถึงปี 2573 ที่ปรับแก้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสของความตกลงปารีส
สิ่งที่ไม่มีในรายงานนี้คือการอธิบายอย่างละเอียดถึงสิ่งที่เราเผชิญในแง่ของผลกระทบและความเสี่ยงของวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่มีต่อมนุษย์ และเราจะหลีกเลี่ยงได้อย่างไร และจะไม่อภิปรายถึงแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีสเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่ 1.5 องศาเซลเซียส ประเด็นเหล่านี้จะมีอย่างละเอียดรายงานการประเมินครั้งที่ 6 ส่วนที่จะเผยแพร่ในปี 2565
กรีนพีซเป็นผู้สังเกตการณ์อย่างเป็นทางการของ IPCC และเข้าร่วมประชุมการอนุมัติรายงาน คณะทำงานที่ 1 ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเปิดให้ผู้เชี่ยวชาญแสดงความคิดเห็นได้
ข้อมูลเพิ่มเติม :
- รายงานสรุปของกรีนพีซ : Key takeaways from the IPCC AR6 WG1 report on Physical Science Basis
- Independent Webinar ที่จัดขึ้นในวันที่ 10 สิงหาคม โดยองค์กร CONSTRAIN และมีผู้เชี่ยวชาญจากกรีนพีซ มหาวิทยาลัย Leeds ผู้แทนจาก Climate Analytics และหมู่เกาะ Marshall
- เอกสารข้อเท็จจริงว่าด้วยรายงานการประเมินครั้งที่ 6 ของ IPCC Official IPCC fact sheet of the 6th Assessment Report
ภาพถ่ายและวิดีโอ :
สามารถติดต่อได้จาก Greenpeace Media Library.
ติดต่อ :
Marie Bout ที่ปรึกษาสื่อ(Media Advisor) กรีนพีซ สากล [email protected] +33 6 05 98 70 42
โต๊ะข่าว กรีนพีซ สากล [email protected], +31 20 718 2470 (24 ชั่วโมง)