เคียฟ ยูเครน – กรีนพีซ ยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก (Eastern Europe : CCE) ร่วมกับองค์กรไม่แสวงหากำไรในยูเครน อีโคแอคชั่น เปิดตัว ‘แผนที่หายนะสิ่งแวดล้อม’ ซึ่งเป็นแผนที่แสดงการทำลายสิงแวดล้อมในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาของสงคราม ทั้งนี้ เป็นข้อมูลให้รัฐบาลยูเครนและคณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งประสานงานในการวางแผนและการลงทุน เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติของยูเครนในอนาคต

ข้อมูลเกี่ยวกับความเสียหายถูกรวบรวมโดยองค์กรอีโคแอคชั่น และยืนยันด้วยภาพถ่ายดาวเทียมโดยกรีนพีซ ซึ่งรวบรวมหายนะสิ่งแวดล้อมเกือบ 900 กรณี โดย 30 กรณี เป็นเหตุการณ์ที่ก่อเกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ทุกกรณีในแผนที่จะถูกจัดประเภทของความเสียหายพร้อมคำอธิบายสั้น ๆ อย่างไรก็ตาม สงครามยังคงดำเนินต่อไปและผู้เชี่ยวชาญในยูเครนก็ยังคงจับตาและทำงานรวมรวมข้อมูลต่อไป

เดนีส์ ซุตเชียฟ (Denys Tsutsaiev) นักรณรงค์จากกรีนพีซยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก (CCE) ในเคียฟ กล่าวว่า “มีความซับซ้อนในการทำแผนที่หายนะสิ่งแวดล้อมจากสงครามของรัสเซียในยูเครน หลายพื้นที่ที่กลับคืนมายังเต็มไปด้วยทุ่นระเบิดและระเบิดชนิดอื่น ๆ ในขณะที่กองกำลังรัสเซียยังคงยึดครองอีกหลายพื้นที่ จึงมีความท้าทายมากในการเก็บข้อมูล อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องสื่อสารให้คนได้รับรู้ถึงหายนะสิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูระบบนิเวศที่ถูกทำลายว่าเป็นส่วนที่สำคัญของการวางแผนอนาคตของยูเครน เพราะการฟื้นฟูระบบนิเวศจำเป็นต้องใช้เครื่องมือ ความเชี่ยวชาญ และคำมั่นสัญญา รวมถึงเงินทุน และเงินทุนเพื่อการฟื้นฟูควรเกิดขึ้นแล้วโดยไม่ต้องรอหลังจากสงครามสงบลง”

จากข้อมูลอย่างเป็นทางการที่เก็บรวบรวมตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ระบุว่า พื้นที่สงวนทางธรรมชาติราว1.24 ล้านเฮกตาร์(7.75 ล้านไร่) ได้รับผลกระทบจากสงคราม นอกจากนี้ สงครามยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้ในยูเครนถึง 3 ล้านเฮกตาร์(18.75 ล้านไร่) และยังมีพื้นที่ป่าไม้อีก 450,000 เฮกตาร์(2,812,500 ไร่) ยังเป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบกัน

เยฟเฮเนีย ซาเซียดโก (Yevheniia Zasiadko) จากองค์กรไม่แสวงหากำไร อีโคแอคชั่น (NGO Ecoaction) กล่าวว่า “สงครามกระทบกับระบบนิเวศในประเทศเราอย่างร้ายแรง เช่นเดียวกับชีวิตคนและโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตามความเสียหายเหล่านี้กลับไม่ได้รับการมองเห็นและส่วนใหญ่ถูกละเลย ทำให้ระบบนิเวศตกเป็นเหยื่อสงคราม สิ่งที่เราทำอยู่คือการเป็นปากเสียงให้กับระบบนิเวศเพื่อให้ทุกคนเห็นว่าสงครามรัสเซียก่อผลอย่างไรต่อระบบนิเวศ รวมทั้งตระหนักถึงแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในยูเครนเมื่อสงครามจบลง เราจะยังคงรู้สึกถึงผลกระทบทางลบที่สงครามก่อขึ้นต่อระบบนิเวศไปอีกเป็นระยะเวลานาน รัฐบาลยูเครนสัญญาไว้ว่าจะฟื้นฟูบ้านเกิดของเรา รวมทั้งระบบนิเวศก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องฟื้นฟูด้วย”

แผนที่ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการทำลายล้างของสงครามรัสเซียได้ทำลายระบบนิเวศในยูเครน ทั้งผืนดิน แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติถูกทำลาย จรวดมิสไซล์ทำให้เกิดไฟป่า ดินและน้ำปนเปื้อนสารพิษจากการทำสงคราม เกิดเหตุไฟไหม้โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งเนื่องจากการสู้รบ ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ มลพิษในดินและในน้ำ

ยิ่งไปกว่านั้น การยิงจรวดและปืนใหญ่เพื่อโจมตียังทำให้เกิดการผสมกันของสารเคมี คือ คาร์บอนมอนอกไซด์และไดออกไซด์ ไอน้ำ ไนตริกออกไซด์(NO) ไนโตรเจนออกไซด์(NO2) ฟอร์มาลดีไฮน์ ไอไฮโดรเจนไซยาไนด์(HCN) ไนโตรเจน(N2) ซึ่งหลังจากอาวุธเหล่านี้ระเบิด ส่วนผสมทางเคมีเหล่านี้จะเกิดการออกซิไดซ์และทำปฏิกิริยาขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์กับไอน้ำที่แม้ว่าจะไม่ใช่สารพิษแต่ก็เป็นตัวการก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ส่วนซัลเฟอร์และไนโตรเจนไดออกไซด์อาจก่อให้เกิดฝนกรด เปลี่ยนค่า pH ในดินและกลายเป็นพิษต่อพืชผักและป่าสน ฝนกรดยังเป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนก ซึ่งกระทบต่อเยื่อบุทางเดินหายใจและอวัยวะ

นอกจากสารเคมี เศษจรวดจากการระเบิดก็ยังไม่ปลอดภัยกับระบบนิเวศ เศษเหล็กผสมเป็นวัสดุที่พบบ่อยที่สุดซึ่งมักมาจากกล่องใส่กระสุน นอกจากเหล็กและคาร์บอนแล้ว ยังมีกำมะถันและทองแดงอีกด้วย ซึ่งสารเหล่านี้อาจซึมลงสู่ดินและซึมลงไปสู่น้ำใต้ดินได้ และสุดท้ายก็จะเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร กระทบต่อสัตว์และมนุษย์

สิ่งนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2557 ครั้งที่รัสเซียเริ่มเข้ามาในยูเครนเป็นครั้งแรก จนตั้งแต่นั้นมา พื้นที่หลายแห่งก็ถูกยึดครองโดยกองกำลังรัสเซีย จากการจับตาจากสากลยังพบว่า ตั้งแต่ปีนั้นเกิดน้ำท่วมในเหมืองถ่านหินมากกว่า 30 แห่ง และหลังจากเกิดการบุกรุกเต็มรูปแบบก็พบว่ามีเหมืองอีก 10 แห่งถูกน้ำท่วมในช่วงปี 2565 ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมนี้สามารถทำให้เกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำใต้ดิน ภูมิภาคดอนบาสจึงเสี่ยงต่อภัยพิบัติและเสี่ยงต่อสุขภาพของประชากรโดยรอบ

กรีนพีซ ยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก (CCE) และองค์กรอีโคแอคชั่น เชื่อว่าการฟื้นฟูเมืองในยูเครนควรเกิดขึ้นคู่ขนานไปกับการฟื้นฟูระบบนิเวศ ความทุกข์ทรมานและการทำลายระบบนิเวศในช่วงสงครามเป็นเรื่องใหญ่และจะส่งผลระยะยาวต่อชีวิตมนุษย์และระบบนิเวศทั้งหมด ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้เราในฐานะองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม เรียกร้องให้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและจัดสรรเงินทุนและทรัพยากรเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในยูเครน

กรีนพีซ ยังต้องการแรงสนับสนุนจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในยูเครนอีกหลายแห่งที่ทำงานด้านการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและติดตามผลกระทบในพื้นที่


ติดต่อข้อมูลสำหรับสื่อมวลชน

Kateryna Bystrytska, 

Communication Manager for Greening Ukraine’s Reconstruction project by Greenpeace CEE, based in Kyiv, Ukraine

[email protected]

+380673057986 (Telegram, Signal, WhatsApp).