จากสื่อเผยแพร่หัวข้อ “ซีพี-ซีพีเอฟ จัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับจากแหล่งปลูกที่ไม่รุกป่าและไม่เผา 100%” เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 [1] และบทความเรื่อง “ยุตินำเข้าข้าวโพดไม่ตอบโจทย์แก้ฝุ่นพิษ” เขียนโดยคุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ที่ปรึกษาอาวุโสกลุ่มธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ตีพิมพ์ลงในสื่อสิ่งพิมพ์ในวันที่ 6 เมษายน 2566 [2] ซึ่งชี้แจงถึงการนำเทคโนโลยีระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์(corn traceability) ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลมาใช้สร้างหลักประกันการจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปราศจากการบุกรุกป่าและไม่เผาทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา สปป.ลาว และเวียดนาม และกรณีล่าสุดในวันที่ 30 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา เครือเจริญโภคภัณฑ์ออกแถลงการณ์ข้อเท็จจริง กรณีนักการเมืองพาดพิงดีเบตหาเสียง พร้อมย้ำนโยบายดูแลสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่และระบบตรวจสอบย้อนกลับ “ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ” ทั้งในประเทศและต่างประเทศ [3] ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ระบุว่า “…พร้อมที่จะให้นักวิชาการ ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนขยายผลระบบตรวจสอบย้อนกลับให้เป็นระบบพื้นฐานของอุตสาหกรรม โดยมี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด และ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน…”

มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI) กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch) และกรีนพีซ ประเทศไทย ในฐานะเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานติดตามตรวจสอบความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของบรรษัท (Corporate Accountability) รวมถึงอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ร่วมกันร่างจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ขึ้น เพื่อสอบถามกลับไปยังเครือเจริญโภคภัณฑ์ และขอให้เครือเจริญโภคภัณฑ์เปิดเผยข้อมูลระบบตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่อุปทานซึ่งรวมถึงแหล่งเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Corn Traceability) และการรับซื้อ ที่มีรายละเอียดชัดเจนอย่างโปร่งใสต่อสาธารณะ ดังต่อไปนี้

  1. เพื่อยืนยันอย่างหนักแน่นว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ ใช้ตลอดห่วงโซ่อุปทานนั้นไม่มีส่วนใดเกี่ยวกับการเผาทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากการเผยแพร่และชี้แจงผ่านสื่อซึ่งไม่มีรายละเอียดที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่หนักแน่น เครือเจริญโภคภัณฑ์จะต้องเปิดเผยข้อมูลในรายละเอียดและรอบด้านทั้งห่วงโซ่อุปทานของระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Corn Traceability) ที่ใช้ในการจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในกิจการประเทศไทยตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา และที่ใช้ในการจัดซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรในประเทศเมียนมาร์ สปป.ลาว และเวียดนามตั้งแต่ปี 2563 ที่สาธารณะชนสามารถเข้าถึงได้ 
  2. ข้อมูลในรายละเอียดและรอบด้านทั้งห่วงโซ่อุปทานของระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Corn Traceability) ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ต้องเปิดเผยนั้นรวมถึง ภาพถ่ายดาวเทียมในการติดตามแปลงเพาะปลูก และวิเคราะห์จุดที่ยังพบการเผาหลังเก็บเกี่ยวที่รับรองว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาจากแหล่งปลูกที่ปราศจากการเผา และข้อมูลจากเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Traceability) ที่เชื่อมโยงข้อมูลผลผลิตข้าวโพดตั้งแต่แปลงเพาะปลูกถึงโรงงานอาหารสัตว์ และข้อมูลจากแอปพลิเคชั่น ฟ.ฟาร์ม (For Farm) ที่ให้เกษตรกรไทยลงทะเบียนยืนยันตัวตนและพื้นที่ปลูก โดยที่ข้อมูลดังกล่าวนี้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้
  3. เพื่อให้ระบบตรวจสอบย้อนกลับทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง คำถามคือ มีกลไกในการแจ้งเบาะแสอย่างไรหากมีการเผาข้าวโพดในแปลงเกษตรที่ขายให้กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ หากมีการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เชื่อมโยงกับการเผาในห่วงโซ่อุปทาน เครือเจริญโภคภัณฑ์มีการดำเนินการอย่างไร เครือเจริญโภคภัณฑ์มีการว่าจ้างผู้ตรวจสอบภายนอก(external audit) มาตรวจสอบ ระบบการตรวจสอบย้อนกลับของบริษัทหรือไม่ อย่างไร และจะมีการเปิดเผยสรุปผลการตรวจสอบและแนวทางยกระดับต่อสาธารณะหรือไม่ อย่างไร
  4. เครือซีพีมีมาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรยกระดับการปลูกให้ได้มาตรฐาน GAP อย่างไร

นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะบรรษัทระดับโลกรับเอาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) และเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์มาใช้เป็นยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ แต่หลักฐานเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกยังชี้ให้เห็นว่า ผลประโยชน์และกำไรของบรรษัท ยังคงถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความมั่งคั่งทางธุรกิจโดยละเลยภาระรับผิดทางสังคม สิ่งแวดล้อมและการปกป้องสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน 

มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI) กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch) และกรีนพีซ ประเทศไทย เชื่อว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ในฐานะเป็นองค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลกที่ประกาศตนว่าได้รับรางวัลด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง จะตอบคำถามดังกล่าวข้างต้น และมีความรับผิดชอบในการ เปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียดรอบด้านที่มากไปกว่าการชี้แจงข้อมูลพื้นฐานที่ไม่ได้ก่อประโยชน์ในทางสาธารณะอย่างที่เคยเป็นมา

หมายเหตุ :

[1] https://www.cpfworldwide.com/th/media-center/2287

[2] https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/561280

[3] https://www.facebook.com/wearecp/photos/a.144390665591068/6795052133858188

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธาน FTA Watch โทร 089 500 3217
สมฤดี ปานะศุทธะ กรีนพีซ ประเทศไทย โทร. 081 929 5747 อีเมล [email protected]