26 มีนาคม 2567 — การกำหนดบังคับใช้นโยบายเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษข้ามแดนจากต้นเหตุได้อย่างแท้จริงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากยังขาดการบังคับใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่การผลิตทุกขั้นตอน และการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์
รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2566 ของ IQAir เผยว่า เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน เป็นช่วงที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุด โดยที่พื้นที่ในจังหวัดของภาคเหนือ คือ เชียงราย และอำเภอปายในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถูกจัดอยู่ใน 5 อันดับแรกของพื้นที่ที่มีวิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 หนักสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าเชียงรายในแต่ละปีรวมถึงปีนี้จะพบจุดความร้อนน้อยที่สุด แต่กลับเป็นจังหวัดที่ตกอยู่ในสถานการณ์ฝุ่นพิษที่เลวร้าย สะท้อนให้เห็นว่าฝุ่นพิษ PM2.5 นั้นไม่สนใจพรมแดน แม้มาตรการการสั่งลดหรือห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านที่พิสูจน์ได้ว่ามีกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการเผานั้นเป็นการริเริ่มที่ดี แต่หากกระบวนการพิสูจน์ของภาครัฐและกระทรวงที่เกี่ยวข้องไม่ครบวงจรและขาดการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดจะไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้และแก้ปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นจากการลงทุนข้ามแดนได้จริง โดยที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับฝุ่นพิษข้ามพรมแดนและการทำลายป่าจะยังคงหลุดพ้นจากภาระรับผิดใดๆ ต่อผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
การวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดของกรีนพีซพบว่าระหว่างเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนพฤษภาคม 2566 พบจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีสัดส่วน 41% ซึ่งมากกว่าสัดส่วนจุดความร้อนในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรอื่นทั้งหมด ดังนั้นการขาดการบังคับใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่การผลิตทุกขั้นตอนและเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ คือปัญหาหลักของฝุ่นพิษข้ามแดน และทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ข้ามพรมแดนที่เชื่อมโยงกับการก่อฝุ่นพิษข้ามแดนได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ กรีนพีซ ประเทศไทย ซึ่งทำงานรณรงค์ด้านฝุ่นพิษข้ามแดนและการสูญเสียพื้นที่ป่าอันเป็นผลกระทบจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีดังต่อไปนี้
- กำกับดูแลระบบตรวจสอบย้อนกลับในทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เกษตร และอาหาร เพื่อระบุถึงต้นทางวัตถุดิบทางเกษตรว่าเกี่ยวข้องกับการทำลายป่า การเผาเศษวัสดุการเกษตร และการก่อมลพิษข้ามพรมแดนหรือไม่ เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงการก่อฝุ่นพิษตั้งแต่ต้นทาง โดยสามารถกำหนดกรอบกฎหมายในพรบ.อากาศสะอาดและกำหนดเป็นมาตรการเอาผิดอุตสาหกรรมต่อการทำธุรกิจข้ามแดนที่เชื่อมโยงกับฝุ่นพิษข้ามแดน
- บังคับให้บริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เกษตรและอาหารทั้งหมด ทั้งในไทย และบริษัทไทยที่ลงทุนข้ามแดนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จุดความร้อนทับซ้อนกับแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เปิดเผยและตีพิมพ์แผนที่ที่ระบุพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการรับซื้อของบริษัทตน เพื่อยกระดับความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทาน
- กำหนดให้ข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่อุปทานและแผนที่การลงทุนและสัมปทานของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เกษตร และอาหาร เป็นข้อมูลที่เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและสามารถร่วมตรวจสอบได้อย่างโปร่งใสตลอดทุกขั้นตอน
ฝุ่นพิษข้ามพรมแดนอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกำลังทำลายชีวิตของประชาชนไทย และเป็นปัญหาที่เรื้อรังมาแล้วร่วม 20 ปี การแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสของรัฐบาลนั้นจึงเป็นสิ่งที่ประชาชนตั้งตารอมากที่สุด เพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยเร่งด่วน ต้องเริ่มการแก้ปัญหาตั้งแต่วันนี้ และกำหนดเป็นยุทธศาสตร์แก้ฝุ่นพิษข้ามแดนอย่างถาวรจากต้นตอ