โตเกียว, 11 มีนาคม 2568 – ครบรอบ 14 ปี หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางตะวันออกของญี่ปุ่นซึ่งทำให้เกิดเหตุการณ์อุบัติภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ตามมา กรีนพีซ ญี่ปุ่น ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อผู้ประสบภัยและครอบครัวที่ยังคงต้องทนทุกข์หลังเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่นี้
แซม แอนเนสเล่ย์ ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ ญี่ปุ่น กล่าวว่า
“วันนี้เป็นวันครบรอบ 14 ปี ของเหตุการณ์แผ่นดินไหวและเหตุการณ์อุบัติภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ของบริษัท TEPCO ผมอยากแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งอีกครั้งต่อผู้เสียชีวิต และส่งความห่วงใยจากใจไปถึงหลายครอบครัวที่ต้องสูญเสียคนรักรวมทั้งผู้ที่เป็นผู้ประสบภัยในเหตุการณ์ครั้งนี้
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งแผนปฎิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ 2578 (2035 National Determined Contributions : NDC) ให้กับองค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนพลังงานฉบับที่ 7 (the Seventh Strategic Energy Plan) และแผนดำเนินมาตรการยับยั้งภาวะโลกร้อน (the Plan for Global Warming Countermeasures) ซึ่งโดยพื้นฐานจะต้องเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในแผน NDC ของญี่ปุ่นนั้นมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 60 ภายในปีงบประมาณ 2578 เปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2556 อย่างไรก็ตาม เป้าหมายดังกล่าวยังต่ำเกินไปหากพิจารณาจากฉากทัศน์ที่จะชะลอไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส และจากความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม โดยเป้าหมายที่ควรจะเป็นควรอยู่ที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 78 จึงจะสอดคล้องกับเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส
นอกจากนี้ ส่วนที่กล่าวถึงพลังงานนิวเคลียร์ว่า ‘ลดการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ให้มากที่สุด’ ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในแผนพลังงานฉบับที่ 4 ปี 2557 (the Fourth Strategic Energy Plan 2014) หลังจากเหตุอุบัติภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ได้ถูกลบออกไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การที่จะเพิ่มการผลิตพลังงานนิวเคลียร์อาจไม่ทันต่อการปกป้องสภาพภูมิอากาศ ด้วยพลังงานนิวเคลียร์ยังมีความท้าทายหลายอย่างและต้องใช้เวลานานสำหรับการวางแผนเพื่อเริ่มโครงการ
ความเสี่ยงของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะการเดินเครื่อง รวมทั้งยังเปราะบางต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเช่นแผ่นดินไหว อุบัติภัยที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิเกิดขึ้นหลังจากโรงไฟฟ้าเดินเครื่องมาแล้วกว่า 30 ปี และปริมาณกัมมันตภาพรังสีที่หลงเหลือยังคงสูงแม้ว่าเหตุการณ์จะล่วงเลยมาแล้ว 14 ปีก็ตาม หลังจากอุบัติภัย ก็ยังเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะเข้าไปสำรวจความเสียหายที่โรงไฟฟ้าได้โดยตรง
ด้วยเหตุนี้ การเปลี่ยนนโยบายมาสนับสนุนการใช้พลังงานนิวเคลียร์จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้[1] ด้วยหลายปัจจัย ได้แก่ ไม่มีแนวโน้มที่จะกำจัดเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว รวมทั้งสถานที่กักเก็บเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วเหล่านี้ก็ใกล้เต็มขีดจำกัด และหน่วยงานท้องถิ่นอีกหลายแห่งยังไม่มีแนวทางที่มีประสิทธิภาพพอสำหรับการอพยพที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนในพื้นที่ใกล้โรงไฟฟ้าในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดคิด นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัทพลังงานอย่าง Tokyo Electric Power Company (TEPCO) ยังเพิกเฉยต่อความกังวลของกลุ่มชาวประมง ชุมชนที่อยู่อาศัยและผู้คนอีกมากมายที่แสดงความกังวล โดยตัดสินใจปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจากอุบัติภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ออกสู่สิ่งแวดล้อม กระบวนการนี้คาดว่าจะดำเนินการไปจนถึงปี 2594 หรือประมาณ 30 ปีจากนี้
เมื่อ 14 ปีก่อน รัฐบาลในขณะนั้นพิจารณาความเป็นไปได้ของการอพยพประชาชนกว่า 50 ล้านคนในมหานครโตเกียว ที่จริงแล้ว โรงบำบัดน้ำในโตเกียวยังออกข้อแนะนำชั่วคราวเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่เด็กทารกควรดื่มอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเกี่ยวกับทิศทางลม ที่โดยส่วนใหญ่จะพัดกัมมันตภาพรังสีออกสู่ทะเล แต่ทิศทางลมที่ต่างจากเดิมจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว นายกรัฐมนตรียังร่างแถลงการณ์ลับซึ่งระบุว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดได้เกิดขึ้นแล้ว แล้วเราผู้ที่เคยผ่านเหตุการณ์นั้นมา ยังจำความรู้สึกที่เราเคยมีในตอนนั้นได้อยู่หรือไม่?
ตั้งแต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ฮันชิน – ฮาวาจิ เมื่อ 30 ปีก่อน มาจนถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางตะวันออกของญี่ปุ่นเมื่อ 14 ปีที่ผ่านมา รวมถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวคาบสมุทรโนโตเมื่อปีก่อนและแผ่นดินไหวอื่น ๆ รวมทั้งเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นทั่วประเทศแสดงให้เห็นว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นรวดเร็วและบ่อยครั้งขึ้น และเราทำได้แค่รับมือให้ดีที่สุดเท่านั้น แต่อุบัติภัยทางนิวเคลียร์นั้นแตกต่างออกไป เพราะอุบัติภัยทางนิวเคลียร์เป็นหายนะจากการกระทำของเราที่เลือกจะใช้พลังงานดังกล่าวเพื่อเป็นพลังงานไฟฟ้าในญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นมีศักยภาพมากมายในการผลิตพลังงานที่ปลอดภัย เช่น การผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยแหล่งพลังงานหมุนเวียนแทนที่พลังงานนิวเคลียร์และพลังงานฟอสซิล
ดังนั้น กรีนพีซ ญี่ปุ่น ซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่จะปกป้องความอุดมสมบูรณ์ของโลกไว้เพื่อลูกหลานของเราในอีก 100 ปีจากนี้ ยังเชื่อว่าแนวทางเดียวที่เป็นไปได้คือยุติยุคนิวเคลียร์ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติภัยทางนิวเคลียร์อีก รัฐบาลควรมีแนวนโยบายที่ชัดเจนที่จะปลดระวางการใช้พลังงานนิวเคลียร์และเชื้อเพลิงฟอสซิล และในอีกด้านหนึ่งก็ต้องทำให้การผลิตพลังงานในประเทศมีเสถียรภาพและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน รัฐบาลควรลงทุนกับนโยบายอนุรักษ์พลังงานที่คำนึงถึงสุขภาพ ความสะดวกสบายและมีประสิทธิภาพ และการใช้พลังงานหมุนเวียนร่วมกับชุมชนท้องถิ่นและธรรมชาติ รวมทั้งยังต้องพัฒนาให้ญี่ปุ่นเป็นเมืองศูนย์กลางการประหยัดพลังงานและพลังงานหมุนเวียน ในปีนี้เราจะพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว”
ติดต่อ
Natalia Emi Hirai, Communications Officer, Greenpeace Japan
[email protected] – +81 (0)80-6558-4446