เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิในการชุมนุมประท้วงกำลังถูกคุกคามในสหรัฐฯ
แมนดาน, นอร์ทดาโคตา, สหรัฐอเมริกา — คณะลูกขุนจากมณฑลมอร์ตัน จำนวนเก้าคน มีคำตัดสินในคดีที่บริษัทเอนเนอร์จี ทรานสเฟอร์ (Energy Transfer) ยื่นฟ้องต่อกรีนพีซ สหรัฐฯ (Greenpeace Inc, Greenpeace Fund) และ กรีนพีซ สากล โดยตัดสินให้องค์กรต้องชดใช้ค่าเสียหายมากกว่า 660 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ มากกว่า 22,000 ล้านบาท
แมดส์ คริสเตนเซน ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ สากล กล่าวว่า
“เรากำลังเห็นพฤติกรรมที่ขาดความรับผิดชอบหวนกลับมาอีกครั้ง ซึ่งเป็นต้นเหตุของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำด้านสิ่งแวดล้อม และเอื้อให้ผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่เหนือสุขภาพของประชาชนและอนาคตของโลก อดีตรัฐบาลทรัมป์ใช้เวลาสี่ปีรื้อถอนกฎหมายคุ้มครองอากาศและน้ำที่สะอาด รวมทั้งอธิปไตยของชนพื้นเมือง และตอนนี้พวกเขากับพันธมิตรกำลังพยายามปิดปากผู้ที่ลุกขึ้นต่อต้าน แต่เราจะไม่ถอย และเราจะไม่ยอมถูกปิดปาก”
ซูชมา รามาน รักษาการผู้อำนวยการบริหารของ กรีนพีซ สหรัฐฯ (Greenpeace Inc และ Greenpeace Fund) กล่าวว่า
“คดีนี้ควรเป็นสัญญาณเตือนสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร นี่เป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของบรรษัท ที่ใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นอาวุธเพื่อปิดปากหรือเสียงของประชาชน เราทุกคนควรกังวลเกี่ยวกับอนาคตของเสรีภาพในการแสดงออก เพราะคดีประเภทนี้มีเป้าหมายเพื่อทำลายสิทธิในการชุมนุมประท้วงอย่างสันติ และสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความยุติธรรม นี่คือเหตุผลที่เราจะต่อสู้ต่อไปอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แม้บรรษัทน้ำมันขนาดใหญ่จะพยายามปิดปากองค์กรหนึ่งองค์กร แต่พวกเขาไม่มีทางหยุดขบวนการเคลื่อนไหวได้”
คดีฟ้องร้องของเอนเนอร์จี ทรานสเฟอร์ (Energy Transfer) เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการใช้กฎหมายเพื่อฟ้องปิดปาก (SLAPP) ซึ่งเป็นคดีที่มีเป้าหมายเพื่อกดดันภาคประชาสังคมและนักกิจกรรมให้ต้องเผชิญอยู่กับค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย บีบให้ล้มละลาย และสุดท้ายคือทำให้พวกเขาเงียบเสียงลง [1] บรรษัทน้ำมันรายใหญ่อย่าง เชลล์ (Shell), โททาล (Total) และ เอนี (ENI) เคยใช้กฎหมายฟ้องปิดปาก (SLAPP) ต่อกรีนพีซในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา [2] โดยบางคดีสามารถหยุดยั้งได้สำเร็จ เช่น คดีของโททาลเอนเนอร์ยี่ส์ (TotalEnergies) ต่อ กรีนพีซ ฝรั่งเศส ที่ถูกศาลยกฟ้องเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 และคดีของ เชลล์ ต่อ กรีนพีซ สหราชอาณาจักร และ กรีนพีซ สากล ที่ถูกถอนฟ้องเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2566
คริสติน แคสเปอร์ ที่ปรึกษากฎหมายของกรีนพีซ สากล กล่าวว่า
“เอนเนอร์จี ทรานสเฟอร์ ยังไม่เห็นบทสรุปสุดท้ายจากเราในการต่อสู้ครั้งนี้ เราเพิ่งเริ่มต้นการฟ้องกลับโดยใช้กฎหมายต่อต้าน SLAPP เพื่อปกป้องการโจมตีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิในการชุมนุมประท้วงอย่างสันติจากบริษัท เราจะพบกับเอนเนอร์จี ทรานสเฟอร์ในศาลที่เนเธอร์แลนด์ในเดือนกรกฎาคมนี้ เราจะไม่ถอย และเราจะไม่ยอมถูกปิดปาก”
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 กรีนพีซ สากลได้เริ่มทดสอบการใช้กฎหมายต่อต้าน SLAPP ของสหภาพยุโรปเป็นครั้งแรก โดยยื่นฟ้อง เอนเนอร์จี ทรานส์เฟอร์ ที่ศาลในเนเธอร์แลนด์ [3] เพื่อเรียกร้องค่าชดเชย และค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบจากคดีฟ้องร้องที่ไม่มีมูลของบริษัท ซึ่งบริษัทพยายามเรียกร้องค่าเสียหายหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐจากกรีนพีซและองค์กรร่วม
สามารถดาวน์โหลดภาพถ่ายและวิดีโอได้ที่ Greenpeace Media Library
หมายเหตุ:
- คดีแรกของ เอนเนอร์จี ทรานสเฟอร์ ที่ยื่นฟ้องในศาลรัฐบาลกลางภายใต้กฎหมาย RICO (Racketeer Influenced and Corrupt Organizations Act) ซึ่งออกแบบมาเพื่อใช้ดำเนินคดีกับองค์กรอาชญากรรม อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐบาลกลางได้ยกฟ้องโดยระบุว่าหลักฐานของ เอนเนอร์จี ทรานสเฟอร์ “ไม่เพียงพอ” ที่จะพิสูจน์การเป็นองค์กรอาชญากรรม
- รายงานจาก Coalition Against SLAPPs in Europe (CASE) พบว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2553-2566 มีคดี SLAPP ในยุโรปจำนวน 1,049 คดี และในปี พ.ศ. 2566 เพียงปีเดียว มีคดีใหม่เกิดขึ้นถึง 166 คดี
- กรีนพีซ สากล เป็นองค์กรแรกที่ใช้กฎหมายต่อต้าน SLAPP ของสหภาพยุโรปในการต่อสู้กับ เอนเนอร์จี ทรานสเฟอร์
ติดต่อ:
Greenpeace International Press Desk: +31 (0)20 718 2470 (ติดต่อได้24 ชั่วโมง)
[email protected]
โต๊ะข่าวกรีนพีซ สากล โทร +31 (0)20 718 2470 (ติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง) อีเมล.[email protected]
เข้าร่วมกลุ่ม WhatsApp “Greenpeace SLAPP Trial” เพื่อติดตามอัปเดตล่าสุด