อัมสเตอร์ดัม- รายงานการศึกษาวิจัยฉบับเร่งด่วนโดยนักวิทยาศาสตร์จากวิทยาลัยอิมพีเรียลแห่งลอนดอน (Imperial College London) และ สถาบันวิจัยอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งลอนดอน (London School of Hygiene & Tropical Medicine) พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตที่มีความเชื่อมโยงกับคลื่นความร้อนใน 12 เมืองทั่วภูมิภาคยุโรป เพิ่มสูงขึ้น 3 เท่า ภายในช่วงระยะเวลาเพียง 10 วัน ระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน ถึง 2 กรกฎาคม ซึ่งเป็นผลพวงโดยตรงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ  ขณะเดียวกัน ข้อมูลเบื้องต้นจากศูนย์บริการภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส (Copernicus Climate Change Service) ระบุว่าเดือนมิถุนายน 2568 เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ในยุโรปตะวันตก และเป็นช่วงเดือนที่อุณภูมิร้อนที่สุดเป็นอันดับสามของโลก [1][2]

เอียน ดัฟฟ์ หัวหน้างานรณรงค์ Stop Drilling Start Paying (SDSP) กรีนพีซ สากล กล่าวว่า “ผู้ที่เปราะบางที่สุดในสังคม ไม่ว่าคุณจะอาศัยอยู่ในมิลาน บาเซโลนา ปารีส ลอนดอน หรือที่ใดก็ตาม กำลังได้รับความเดือดร้อนจากคลื่นความร้อนที่รุนแรงเป็นประวัติการ  ขณะที่ยุโรปยังคงประนีประนอมและผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ กับกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซฟอสซิล ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดภาวะโลกเดือดที่รุนแรงมากขึ้นไปอีก และการกระทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการปล่อยให้ภัยพิบัติที่เกิดจากภาวะโลกเดือดค่อย ๆ คร่าชีวิตพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และคนที่เรารัก”

“คลื่นความร้อนนี้เกิดขึ้นในขณะนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะงบประมาณภาครัฐทั่วยุโรปกำลังตึงตัวถึงขีดสุด และเป็นเรื่องที่สมควรที่สุด ที่ผู้ก่อวิกฤตโลกเดือดต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ หากเราต้องการให้เมืองต่าง ๆ ในยุโรปเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับผู้คนที่เปราะบางที่สุดในสังคม อุตสาหกรรมฟอสซิลรายใหญ่ผู้ก่อวิกฤตโลกเดือด อย่างเชลล์ (Shell)และ โททัล เอเนอจี (TotalEnergies) จะต้องถูกเก็บภาษีและค่าปรับเพื่อชดเชยสำหรับค่าความสูญเสียและเสียหายของวิกฤตสภาพภูมิอากาศและวิกฤตด้านสุขภาพที่กำลังเกิดขึ้น”

นอกเหนือจากจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ คลื่นความร้อนครั้งล่าสุดในยุโรปยังส่งผลเป็นวงกว้าง โดยอิตาลีต้องออกมาตรการจำกัดชั่วโมงการทำงานกลางแจ้ง ฝรั่งเศสสั่งปิดโรงเรียนมากกว่า 2,200 แห่ง ขณะที่ไฟป่าเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของกรีซ สเปน และตุรกี

ผลสำรวจระดับโลกที่จัดทำ โดยกรีนพีซ สากล และอ็อกส์แฟม สากล ระบุว่าประชากร 8 ใน 10 คนทั่วโลกเห็นด้วยกับนโยบายการเรียกเก็บภาษีจากบริษัทน้ำมันและก๊าซ เพื่อนำไปชดเชยความเสียหายที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ  ทั้งสององค์กรเป็นสมาชิกหลักในเครือข่ายของกลุ่มพันธมิตร Polluters Pay Pact ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 170,000 คน ซึ่งรวมถึงกลุ่มคนที่อยู่แนวหน้าในการรับมือกับเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว เช่น นักดับเพลิง องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และผู้นำทางการเมือง เป้าหมายหลักของพันธมิตรนี้คือการเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกออกกฎหมายบังคับให้บริษัทที่ก่อมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ถ่านหิน หรือก๊าซฟอสซิลต้องชดใช้ค่าความเสียหายอย่างเป็นธรรมต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คนที่ได้รับผลกระทบ

หมายเหตุ

[1] “Climate change tripled heatwave death toll in European cities during last week’s heatwave” – Imperial College London and the London School of Hygiene & Tropical Medicine

[2] “Third-warmest June globally – Heatwaves in Europe amid temperature extremes across both hemispheres” – Copernicus 

สำหรับสื่อมวลชน ติดต่อ

Tal Harris, Global Media Lead – Greenpeace International’s Stop Drilling Start Paying campaign, +41-782530550, [email protected] 

Greenpeace International Press Desk: [email protected], +31 (0) 20 718 2470 (available 24 hours)