บทคัดย่อ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สื่อมวลชนจากหลากหลายประเทศต่างสนใจนำเสนอประเด็นการใช้แรงงานบังคับบนเรือประมงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง โดยเรือที่ปรากฏในรายงาน ยังเป็นเรือประเภทที่ใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้างและผิดกฎหมาย ซึ่งผลกระทบในวงกว้างต่อระบบนิเวศในทะเล

แรงงานประมงจำนวนมากถูกล่อลวง และยอมลงชื่อในสัญญาว่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม เพราะมีความหวังว่าจะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้ค่าตอบแทนที่มากขึ้น แต่กลับ “ตกเป็นเหยื่อ” และ “เป็นหนี้”  ในวงจรการค้าแรงงานของบรรดานายหน้าหน้าเลือด และบริษัทจัดหางานไร้จริยธรรม จากข้อมูล แรงงานประมงชาวอินโดนีเซียต้องจ่ายเงินประกัน และค่าดำเนินการจ้างงานต่างๆ ในจำนวนที่เท่ากับค่าแรงรวม 6-8 เดือนของการทำงาน เป็นผลให้แรงงานต้องทำงานหลายชั่วโมงติดต่อกัน โดยได้ค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อย หรือในบางกรณีคือไม่ได้รับค่าตอบแทนเลย 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการทำงานบนเรือประมงจะถือเป็นงานที่อันตรายมากที่สุดงานหนึ่ง แต่ก็ยังมีผู้คนจำนวนมากพร้อมยอมเอาชีวิตเข้ามาเสี่ยงทำงานนี้ ซึ่งน่าเศร้าที่หลายคนต้องกลายเป็น “แรงงานทาส” บนเรือ

Migrant Fishermen in Indonesia. © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace
ลูกเรือประมงต่างชาติในอินโดนีเซีย © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace

ธรรมชาติของงานประมง ทำให้แรงงานจำเป็นต้องอยู่กลางทะเลที่ห่างไกลและโดดเดี่ยวเป็นเวลานาน ขณะเดียวกันก็เอื้อให้นายจ้างหลบเลี่ยงข้อกฎหมายที่ช่วยคุ้มครองสวัสดิภาพของแรงงาน เช่น กรณีที่ไต้ก๋งเรือทำร้ายร่างกายลูกเรือกลางทะเล และไม่สามารถเอาผิดได้  จากข้อมูลของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการสัมภาษณ์แรงงานที่ถูกทำร้ายบนเรือ และหลักฐานเอกสารต่างๆ เผยให้เห็นว่า มีลูกเรือประมงชาวอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์จำนวนมากที่ถูกหลอกไปใช้แรงงานบนเรือประมงกลางทะเล

ข้อมูลจากสำนักงานประมงของไต้หวัน ประจำเดือนมิถุนายน 2562 ระบุว่า มีลูกเรือประมงชาวอินโดนีเซีย จำนวน 7,730 คน และลูกเรือประมงชาวฟิลิปปินส์ จำนวน 21,994 คนทำงานอยู่บนเรือประมงของไต้หวัน ซึ่งเมื่อคิดรวมแรงงานประมงของทั้งสองประเทศ จะเห็นว่า เป็นแรงงานหลักของอุตสาหกรรมประมงของไต้หวัน ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าทางธุรกิจสูงถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท โดยเรือประมงจากไต้หวันเป็น 1 ใน 5 อันดับต้นของกองเรือประมงนอกน่านน้ำของโลก

ทั้งนี้ สาระสำคัญของรายงานฉบับนี้คือ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวปัญหาการละเมิดสิทธิ์แรงงานประมงกลางทะเล บนเรือประมงต่างชาติต้องสงสัย 13 ลำ ซึ่งมีลูกเรือประมงชาวอินโดนีเซียจำนวน 34 คนทำงานอยู่ โดยข้อเรียกร้องหลักๆ มีด้วยกัน 4 ข้อ คือ 1) มีเรือประมงต่างชาติ 11 ลำ ที่มีการกระทำที่เข้าข่ายการหลอกลวงแรงงาน 2) มีเรือประมงต่างชาติ 9 ลำที่ละเมิดไม่จ่ายเงินค่าจ้างแรงงาน 3) มีเรือประมงต่างชาติ 8 ลำ ที่บังคับให้ทำงานเกินเวลาที่กำหนด และ 4) มีเรือประมงต่างชาติ 7 ลำที่มีการใช้กำลังทำร้ายร่างกายและคุกคามทางเพศแรงงาน

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เรือประมงจำนวนมากต้องเดินทางออกไปหาปลากลางทะเลไกลขึ้นเรื่อยๆ เป็นเพราะจำนวนประชากรสัตว์น้ำในทะเลที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบที่ตามมาคือ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงให้กับแรงงานต้องเผชิญกับการละเมิดและเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง

ชะตากรรมของลูกเรือประมงที่ต้องทำงานกลางทะเล ในน่านน้ำสากลที่ห่างไกลนั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และความเสี่ยงด้านความปลอดภัย เพราะเป็นเรื่องยากที่เจ้าหน้าที่จะสามารถตรวจสอบและดูแลให้แน่ใจได้ว่า แรงงานทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

จากหลักฐานและข้อมูลที่ได้รับได้ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขอเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะรัฐบาลประเทศฟิลิปปินส์และประเทศอินโดนีเซียให้ดำเนินการด้านนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ปัญหาการค้าแรงงานทาสยุติลง

บทสรุป

แม้ว่าปัจจุบันการค้าทาสจะกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายในโลกยุคใหม่ แต่ความจริงที่ปรากฎก็คือ แรงงานในภาคประมงยังต้องเผชิญกับการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมนี้  เรื่องราวของลูกเรือชาวอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งมีความฝันที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นจากการทำงานแต่กลับต้องกลายเป็น “ทาสกลางทะเล” ได้รับความสนใจจากสื่อและองค์กรสาธารณะประโยชน์หลายแห่ง ที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ แต่ก็ยังมีแรงงานอีกจำนวนมากที่ยังคงไม่ได้รับความเป็นธรรมและยังตกอยู่ในชะตากรรมที่น่าเป็นห่วง สิ่งเหล่านี้เป็นประจักษ์พยานที่สำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้มีอำนาจในอุตสาหกรรมประมงยังคงได้ประโยชน์จากการเอารัดเอาเปรียบแรงงานค่าจ้างต่ำอย่างไร

ไม่เพียงเท่านั้น การทำประมงแบบทำลายล้างและมากเกินกำลังการผลิตของระบบนิเวศ เน้นแต่เพียงการกอบโกยผลประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ก็กำลังส่งผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงทางด้านอาหารของโลก ในขณะที่บริษัทประมงทำกำไรมากขึ้น มหาสมุทรและท้องทะเลของเราก็ค่อย ๆ ว่างเปล่าลงไปเรื่อยๆ

กฎหมายในประเทศและระหว่างประเทศจำเป็นต้องได้รับการชำระแก้ไขช่องว่างด้านระเบียบข้อบังคับและการปฏิบัติ เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และละเมิดสิทธิ์แรงงานบนเรือที่เป็นรูปธรรม  ควบคู่ไปกับระบุหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดกรณีการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การประมงที่ขาดการรายงาน และการประมงที่ขาดการควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing – IUU Fishing) และการค้าทาสในโลกยุคใหม่อีกต่อไป โดยภาครัฐควรต้องแสดงความรับผิดชอบและดำเนินการในเชิงรุกมากกว่านี้ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านนโยธรรมและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อปกป้องพลเมืองของตน แม้ว่าบุคคลนั้นจะทำงานอยู่นอกอาณาเขตของประเทศก็ตาม รวมไปถึงภาคประชาชน ควรตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และร่วมกันผลักดันเปลี่ยนแปลงนโยบายที่จำเป็น

ลูกเรือประมงพร้อมปลาจำนวนที่ได้จากเรือล้อมจับบริเวณท่อเรือเทกาล (Tegal)
ลูกเรือประมงพร้อมปลาจำนวนมากที่ได้จากเรืออวนเบ็ดรอกบริเวณท่อเรือเทกาล (Tegal) © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace

การปกป้องสิทธิเสรีภาพความเป็นมนุษย์ สิทธิแรงงาน และความมั่นคงทางด้านสิ่งแวดล้อมและอาหารคือหลักประกันทางสังคม ที่จะช่วยให้เรามั่นใจว่าทุกมื้ออาหารที่เรารับประทานนั้น จะไม่เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนอาชญากรรมค้าทาสยุคใหม่ ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นและมีอยู่อีกต่อไปทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และที่ใดในโลก

ข้อเสนอแนะ

รายงานฉบับนี้ขอเสนอให้ ประเทศสมาชิกอาเซียนให้สัตยาบันรับรองและดำเนินการตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคการประมง (International Labour Organization C188 – Working on fishing Convention)  ซึ่งปัจจุบัน มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ได้ลงนามรับรองแล้ว เพื่อสนับสนุนให้มีการปรับปรุงแก้ไขปัญหาในภาคอุตสาหกรรมประมงทั้งเรื่องแรงงานและการทำประมงที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้รัฐบาลแต่ละประเทศควรต้องปรับแก้ไขกฎหมายภายในประเทศให้มีความเข้มแข็ง และส่งเสริมการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ มากขึ้น รวมถึงลงทุนด้านการควบคุมและตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแรงงานประจำท่าเรือสามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดกระบวนการจัดหาแรงงานมีความโปร่งใส ซึ่งจะช่วยปกป้องสวัสดิภาพของลูกเรือประมงที่ทำงานบนเรือนอกน่านน้ำได้จริง

และสืบเนื่องจากประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศไทยได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยมาตรการของรัฐเจ้าของท่า (Port State Measures Agreement -PSMA) เพื่อป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมงที่ผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (the Food and Agricultural Organization – FAO) ทั้งสามประเทศก็ควรเป็นผู้นำในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพในภูมิภาค

ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันจะมีเพียง 11 ประเทศที่ลงนามรับรองการดำเนินการตามข้อตกลงเคปทาวน์ (Cape Town Agreement) ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization หรือ IMO) จากประเทศสมาชิกทั้งหมด 22 ประเทศ แต่หากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศลงนามในข้อตกลงดังกล่าว ก็จะมีผลให้เกิดการบังคับใช้ เพื่อปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยของแรงงานบนเรือ

เราสามารถยุติการค้าแรงงานทาสในโลกยุคใหม่ ผ่านการดำเนินการทางการเมือง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเจรจาระหว่างประเทศ ทั้งกับภาครัฐและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actor) เช่น องค์กรด้านแรงงานและประมง ภาคธุรกิจ และกลุ่มแรงงานข้ามชาติ หรือองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้ใครต้องตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์อีกต่อไป และแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การประมงที่ขาดการรายงาน และการประมงที่ขาดการควบคุมที่เป็นรูปธรรม

ข้อเสนอแนะที่จำเป็น มีดังนี้

สำหรับประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน

1.ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคการประมง  และนำไปปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรมกับแรงงานประมงและเรือประมงพาณิชย์ทุกประเภท

2. ให้สัตยาบันรับรองและดำเนินการตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ

ก.    อนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว พ.ศ. 2491

ข.  อนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง พ.ศ. 2492

ค.  อนุสัญญาฉบับที่ 29 ว่าด้วยการเกณฑ์แรงงานหรือแรงงานบังคับ พ.ศ. 2473  รวมถึงพิธีสารปี 2557  ถึงอนุสัญญาแรงงาน ILO ฉบับที่ 29

ฆ.   อนุสัญญาฉบับที่ 105 ว่าด้วยการยกเลิกแรงงานบังคับ พ.ศ. 2500

ง.   อนุสัญญา ฉบับที่ 138 ว่าด้วยอายุขั้นต่ำให้ว่าจ้างงานได้ พ.ศ. 2516

จ.   อนุสัญญา ฉบับที่ 182 ว่าด้วยรูปแบบที่เลวร้ายของการใช้แรงงานเด็ก พ.ศ. 2542

ฉ.   อนุสัญญา ฉบับที่ 100 ว่าด้วยค่าตอบแทนนที่เท่าเทียม พ.ศ. 2494

ช.   อนุสัญญา ฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและการทำงาน พ.ศ. 2501

3.  ให้สัตยาบันและดำเนินการตามข้อตกลงเคปทาวน์ (Cape Town Agreement) 

4.  ให้สัตยาบันและดำเนินการตามมาตรการของรัฐเจ้าของท่า (Port State Measures Agreement -PSMA)

5.  ปรับปรุงและยกระดับมาตรการด้านความความโปร่งใสและนโยบายตรวจสอบภายในประเทศ รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานระหว่างประเทศ

ก.  ส่งเสริมการเจรจาระหว่างประเทศกับตัวแทนภาครัฐ เช่น กรมประมง กระทรวงต่างประเทศ และกรมแรงงาน

ข. เปิดเผยรายชื่อเรือประมง และรายชื่อลูกเรือประมง

ค. เปิดเผยข้อมูลระบบติดตามเรือ (Vessel Monitoring System  – VMS) เป็นสาธารณะ และขอให้เรือที่ชักธงรัฐ (Flag States) ทุกลำเปิดเผยข้อมูลลูกเรือที่ถือสัญชาติในประเทศอาเซียน

ฆ. กำหนดให้เป็นข้อบังคับที่ต้องมีการปฐมนิเทศลูกเรือก่อนลงเรือไปทำงาน เพื่อให้ลูกเรือเข้าใจถึงสิทธิและความรับผิดชอบของตนเองอย่างครบถ้วน รวมไปถึงมีการฝึกอบรบด้านความปลอดภัย และข้อควรรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการารทำประมงที่ผิดกฎหมาย การประมงที่ขาดการรายงาน และการประมงที่ขาดการควบคุมก่อนและหลังทำงาน โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดของการปฐมนิเทศและการฝึกอบรมดังกล่าวควรอยู่ใต้ความรับผิดชอบของนายจ้าง

ง.  กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงาน ประจำทุกท่าเรือที่มีเรือประมงต่างชาติเข้าท่า

จ. เรือประมงต่างชาติทุกลำต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐเมืองท่า

ฉ. เน้นการทำงานแบบบูรณาการ โดยผนวกปัญหาในอุตสาหกรรมประมงลงในแผนปฎิบัติการระดับชาติ ที่เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงานและการค้ามนุษย์

ช .  ปรับแผนปฏิบัติการระดับชาติ ให้สอดคล้องกับหลักการชี้นำของสหประชาชาติเกี่ยวกับธุรกิจและสิทธิมนุษยชน  และยึดคำแนะนำที่จัดทำโดยคณะทำงานสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

6.  ความร่วมมือระหว่างประเทศและการสนับสนุนด้านนโยบาย

ก.  สนับสนุนคำแถลงหรือมติที่เกี่ยวกับการทำงานในภาคประมง ที่เรียกร้องให้รัฐที่เรือชักธง (Flag State) ทุกลำยุติการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันกับแรงงานจากชาติในอาเซียนที่ทำงานในทะเลนอกน่านน้ำ

ข.   องค์กรจัดการประมงระดับภูมิภาค (Regional Fisheries Management Organizations – RFMO) ควรเพิ่มกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ลงในบัญชีรายชื่อเรือที่เข้าข่ายการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม