ช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการขูดรีดและปฏิบัติต่อแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ

แรงงานเหล่านี้เป็นรากฐานที่สำคัญของอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่ต้องเดินทางมาไกล ทิ้งครอบครัวไว้ข้างหลัง แต่กลับมีรายได้ที่อยู่ในระดับต่ำจนไม่มีความมั่นคงในการครองชีพ ผนวกกับความไม่มั่นคงของอาชีพ นำไปสู่ภาระการเงินหนักหน่วงและหนี้สินระยะยาว

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้แรงงานเหล่านี้ต้องเผชิญกับความลำบากมากขึ้นไปอีก และในขณะที่แรงงานไร้สิทธิ์ไร้เสียง ถูกกดขี่ ดิ้นรนเพื่อปกป้องและให้ได้มาเพื่อสิทธิของตน การควบรวมกิจการที่เกิดขึ้นทั่วทั้งภาคเกษตรและอาหารทำให้อำนาจควบคุมตลาดอยู่ในมือผู้เล่นรายใหญ่ไม่กี่รายที่ทำกำไรมหาศาล

รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นถึงค่าจ้างของแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน อภิปรายประเด็น “ค่าจ้างชีวิต” (Living Wage) ในบริบทประเทศไทย เสนอความไม่เท่าเทียมของแรงงานเพศหญิงและชาย ความไม่มั่นคงของอาชีพในระบบค่าตอบแทนตามชิ้นงาน และผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีต่อแรงงาน 

ข้อค้นพบที่น่าสนใจบางส่วนจากรายงาน 

  • แรงงานส่วนใหญ่ใน 4 กิจการได้แก่ กิจการประมง กิจการประมงต่อเนื่อง โรงงานแปรรูปอาหารทะเล และฟาร์มกุ้งยังได้รับค่าจ้างน้อยกว่าที่รัฐบาลกำหนดว่าเพียงพอต่อการครองชีพ 
  • ค่าจ้างขั้นต่ำรายวันโดยเฉลี่ยคูณ 30 คิดเป็นเงินจำนวน 9,699 บาทต่อเดือน แต่ 1 ใน 5 ของโรงงานแปรรูป และร้อยละ 45 ของกิจการประมงต่อเนื่องได้รับค่าจ้างเฉลี่ยประมาณ 6,789 หรือน้อยกว่านั้น
  • โดยเฉลี่ยแล้วแรงงานหญิงได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานชายเกือบ 1 ใน 3 หรือได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานชายประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน 
  • แรงงานหญิงถึงร้อยละ 80 ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่คำนวณต่อเดือน ขณะที่แรงงานชายได้รับค่าจ้างน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่คำนวณต่อเดือนเพียงร้อยละ 38
  • แรงงานหญิงไม่เพียงได้รับค่าจ้างน้อยกว่าเท่านั้น แต่มักมีการจ้างงานที่ไม่มั่นคงมากกว่า อีกทั้งยังได้รับสิทธิลาคลอดและทางเลือกในการดูแลบุตรอย่างจำกัด
  • การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานที่ได้รับค่าตอบแทนตามชิ้นงานมีรายได้น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และยังได้รับความช่วยเหลือจากนายจ้างน้อยกว่าหรือไม่ได้เลย ปรากฎการณ์ดังกล่าวบีบให้พวกเขามีหนี้สินหรือตกอยู่ในสภาวะไม่มั่นคงหลายประการ
  • แม้แรงงานรับค่าตอบแทนรายชิ้นอาจเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มากที่สุด แต่กลุ่มแรงงานที่ได้รับค่าจ้างในระดับต่ำล้วนได้รับผลกระทบร้ายแรงทั้งสิ้น รวมถึงกลุ่มแรงงานโรงงานแปรรูป ถึงแม้จะมีการปรับปรุงให้มีการจ้างงานอย่างเป็นทางการมากขึ้นแล้ว แต่อัตราค่าจ้างดังกล่าวยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เมื่อไม่มีการประกันจำนวนวันทำงานต่อเดือน แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำรายวันจึงประสบปัญหารายได้ลดลงอย่างมาก
  • แรงงานจำนวนมาก รวมทั้งในกิจการประมงยังคงได้รับค่าจ้างเป็นเงินสด ไม่มีหลักฐานแสดงรายละเอียดของค่าจ้าง ทั้งที่มีการออกกฎหมายในประเด็นนี้แล้ว

ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อภาคอุตสาหกรรม (บางส่วน)

  • สร้างหลักประกันว่าแรงงานทุุกคนต้องได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำต่อเดือนเป็นอย่างน้อยที่สุุด
  • จัดทำสัญญาจ้างรายเดือนกับแรงงานในโรงงานแปรรูปอาหารทะเล
  • แรงงานทุกคนควรได้รับสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร ระบุเงื่อนไขและสภาพการจ้าง
  • นายจ้างต้องให้สวัสดิการลาคลอดบุตรแก่แรงงานตามที่กฎหมายกำหนด 
  • บริษัทต้องมีนโยบายสนับสนุนแรงงานทั้งในและนอกสถานประกอบการในช่วงระบาดของโควิด-19

ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล (บางส่วน)

  • ใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อเดือนแทนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อวัน 
  • ปรัศทัศนะเกี่ยวกับการผลักดันนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ เน้นหนักการสร้างหลักประกันให้แรงงานได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม เพียงพอต่อการครองชีพตนเองและครอบครัว
  • ให้ความสนใจมากขึ้นและจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติมเพื่อเสริมมาตรการให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำ
  • จัดสรรให้แรงงานทุกคนเข้าถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดสอย่างเท่าเทียมและไม่มีค่าใช้จ่าย
  • ส่งเสริมและสนับสนุนภาคธุรกิจให้ปฏิบัติตามมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างช่วงโรคระบาด