เรามักคุ้นเคยกับการที่เห็นกลุ่มคนลุกขึ้นมาเก็บขยะตามสถานที่ต่างๆ แม้ว่าความจริงแล้วการเก็บขยะ (Clean up) จะไม่ได้ช่วยลดปริมาณขยะที่ตกค้างอยู่ในธรรมชาติได้ เนื่องจากขยะในปัจจุบันมีมหาศาลจนการเก็บแค่ไม่กี่ชั่วโมงนั้น ไม่ได้ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ แต่ถ้ามองอีกมุม กิจกรรมนี้ยังสามารถทำหน้าที่เป็นพื้นที่ที่ทำให้คนได้เห็นความชั่วร้ายของขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic) ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างแรงผลักดันให้คนเก็บหรือคนเห็นไปสู่การลดใช้ในที่สุด

เราไถเฟซบุ๊คไปเรื่อย ๆ จนเจอกับโพสต์ของ ‘ณัฎฐพัชร์ หวังวณิชพันธุ์’ หรือ มัท ผู้เรียกตัวเองว่า Content Creator แวบแรกที่เห็น เราเกือบเลื่อนผ่านไปพร้อมกับความคิดดั้งเดิมที่ว่า “การเก็บขยะเฉย ๆ ไม่ได้ช่วยให้โลกดีขึ้นนะ” แต่หลังจากที่เราเห็นรูปภาพที่เธอโพสต์ ซึ่งมีแต่ภาพไมโครพลาสติกหลายประเภทและหลายขนาดแล้ว เราหยุดนิ่ง แล้วตั้งหน้าตั้งตาอ่านสเตตัสนี้ด้วยความสนใจ 

อย่างที่บอก เรามักคุ้นตากับการเก็บขยะ แต่เราไม่เคยเห็นใครเก็บขยะแล้วเห็นภาพความจริงว่า ปัญหามลพิษพลาสติกในตอนนี้มันก้าวไปไกลกว่าปัญหาขยะทั่วไปแล้ว ซึ่ง “ณัฎฐพัชร์” ถ่ายทอดเรื่องนี้ผ่านหน้าเฟซบุ๊คของเธอได้อย่างตรงไปตรงมาและชัดเจน ปัญหาในตอนนี้มันคือปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ ซึ่งหนึ่งในตัวการสำคัญคือ ไมโครพลาสติกซึ่งแตกตัวมาจากพลาสติกชิ้นใหญ่ และสามารถแทรกซึมไปในน้ำ ดิน และอากาศได้อย่างง่ายดาย พร้อมทำร้ายสิ่งนั้นด้วยสารเคมีของมัน แล้วส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในวงกว้าง แม้ในปัจจุบันอาจจะยังไม่มีรายงานผลกระทบของไมโครพลาสติกอย่างรุนแรงต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ แต่ด้วยรายงานการพบไมโครพลาสติกในเทือกเขาร็อกกี้ ในอุจจาระมนุษย์ ในเกลือ เป็นต้น เราคงไม่อยากให้วิกฤตมลพิษพลาสติกนี้เดินทางไปถึงวันที่เราไม่สามารถกอบกู้สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศที่สมบูรณ์กลับมาได้อีกแล้ว

ด้านล่างนี้คือบทสัมภาษณ์ของเธอ คนธรรมดาที่ลุกขึ้นมาตะโกนก้องร้องบอกคนรอบตัวถึงปัญหาไมโครพลาสติก

จุดที่ทำให้ลุกขึ้นไปเก็บขยะ  

“ขยะ 1 ชิ้น อยู่บนหาด เหมือนมันเดินทางมาไกลแล้ว ถ้าเป็นเกมก็เหมือนขยะมาถึงด่านสุดท้าย รอแค่คลื่นมาซัดพามันลงทะเล ซึ่งโอกาสที่มันจะไปฆ่าสิ่งมีชีวิตและกระทบต่อระบบนิเวศ ก็คือ 100%” 

คิดว่าไม่มีแรงบันดาลใจหรือชนวนอะไรทั้งนั้นเลยค่ะ จริง ๆ มันเป็น common sense มาก ๆ ว่าเวลาเห็นขยะ รู้สึกสกปรก เราก็แค่อยากเก็บ แต่พอมันเฉพาะเจาะจงมาหน่อย มาเป็นขยะทะเล มันยิ่งรู้สึกว่าต้องเก็บ เห็นแล้วไม่อยากปล่อยผ่าน เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องเก็บขยะให้สะอาดอย่างเดียวแล้ว แต่มันคือการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลไม่ให้ต้องตายเพราะขยะจากบนบก เหมือนขยะที่อยู่ใกล้ทะเล อยู่บนชายหาด มันให้เซนส์ของความเป็นความตายชัดมาก เป็นความเห็นใจเพื่อนร่วมโลก มันมีเซนส์เรื่องพวกนี้ชัดขึ้น มันน่ากลัวนะ ขยะ 1 ชิ้น อยู่บนหาด เหมือนมันเดินทางมาไกลแล้ว ถ้าเป็นเกมก็เหมือนขยะมาถึงด่านสุดท้าย รอแค่คลื่นมาซัดพามันลงทะเล ซึ่งโอกาสที่มันจะไปฆ่าสิ่งมีชีวิตและกระทบต่อระบบนิเวศ ก็คือ 100% 


©Natthapat Mut Wangvanichaphan

ขยะที่เจอมีทั้งหมวดประหลาดใจ และหมวดจุก 

“เวลาเจอขยะพวกนี้ เราไม่ได้รู้สึกโกรธหรือเซ็งหรืออะไรอีกแล้ว แต่มันจะเป็นความรู้สึกจุกข้างใน เป็นความรู้สึกผิด เหมือนสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามันคือเครื่องยืนยันว่าสิ่งที่มนุษย์ทำกับโลกตัวเองมันช่างสาหัสจริง”

ก่อนไปพอเดา ๆ ไว้ว่าน่าจะต้องเจอถุงพลาสติก หลอดอะไรแบบนี้ แต่พอเก็บจริง ๆ ดันผิดคาด เลยจัดอันดับขยะในใจไว้ หมวดขยะประหลาดคือรองเท้าแตะข้างเดียว วันที่เก็บจำได้ว่าถุงขยะนี่เต็มไปด้วยรองเท้าข้างเดียว งงว่าคนที่เขามาเกาะเขากลับกันยังไง หรือเขาซื้อคู่ใหม่บนเกาะไม่แน่ใจ จำไม่ได้ว่ามีร้านขายรองเท้าไหม ส่วนอีกหมวดคือหมวดจุก ซึ่งก็คือขยะที่แตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ ทั้งหลายที่มันเล็กจนต้องตัดใจปล่อยมันไป เพราะมันใช้มือหยิบขึ้นมาไม่ได้แล้ว ซึ่งจะมีเม็ดโฟม เข้าใจว่ามันมาจากลังโฟมแช่เย็น กับเศษผงเล็กๆๆๆๆ จากพวกถุงพลาสติก เวลาเจอขยะพวกนี้ เราไม่ได้รู้สึกโกรธหรือเซ็งหรืออะไรอีกแล้ว แต่มันจะเป็นความรู้สึกจุกข้างใน เป็นความรู้สึกผิด เหมือนสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามันคือเครื่องยืนยันว่าสิ่งที่มนุษย์ทำกับโลกตัวเองมันช่างสาหัสจริง

สร้างขยะให้น้อยตั้งแต่แรก คือ วิธีที่ดีที่สุด 

“เราไม่อยากให้หลอดเรามันอยู่บนโลกนี้ไปอีกร้อย ๆ ปี กว่ามันจะย่อย มันอาจจะไปตกอยู่ในทะเลทำร้ายสิ่งมีชีวิตร่วมโลกเราก็ได้”

จริง ๆ สร้างขยะไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็ต้องยอมรับว่าถ้าสร้างขยะน้อยตั้งแต่แรกก็น่าจะดีที่สุด ประเด็นสำคัญจริง ๆ มันเลยน่าจะอยู่ที่ว่า สร้างขยะแล้วเราทำยังไงต่อ คือถ้าเป็นประเทศที่ระบบการจัดการขยะเจ๋งมาก ขยะที่เราสร้างและทิ้งก็ไม่น่าเป็นปัญหามากนัก แต่กับเมืองไทย คิดว่าวิธีคิดเรื่องขยะที่เหมาะที่สุดคือ ใครทำอะไรได้ทำ ทำเลย อย่ารอ เริ่มลดขยะเอง สร้างขยะเสร็จแล้วก็พยายามหาที่ไปให้มันไปต่อ ซึ่งในโซเชียลเดี๋ยวนี้ก็เต็มไปด้วยเพจให้ความรู้ ช่วยกันบอกว่าขยะอันนี้แยกไว้แล้วส่งไปไหนยังไงบ้าง อย่าไปเสียเวลาคิดเลยว่า ฉันแยกไปเขาก็รวมกันอยู่ดี เหมือนที่เราไปเก็บขยะ เก็บให้ตายทั้งวันทั้งคืน ลางานเพื่อไปเก็บมันทั้งเดือน ทุกคนก็รู้ว่ามันไม่มีทางหมดหรอก แต่เราไม่สนใจ สิ่งเดียวที่เราเชื่อคือ ทำอะไรได้ ทำเลย ทำแล้วสบายใจ เราก็รู้ว่ามันไม่ได้ทำให้ขยะหมดไปหรอก แต่ความสบายใจที่ได้มันมีค่ามากพอให้เราทำ เพราะเกลียดความรู้สึกค้างคาในใจตอนกลับบ้านว่าทำไมเราไม่เก็บขยะชิ้นนั้นขึ้นมา ถ้ามันหลุดลงทะเลจะเป็นยังไง ซึ่งเราใช้วิธีคิดแบบนี้ทุกครั้งในชีวิตในแต่ละวัน เช่น ไปกินข้าวก็จะย้ำแล้วย้ำอีกว่าไม่รับหลอดนะคะ คนที่ไปด้วยอาจจะรู้สึกว่าเรื่องมากก็ได้ แต่ถ้าถามเรา เราคิดว่ามันคือการซื้อความสบายใจของตัวเอง เราไม่อยากให้หลอดเรามันอยู่บนโลกนี้ไปอีกร้อย ๆ ปี กว่ามันจะย่อย มันอาจจะไปตกอยู่ในทะเลทำร้ายสิ่งมีชีวิตร่วมโลกเราก็ได้ 

ขยะที่เราทิ้ง วันหนึ่งมันก็จะย้อนกลับมาหาเรา

การเก็บขยะครั้งนี้เป็นประสบการณ์เจอไมโครพลาสติกครั้งแรกกับตัว ที่ผ่านมาเคยแต่อ่านเจอ พอมาเจอจริงรู้สึกว่ามันโหดร้ายมาก วันนึงมันก็ย้อนกลับมาหาตัวมนุษย์เองนั่นล่ะ หลายคนคิดว่าขยะไมโครพลาสติกจะย้อนมาหาเราได้ไง ก็อยากจะบอกอีกทีเหมือนที่เขียนไว้ในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า ไม่รู้หรอกว่ามันกลับมายังไง มันคงมีวิธีกลับมาหลายแบบ แต่รู้แค่ว่ามันกลับมาแน่ เพราะโลกนี้ไม่มีทางออก สร้างอะไร ใช้อะไร ทิ้งอะไร มันก็กลับมาหาเราหมดนั่นล่ะ เพราะสุดท้าย โลกคือบ้านหลังใหญ่ เราทุกคนอยู่ข้างใน ยังไงก็หนีไม่พ้น ได้รับผลกระทบจากการกระทำของตัวเองหมดทั้งนั้น อยู่ที่ว่าผลกระทบมันจะกลับมาในรูปแบบไหน เท่านั้นเอง 

©Natthapat Mut Wangvanichaphan
©Natthapat Mut Wangvanichaphan

IT COULD BE YOURS 

ประโยคนี้เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นตอนเก็บขยะ เราเริ่มสังเกตตัวเองได้ว่า เราจะบ่นได้เต็มปากเต็มคำเวลาเราเก็บอะไรที่เรามั่นใจว่าเราไม่ได้เป็นคนใช้มันแน่ ๆ แต่พอเป็นอะไรที่ เออ เราก็ใช้มันนี่นา สมมติว่าเป็นขวดน้ำก็ได้ เรายอมรับว่าทุกวันนี้ ยังมีบ้างที่เราต้องซื้อน้ำขวดเวลาจำเป็น คือพอเก็บขยะขวด จะเริ่มไม่กล้าบ่นละ เพราะเรารู้ว่า ขวดในมือที่เราเพิ่งเก็บมานี่นะ มันอาจจะเคยเป็นของเรามาก่อนก็ได้ ใครจะไปรู้ เก็บไปเก็บมาก็เลยตรัสรู้ได้ว่า เฮ้ย ขยะที่เขาผ่าเจอในท้องปลาวาฬ ท้องมาเรียม จริง ๆ มันมีความเป็นไปได้หมดเลยนี่นาว่าอาจจะมาจากมือเรา เคยมีคนพูดกับเราว่า ไม่มีทางเป็นของเขาแน่ ๆ เขาไม่ได้อยู่แถวนั้น ซึ่งเราถามเขาไปแบบจริงใจว่า แล้วในทะเลมันมีขยะได้เองเหรอ ซึ่งมันไม่ได้อยู่แล้ว ทะเลไม่มีร้านอาหาร ไม่มีห้าง ไม่มีบ้าน (ยกเว้นคนจะเถียงว่าได้ เกิดจากขยะเรือประมงไง ฮ่า ๆ) ทุกคนน่าจะยอมรับตรงกันได้ว่าทุกอย่างมาจากมนุษย์ทั้งนั้น มาจากบนบก ดังนั้นก็ ขยะทุกชิ้น It could be yours จริง ๆ นั่นล่ะ ที่เขียนย้ำ ๆ ในทุกรูป ก็แค่อยากแชร์สิ่งที่เราได้ตกตะกอนมาจากวันนั้นให้ทุกคนได้รับรู้ ถ้าสุดท้ายแล้วมันจะไปกระทบใจใครได้ แม้เพียงแค่ 1 คนก็ตาม ก็จะรู้สึกดีใจมาก และได้แต่หวังว่า 1 คนนั้นจะสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงคนข้าง ๆ ของเขาเองได้อีกเช่นกัน 

ประโยคหนึ่งในโพสต์เฟซบุ๊คของเธอที่สะท้อนความจริงได้ดี คือ “ถ้าเราเป็นปลา เราเจ็บใจมากอะ ขยะก็ไม่ได้สร้าง มาจากคนทั้งนั้น แต่ตอนทิ้งดันมาทิ้งที่บ้านเรา อยู่ของเรากันมาดี ๆ ต้องมาเห็นเพื่อน ๆ ตายเพราะขยะพลาสติกอะไรก็ไม่รู้” ตอนนั้นเธอรู้สึกยังไง 

ไม่รู้จะพูดอะไรแทนได้ พูดไปสิ่งที่พูดอาจจะไม่ได้ครึ่งถึงสิ่งที่เพื่อนร่วมโลกเรารู้สึกด้วยซ้ำ แต่เคยได้ยินคำพูดหนึ่งนานมาแล้ว แต่มันติดอยู่ในใจเรามาตลอดคือ Animals never take more than they need เชื่อว่าประโยคนี้น่าจะทำให้คนที่ได้ผ่านมาอ่านได้เห็นและเข้าใจต่อได้ทันทีว่า สัตว์ทุกตัวที่ never take more than they need สมควรได้รับผลกระทบที่พวกเขากำลังได้รับอยู่หรือยัง

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม