แม้ประเทศไทยอยู่ในช่วงคลายล็อกดาวน์ ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่ความเจ็บปวด การดิ้นรน และการแบ่งปันของผู้คนมหาศาลในช่วงวิกฤต Covid-19 จะเป็นที่จดจำ ดังเช่นเรื่องราวของชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ในช่วงที่ผ่านมา

ภาพชาวประมง

ตามปกติ ชาวประมงพื้นบ้านเลี้ยงชีพด้วยการออกเรือเล็กตามชายฝั่ง ไปหาปลาทู ปูม้า กุ้ง และกั้ง มาส่งขายตามตลาดและแพปลาในชุมชน แต่ในช่วงล็อกดาวน์ พวกเขาไม่สามารถขายผลผลิตได้ วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เล่าว่าตลาดมีคนจับจ่ายใช้สอยน้อย แพปลาที่เคยรับซื้อก็หยุดกิจการ ชาวประมงไม่มีตลาดขาย อาหารทะเลสดที่ยังขายอยู่ก็ได้ราคาต่ำลงกว่าครึ่งหนึ่ง เพราะต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น

“ชาวประมงยังมีอาหารเพราะยังจับปลาได้ แต่ไม่มีเงินใช้ในชีวิตประจำวัน” วิโชคศักดิ์บอก

ในการฝ่าวิกฤต Covid-19 ครั้งนี้ งานแรกของสมาคมรักษ์ทะเลไทย คือการประสานแหล่งรับซื้อปลาในราคาเป็นธรรมราว 10 จุด ให้ชาวประมงได้ขายผลผลิต โดยเป็นกลุ่มชาวบ้านที่รวบรวมและแปรรูปอาหารทะเลขายให้ผู้บริโภคโดยตรง เช่น ‘ร้านคนจับปลา’ ที่ทางสมาคมจัดระบบให้ชาวประมงพื้นบ้านจัดการผลผลิตเอง

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย

วิโชคศักดิ์เล่าว่าเขาได้นึกถึงคนกลุ่มอื่นๆ ที่ลำบากในวิกฤตนี้ด้วย จึงทำโครงการ “อาหารทะเลจากชาวประมงพื้นบ้านสู้โควิด – 19” โดยในเฟสแรก ทางสมาคมจัดสรรทุนมาซื้อปลาจากชาวประมง 1 ตันไปให้ผู้พิการทางสายตา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป และองค์การอ็อกแฟม

โครงการนี้ได้ขยายเป็นเฟสต่อมา เรียกว่า “ทูตอาหารทะเล ส่งปลาจากชุมชนถึงผู้เสียสละ” เชิญชวนบุคคลทั่วไปร่วมบริจาคคนละ 150 บาท เมื่อวันที่ 17 เมษายน – 15 พฤษภาคม เพื่อซื้ออาหารทะเลจากชาวประมงพื้นบ้าน ส่งให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ต้องทำงานหนักในสถานการณ์โรคระบาด โครงการนี้รวบรวมเงินบริจาคได้ 58,943 บาท นำไปซื้อปลา 1 ตันจากชุมชนประมงพื้นบ้านหลายพื้นที่ในภาคใต้ มาแพ็คทั้งแบบสดและแบบแปรรูปเป็นอาหารพื้นบ้าน เช่น ปลาทูต้มหวาน ส่งให้บุคลากรทางการแพทย์จำนวน 509 คนที่ลงทะเบียนออนไลน์ร่วมโครงการ

ร้านคนจับปลา จ.นครศรีธรรมราช บรรจุสินค้าเพื่อส่งให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์

จากเงิน 150 บาทของแต่ละคน กลายเป็นอาหารพร้อมค่าขนส่ง และสุดท้ายเปลี่ยนเป็น “กำลังใจ” อันล้ำค่าสำหรับทั้งชาวประมงที่ได้ขายผลผลิต และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่เผชิญงานหนัก

“พอส่งปลาไป เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เขาก็ถ่ายรูปส่งมาให้ หรือโพสต์ขอบคุณว่าปลาน่ารักมาก วัตถุประสงค์เราไม่ใช่แค่ให้เขาอิ่มท้องแต่ให้เขาใจชื้น แม้เขาจะมีกำลังซื้อ แต่ก็ต้องการกำลังใจ” วิโชคศักดิ์บอก

ทางสมาคมยังคงเดินหน้าโครงการเฟสถัดไปในเดือนมิถุนายน โดยนำไปซื้อปลาอีก 1 ตัน จากชาวประมง เพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนอาหาร เช่น คนจนเมือง คนไร้บ้าน ผู้พิการ ส่งผ่านไปยัง มูลนิธิกระจกเงา และ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งจะช่วยกระจายอาหารต่อไป ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้ทางเพจของสมาคม www.facebook.com/thaiseawatch

หากสิ้นสุดการรับบริจาค หรือพ้นช่วงวิกฤตไปแล้ว วิโชคศักดิ์มองว่า การขายปลาจากชาวประมงพื้นบ้านถึงมือผู้บริโภคโดยตรงเช่นนี้ จะเติบโตต่อไปได้ เหตุผลหนึ่งคือความนิยมของการซื้อขายออนไลน์ที่มากขึ้นกว่าที่เคยเป็น

“สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอน ส่งผลต่อทั้งฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภค ผมเชื่อว่าชุมชนประมงพื้นบ้านจะพยายามขายสินค้าสู่ผู้บริโภคด้วยตัวเองมากขึ้น ยุคนี้การสื่อสารง่ายขึ้น เขามีศักยภาพที่จะผลิตและขายออนไลน์มากขึ้น”

นอกจากนี้ จุดขายของสินค้าจากชาวประมงคือความสด สะอาด ไม่ใช้สารฟลอมารีน เพราะการขนส่งถึงมือผู้บริโภคนั้น จะสั้นกว่าอาหารทะเลที่ผ่านคนกลางทั่วไป ทั้งยังใช้วิธีจับปลาแบบพื้นบ้านที่ไม่ทำลายระบบนิเวศในทะเล วิโชคศักดิ์มองว่าเรื่องเหล่านี้อาจโน้มน้าวให้ผู้บริโภคหันมาอุดหนุนชาวประมงพื้นบ้านมากขึ้น

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ผลักดันเขตคุ้มครองทางทะเล

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม