เมื่อเหมืองมา

เป็นเวลากว่า30 ปีที่หมู่บ้านกะเหรี่ยงโปว์ที่ชื่อว่า”กะเบอะดิน” ได้รับรู้เรื่องราวของ“เหมือง” ซึ่งในความเข้าใจของคนในชุมชนคือเหมืองจะเข้ามาให้เงินและหมู่บ้านจะได้รับการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไม่เพียงเท่านั้นสิ่งของที่เป็นที่ต้องการบนดอยสูงที่มีอากาศหนาวเย็นคือ เครื่องนุ่งห่มกันหนาวผ้าห่มเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่คนในพื้นที่ต้องการ สิ่งเหล่านี้เป็นที่คาดหวังว่าจะได้รับจากผู้ที่ต้องการสัมปทานพื้นที่แห่งนี้เพื่อทำเป็นเหมือง

แอ่งกะเบอะดินแห่งนี้มีทรัพย์ในดินที่เรียกว่า “ถ่านหิน” อยู่ใต้ดินและปรากฏให้เห็นเด่นชัดที่บริเวณห้วยผาขาวลำห้วยใหญ่สายสำคัญที่มีจุดเริ่มต้นจากผาขาวไหลผ่านหลายหมู่บ้าน 

ถ่านหินที่พบในหมู่บ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

อาหารดีในกะเบอะดิน

หมู่บ้านกะเหรี่ยงที่ยังคงวิถีดั้งเดิมที่นี่ยังชีพด้วยการทำไร่หมุนเวียน ปลูกสารพัดพืชพันธุ์ไว้เพื่อแบ่งกันในหมู่เพื่อนฝูงและเครือญาติ วิถีการเพาะปลูกของพวกเขาสะท้อนการรักษาแหล่งอาหารไว้ได้อย่างอุดมสมบูรณ์

พืชผักที่เก็บได้ในไร่หมุนเวียนของเกษตรกร

ส่วนรายได้ทางเศรษฐกิจของคนในชุมชนกะเบอะดินนั้นพวกเขาทำการเกษตรโดยการปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างมะเขือเทศ ฟักทอง กะหล่ำปลี และพริก เป็นต้น ผลิตผลเหล่านี้ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญบนโต๊ะอาหารหลายเมนูของคนพื้นราบ

ส่วนประกอบสำคัญของการเพาะปลูกคือ “น้ำ”

“ถ้าน้ำดีแล้ว ผลผลิตถึงจะดี”  เป็นคำกล่าวของชาวบ้านผู้ที่ทำอาชีพเพาะปลูก อมก๋อยเป็นอำเภอทางตอนเหนือที่ขึ้นชื่อว่าเป็นต้นน้ำหรือต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสายสำคัญ

เกษตรกรปลูกมะเขือเทศต่อท่อน้ำมาจากลำห้วยเพื่อใช้ในไร่มะเขือเทศ

น้ำที่ถูกใช้ในหมู่บ้านกะเบอะดินมีหลายสาย

แหล่งต้นน้ำจากดอยพุยเป็นแหล่งน้ำที่ถูกเชื่อมต่อผ่านท่อมายังวัดแม่อ่างขาง พรานโบ่ย คือคนสำคัญของหมู่บ้านที่ทำหน้าที่ดูแลท่อส่งน้ำจากต้นทางมายังปลายทางให้คนในหมู่บ้านทุกคนได้เข้าถึงน้ำสะอาดที่ใช้ในการอุปโภคและบริโภครวมถึงใช้ในการเกษตร โดยจะใช้ถังขนาดใหญ่มาบรรทุกน้ำที่วัดไปใช้ในสวนที่ไม่มีน้ำเพียงพอและบ้านทุกหลังในชุมชน จะมีท่อน้ำที่ต่อไปยังบ้านแต่ละหลัง น้ำที่ชาวบ้านใช้ล้วนมาจากน้ำสายนี้ที่เย็นชื่นใจ เรียกว่า”น้ำประปาภูเขา” โดยสิ่งตอบแทนที่พรานโบ่ยจะได้รับจากการดูแลประปาภูเขาคือข้าวหนึ่งถัง ทุกทุกปีทุกบ้านจะต้องให้ข้าวตอบแทนการดูแลแก่พรานโบ่ย

พรานโบ่ย ผู้ดูแลประปาภูเขาในหมู่บ้านกะเบอะดิน

นอกจากแหล่งน้ำจากดอยพุยแล้ว น้ำจากห้วยมะขามยังเป็นน้ำสายสำคัญที่อยู่คู่กับบ้านกะเบอะดิน ต้นกล้วยต้นใหญ่หลายต้นมีน้ำซับน้ำซึมออกจากโคนต้น เป็นต้นทางที่เดิมทีกิจกรรมของคนในหมู่บ้านจะต้องไปอาบน้ำและหาบน้ำขึ้นมาใช้ในครัวเรือนก่อนที่จะมีระบบประปาภูเขาเข้ามา ปัจจุบันห้วยมะขามถูกใช้เพื่อทำการเกษตรหล่อเลี้ยงแปลงนาและพืชผลในแปลงที่อยู่ถัดลงมา

ต้นน้ำของห้วยมะขาม จุดเริ่มของตาน้ำเป็นบริเวณที่มีกอต้นกล้วยเติบโต

ถัดมาคือห้วยผาขาวที่เป็นแหล่งน้ำสายใหญ่ไหลผ่านแปลงนาข้าวสวนฟักทองและสวนมะเขือเทศในพื้นที่บ้านกะเบอะดิน ไม่เพียงแปลงพื้นที่ที่อยู่ติดน้ำบริเวณลำน้ำเท่านั้น แต่มีหลายแปลงที่ใช้น้ำสายนี้โดยการต่อท่อไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูก น้ำสายสำคัญยังเป็นน้ำสะอาดให้สัตว์เลี้ยงราคาดีอย่างวัวลุ่มน้ำกิน วัวในหมู่บ้านแห่งนี้เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่เป็นที่นิยมเลี้ยงกันมากด้วยพื้นที่และบริเวณที่เหมาะสมแก่การเลี้ยง โดยน้ำสายนี้ไหลไปลงที่อำเภอสบเมยจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผ่านนาลุ่มน้ำป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์และพื้นที่เลี้ยงวัวจำนวนมากที่ใช้ประโยชน์จากสายน้ำแห่งนี้

ห้วยผาขาวเป็นแหล่งน้ำสำหรับการปลูกพืชผลหลายชนิด เช่น ข้าว ฟักทองและมะเขือเทศ

เมื่อน้ำห้วยมะขามและห้วยผาขาวไหลมาบรรจบในแปลงเหมือง

จุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของการเพาะปลูกในบริเวณดังกล่าวคือผลผลิตทางการเกษตร “หน้าแล้งไม่มีมะเขือเทศที่ไหนมีแค่กะเบอะดินแค่ที่เดียว” คำพูดของผู้รับซื้อมะเขือเทศเจ้าดังที่เข้ามาเหมาสวนมะเขือเทศตอกย้ำให้เห็นว่า น้ำในกะเบอะดินทำให้ที่นี่เป็นแหล่งปลูกมะเขือเทศแห่งหนึ่งที่สำคัญของประเทศไทย “จากดอยสู่จานคนทานมะเขือเทศต้องรู้” ว่าจากนี้กะเบอะดินกำลังจะถูกทำลายฐานการเพาะปลูกสำคัญที่มาของแหล่งรายได้

“ปีนี้คนบ้านกะเบอะดินออกรถใหม่ป้ายแดงเกือบ20 คัน” ผู้นำหมู่บ้านย้ำชัดว่าในช่วงที่มะเขือเทศราคาขึ้นสูงไปถึงกิโลกรัมละกว่า 40 บาท ทำให้ชาวบ้านได้รับเงินก้อนพอที่จะผ่อนและซื้อยานพาหนะที่ใช้อำนวยความสะดวกในการทำการเกษตรได้

กะเบอะดิน ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอน EIA
ร่วมจับตาโครงการเหมืองถ่านหินกับชุมชนกะเบอะดิน

ร่วมติดตามความคืบหน้าการคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยผ่าน Facebook Page โดยชุมชนกะเบอะดิน

ติดตาม

นอกจากรายได้จากการเพาะปลูกแล้ว การขนส่งผลิตผลทางการเกษตรออกไปสู่ตลาดยังสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน รถยนต์ที่เดินทางเข้า-ออกบนเส้นทางสูงชันเพื่อนำส่งผลิตผลทางการเกษตรไปยังจุดซื้อขายหรือที่เรียกว่าโกดัง เป็นศูนย์กระจายผลผลิตของบ้านกะเบอะดินไปยังหลายแห่งทั่วไปประเทศ ปลายทางถูกกระจายผ่านตลาดขายส่งพืชผลขนาดใหญ่และส่งกระจายต่อไปหลายจังหวัด และเดินทางไปถึงแม่ค้าปลีกรายย่อยในตลาดและหยุดอยู่ที่ผู้ประกอบอาหารและผู้บริโภค

การเก็บมะเขือเทศจะมีผู้รับเหมาซื้อมะเขือเทศทั้งไร่ จะมีการคัดและเก็บมะเขือเทศเป็นตะกร้าก่อนขนส่งลงไปยังพื้นที่ด้านล่าง

คุ้มแล้วหรือที่จะเอาพืชผลและวิถีทางการเพาะปลูกของคนกะเบอะดินไปแลกกับถ่านหิน?

ที่นี่เป็นหมู่บ้านเป้าหมายของบริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด ที่ต้องการเข้ามาทำสัมปทานเพื่อขุดเหมืองถ่านหินซับบิทูมินัส ถ่านหินที่ขุดได้จะถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทยจำกัด (มหาชน) เส้นทางของถ่านหินนั้นเมื่อขุดจากอมก๋อยแล้วจะถูกส่งไปที่จังหวัดลำปาง เพราะเหมืองถ่านหินแม่ทานที่เป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักที่ถูกใช้ในบริษัทนั้นกำลังจะหมดลง อมก๋อยจึงเป็นทางเลือกที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลที่จะเดินทางจากเชียงใหม่สู่ลำปาง คำถามคือใครกันที่ได้รับผลประโยชน์?

งานเสวนา “เหมืองแร่ถ่านหิน : 1 ปีของการต่อสู้และก้าวย่างของคนอมก๋อย”

ผลกระทบจากการขุดถ่านหินขึ้นมาใช้จะตกอยู่กับชาวบ้าน

เหตุผลสำคัญของการต่อสู้มาตลอดระยะเวลา 1 ปีนั่นคือชาวบ้านต้องการชี้ให้เห็นว่าถ่านหินจะทำให้เกิดผลกระทบในดินแดนอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้

“กะเบอะดินดินแดนมหัศจรรย์” คือชื่อเฟสบุคเพจที่ใช้สื่อสารเรื่องราวผลกระทบและการต่อสู้เพื่อคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหิน เกิดขึ้นโดยกลุ่มเยาวชนบ้านกะเบอะดิน พวกเขาได้ถ่ายทอดสะท้อนเรื่องราววิถีความเป็นกะเหรี่ยงเพื่ออยากจะบอกเล่าให้กับคนภายนอกว่าพวกเขาไม่ต้องการให้เกิด“โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย” เพราะวิถีของกลุ่มเยาวชนถูกยึดโยงผ่านระบบเครือญาติการช่วยเหลือกันในหมู่เครือญาติและเพื่อนฝูงในการทำการเกษตร ชุมชนของพวกเขาจึงเปรียบเสมือนครอบครัวขนาดใหญ่ นั่นทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ในวิถีและทำความเข้าใจว่าทรัพยากรที่มีอยู่นั้นมีความสำคัญ

ตัวแทนจากกลุ่มเยาวชนในหมู่บ้านกะเบอะดินพูดถึง “แผนที่น้ำ” และการใช้น้ำของหมู่บ้าน

การรวมตัวกันของกลุ่มเยาวชนในส่วนของการพัฒนางานข้อมูลเพื่อคัดค้านโครงการที่จะเปลี่ยนหมู่บ้านไป การต่อสู้นี้เริ่มจากคนตัวเล็กแต่ใจใหญ่ พวกเขาใช้เวลากว่า 1 ปีในการเก็บข้อมูลและทำแผนที่ที่ชื่อว่า“ที๊งคูเท๊ะฌี้” เพื่อที่จะบอกเรื่องราวอัตลักษณ์ของพวกเขา รวมถึงคนรุ่นพ่อแม่ของเขาผ่านแผนที่นี้ โดยทรัพยากรน้ำคือหัวใจสำคัญของกระบวนการผลิตในหมู่บ้านแห่งนี้อย่างเป็นรูปธรรม เกี่ยวโยงกันกับวิถีความเป็นอยู่รวมทั้งรายได้ที่มาจากการผลิตในฐานะของเกษตรกรที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่ต่างยึดโยงกับแหล่งน้ำ

กะเบอะดิน ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอน EIA
ร่วมจับตาโครงการเหมืองถ่านหินกับชุมชนกะเบอะดิน

ร่วมติดตามความคืบหน้าการคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยผ่าน Facebook Page โดยชุมชนกะเบอะดิน

ติดตาม

ถ้าถ่านหินสกปรกถูกขุดมาใช้ จะเกิดอะไรขึ้น

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นในวงจรการผลิตมะเขือเทศหากโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยเกิดขึ้น จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงสายน้ำสายสำคัญอย่างห้วยผาขาว โครงการเหมืองถ่านหินเปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่ทำลายทรัพยากรของกะเบอะดิน

ไม่เพียงเท่านั้นแต่เส้นทางการเดินทางของถ่านหินจากกะเบอะดินที่จะขนส่งผ่านหลายหมู่บ้านจะเป็นผลกระทบสำคัญของผู้ใช้รถใช้ถนนโดยเฉพาะรถรับ-ส่งนักเรียน ผู้ที่ต้องการเข้าถึงบริการสุขภาพที่สถานีอนามัย ผู้คนที่ไปโบสถ์ตลอดจนการขนส่งพืชผลทางการเกษตรที่มีทั้งคนในหมู่บ้านและคนจากภายนอกที่เข้า-ออกในพื้นที่ คงจะไม่ดีแน่หากเส้นทางนี้มีรถบรรทุกถ่านหินขนาดใหญ่มาวิ่งร่วมกันในถนนเส้นทางลาดชันและมีผู้ใช้เส้นทางจำนวนมาก

หนึ่งปีแห่งการต่อสู้ที่ผ่านมาชาวกะเบอะดินและพี่น้องชุมชนข้างเคียงได้ร่วมกันแสดงจุดยืนในนามของคนอมก๋อยว่าพวกเขาเหล่านี้ไม่ต้องการให้เกิดการขุด“ถ่านหิน” เชื้อเพลิงที่จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง 

“อมก๋อย” ไม่ได้เป็นเพียงแค่เมืองอากาศดีเท่านั้น แต่อมก๋อยมี“ที๊งคูเท๊ะฌี้ (ต้นน้ำดีที่อมก๋อย)” ที่พวกเขาจะต้องปกป้องและรักษาไม่ให้เกิดโครงการที่ทำลายวิถีความเป็นอยู่ทุกด้าน

“กะเบอะดินแมแห้แบถ่านหิน” แปลว่า กะเบอะดินไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหิน