ดังที่รับรู้กันว่า รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินมาตรการตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 โดยยกเลิกพลาสติกใช้แล้วทิ้งซึ่งรวมถึงถุงพลาสติกหูหิ้วนับตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา และมุ่งลดขยะพลาสติกลงร้อยละ 30 ภายในสิ้นปี 2563 นี้
แต่การแพร่ระบาดของ Covid-19 และผลจากมาตรการล็อกดาวน์ได้ผลิกผันสถานการณ์ขยะพลาสติกในประเทศไทยโดยสิ้นเชิง สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่าปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นจาก 2,120 ตันต่อวันในปี 2562 เป็น 3,440 ตันต่อวัน ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน 2563 เฉพาะเดือนเมษายนอย่างเดียว การเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกคิดเป็นเกือบร้อยละ 62
ในสถานการณ์เช่นนี้ แม้จะกล่าวกันว่า พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย แต่เราต้องไม่ลืมว่า ขยะพลาสติกคือปัญหามลพิษ(plastic pollution) ไม่ใช่ปัญหาขยะ และเราต้องเน้นการแก้ปัญหาตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์พลาสติกตั้งแต่การผลิตไปจนถึงเมื่อพลาสติกหมดอายุการใช้งาน
บทความนี้จะชี้ให้เห็นว่า มีความท้าทายประการใดและสิ่งที่จะต้องทำคืออะไร หากสังคมไทยต้องการจะปลดแอกจากวิกฤตมลพิษพลาสติก (Break Free From Plastic Pollution)
ความท้าทาย : รัฐบาลขาดความมุ่งมั่นและเจตจำนงทางการเมือง
จริงอยู่ที่รัฐบาลกำลังดำเนินมาตรการภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 ตลอดจนนโยบาย แผนแม่บท และมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการดำเนินงานภายใต้กรอบการปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล ในขณะที่อีกหลายภาคเอกชนริเริ่มแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
อย่างไรก็ตาม นโยบายทั้งหลายเหล่านี้อยู่บนฐานความสมัครใจ(voluntary) อาศัยความร่วมมือร่วมใจและจิตสำนึก โดยไม่มีผลบังคับในทางกฏหมาย(legally-binding) ตลอดจนแรงจูงใจเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของสาธารณะชนอย่างแท้จริง ดังที่กรีนพีซมีข้อเสนอต่อ Roadmap การจัดการพลาสติก ที่นี่
- อ่าน บทวิพากษ์ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ.2561-2573)
- อ่าน จัดการปัญหาขยะก่อนลงถังด้วยหลัก 7R ทางเลือกเพื่อหลีกเลี่ยงมลพิษพลาสติก
ดังนั้น เจตจำนงทางการเมืองอันแรงกล้าของรัฐบาลเพื่อออกแบบระบบกฏหมายสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย และพัฒนาเครื่องมือต่างๆ ต่อยอดจากฐานทางกฏหมายที่เข้มแข็งอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จึงเป็นก้าวแรกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของทางออกจากวิกฤตมลพิษพลาสติก
ความท้าทาย : นโยบายที่มีอยู่ตามไม่ทันกับวิกฤตมลพิษพลาสติก
สารจากรายงาน “Breaking the Plastic Wave” ของ The PEW Charitable Trust ซึ่งวิเคราะห์โดยใช้แบบจำลองระดับโลกเป็นครั้งแรก ระบุชัดเจนว่า ไม่มีทางออกจากวิกฤตมลพิษพลาสติกหากไม่ให้ความสำคัญต่อการลงมือปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดใช้พลาสติกและการผลิตพลาสติก
ประเด็นสำคัญจากรายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า คำมั่นสัญญาของภาคอุตสาหกรรมและนโยบายรัฐบาลที่มีอยู่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเพื่อจัดการกับมลพิษพลาสติกนั้นไม่เพียงพอ รายงาน Breaking the Plastic Wave ย้ำว่า แผนการขยายอุตสาหกรรมพลาสติกจะยิ่งทำให้เกิดมลพิษพลาสติก การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและความเสียหายที่ไม่อาจฟื้นคืนได้ต่อระบบนิเวศทะเลและมหาสมุทรมากขึ้น
หลายคนอาจเห็นข่าวล่าสุดที่ระบุว่า สหรัฐอเมริกาสร้างขยะพลาสติก 42 ล้านตัน ซึ่งมากที่สุดในโลก ในขณะที่ไทยขึ้นแท่นประเทศที่สร้างขยะพลาสติกต่อประชากร(กิโลกรัมต่อปี)สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก และมีขยะพลาสติกในขยะทั่วไปในสัดส่วนมากเป็นอันดับ 3 ของโลกตัวเลขดังกล่าวข้างต้นมาจากงานวิจัยเรื่อง “The United States’ contribution of plastic waste to land and ocean” ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ฉบับวันที่ 30 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยทำการวิเคราะห์จากฐานข้อมูลของธนาคารโลกที่เก็บรวบรวมจาก 217 ประเทศ พบว่าในปี พ.ศ. 2559 ปริมาณขยะพลาสติกในสหรัฐอเมริกาที่หลุดออกสู่สิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเลในปี พ.ศ.2559 มีมากกว่า 5 เท่าเมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2553 ถือว่าเป็นประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกออกสู่ทะเลมากที่สุดในโลก ขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนลงมาเป็นอันดับ 2 จากที่เคยเป็นอันดับ 1 มาก่อน
ประเทศ | ปริมาณขยะพลาสติก(ตัน/ปี) | สัดส่วนขยะพลาสติกในขยะทั่วไป (%) | การเกิดขยะพลาสติกต่อคน (กิโลกรัมต่อปี) |
สหรัฐอเมริกา | 42,027,215 | 12.9 | 105.30 |
สหราชอาณาจักร | 6,471,650 | 20.2 | 98.66 |
เกาหลีใต้ | 4,514,186 | 24.3 | 88.09 |
เยอรมนี | 6,683,412 | 13.3 | 81.16 |
ไทย | 4,796,494 | 17.6 | 69.54 |
มาเลเซีย | 2,058,501 | 15.0 | 67.09 |
กรีนพีซมีข้อสังเกตต่อข้อมูลที่นำมาอ้างอิงในงานวิจัยในวารสาร Science Advances โดยเฉพาะกรณีที่ระบุว่าปริมาณขยะพลาสติกของไทยอยู่ที่ 4,796,494 ตัน/ปี (หรือราว 69.54 กิโลกรัม/ปี/คน) เมื่อเทียบกับฐานข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษที่ระบุว่าการเกิดขยะพลาสติกอยู่ที่ 2 ล้านตันต่อปี (หรือราว 29 กิโลกรัม/ปี/คน) ดังนั้น ไทยจะไม่อยู่ในอันดับ 5 ของโลกที่สร้างขยะพลาสติกต่อหัวประชากรมากที่สุด
แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร นี่ควรเป็นเสียงปลุกให้ภาคการเมืองและรัฐสภาไทยตื่นขึ้น หากต้องการริเริ่มป้องกันมลพิษพลาสติกที่ปลดปล่อยสู่ระบบนิเวศทะเล/มหาสมุทรและสิ่งแวดล้อมของเรา แนวนโยบายที่จำเป็นคือการยุติการขยายการผลิตพลาสติก
สิ่งที่จะต้องทำ : ออกกฏหมายเพื่อจัดการและป้องกันมลพิษพลาสติกบนหลักการ “การผลิตที่สะอาด(clean production) และ “การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต(Extended Producer Responsibility)”
บนฐานความคิดที่ว่า เราสามารถประสบความสำเร็จในการจัดการสิ่งแวดล้อมและป้องกันมลพิษควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน กรีนพีซจึงเสนอให้มีการจัดทำ “กฏหมายจัดการและป้องกันมลพิษพลาสติก(Break Free From Plastic Pollution Act)” ขึ้น
กรอบกฏหมายนี้จะวางอยู่บนแนวคิด “การผลิตที่สะอาด” ซึ่งประกอบด้วย
(1) หลักการระวังไว้ก่อน (The Precautionary Principle) นิยามว่า “ในการทำกิจกรรมใดๆ (ในที่นี้คือกระบวนการผลิตพลาสติก) ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนั้น ควรนำมาตรการระวังไว้ก่อนมาใช้ แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุและผลกระทบอาจยังพิสูจน์ไม่ได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์” ภายใต้หลักการนี้ความรับผิดชอบจึงตกอยู่กับผู้ประกอบการที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าวิธีประกอบการของตนปลอดภัยที่สุด แทนที่ผู้ได้รับผลกระทบหรืออาจได้รับผลกระทบจะต้องเป็นผู้พิสูจน์ว่าการประกอบกิจกรรมนั้นๆ ก่อให้เกิดอันตรายแก่ตน
(2) หลักการป้องกัน (The Preventive Principle) การป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวิธีที่ถูกกว่าและมีประสิทธิภาพกว่าความพยายามจัดการหรือ “ฟื้นฟู” ความเสียหายนั้น การป้องกันทำได้โดยการตรวจสอบทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาของวัตถุดิบไปจนถึงการกำจัดเมื่อเลิกใช้ หลักการป้องกันกระตุ้นให้เกิดการหาทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดขึ้น
(3) หลักการประชาธิปไตย (The Democratic Principle) การผลิตที่สะอาดเกี่ยวข้องกับทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางอุตสาหกรรมซึ่งได้แก่ คนงาน ผู้บริโภค และชุมชน การเข้าถึงข้อมูลและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การผลิตที่สะอาดจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อคนงานและผู้บริโภคมีส่วนร่วมตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิตอย่างแท้จริง
(4) หลักการแบบองค์รวม (The Holistic Principle) รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุ พลังงาน และผู้คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าทุกชิ้นที่เราซื้อ การเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้จะเอื้อให้เกิดการสร้างแนวร่วมเพื่อการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนขึ้นได้ เราจะไม่สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาจากการแก้ปัญหาเดิม หรือนำความเสี่ยงจากคนกลุ่มหนึ่งไปยังอีกกลุ่มหนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงพลาสติก เราต้องพิจารณาถึงต้นทุนผลกระทบภายนอกที่สังคมโลกต้องแบกรับซึ่งมีการประเมินว่าอยู่ที่ประมาณ 1,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน (350 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี) จากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ต้นทุนด้านสุขภาพ ค่าใช้จ่ายในการเก็บรวมรวมและมลพิษพลาสติกในทะเล
หัวใจสำคัญของกรอบกฏหมายเพื่อจัดการและป้องกันมลพิษพลาสติกคือ การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ในปี 2552 กรีนพีซเสนอผลการวิจัยเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตมาประยุกต์ใช้ในการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ซึ่งต่อยอดไปสู่การยกร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น พ.ศ.…. และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 โดยกรมควบคุมมลพิษ
“การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต” จะต้องเป็นหลักการสำคัญที่มีผลบังคับใช้ทางกฏหมายในการจัดการและป้องกันมลพิษพลาสติกของประเทศไทย ซึ่งเราจะนำมาเสนอในรายละเอียดในโอกาสต่อไป
ชวนเล่น “สืบจากขยะ ใครกันที่ต้องรับผิดชอบ” แพลตฟอร์มใหม่เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับขยะพลาสติก พร้อมร่วมหาคำตอบว่าใครบ้างที่มีส่วนรับผิดชอบในปัญหานี้ และจะแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติกอย่างไร
การรีไซเคิลไม่ไช่ทางออกของปัญหา พลาสติกกว่าร้อยละ 90 ที่ถูกผลิตขึ้น ไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิล แต่ถูกนำไปที่หลุมฝังกลบหลุดออกสู่สิ่งแวดล้อม หรือถูกนำไปเผาและและปล่อยมลพิษกลับเข้าสู่สิ่งแวดล้อม เราไม่อาจกู้วิกฤตมลพิษพลาสติกด้วยเพียงแค่การรีไซเคิล ถึงเวลาแล้วที่บริษัททั้งหลายต้องบอกลาพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวไปพร้อมกัน
มีส่วนร่วม