กาตาลิมปิค (Gatalympic)” เป็นชื่อการแข่งขันกีฬาอันมีเอกลักษณ์ของเมืองคาชิมะ จังหวัดซากะ ประเทศญี่ปุ่น โดยการแข่งขันกีฬาจะจัดอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่าเป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำ” และมีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2528 กีฬาที่เล่นนั้นก็มีตั้งแต่ “มนุษย์ปลาตีน หรือ นินเก็งมุตสึโกโระ” ไปจนถึงการขี่จักรยานบนไม้กระดานอันจิ๋ว

ผู้คนมีใบหน้าที่เปื้อนโคลนแต่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม ได้สัมผัสกับพื้นดินธรรมชาติและเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ตรงนั้น ในภายหลังจากที่งานแข่งขันดังกล่าวได้รับความนิยมมากขึ้น “..พื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองข้ามไม่แยแสก็ได้รับการดูแลอย่างดีและยังเป็นสัญลักษณ์ของเมืองดังกล่าวที่สำคัญและมีค่า…”

นอกจากความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมอย่างตัวอย่างขั้นต้นแล้ว พื้นที่ชุ่มน้ำยังมีความสำคัญอื่นๆ อีกมากมาย

พื้นที่ชุ่มน้ำ

ในวันที่ 2  กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 ณ เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติได้ถือกำเนิดขึ้น โดยเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและยับยั้งการสูญเสียของพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยกำหนดให้มีการจัดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ประเทศไทยได้ลงนามอนุสัญญานี้เป็นประเทศลำดับที่ 110 เมื่อปีพ.ศ. 2541 ด้วยเหตุนี้ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกๆ ปีจึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้ทุกคนหันกลับมามองถึงความสำคัญของพื้นที่ดังกล่าว

“ป่าชายเลน” “พรุ” “ดอน” ล้วนเป็นชื่อภาษาไทยที่เราใช้เรียกพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งสิ้น โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีแรมซาร์ไซต์หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศทั้งหมด 14 แห่ง ที่ที่น่าจะรู้จักกันมากที่สุดก็น่าจะเป็น “ดอนหอยหลอด” ณ จังหวัดสมุทรสงครามนั่นเอง แต่เมื่อพูดถึงพื้นที่ชุ่มน้ำ เรามักจะนึกถึงภาคกลางถึงภาคใต้ แต่รู้หรือไม่ว่า ภาคเหนือเองก็มีพื้นที่ชุ่มน้ำเช่นกัน เช่น อุทยานแห่งชาติดอนอินทนนท์ บึงบอระเพ็ดและอื่นๆ

พื้นที่ที่เชื่อมต่อผืนดิน ผืนน้ำและท้องฟ้า

พื้นที่ชุ่มน้ำนั้น หากยกตัวอย่าง ให้เห็นง่ายๆ ก็เช่น พรุและป่าชายเลน เป็นต้น พื้นที่นั้นเป็นที่ที่สัตว์น้ำทั้งหลายมาฝากลูกหลานไว้ให้ดูแลจนกว่าจะเติบใหญ่ก่อนออกสู่โลกภายนอกหรือที่เราเรียกกันว่า “อนุบาลสัตว์น้ำ” ทั้งนี้เพราะพื้นที่ที่หากดูด้วยตาเปล่าก็จะเหมือนพื้นที่รกร้าง แต่ในความเป็นจริงแล้วอุดมไปด้วยแร่ธาตุ สารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเติบโตและให้นิเวศบริการครบทั้ง 4 ประเภท ได้แก่

  • บริการด้านการเป็นแหล่งผลิต (Provisioning services) คือ เป็นแหล่งที่คอยให้อาหารที่จำเป็นต่อการเติบโตของพืชพรรณและสิ่งมีชีวิตต่างๆ
  • บริการด้านการควบคุม (Regulating services) คือ ช่วยควบคุมกระแสน้ำ (เช่นเมื่อมีพายุหรือคลื่นแรง) และคุณภาพน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
  • บริการด้านวัฒนธรรม (Cultural service) คือ มีคุณค่าด้านจิตใจ เป็นแหล่งท่องเที่ยว
  • บริการด้านการสนับสนุน (Supporting services) คือ คอยสนับสนุนให้เกิดหรือดำรงอยู่ของวัฏจักรอื่นๆ  เช่น เป็นจุดเริ่มต้นของวัฎจักรอาหาร

เมื่อมีสัตว์เล็กอาศัยก็ย่อมมีสัตว์ใหญ่มาคอยควบคุมประชากร จึงไม่แปลกที่จะพบนกหลากหลายชนิดในพื้นที่ชุ่มน้ำหลายแห่ง นอกจากนกแล้วยังมีงูและโค กระบือที่มาแช่ตัวคลายร้อน

พื้นที่ชุ่มน้ำกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นอย่างที่เราทราบกันดีว่า จะทำให้เกิดภัยธรรมชาติอย่างพายุ น้ำท่วมบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นในบางพื้นที่ ในขณะที่บางพื้นที่จะทำให้ความแห้งแล้งขยับขยายหรือรุนแรงมากขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่า พื้นที่ชุ่มน้ำนั้นนับได้ว่าเป็นฮีโร่พิทักษ์และร่วมต่อสู้กับสภาวะนี้ด้วย

  • เสมือนลูกโป่งใบใหญ่ พื้นที่ชุ่มน้ำนั้นช่วยดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในชั้นดินไม่ให้ออกไปยังชั้นบรรยากาศ โดยพื้นที่ชุ่มน้ำกักเก็บประมาณ 10% ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดของโลก ดังนั้นหากพื้นที่ชุ่มน้ำถูกทำลาย ด้วยการทำให้เสื่อมสภาพลง ความสามารถในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านั้นย่อมลดลง ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกกักเก็บไว้ถูกปล่อยไปยังชั้นบรรยากาศ
  • พื้นที่ชุ่มน้ำโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีต้นไม้เยอะๆ อย่างป่าชายเลน จะช่วยลดทอนความรุนแรง ชะลอและซับคลื่นหรือน้ำท่วมให้เกิดขึ้นช้าลงและเบาลง
  • นอกจากน้ำท่วมแล้ว พื้นที่ดังกล่าวยังช่วยทดทอนความรุนแรงของพายุโดยเฉพาะพายุที่ซัดเข้าฝั่ง (Storm surge) และปกป้องแนวชายหาด
  • สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด พื้นที่ชุ่มน้ำช่วยในเรื่องการบรรเทาภัยแล้งด้วยเช่นกันด้วยการเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ โดยการปล่อยให้น้ำได้ไหลผ่านไปยังใต้ดิน ทำให้สัตว์เล็กสัตว์น้อยได้มีน้ำกินน้ำใช้ในยามที่ภัยแล้งมาเยือน

ผลกระทบต่อพื้นที่ชุ่มน้ำจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในขณะที่พื้นที่ชุ่มน้ำนั้นเป็นฮีโร่ช่วยต่อกรกับพายุ น้ำท่วมต่างๆ อันเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพื้นที่นี้ก็เป็นพื้นที่ที่อ่อนไหวต่อภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ทั้งจาก

  • พายุ ที่พัดเข้ามาทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำ
  • ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจะเป็นภัยต่อพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณชายฝั่ง
  • ในขณะที่อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ชุ่มน้ำบนบก

และนั่นทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำเสื่อมสภาพลงจนแทนที่จะเป็นพื้นที่กักเก็บแต่กลายเป็นพื้นที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

น้ำมือของมนุษย์

  • การเปลี่ยนพื้นที่มาทำเกษตร อุตสาหกรรมหรือแม้แต่การขยายเมืองโดยไม่มีนโยบาย การวางแผนและการบริหาร
  • การใช้น้ำจืดที่มากเกินไปจนมีน้ำจืดในปริมาณที่ไม่เพียงพอไหลลงสู่ชายฝั่งทะเล อันจะมีกระทบต่อการดำรงอยู่ของพื้นที่และระบบนิเวศในพื้นที่
  • การใช้สารเคมีในการทำเกษตรหรือมลพิษจากกิจกรรมอื่นๆ ตั้งแต่จากบนภูเขาไปจนถึงพื้นราบก็มีผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสารเคมีไหลลงสู่แม่น้ำหรือซึมลงดินจนถึงน้ำในชั้นใต้ดินที่ไหลลงสู่ทะเล
  • ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันมีส่วนมาจากกิจกรรมของมนุษย์

และยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกเช่น การตัดไม้ทำลายป่า ที่จะทำให้มีโคลนไหลลงมากับแม่น้ำด้วยในจำนวนที่มากจนเกินไป  การรุกรานของพืชหรือสัตว์ต่างถิ่นที่จะรบกวนระบบนิเวศและอื่นๆ

พื้นที่ชุ่มน้ำกับมนุษย์

พื้นชุ่มน้ำแห่งเล็กๆ ในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ล่าสุดที่ผู้เขียนมีโอกาสไปเยือนโดยไม่ตั้งใจ พื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ หากมองด้วยตาในตอนกลางวันจะเห็นเป็นพื้นที่โล่งๆ สีเขียวดูไม่มีอะไร จนคิดเพียงว่าน่าจะเป็นพื้นที่ที่ยังไม่ถูกใช้สอยประโยชน์แม้จะทราบมาบ้างว่าพื้นที่เช่นนี้มักเป็นพื้นที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของวัฏจักรชีวิตอื่นๆ


แต่เมื่อพลบค่ำมาถึง ความมืดที่เริ่มทำให้มองไม่เห็นภาพข้างหน้าอีกต่อไป พื้นที่เล็กๆ แห่งนั้นค่อยๆ มีชีวิตขึ้น ด้วยเสียงเล็กๆ จากแมลงและสัตว์ตัวน้อยที่บ้างก็เป็นเสียงที่แตกต่างจากในเมืองหลวง ซึ่งเสียงที่ได้ยินนั้นก็เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ตามแสงอาทิตย์ที่ลับขอบฟ้า


การที่พื้นที่ชุ่มน้ำถูกมองเป็นพื้นที่รกร้างและถูกทำลายไปด้วยการให้เหตุผลเช่นนั้น มีต้นตอปัญหาอันดาษดื่นเช่นเดียวกันกับปัญหาทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ นั่นคือ การไม่มองเห็นความเชื่อมโยงของ “เขา” กับ “เรา”​

และเมื่อไม่เห็นความเชื่อมโยงจึงมองไม่เห็นความสำคัญ ทั้งที่ตามจริงแล้วพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติที่ทำให้เราได้มีอาหารตามธรรมชาติกิน ทั้งยังเป็นผู้รักษาพันธุ์สัตว์ พันธุ์พืชอันเป็นสิ่งประกอบในระบบนิเวศที่เราเป็นหนึ่งในสมาชิก ทั้งยังเป็นผู้ปกป้องเราจากภัยธรรมชาติต่างๆ ดังที่กล่าวมา

สองมือของมนุษย์ที่สร้างปรากฏการณ์มาแล้วมากมาย ตั้งแต่การสร้างสัญลักษณ์ “0” และตั้งชื่อมันว่า “ศูนย์” จากความว่างเปล่า ทำให้เหล็กหลายตันขึ้นไปเหินบนฟ้า ทำให้กลางคืนมีแสงสว่างจากหลอดไฟ มนุษย์ที่ได้รับสมญานามว่ามีปัญญามากกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น เราเลือกได้ว่าจะใช้สองมือนั้นทำอะไร

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม