“ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฮ่องกง เกาหลี แอฟริกา อาร์กติก อเมริกากลาง อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน นอร์เวย์ เยอรมัน ฝรั่งเศส ตุรกี โรมาเนีย” นี่ไม่ใช่รายชื่อในลิสต์ ‘ย้ายประเทศ’ หากแต่เป็นบางส่วนของลิสต์แผ่นดินที่หนุ่ม กฤษณะเคยไปลงพื้นที่ทำงานรณรงค์สิ่งแวดล้อมมาแล้ว
จากหนุ่มใต้คนหนึ่งตัดสินใจการกระโดดลงเรือของกรีนพีซ ผจญภัยไปยังนานาประเทศ เพื่อเป็นแนวหน้าในการขับเคลื่อนงานรณรงค์ สู่ชายวัยกลางคนที่มุ่งมั่นทำงานด้านสิ่งแวดล้อม
นี่คือเรื่องราวการผจญภัยบนเส้นทางสีเขียวของเขากว่า 20 ปี
หนุ่มเริ่มจากใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป เกิดที่สุราษฏร์ธานี ย้ายมาอยู่ชุมพรได้สองปีแล้วเข้ามาเรียน ม.1 ที่กรุงเทพ แล้วอยู่เมืองกรุงเรื่อยมา ไม่ได้สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งเกิดพายุไต้ฝุ่นเกย์ถล่มชุมพร ขณะนั้นเขาในคาบนักศึกษาเป็นห่วงพ่อแม่ที่บ้าน และต้องการจะช่วยคนในชุมชน เลยตัดสินใจติดรถโครงการของมหาวิทยาลัยไปลงพื้นที่
“ช่วงนั้นการเดินทางไปชุมพรแทบเป็นไปไม่ได้ เราก็ลุยกันไปทำให้รู้จักคนทำกิจกรรมในชมรมขนาดนั้นเหตุการณ์นั้น” หนุ่มกล่าว
เหตุการณ์นั้นทำให้หนุ่มหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมชมรมอนุรักษ์ ชมรมอาสา ชมรมชาวเหนือ เป็นรองนายกองค์การนักศึกษา สนใจสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นในภายต่อมาถึงขนาดเคยเมลไปหากรีนพีซสากลมาแล้ว
“ก่อนหน้านั้นปี 2540 มีข่าวเรื่องล่าวาฬเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก ก็ส่งเมลไปถามว่าจะมีออฟฟิศในไทยเมื่อไหร่ เราสนใจอยากเข้าร่วม มันโดน” หนุ่มเล่าพร้อมแววตาเป็นประกาย
จุดเริ่มต้นการก้าวเข้ามาร่วมกับกรีนพีซของหนุ่ม จะว่าเป็นความบังเอิญก็ไม่เชิง “ปี 2545 เริ่มจากเจอพี่งิ้ม อาสาสมัครกรีนพีซรุ่นเก๋าเมื่อตอนไปเที่ยวป่าต้นน้ำแม่เงา แล้วมีโอกาสคุยถึงแวววงอนุรักษ์ในไทย พูดถึงองค์กรต่างๆขึ้นมา พี่งิ้มเลยชวนมาเป็นอาสาสมัครไกด์ทัวร์ช่วยงาน arctic sunrise ship tour ปี 2545 หลังจากนั้นก็ป้วนเปี้ยนอยู่ในแวดวงอาสาของกรีนพีซมาตลอด มีกิจกรรมอะไรก็ช่วย เพราะมีเทคนิคทางช่าง ช่วยกิจกรรมติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ซ่อมแซมต่างๆ มีอบรมขับเรือยางก็ไปร่วม ตอนนั้นตั้งตัวเองเป็นหัวหน้าทีมเรือยางประสานงาน เป็นเทรนเนอร์ระยะหนึ่ง”
เพราะได้มีโอกาสรู้จักคนใหม่ ๆ ได้ลงมือทำในสิ่งที่เราเห็นด้วยโดยการเผชิญหน้ากับผู้ก่อมลพิษโดยตรงทำให้เขาร่วมกิจกรรมเป็นอาสาสมัครในงานรณรงค์สิ่งแวดล้อมต่างๆของกรีนพีซยาวนานกว่า 5 ปี
“เจ้าหน้าที่ประจำก็จะโยนไอเดียมา อาสาสมัครก็มาคิดต่อแล้วเสนอไป ลุยกันตลอด ค่อนข้างมีอิสระ มันสนุก ได้ลองอะไรมากมาย มีกลุ่มคนที่คิดเหมือนกัน มีกลุ่มคนที่มีเป้าหมายเหมือนกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดกันได้ในแนวทางเดียวกัน และให้ความสำคัญกับอาสาสมัคร” เขาเล่า
แน่นอนว่าช่วงเวลา 5 ปีนั้น นอกจากจะเต็มไปด้วยแพชชั่น ความสนุกสนาน ความตื่นเต้นก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งเขาจำได้ไม่ลืม เรื่องราวเกิดขึ้นสมัยที่เขาเป็น onboard volunteer เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ลำเดิมซึ่งถือเป็นความฝันของอาสาสมัครส่วนใหญ่เลยก็ว่าได้ เขาโดนจับระหว่างการประท้วงที่ฟิลิปปินส์ ขณะที่พยายามเข้าไปในโรงไฟฟ้าเพื่อจะแขวนป้ายแบนเนอร์แคมเปญ #CleanEnergy
“ตอนโดนจับไม่ตื่นเต้น ตอนก่อนโดนจับสิตื่นเต้น มีการควักปืนออกมาขู่ เป็นที่โรงไฟฟ้า หัวหน้าทีมรักษาความปลอดภัยเป็นตำรวจท้องถิ่น ตอนนั้นก็พีกที่สุดแล้ว แต่ไม่ได้บอกให้ที่บ้านรู้” เขาเล่าพร้อมหัวเราะร่วน
ช่วงนั้นเขาได้มีโอกาสไปช่วยฝ่ายวิศวะดูแลระบบไฟฟ้า ทำหน้าที่แทนช่างไฟฟ้าบนเรือ เสมือนวิศวกรคนหนึ่ง หลังจากผ่านทริปนั้นมา กรีนพีซจึงเสนอให้เขามาทำงานเป็นช่างไฟฟ้าบนเรือเต็มตัว เดินทางไปยังน่านน้ำและมหาสมุทรต่าง ๆ เพื่อเป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ
หลังจากนั้นเขาจึงมาทำงานในออฟฟิศกรีนพีซอีกหลายตำแหน่งทั้ง new media coordinator , engagement coordinator , engagement system coordinator จนปัจจุบันกับความท้าทายใหม่ในหน้าที่ ‘radio operator’ บนเรือของกรีนพีซ จัดการซ่อมบำรุงระบบสื่อสารทั้งหมด ทั้งอินเตอร์เน็ต อิเล็กโทรนิกส์ วิทยุ ดาวเทียม และการจัดงานเอกสารบนเรือ เตรียมเอกสารเพื่อเข้าออกประเทศ
“ทริปแรกไปฮ่องกง อินโด ฟิลิปปินส์ แล้วแต่งานรณรงค์ และแล้วแต่ประเทศไหนต้องการ มีงานนึงเข้าไปในป่าที่เวสต์ปาปัว ใช้เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ขึ้นไปตามแม่น้ำ แล้วส่งเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจบันทึกสภาพผืนป่าที่ถูกทำลายจากอุตสาหกรรม”
ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฮ่องกง เกาหลี แอฟริกา อาร์กติก อเมริกากลาง อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน นอร์เวย์ เยอรมัน ฝรั่งเศส ตุรกี โรมาเนีย เขาไปมาหมด นอกจากจำนวนประเทศที่เยอะแล้ว ความประทับใจในงานรณรงค์ก็มีมากไม่แพ้กัน ตอนไปประท้วงเพื่อหยุดการขุดเจาะน้ำมันที่แท่นขุดเจาะแห่งหนึ่งในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยการส่งเรือยางออกไป ให้ทีมไปติดป้ายแบนเนอร์ที่แท่นขุดเจาะ เขาเจอกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด เจ้าหน้าบนแท่นขุดเจาะน้ำมันต้อนรับพวกเขาอย่างเป็นมิตร ถึงขั้นเอาไอติมมาเสิร์ฟ
“เรื่องความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เราคาดเดาเอาไว้อยู่แล้วในการทำแอคชั่น แต่การต้อนรับของเขาเนี่ยเป็นสิ่งที่เราไม่คาดคิดเลย เขาเข้าใจเป้าหมายของกรีนพีซว่าคืออะไร เขาเข้าใจขอบเขตของการเผชิญหน้าแบบไร้ความรุนแรง” หนุ่มกล่าว
แน่นอนว่าสองทศวรรษเป็นจำนวนไม่น้อยเลยสำหรับชีวิตคน ๆ หนึ่ง อะไรทำให้เขายืนกรานทำสิ่งที่เขาทำต่อไป เราสงสัย
“ต้องมีใครสักคน ลงมือทำในชีวิตจริง ทุกวันนี้มีรณรงค์สิ่งแวดล้อมในโลกออนไลน์กันอย่างมากแต่จะสำเร็จไม่ได้ถ้าหากขาดการลงมือทำจริง ๆในทางกายภาพ โลกยังขาดใครสักคนที่ลงมือทำในชีวิตจริง เป็นกลไก เป็นเฟือง เป็นมือเป็นขาที่จะขับเคลื่อน เพื่อที่จะสร้างอนาคต สร้างโลกที่ดีกว่า และสืบทอดถึงคนรุ่นต่อไปที่มีสิทธิในการมีชีวิตในโลกที่ยั่งยืน ปลอดภัย” เขาเชื่อมั่นเช่นนั้น
ในวาระกรีนพีซ 50 ปี ในปีนี้ เขาคิดว่า ‘ความคิด’ คือสิ่งที่รวมผู้คนในกรีนพีซมีเป้าหมายร่วมกันที่จะลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อให้โลกดีขึ้น แต่เขาเชื่อว่าการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมยังไม่จบ และซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งเรา และฝ่ายตรงข้ามต่างใช้โซเชียลมีเดียเป็นเวที เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ได้แยกอยู่โดดเดี่ยว แต่เกี่ยวข้องกับผู้กำหนดนโยบาย ภาคการเมือง การต่อรองผลประโยชน์ และอำนาจของบริษัทอุตสาหกรรม
เมื่อพูดถึงอนาคต เขาหวังว่าท้ายที่สุดกรีนพีซไม่มีอยู่อีกต่อไป “เพราะมันหมายถึงว่าทุกคนได้ทำหน้าที่ของตัวเองต่อสิ่งแวดล้อมได้โดยไม่ต้องไม่มีใครมากระตุ้นหรือผลักดัน”
Discussion
อยากให้ทุกคนมองเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและดูแลรักษาให้คงอยู่ ควรให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจ ปกป้องและรักษาเพื่อโลกของเรา