ในที่สุด! ประเทศไทยได้ใช้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในการคำนวณและรายงานคุณภาพอากาศตามดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) แล้ว
เรื่องน่ายินดีนี้เกิดขึ้นจากการผลักดันอย่างต่อเนื่องของพลังประชาชนทั่วประเทศที่มีความกังวลต่อมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี ที่กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เรียกร้องต่อกรมควบคุมมลพิษผ่านการรณรงค์ “Right to Clean Air ขออากาศดีคืนมา” เนื่องจากมลพิษทางอากาศนั้นเป็นปัญหาเร่งด่วน และกำลังคุกคามลมหายใจของเราในทุกวินาที
เพราะอากาศสะอาดคือสิทธิขั้นพื้นฐานของเราทุกคน ประชาชนต้องเสี่ยงกับภัยทางสุขภาพและเฝ้ารอปีแล้วปีเล่าให้รัฐบาลเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพอากาศ เมืองใหญ่ของประเทศไทยหลายเมืองต้องตกอยู่ในปัญหาค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐาน กรีนพีซได้วิเคราะห์ข้อมูลและจัดอันดับเมืองที่เผชิญกับมลพิษ PM2.5 ในประเทศไทย มาตั้งแต่ปี 2558 และพบว่า คุณภาพอากาศในพื้นที่เมืองยังอยู่ในระดับแย่และมีแนวโน้มแย่ลงอย่างต่อเนื่อง มีค่ามาตรฐานความเข้มข้น PM2.5 เฉลี่ยรายปีเกินเกณฑ์มาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปของประเทศไทยและทุกเมืองมีความเข้มข้น PM2.5 เฉลี่ยรายปีเกินระดับที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก ซึ่งนอกจากนี้ยังน่าตกใจว่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไปยังไม่เป็นไปตามข้อแนะนํา ขององค์การอนามัยโลก ถือว่ายังเป็นการละเลยสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงอากาศสะอาด
ช่วงปีที่ผ่านมา นักกิจกรรมกรีนพีซและประชาชนจึงเริ่มออกมาเปล่งเสียงถึงผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย โดยเฉพาะเมื่อช่วงต้นปี 2561 กรีนพีซได้จัดนิทรรศการเพื่อเผยให้เห็นถึงภัยจากมลพิษทางอากาศ PM2.5 ที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งเป็นการจัดแสดงผลงานศิลปะจากศิลปินชาวไทย เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล นำเอาฝุ่นจากหลากหลายเมืองในประเทศไทยมาสร้างสรรค์ สะท้อนถึงผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM2.5 รวมถึงเปิดเวทีเสวนาพูดคุยถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นและทางออกของปัญหาร่วมกัน
จนกระทั่งวิกฤตปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ในกรุงเทพฯ การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของคนเมืองจึงเกิดขึ้น ผู้คนต่างตระหนักถึงปัญหา และเริ่มติดตามข้อมูลเช็คสภาพอากาศด้วยตนเองก่อนออกจากบ้าน แต่การแก้ไขปัญหาจากภาครัฐยังคงไม่เกิดขึ้น จึงเป็นอีกครั้งที่นักกิจกรรมกรีนพีซติดตามการร้องเรียนด้วยการส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งคำตอบสั้น ๆ ที่เราได้รับจากกรมควบคุมมลพิษนั้นมีใจความว่ารับทราบปัญหาแล้ว และจะนำข้อเรียกร้องดังกล่าวไปพิจารณา แต่ไม่ได้มีแจ้งการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาแต่อย่างไร ในขณะที่เชียงใหม่เมืองใหญ่ที่ประสบปัญหาหมอกควันพิษ ได้เริ่มโครงการ People AQI หรือการใช้ดัชนีคุณภาพอากาศภาคประชาชน ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษทางอากาศในพื้นที่ต่าง ๆ ของเชียงใหม่ หรือที่เรารู้จักกันในนาม Dust Boy อุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ และรายงานผลด้วย PM2.5 AQI แบบเรียลไทม์ เพื่อให้ทุกคนสามารถเตรียมตัวรับมือกับมลพิษทางอากาศได้อย่างถูกต้อง ถือว่าเป็นครั้งแรก และเมืองแรกของโลก ภาคประชาชนร่วมมือกันสร้างระบบเฝ้าระวัง วัดและเตือนภัยคุณภาพอากาศด้วยตัวเองโดยใช้ค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO)
การที่กรมควบคุมมลพิษได้เริ่มดำเนินการทดสอบระบบการรายงานคุณภาพอากาศตามดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ใหม่ที่นำเอา PM2.5 เข้ามาคำนวณ จึงเป็นก้าวเล็ก ๆ ที่สำคัญของการพัฒนาคุณภาพอากาศของประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นจากการผลักดันของประชาชนอย่างแท้จริง และอาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงสิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่มีการนำเอา PM2.5 เข้ามาคำนวณในดัชนีคุณภาพอากาศ
อย่างไรก็ตาม กรีนพีซมีข้อสังเกตว่าการรายงานคุณภาพอากาศ (Air Quality Reporting) ใหม่นี้เป็นการรายงานดัชนีคุณภาพอากาศโดยใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าคุณภาพอากาศเป็นเช่นนั้นตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง ซึ่งจะแตกต่างอย่างมากจากการรายงานดัชนีคุณภาพอากาศรายชั่วโมงซึ่งจะระบุถึงคุณภาพอากาศ ณ ชั่วโมงดังกล่าว เมื่อมีเหตุการณ์วิกฤตมลพิษทางอากาศเกิดขึ้นและ/หรือการที่ระดับมลพิษทางอากาศเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจากอิทธิพลของกระแสลมจะส่งผลให้ดัชนีคุณภาพอากาศเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างมากในระยะเวลาอันสั้น ทำให้การรายงานค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่สามารถตอบรับต่อวิกฤตมลพิษทางอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนได้ทันท่วงที ด้วยเหตุนี้ กรีนพีซเสนอแนะให้กรมควบคุมมลพิษมีการรายงานดัชนีคุณภาพอากาศที่รวม PM2.5 โดยใช้ค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตมลพิษทางอากาศขึ้น
นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการทวงคืนอากาศดี ๆ ของเรา แต่การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่แท้จริงภาครัฐต้องไม่ลืมว่าจำเป็นจะต้องลงมือแก้ปัญหาจากแหล่งกำเนิดมลพิษด้วยเช่นกัน
อ่านเพิ่ม: ความคิดเห็นและข้อสังเกตของกรีนพีซต่อการดำเนินระบบการรายงานคุณภาพอากาศตามดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ใหม่ของกรมควบคุมมลพิษ
ร่วมเป็นเสียงหนึ่งเพื่อ “ขออากาศดีคืนมา (Right to Clean Air)” ที่นี่
กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่
มีส่วนร่วม