“ได้ยินข่าวมาเหมือนกันนะ แต่คงไม่เป็นอะไรหรอก”

“เคยเห็นมาบ้าง แต่ว่ามันยังไกลตัวไม่ใช่เหรอ”

“มันเกิดขึ้นแถวๆ ขั้วโลก แต่ไม่มีใครอาศัยอยู่ที่นั่น แบบนั้นคงไม่ได้กระทบอะไรกับเรามากหรอก”

“เคยได้ยินว่ามันเกิดขึ้นบนเกาะที่ห่างไกลจากที่นี่มาก”

แต่ตอนนี้ วิกฤตสภาพภูมิอากาศอยู่ตรงหน้าเรา

หลายปีก่อนหน้านี้ หลายคนบอกว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องไกลตัว จนกระทั่งตอนนี้เราเห็นผลกระทบจากปรากฎการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตรงหน้าเราแล้ว

ภาวะโลกร้อนและอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่มีพรมแดน ในปี 2564 เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather events) เกิดขึ้นทั่วโลกแทบจะทุกเดือนของปี เรารวบรวมภาพถ่ายผลกระทบหลังจากเกิดสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วมาบางส่วนเพื่อเป็นหลักฐานถึงผลกระทบต่อผู้คนที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์เหล่านี้ในปี 2564 ตั้งแต่พายุหิมะไปจนถึงน้ำท่วมฉับพลัน สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่มีใครที่มีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย และในภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ ไม่มีระบบเศรษฐกิจใดที่มั่นคงยั่งยืน

นี่คือการเตือนภัยของมนุษยชาติ เพราะวิกฤตสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องที่ควรเพิกเฉยหรือถูกปฏิเสธอีกต่อไป เราเดินทางมาถึงจุดสำคัญของประวัติศาสตร์ มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอีกมากมายจะมีชีวิตรอดต่อไปหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราตัดสินใจทำในวันนี้ การลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งในตอนนี้จึงสำคัญมาก แต่โดยรวมแล้ว เราจะปกป้องสภาพภูมิอากาศได้หากเหล่าผู้นำประเทศดำเนินนโยบายอย่างจริงจังเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด

ไม่มีครั้งไหนอีกแล้วที่เราจะต้องร่วมมือกัน แสดงพลังในการเรียกร้องต่อรัฐบาลและอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลให้มีภาระรับผิดชอบต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

โพลาร์ วอร์เท็กซ์ (Polar Vortex)

หิมะที่ตกหนักและคลื่นความหนาวทุบสถิติในกรุงมาดริด สเปน เป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตั้งแต่ปี 2460 เพียงเดือนเดียวหลังจากนั้น โพลาร์ วอร์เท็กซ์ ก็พัดเข้าถล่มรัฐเท็กซัสในสหรัฐอเมริกาอย่างรุนแรงด้วยอุณหภูมิที่ต่ำจนกลายเป็นสถิติใหม่ ซึ่งทำให้ทั้งรัฐเกิดปัญหาน้ำประปาไม่ไหลทั้งระบบ รวมทั้งความหนาวยังส่งผลกระทบต่อประชากรอีกหลายล้านคน

พายุไซโคลนในแอฟริกา

ไซโคลนเอลอยส์ เป็นพายุหมุนเขตร้อนลูกที่สามที่พัดเข้าถล่มชายฝั่งโมซัมบิกตั้งแต่ปี 2562 ส่งผลกระทบต่อประชากรกว่า 250,000 คน โดยสูญเสียที่อยู่อาศัยอย่างน้อย 18,000 คน พายุลูกดังกล่าวทำลายโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น โรงเรียน ถนน และระบบสาธารณูปโภค อีกทั้งยังก่อให้เกิดความสูญเสียอีก 27 ชีวิต และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากในมาดากัสการ์ โมซัมบิก ซิมบับเว บอตสวานาและแอฟริกาใต้

ภาพจากวิดีโอของ AFP TV เผยให้เห็นเสาไฟฟ้าที่ล้มบนถนนในท่าเรือของจังหวัด Beira เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2564 หลังพายุไซโคลน Eloise พัดถล่มโมซัมบิก © AFPTV/AFP via Getty Images

พายุทรายในจีน

ในปี 2564 กรุงปักกิ่งได้รับผลกระทบจากพายุทรายที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี เมืองทั้งเมืองถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นสีเหลืองมหาศาลเนื่องจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้น เพื่อปกป้องสุขภาพของประชากรจากมลพิษทางอากาศ รัฐบาลจะต้องลงมือแก้ไขปัญหานี้ทันทีโดยการปลดแอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งถ่านหิน น้ำมันและก๊าซ เพื่อคืนอากาศสะอาดให้กับประชาชน

น้ำท่วมในออสเตรเลีย

เกิดฝนที่กระหน่ำลงมาอย่างหนักและน้ำท่วมฉับพลันในรัฐนิว เซาท์ เวลส์ ออสเตรเลีย ซึ่งทำให้น้ำเข้าท่วมบ้านเรือนจนรัฐต้องปิดโรงเรียนและผู้คนมากมายถูกตัดขาดจากโลกภายนอกและความช่วยเหลือที่จำเป็น อย่างเช่น การเดินทางมาโรงพยาบาล เป็นต้น โดยสถานการณ์อาจเลวร้ายลงอีกหากออสเตรเลียยังคงพึ่งพาพลังงานจากถ่านหิน น้ำมันและก๊าซ

ไฟป่าในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน

ตุรกีต้องเผชิญกับไฟป่าที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ ส่งผลให้ผู้คนหลายพันต้องต่อสู้กับจุดเกิดเพลิงไฟนับร้อยภายในเมืองและชุมชนเมดิเตอร์เรเนียนกับชายฝั่งทะเลอีเจียน เปลวไฟยังรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นในช่วงฤดูร้อนและผลพวงของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ อ้างอิงจากข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญ ยังมีรายงานการเกิดไฟป่าแบบเดียวกันในกรีซ เลบานอน โมร็อกโคและอิสราเอล

น้ำท่วมฉับพลันในยุโรป

จากเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ของยุโรป คร่าชีวิตประชากรไปมากกว่า 100 คน สถานที่สำคัญในหลายประเทศได้แก่ เยอรมนี ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ ลักแซมเบิร์ก เบลเยียม และฝรั่งเศสได้รับความเสียหายร้ายแรง

น้ำท่วมฉับพลันในเอเชีย

ภัยน้ำท่วมฉับพลันยังคงสร้างผลกระทบไปทั่วเอเชีย เราได้เห็นภาพที่น่าตกใจจากจีนที่ผู้โดยสารติดอยู่ในรถไฟใต้ดินที่เต็มไปด้วยน้ำ นอกจากนี้ยังได้รับรายงานเหตุการณ์นำ้ท่วมฉับพลันในญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และอินเดีย ทำให้ผู้คนหลายล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย

การติดตามไฟป่าในแอมะซอน

ภาพถ่ายทางอากาศของพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายเพื่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ในเมืองปอร์โต เวลโฮ รัฐรอนโดเนีย ทุกๆ ปี กรีนพีซบราซิลใช้เครื่องบินตรวจตราพื้นที่แอมะซอนเพื่อติดตามการตัดไม้ทำลายป่าและไฟป่า

ระหว่างวันที่ 12-14 กันยายน 2564 มีการบินตรวจตราผ่านพื้นที่ต่างๆ พร้อมกับการใช้ระบบ Deter (ระบบตรวจจับการตัดไม้ทำลายป่าแบบเรียลไทม์) และระบบเตือนไฟป่า Prodes (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งโครงการตรวจสอบผืนป่าแอมะซอนด้วยดาวเทียมของบราซิล) นอกจากนี้ ยังใช้ระบบการแจ้งเตือนจุดความร้อนโดย Inpe (สถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติ) ในพื้นที่รัฐ Amazonas, Rondônia, Mato Grosso และ Para อีกด้วย

ไฟป่าในอาร์เจนตินา

ไฟป่าครั้งนี้ทำลายผืนป่าไปถึง 30,000 เฮกตาร์ ในเขตพาตาโกเนีย อาร์เจนตินา เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้แรงลมยังทำให้ไฟลามไปอย่างรวดเร็ว ปัจจัยเหล่านี้เป็นรูปแบบที่พบเห็นได้ทั่วโลก

ไฟป่าและภัยแล้งอันรุนแรงในแคลิฟอร์เนีย

นี่เป็นอีกครั้งที่ไฟป่าคุกคามรัฐแคลิฟอร์เนียในสหรัฐอเมริกา แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐที่ต้องเจอกับภัยแล้งและและคลื่นความร้อนที่รุนแรงถึงชีวิต ไฟป่าส่งผลให้ควันไฟปกคลุมไปทั่วพื้นที่ตะวันตกและทำให้คุณภาพอากาศแย่ลงทั่วเมือง ควันจากไฟป่ายังลอยไปถึงพื้นที่ตะวันออกในนิวยอร์กอีกด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ประชากรที่อาศัยอยู่ในแคลิฟอร์เนียกว่า 11.2 ล้านคนตกอยู่ในความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไฟป่า ซึ่งคาดการณ์ว่าแคลิฟอร์เนียมีแนวโน้มจะเกิดไฟป่ามากกว่า 140 วันใน 1 ปี ภายในปี 2593 

ไฟป่าในรัสเซีย

ก่อนหน้านี้เกิดไฟป่าไปทั่วทางตะวันออกของรัสเซีย โดยภูมิภาคยาคูเตียในไซบีเรียได้รับผลกระทบหนักที่สุด ไฟป่าครั้งนี้สร้างผลกระทบต่อไซบีเรียอย่างหนักและทำให้เกิดฝุ่นควันไปถึงขั้วโลกเหนือ

รัสเซียต้องเผชิญกับความแห้งแล้งที่ผิดปกติและสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นซึ่งกลายเป็นปัจจัยทำให้เกิดไฟป่า ที่ผ่านมา

พายุทอร์นาโดในสหรัฐอเมริกา

ไม่ว่าจะเป็นเพราะระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากน้ำท่วมหรืออุณหภูมิน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น นำไปสู่กระแสลมรุนแรงและฝนตกหนัก แม้กระทั่งเกิดทอร์นาโดก็ตาม แต่การเชื่อมโยงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระหว่างวิกฤตสภาพภูมิอากาศกับเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วนั้นเป็นที่แน่ชัด

มีประชาชนอย่างน้อย 88 คนเสียชีวิตจากพายุทอร์นาโดซึ่งทำลายบ้านพักคนชราในมลรัฐอาคันซอส์ รวมทั้งยังสร้างความปั่นป่วนในพื้นที่อื่นๆของเทนเนสซี อิลินอยส์และมิสซูรี

ความเสียหายในเมย์ฟิลด์ เคนตั๊กกี้ จากพายุทอร์นาโด © Ron Alvey / Greenpeace