สองปีที่แล้ว กรีนพีซมีโอกาสได้คุยกับนักเรียนมัธยมปลายคนหนึ่งจากอำเภอจะนะ ที่ออกมาคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งเตรียมผุดขึ้นในอำเภอบ้านเกิดของเธอ
จากวันนั้นถึงวันนี้ ลูกสาวชาวประมงที่อาศัยอยู่หมู่บ้านเล็ก ๆ ไปโรงเรียนเช้าเย็นกลับ เล่นน้ำทะเลวันหยุด ไครียะห์ ระหมันยะ กลายเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และชื่อของเธอได้กลายเป็นหนึ่งในชื่อที่ติดหูมากที่สุด ในฐานะเยาวชนผู้เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องบ้านเกิด
แต่ใครบ้างจะรู้ว่า “ยะห์” ต้องแลกกับอะไรบ้าง ในการออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตที่เธอหวงแหน
สองปีแห่งการต่อสู้
ย้อนไปวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการขยายผลโครงการ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 “อำเภอจะนะ” จังหวัดสงขลา” ให้เป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ตามข้อเสนอของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) โดยในแผนรวมถึงการสร้างท่าเรือน้ำลึก ทางรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือ โรงไฟฟ้า และนิคมอุตสาหกรรม
ต่อมาวันที่ 21 มกราคม 2563 มติครม.เห็นชอบให้อำเภอจะนะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และ 18 สิงหาคม 2563 ครม. รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งนำไปสู่การแก้ผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วงโดยเวทีรับฟังความเห็นดังกล่าว ไม่ได้เปิดพื้นที่ให้กลุ่มผู้คัดค้านมีส่วนร่วม
เพราะการเร่งรัดอนุมัติโครงการ ความไม่ชอบธรรมในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น และความกังวลว่านิคมฯ อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชน โดยเฉพาะต่อทะเลที่พวกเขาฝากชีวิตไว้มาเนิ่นนาน ยะห์และชาวบ้านอำเภอจะนะจึงเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอโครงการ และจัดให้มีการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment) หรือที่เรียกสั้นๆว่า SEA อย่างรอบคอบเสียก่อน
แต่เมื่อความพยายามไม่เป็นผล เดือนธันวาคม ปี 2563 ยะห์และชาวบ้านจะนะในนาม “จะนะรักษ์ถิ่น” จึงเดินทางมาชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล ท้ายที่สุด รัฐบาลมีคำสั่งชะลอการพิจารณาแก้ผังเมือง และได้มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ชาวบ้านจะนะจึงเดินทางกลับ
แต่ปี 64 โครงการกลับยังคงเดินหน้า มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นเพื่อเปลี่ยนสีผังเมือง เสียอย่างนั้น…
“หน่วยงานรัฐมีจัดเวทีประชาพิจารณ์ ที่จัดเป็นพิธีกรรม เขาก็มาทำนั่นนี่เรื่อยๆ แต่เวลามีมาขุดเจาะในพื้นที่ชาวบ้านไปไล่ตลอด” ยะห์เล่าให้เราฟัง
วันที่ 6 ธันวาคม 2564 ชาวบ้านกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น จึงรวมตัวกันอีกครั้งหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงคำสัญญาที่รัฐบาลให้ไว้เมื่อปีก่อน แต่เวลาสามทุ่มโดยประมาณ เจ้าหน้าที่กลับใช้กำลังสลายการชุมนุม และจับกุมชาวบ้านจะนะ
“มีเจ้าหน้าที่มาบอกว่าถ้าไม่ย้ายเดี๋ยวจะสลายการชุมนุมนะ ถามชาวบ้านว่าเอายังไงต่อ ชาวบ้านก็จะนั่งตรงนี้ เพราะสัญญากับใครก็อยากคุยกับคนนั้น” ยะห์เริ่มเล่าเหตุการณ์ก่อนการสลายการชุมนุม
“สักพักหนึ่ง ชาวบ้านละหมาดอยู่ ก็มีโทรโข่งเข้ามาว่า คนที่ไม่เกี่ยวข้องให้ออกไป และสลายการชุมนุมทันที วันนั้นมีเด็กอยู่ประมาณ 9 คน อายุ 12-17 ปี เราก็พาน้องออกมาก่อน และมีผู้สูงอายุแบบ 60 บางคนมีโรคประจำตัว โดนลากไป เขาเข้ามาแล้วก็อุ้ม บางคนโดนโล่ทุบ คนที่เป็นผู้ชายโดนทุบ”
ชาวบ้านทั้งหมด 37 คนถูกจับ ก่อนปล่อยตัวในวันต่อมา ภายใต้เงื่อนไขว่าห้ามจัดกิจกรรมอีก
แต่กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นปฏิเสธที่จะเดินทางกลับบ้าน และกลับไปปักหลักชุมนุมต่อที่หน้าทำเนียบรัฐบาล กระทั่งในที่สุด มีมติครม. ให้ชะลอโครงการ จนกว่าจะมีผลการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์
ราคาที่ต้องจ่าย
เพราะความเด็ดเดี่ยวของยะห์และชาวจะนะ ที่แม้จะโดนคดีก็ไม่ยอมกลับบ้าน แต่ยืนหยัดต่อสู้ ทำให้โครงการนิคมฯ ถูกชะลอออกไปได้ถึง 2 ครั้ง จนกว่าจะมีผลการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ และประเด็น #Saveจะนะ ยังเป็นที่จับตาของสื่อและประชาชนตลอดมา
แต่แม้ว่ามติครม.ล่าสุดจะออกมาเป็นที่พอใจ ตลอดสองปีที่ผ่านมา สิ่งที่ยะห์ต้องแลกเพื่อปกป้องบ้านของเธอ คือ “เวลา” และ “ชีวิตวัยรุ่น”
ปัจจุบัน ยะห์ กำลังศึกษาระดับชั้นปี 1 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในสาขานวัตกรรมการออกแบบสื่อ เธอเล่าว่าที่เลือกเรียนสาขาดังกล่าว เพราะชอบ “เล่าเรื่อง” และอยากให้เรื่องเล่าชุมชนและการต่อสู้ “ไปไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
ด้วยวัย 19 ปี ยะห์ยอมรับว่าเธอเพียงต้องการใช้ชีวิตวัยรุ่น ได้เรียนในสิ่งที่เธอชอบ ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน และใช้เวลากับครอบครัว
“มันมีบางอารมณ์อยู่แล้วว่า ทำไมต้องเป็นเรา เป็นคนอื่นไม่ได้เหรอ ถ้าไม่มีเหตุการณ์แบบนี้ เราคงได้กลับไปนอนที่บ้าน ได้กลับไปดูหนัง กลับไปฟังเพลง ทำการบ้าน ทำโปรเจ็คที่อาจารย์สั่ง ทำงานกลุ่มพร้อม ๆ กับเพื่อนคนอื่นเขา ไปอยู่มหา’ลัย ตอนเย็นเพื่อนไปดูพระอาทิตย์ตก เช้าก็ไปวิ่ง กลางคืนนั่งดูเน็ตฟลิกซ์ในหอ แล้วก็หัวเราะกัน” ยะห์กล่าว
ทรัพยากรทางธรรมชาติของจะนะมีความมั่งคั่ง เอื้อให้คนในชุมชนไม่เดือดร้อนแม้สถานการณ์โควิด คนที่เคยออกไปหางานทำนอกชุมชน ก็ได้กลับมาอาศัยทะเลและทรัพยากรในพื้นที่เลี้ยงดูตัวเองในสถานการณ์ที่ยากลำบาก
ดังนั้นจึงไม่ใช่ “เรื่องแปลก” อะไรหากคนในพื้นที่ที่อาศัยอยู่กับอาชีพเหล่านี้มานานหลายชั่วอายุคน จะเกิดความกังวลหาก หากมีเขตอุตสาหกรรมผุดขึ้นในชุมชนจริงๆ
สิ่งที่ภาครัฐควรจะทำคือการ “ตอบ” ให้ได้ว่าโครงการใหญ่นี้จะกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ต่อเนื่องไปถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างไร และให้พวกเขามีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเกิด มิใช่กีดกันคนที่เห็นต่าง
“อึดอัดมากเลย ทุกวันนี้เหมือนโดนบีบคอ คนธรรมดาแบบเรา ไม่ได้ทำอะไร ทำไมต้องดิ้นรนขนาดนี้ ทั้งๆที่ชีวิตเรามันไม่ได้ดีขนาดนั้นอยู่แล้ว มันก็ดีในแบบที่ว่าเราอยู่ของเราไม่ได้ยุ่งกับใคร แต่อยู่ๆก็มีคนมายุ่งกับเรา จนทำให้เราต้องดิ้นรน ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้เราไม่ได้ดิ้นรนขนาดนี้” ยะห์กล่าวปิดท้าย
อ้างอิง:
อ้างอิง:
https://www.prachachat.net/local-economy/news-356154
https://www.prachachat.net/breaking-news/news-573640https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/104780-savechana-22.htmlhttps://prachatai.com/journal/2020/07/88542