‘ไม่ควรมีใครถูกดำเนินคดีเพราะปกป้องบ้านเกิดของตัวเอง’

การต่อสู้คัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ของเครือข่ายชุมชนจะนะรักษ์ถิ่น ถือเป็นอีกประเด็นร้อนที่ได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อมวลชน หลังจากเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ชาวบ้านเดินทางกว่า 1,000 กิโลเมตร เพื่อมาพูดคุยและทวงถามสัญญาที่รัฐบาลเคยให้ไว้ว่าจะยุติโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมและจับกุมพร้อมแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงเป็นที่มาของการตั้งคำถามว่า ประชาชนเพียงแค่เดินทางมาเพื่อเจรจาพูดคุยแต่สิ่งที่รัฐกระทำคือการจับกุมประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่สมควรแล้วหรือ?

Chana Community Protest at UN Office in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
© Chanklang Kanthong / Greenpeace

ในเดือนมิถุนายน 2565 เป็นอีกครั้งที่ชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เดินทางมายังกรุงเทพมหานครเพื่อรายงานตัวในคดีจากเหตุการณ์ดังกล่าว ชุมชนจึงมองเห็นโอกาสในการสื่อสารเรื่องราวของจะนะกับคนเมืองกรุงและคนนอกพื้นที่ว่าจะนะมีความอุดมสมบูรณ์และน่าหวงแหนมากแค่ไหน ทำไมพวกเขาจึงออกมาปกป้องจะนะ แม้ว่าต้องแลกด้วยการถูกดำเนินคดีก็ตาม  บทความนี้คือส่วนหนึ่งจากการพูดคุยกับครูเฉม จากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น หนึ่งในชาวจะนะที่เต็มไปด้วยพลังและใจที่จะปกป้องบ้านเกิดไว้อย่างเต็มที่

ครูเฉมเป็นทั้งครูสอนคัมภีร์ สอนศาสนาและความรู้วิชาการให้กับเด็ก ๆ ใน ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา และยังเป็นนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน

ครูเฉม เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น

ครูเฉมอธิบายว่า แผนโครงการพัฒนาพื้นที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมจะนะมีมานานกว่า 20 ปีแล้ว เขาเองก็เป็นหนึ่งคนที่ต่อสู้เพื่อปกป้องจะนะมานาน ตั้งแต่ตัวเองอายุยังไม่ถึง 20 ปี จนตอนนี้อายุ 40 – 50 ปีแล้ว ตอนนั้นเป็นการต่อสู้เรื่องโครงการท่อส่งก๊าซ แม้ว่าในครั้งนั้นเราจะแพ้แต่ชาวบ้านยังสามารถยับยั้งไม่ให้นิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่มายาวนานถึง 20 ปี 

“ยุคแรก ๆ มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างหนักและชาวบ้านก็ถูกดำเนินคดีไปเยอะมาก อย่างเราเองเป็นครูสอนหนังสือแต่ถูกทำร้ายบาดเจ็บจนมือเขียนหนังสือไม่ถนัด และตอนนี้ก็มีความพยายามผลักดันให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมจะนะอีกครั้งโดยมาในรูปแบบใหม่ชื่อว่า ‘นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ต้นแบบแห่งอนาคต’ แต่ความจริงแล้วคือโครงการที่เคยพับเก็บไปแล้วแต่ถูกรื้อขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่นั่นเอง” 

“พอเราไปเรียนรู้ว่ามันคือโครงการอะไรกันแน่ ก็พบว่าเป็นโครงการที่กลุ่มนายทุนกว้านซื้อพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ ไว้นานแล้วและหมายมั่นปั้นมือจะเอาไปทำนิคมอุตสาหกรรมซึ่งตัวโครงการมีขนาดใหญ่มาก มีท่าเรือ 3 ท่าเรือ ผลกระทบอีกอย่างที่เราห่วงกังวลคือในเมื่อมีท่าเรือน้ำลึก มีโรงงานอุตสาหกรรมหลายโรงงานเข้ามาในพื้นที่เรา ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศก็จะเกิดขึ้น แล้วชุมชนที่เขาทำมาหากินในพื้นที่มายาวนานนับร้อยปีแล้วเขาจะมีชีวิตอย่างไร”

จะดีกว่าหรือไม่? หากเราพัฒนาพื้นที่ด้วยการมุ่งรักษา จัดสรรทรัพยากรร่วมกับชุมชนให้ยั่งยืน มากกว่าการนำนิคมอุตสาหกรรมมาอ้างว่าจะทำให้พื้นที่มีความเจริญ

ครูเฉมตั้งข้อสังเกตและให้ความเห็นเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาพื้นที่ในไทยไว้ว่า ทุกครั้งที่เกิดข้อพิพาทแบบนี้ก็อ้างถึงความเจริญผ่านอุตสาหกรรม แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถพัฒนาให้จะนะเจริญไปในทางที่ยั่งยืนกว่านี้โดยรักษาทรัพยากร วิถีชุมชนเอาไว้ได้ ถ้าทำแบบนี้เราสามารถพัฒนาให้ทะเลจะนะดังในระดับสากลเลยก็ยังได้ 

“เราอยากให้จะนะเป็นครัวของประเทศ เรามีอาหารทะเล มีปู มีกุ้ง มีปลาทะเลหลากชนิด ชาวประมงในชุมชนขายอาหารทะเลดีมากซึ่งก็ทำให้พวกเขามีรายได้ แล้วทำไมรัฐไม่เห็นคุณค่าของทรัพยากรตรงนี้ รักษาทะเลไว้ให้ลูกหลานของเราได้ไหม? ฟังพวกเราหน่อยว่าพวกเราอยากพัฒนาพื้นที่ไปในทางนี้ได้ไหม? แต่ก็ไม่มีใครฟังเราเพราะกลุ่มนายทุนก็จะลงทุนเป็นเม็ดเงินมหาศาล”

การปกป้องบ้านเกิด ที่แลกมาด้วยการถูกดำเนินคดี

จากการมาเรียกร้องที่ทำเนียบฯ แลกกับการที่ชาวบ้านถูกดำเนินคดีไป 37 คน ครูเฉมเล่าสถานการณ์ให้ฟังว่าตอนนี้ คณะรัฐมนตรีรับข้อเสนอจากพวกเราเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น หยุดโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะไว้ก่อน และจัดทำประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อให้มีข้อมูลรอบด้านเอามาประกอบการพิจารณาโครงการอีกครั้ง แต่ถามว่าชาวจะนะชนะหรือยัง ก็ต้องตอบว่าเรายังไม่ชนะ เพราะว่าตราบใดที่รัฐและนายทุนยังกุมอำนาจ พวกเขาก็มีโอกาสหาช่องโหว่ในการดำเนินแผนโครงการต่อได้ เรายังต้องต่อสู้กันอีกนาน

“เราอยากย้อนถามถึงผู้มีอำนาจตัดสินทิศทางประเทศไทยในวันนี้ว่าเรากำลังเดินมาถูกทางแล้วจริงๆหรือ? เราอยากให้หลายพื้นที่ถูกพัฒนาไปในเชิงท่องเที่ยวได้ไหม หรือเป็นที่ส่งออกอาหารทะเลอะไรแบบนี้มันจะได้ไหม ถ้ารัฐทำเพื่อประชาชนจริง ๆ มันจะมีช่องทางในการพัฒนาอีกมากมายเลย”

SEA จะมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ของชาวจะนะอย่างไร

ถ้าพูดถึงว่า การศึกษา SEA จะช่วยอะไร คำตอบคือหากเราทำตามกระบวนการศึกษา SEA จริงๆ ต้องไปประเมินว่าการทำนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่นี้คุ้มค่าไหมในหลาย ๆ แง่มุมที่ไม่ใช่แค่รายได้ทางเศรษฐกิจ มันคุ้มค่าไหมที่จะถมทะเลของพื้นที่จะนะแล้วสร้างท่าเรือน้ำลึก สร้างโรงงานหลายโรงงาน การถมพื้นที่ทำท่าเรือน้ำลึกต้องถมออกจากชายหาด 13 กิโลเมตร เรือที่จะเข้ามาเทียบท่าเป็นเรือใหญ่แบบเรือที่ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ นี่คือสิ่งที่จะเข้ามาทดแทนทะเลที่เต็มไปด้วยปู ปลา กุ้ง ที่ชาวบ้านเคยจับเพื่อเลี้ยงชีพและเป็นอาหาร แทนที่ชายหาดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวแหล่งเศรษฐกิจของชาวบ้าน เราถามคำถามเดียวว่า แล้วนิคมอุตสาหกรรมแบบนี้ใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์?

นอกจากนี้ยังจะต้องให้ข้อมูลหลากหลายด้านไม่ใช่ให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวกับชาวบ้าน คนบางกลุ่มก็เห็นด้วยกับการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเพราะเขาไม่รู้ 

อีกหนึ่งโจทย์ที่ครูเฉมยืนยันว่าสำคัญมากก็คือ ชาวจะนะจะทำยังไงให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่มาเรียนรู้การต่อสู้ของพ่อแม่ ญาติๆของพวกเขาด้วยกัน ซึ่งเครือข่ายขับเคลื่อนสร้างความตระหนักรู้ให้กับเยาวชนกันเยอะมากแม้ว่ายังไม่มากพอตามที่เราคาดไว้ แต่งาน อะโบ๊ยหมะ ในครั้งนี้ก็มีน้องๆคนรุ่นใหม่มาร่วมเป็นคนจัดกิจกรรม มาร่วมออกร้านหารายได้ด้วยกัน ทำนู่นทำนี่จิปาถะและได้เรียนรู้เรื่องจะนะมากขึ้น การสร้างเยาวชนให้มาร่วมขับเคลื่อนปกป้องบ้านเกิดด้วยกันเรามองว่าเป็นเรื่องท้าทาย และเราก็กำลังพยายามพัฒนาเยาวชนให้พวกเขาเข้าใจและอยากปกป้องจะนะให้มากขึ้นในอนาคต

อะโบ๊ยหมะ ครั้งที่ 7 เลจะนะบุกกรุง

กิจกรรมอะโบ๊ยหมะครั้งนี้ชาวบ้านจะนะเตรียมการกันเยอะมาก เพราะเรามากรุงเทพฯในครั้งนี้เราต้องมารายงานตัวกับตำรวจ หลังจากที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ถูกสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังจากการออกมาทวงถามสัญญาจากรัฐบาลกรณีโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ทำให้ชาวจะนะ 37 คนถูกแจ้งความดำเนินคดี 3 ข้อกล่าวหาด้วยกัน การมารายงานตัวที่กรุงเทพฯแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณเยอะมาก เช่น ค่ารถ ค่ากิน ค่าที่พัก เป็นต้น

การจัดงาน อะโบ๊ยหมะ เลจะนะบุกกรุง เราเอาของดีจากจะนะมาขายเพื่อเป็นนำรายได้ไปเป็นค่าใช้จ่ายในการมารายงานตัวครั้งต่อๆไป โดยครั้งนี้เราพาน้องเยาวชนจากจะนะมาร่วมจัดงานอะโบ๊ยหมะด้วย เพราะเรากำลังรณรงค์ให้เยาวชนตื่นตัวถึงการต่อสู้ปกป้องบ้านเกิดว่า ทำไม มะมะ (มะ แปลว่า แม่) และคนในชุมชนของพวกเขาถึงถูกดำเนินคดีจากการออกมาปกป้องจะนะ 

เราอยากจะนำความหมายของจะนะที่เรารักและหวงแหนถ่ายทอดผ่านทรัพยากรของดีๆ ทั้งอาหาร วิถีชีวิต มาให้คนนอกพื้นที่สัมผัส เรานำของทะเลสดมาเยอะมาก เอาการสาธิตการทำอวนปูจากคนในชุมชนมาแสดงกันสดๆให้ดูซึ่งหาดูได้ยากมากอีกทั้งยังเป็นอาชีพที่เลี้ยงชีวิตครอบครัว ส่งลูกเรียนได้ เราเอา workshop การทำว่าวมาด้วย เป็นการละเล่นพื้นบ้าน นอกจากนี้ยังมีอาหารพื้นถิ่นที่หากินที่ไหนไม่ได้ยกพลมาไว้ในงานนี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับทะเลเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวจะนะทั้งสิ้น

ครูเฉมทิ้งท้ายว่า จะนะ ได้รับการพูดถึงมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในกรณีที่ชาวบ้านถูกจับเมื่อ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา ดังนั้น งานอะโบ๊ยหมะที่ยกของดีมาถึงใจกลางกรุงเทพฯครั้งนี้ ชาวจะนะอยากให้คนเมืองได้รู้จักจะนะมากขึ้น และมากพอที่จะมาช่วยกันสนับสนุนการขับเคลื่อนของชาวจะนะ ให้กำลังใจชาวจะนะกับการต่อสู้ต่อไป

ความหมายของคำว่า ‘อะโบ๊ยหมะ’ คือ โอ้โห สุยอด! ชาวจะนะใช้คำนี้เพื่อสื่อสารถึงอัตลักษณ์และทรัพยากรที่ สุดยอด! ของชาวจะนะให้กับคนเมืองได้สัมผัสรับรู้ อยากให้ทุกคนได้เห็นว่าจะนะมีความหลากหลายและมีของดีมากกว่าที่คิด 

#SaveChana #Saveจะนะ