สายรุ้งคือสัญญะของความหวังและความหลากหลาย
สายรุ้งเป็นส่วนหนึ่งของกรีนพีซ นับตั้งแต่เราเริ่มก่อตั้ง
และสายรุ้งได้กลายเป็นชื่อเรือรณรงค์ของเราที่แล่นไปทั่วโลกเพื่อรณรงค์ปกป้องสิ่งแวดล้อม ในนาม Rainbow Warriors

เพนกวินบนเกาะ Barrientos ในแอนตาร์กติกา  © Andrew McConnell / Greenpeace

เนื่องในเดือนไพรด์ เราจึงอยากโบกสะบัดธงสายรุ้งนี้ เพื่อเฉลิมฉลองให้กับความหลากหลายทางอัตลักษณ์ ทั้งของลูกเรือกรีนพีซ ผู้สนับสนุน และผู้คนทั่วโลก และแสดงให้เห็นว่าความหลากหลายคือหัวใจสำคัญที่ทำให้เราเข้มแข็ง

นอกจากนี้ ความหลากหลายทางเพศไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในมนุษย์เท่านั้น เราจึงเลือก 6 สิ่งมีชีวิตในทะเล ที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางเพศในธรรมชาติมาเล่าให้ฟัง 

อย่างไรก็ดี เพศวิถี เพศสภาพ และความสัมพันธ์เป็นแนวคิดของมนุษย์ เช่นเดียวกับการเหยียดหรืออคติต่อเพศวิถี ซึ่งเราจะไม่พบในอาณาจักรสัตว์ เพราะฉะนั้นบล็อกชิ้นนี้ เป็นเพียงการนำเอาแนวคิดมนุษย์ไปนิยามกับสิ่งมีชีวิตสายพันธ์ุอื่น เพื่อให้เห็นถึงความหลากหลายทางเพศในธรรมชาติเท่านั้น

เพราะสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ ประกอบด้วยความหลากหลาย ความซับซ้อน และมีความพิเศษในตัวของมัน  จนเราไม่สามารถตีกรอบนิยามหรืออธิบายได้ด้วยบทความสั้น ๆ เพียงบทความเดียว

ม้าน้ำส่วนมากเป็นไบฯ

ม้าน้ำที่เกาะแคงการู ประเทศออสเตรเลีย © Richard Robinson / Greenpeace


ม้าน้ำเป็นสัตว์ทะเลที่ขบถต่อการแบ่งบทบาททางเพศของชาย-หญิง เพราะม้าน้ำเพศผู้จะเป็นตัววางไข่และคลอดลูก นอกจากนี้ ม้าน้ำเกือบทั้งหมดยังเป็นไบเซ็กชวล มีความสัมพันธ์ได้ทั้งกับตัวผู้และตัวเมีย แต่ม้าน้ำที่เป็นไบฯ ส่วนมากพบได้ในสายพันธุ์ที่อยู่ในเขตร้อน ต่างจากสายพันธ์ุที่พบในเขตหนาวอย่างสหราชอาณาจักรซึ่งจะไม่อยู่ภายใต้กฎนี้  


นกอัลบาทรอสเป็นเลสเบี้ยน

นกอัลบาทรอสกำลังให้อาหารลูกนก ในเซาท์เวสต์เคป (South West Cape)
เกาะโอ๊คแลนด์ นิวซีแลนด์ © Dave Hansford / Greenpeace 

ในเกาะโอวาฮู รัฐฮาวาย นกอัลบาทรอสมากถึงสามในสี่เลี้ยงลูกนกด้วยตัวเมียสองตัว ถึงแม้พวกมันจะใช้ประโยชน์จากนกตัวผู้เพื่อตั้งท้อง แต่เมื่อวางไข่และฟักไข่ ลูกนกจะได้รับการเลี้ยงจากตัวเมียสองตัว นอกจากนี้ นกอัลบาทรอสตัวเมียยังมีความจกรักภักดีกับคู่ของมัน และแบ่งหน้าที่กันกับคู่ครองในการดูแลลูก

ปลาดาวเป็นทั้งหญิงและชายในเวลาเดียวกัน

ปลาดาวสีแดงในระดับน้ำลึก 23 เมตร © Greenpeace / Roger Grace

ปลาดาวและเม่นทะเลเป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกได้ว่าเป็น “ครอบครัว” ในตัว ๆ เดียว พวกมันถูกพบมากในมหาสมุทร แอ่งน้ำ ป่าเคลป์ และชายหาดทั่วโลก ปลาดาวไม่เคยมีข้อจำกัดทางเพศ พวกมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่มี ภาวะเพศกำกวม (hermaphrodites) หมายความว่าทุกตัวเป็นทั้งชายและหญิง ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง และถึงแม้ว่าพวกมันจะต้องการสัตว์ตัวอื่นในการครองคู่ แต่การเลือกคู่ของพวกมันมีความหมายลึกซึ้งมากกว่าแค่เพศสภาพ

ปลานกขุนทองเปลี่ยนเพศได้ 

ปลานกขุนทองชีปเฮด (sheephead) โตเต็มวัยเพศผู้ ในจังหวัดนีงาตะ ประเทศญี่ปุ่น © Tony Wu / naturepl.com

ปลานกขุนบลูเฮด (bluehead wrasse) และชีปเฮด (sheephead) เกิดมาเป็นตัวเมีย พวกมันอาศัยอยู่เป็นกลุ่มที่มีผู้นำเป็นตัวผู้ แต่ถ้าปลาผู้นำตายหรือหายไป ปลานกขุนทองเพศเมียที่แข็งแกร่งจะเปลี่ยนเป็นเพศผู้และรักษาการแทน ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า “sequential hermaphroditism” เพราะโดยทั่วไปแล้วปลาไม่ได้มีสองเพศในตัวเดียว แต่พวกมันมีความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพจากเพศหนึ่งไปเป็นอีกเพศ

ปลาการ์ตูนเพศผู้เปลี่ยนเป็นเพศเมียได้

ปลาการ์ตูนและดอกไม้ทะเล ©  Paul Hilton / Greenpeace 

ปลาการ์ตูนเกิดมาเป็นตัวผู้ แต่สามารถเปลี่ยนเพศเป็นตัวเมียได้ถ้าหากโอกาสในการทำหน้าที่ที่สำคัญเปิดขึ้น เพราะโดยทั่วไปแล้วปลาการ์ตูนจะอาศัยอยู่เป็นฝูง โดยมีปลาเพศเมียเป็นจ่าฝูง ส่วนปลาเพศผู้จะมีตำแหน่งลดหลั่นตามลำดับชั้น แต่ถ้าจ่าฝูงหายไป ปลาเพศผู้ที่อยู่ในลำดับขั้นสูงจะเปลี่ยนเป็นเพศเมียเพื่อขึ้นไปทดแทนจ่าฝูง

วาฬออร์กาอยู่ในฝูงปลาที่เป็น “เกย์”

วาฬออร์กาในนอร์ทไอแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ © Robert Marc Lehmann / Greenpeace

วาฬออร์กาเป็นนักรัก ไม่ได้เป็น “วาฬเพชรฆาตร” อย่างที่เข้าใจกัน เพราะหลังจากวาฬออร์กาโตพอที่จะออกจากครอบครัวและฝูงของมัน พวกมันจะจับคู่กับวาฬตัวผู้ ตอนมันว่างจากการหาอาหาร พวกมันจะมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย และจะไม่มีตัวไหนถูกกีดกันออกจากกลุ่ม

ที่เล่ามาเป็นแค่บางส่วนของความหลากหลายทางเพศของสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทร นี่ยังไม่รวมเพนกวิน โลมา แมวน้ำ หรือหมึกอีกนะ ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งชี้ว่าความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ และแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ที่ยังมีสิ่งมหัศจรรย์อีกมากมายที่เรายังไม่รู้