ทุก ๆ การต่อสู้ของชุมชนต้องเดินด้วยท้อง รวมถึงการต่อสู้คัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ของชาวบ้านกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นด้วยเช่นกัน ในการเดินทางมาทวงถามสัญญากับรัฐบาลที่เคยให้ไว้ในแต่ละครั้งนั้น ภาพที่เราเห็นคือสีหน้าและกำลังใจที่มุ่งมั่นของเครือข่าย แต่แท้จริงแล้วการขับเคลื่อนขบวนการเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงยังมี ‘ทีม’ ที่เป็นหัวใจสำคัญนั่นคือ ทีมปรุงอาหาร
ในงานอะโบ๊ยหมะ ครั้งที่ 7 ตอน เลจะนะบุกกรุง ที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ มะยะ (คำว่า มะ แปลว่า แม่ มะยะ แปลว่า แม่ยะ ) หรือ น่าดิย๊ะ มะเสาะ บุคคลหลักที่คอยปรุงอาหารให้กับขบวนการขับเคลื่อนจะนะรักษ์ถิ่น เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และขอให้จัดทำการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) มะยะเป็นชาวบ้านมีอาชีพทำอวนปูอยู่ใน ต.สะกอม อ.จะนะ จังหวัดสงขลา เราได้พูดคุยกับมะในซุ้มการสาธิตการสานอวนปูจากมือซึ่งมะยะบอกว่าเป็นอาชีพที่เลี้ยงครอบครัวมาหลายสิบปี
รู้จัก มะยะ แม่ครัวของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น
มะยะเล่าให้เราฟังว่า ตั้งแต่การรวมกลุ่มเดินทางเข้ามาเจรจากับภาครัฐ ในปี 2563 เพื่อยุติ เมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตที่อำเภอจะนะ สงขลา เปลี่ยนแผ่นดินและทะเลให้กลายเป็นฐานเศรษฐกิจของทุนปิโตรเคมีขนาดใหญ่ เธอและน้องสาวจะเป็นหนึ่งในแม่ครัวหลักที่คอยทำกับข้าวกับปลาให้กับเครือข่ายตลอดเวลาที่มาปักหลักอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ในชีวิตปกติของเธอ เธอมีอาชีพถักอวนปู ส่งขายให้ชาวประมงในพื้นที่
มะยะเห็นว่าเธอสามารถร่วมเป็นตัวแทนชาวบ้านจะนะเดินทางมาที่กรุงเทพ ฯ ได้สะดวกกว่าชาวบ้านคนอื่น เพราะอาชีพถักอวนปูนั้นยืดยุ่น และไม่ใช่อาหารที่เน่าเสียได้ ขณะที่เพื่อนบ้านชาวประมงบางคนไม่สามารถเดินทางมาร่วมเจรจากับรัฐได้เพราะว่าต้องออกหาปลาซึ่งก็เป็นอาชีพของเขา
“มะอยู่ที่จะนะอาชีพหลักของมะคือทำอวน แต่ถ้ามีโครงการอุตสาหกรรมเกิดขึ้น เรือประมงก็คงไม่ได้ออกไปหาปู ปลา เหมือนเดิม อาชีพของมะก็คงลดลงตามการออกเรือประมง เราดูที่มาบตาพุดเป็นตัวอย่าง และมะเองไม่อยากให้จะนะเป็นเหมือนมาบตาพุด”
มะอธิบายว่าการทำประมงในรายละเอียดนั้นมีหลายขั้นตอนอยู่ในนั้น ตั้งแต่คนที่ทำอาชีพถักอวนปู อวนปูก็จะถูกส่งไปใช้งานในเรือชาวประมงแล้วพอเขาจับปูได้ ก็จะนำปูขึ้นฝั่งไปแกะปูออกจากอวน จากนั้นจะมัดปูเป็นกิโลกรัมแล้วส่งขาย จะเห็นได้ว่าในการจับปูครั้งหนึ่งมีคนที่อยู่ในกระบวนการนี้มากมายและนี่คืออาชีพของพวกเขา สร้างรายได้ให้กับเขามาเนิ่นนาน
“ตอนที่พวกเรารวมกลุ่มกันที่หน้า UN มะทำกับข้าวอยู่ในครัวตลอด 9 วัน มักจะมีน้อง ๆ ลูก ๆ เดินมาถามทุกวันว่า มะวันนี้แกงอะไร วันนี้มะทำอะไรให้เรากิน เราสบายใจทุกครั้งที่ทุกคนได้กินอาหารที่อร่อย”
เพราะอยากปกป้องบ้านเกิด แม้จะถูกดำเนินคดีแต่ก็ไม่เสียใจ
เมื่อรัฐเงียบหาย ชาวบ้านจึงเดินทางมาทวงถามสัญญาจากรัฐบาลอีกครั้งเกี่ยวกับการดำเนินการศึกษา SEA ว่าดำเนินการไปถึงขั้นตอนใดแล้ว แต่สิ่งที่ชาวจะนะได้รับคือการถูกสลายการชุมนุมและถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม
ในวันที่เกิดการสลายชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเมื่อเดือนธันวาคม 2564 มะยะ เป็นหนึ่งในชาวบ้าน 37 คนที่ถูกดำเนินคดี
“มะต้องลุกขึ้นมาสู้ แต่ก่อนมีแค่คนอายุเยอะแล้วแต่ว่าวันนี้เรามีเยาวชน มีคนรุ่นใหม่มาร่วมสู้เพราะถ้าเราไม่ร่วมกันสู้แล้วโครงการเกิดขึ้นจริงๆ ภาระก็จะตกอยู่ที่เยาวชนคนรุ่นหลัง มะไม่เสียใจเลยที่โดนดำเนินคดี แต่มันแค้นที่ว่าทำไม เราชาวบ้านถึงไม่มีสิทธิ์มาคัดค้าน เพียงแค่คดี 3 ข้อหาแลกกับหน้าที่ที่มะต้องเป็นตัวแทนของคนจะนะเดินทางมาคุยกับรัฐ มะแค่อยากให้คนรุ่นใหม่ๆเห็นว่า พวกเราก็มีสิทธิ์ในการปกป้องบ้านเกิด ปกป้องอาชีพของตัวเอง”
สิ่งที่มะยะตั้งคำถามคือ ชาวบ้านตั้งใจเดินทางมาเพื่อคุยกับรัฐบาล แต่ทำไมไม่มีใครมาพูดคุยมาถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเลย มะยะย้ำอีกว่า ชาวบ้านที่มาก็อายุเยอะแล้วแต่มาเพราะเดือดร้อนจริงๆ ถ้าไม่เดือดร้อนพวกเขาคงไม่ยอมเดินทางไกลมาเพื่ออยากพูดคุยหรอก
คนรุ่นใหม่ อีกหนึ่งความหวังในการปกป้องจะนะ
มะยะบอกว่าเธอดีใจตอนนี้เยาวชนในพื้นที่ได้รับข่าวสาร เด็ก ๆ เริ่มตั้งคำถามและอยากรู้ว่าสิ่งที่ลุงป้าน้าอาของพวกเขาทำอยู่คืออะไร อย่างเช่นหลานของเธอก็เคยอยากรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น จนปัจจุบันก็มาเป็นหนึ่งในเยาวชนที่เดินทางมาร่วมจัดงาน อะโบ๊ยหมะ สื่อสารเรื่องพื้นที่จะนะให้คนกรุงเทพฯได้ฟังด้วย
“หลานบอกมะว่า เขาอยากเห็นว่าที่ลุงป้าน้าอาของพวกเขาต้องขึ้นมากรุงเทพฯ เขามาต่อสู้เพื่อปกป้องพื้นที่ให้กับคนรุ่นหลัง และเขาเสียใจที่รัฐบาลทำกับป้าของเขาแบบนั้น”
มะทิ้งท้ายว่า มะยะไม่เคยเสียใจเลยที่ถูกจับและดำเนินคดี ในทางกลับกันหากมะไม่ได้ตัดสินใจร่วมเดินทางมากับเครือข่ายชุมชนในวันนั้น แต่มะเองคงจะเสียใจที่ไม่ได้ถูกบันทึกว่าเป็นคนอีกคนหนึ่งที่มาขับเคลื่อนปกป้องบ้านตัวเองร่วมกับพี่น้องในชุมชน
#SaveChana #Saveจะนะ