เพราะมลพิษพลาสติกส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะต่อสุขภาพของประชาชน นักวิทยาศาสตร์พบไมโครพลาสติกในอาหารและเครื่องดื่ม ในดิน ในอากาศที่เราหายใจ และในเลือดของมนุษย์ ทั้งนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหาขยะพลาสติกถูกผลักภาระไปที่ประชาชนเป็นส่วนใหญ่ แต่แท้จริงแล้ว ปัญหาขยะพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องมีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมแก้ไปพร้อม ๆ กัน ทั้งเชิงโครงสร้างและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ดังนั้น การแก้ปัญหามลพิษพลาสติกเชิงโครงสร้างนั้นจำเป็นต้องอาศัยการออกนโยบาย เช่น นำหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต(Extended Producer Responsibility หรือ EPR) หรือหลักการที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ เป็นแนวทางให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ กระจายสินค้า​ การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด

นักกิจกรรมกรีนพีซ ประเทศไทย ถือป้ายรณรงค์เพื่อส่งข้อความถึงผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วประเทศว่า “อย่าลืม! แก้ไขปัญหาพลาสติก” เรียกร้องให้พรรคการเมืองต่างๆ ลงมือแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างจริงจังและเร่งด่วน © Roengchai Kongmuang/ Greenpeace

นอกจากการแก้ปัญหาด้วยบทบาทด้านกฎหมายแล้ว พรรคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลในอนาคตจะต้องรับรองว่ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มแรงงาน กลุ่มคนเก็บขยะและชุมชนท้องถิ่นผู้ได้รับผลกระทบจากขั้นตอนใดๆ ก็ตามในกระบวนการผลิตพลาสติก (รวมถึงการสกัดและการกลั่นเชื้อเพลิงฟอสซิล) หรือจากการรีไซเคิล การเผา และการกำจัดมลพิษพลาสติก จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบและได้รับประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจที่สามารถฟื้นฟูได้และมีผลิตภาพ 

ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงการรีไซเคิลให้ได้มากขึ้นและเร็วขึ้น แต่ต้องเป็นระบบเศรษฐกิจที่ทำให้การไหลเวียน ของทรัพยากรและวัสดุจากพลาสติกช้าลง และปิดวงจรของการไหลเวียนโดยการลดการผลิตหรือลดการบริโภค รวมทั้งวางยุทธศาสตร์ “การไม่ทำให้เกิดของเสีย” และการลดทรัพยากรที่จะกลายเป็นขยะพลาสติกในอนาคต

นักกิจกรรมยืนบนกองขยะที่พบบนเกาะสิเหร่ และถือป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “อย่าลืม! แก้ปัญหาพลาสติก” เพื่อสื่อสารถึงผู้กำหนดนโยบายให้แก้ปัญหามลพิษพลาสติกอย่างเร่งด่วน และส่งข้อความถึงพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่กำลังหาเสียงเลือกตั้งให้สนใจปัญหามลพิษพลาสติก © Songwut Jullanan/ Greenpeace

กรีนพีซ ประเทศไทย มีข้อเสนอต่อพรรคการเมือง ผู้กำหนดนโยบาย และรัฐบาลไทย ดังนี้

  • ผลักดันกฎหมายการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนบนหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) 
  • สนับสนุนสนธิสัญญาพลาสติกระดับโลก (Global Plastic Treaty)
  • ยกเลิกพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยกำหนดเป้าหมายระดับประเทศและท้องถิ่น
  • ยุติการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดและระงับการอนุญาตทั้งในส่วนของการขยายธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อจัดหาซัพพลายให้กับอุตสาหกรรมพลาสติก และในส่วนของโรงงานแปรขยะเป็นเชื้อเพลิงและขยะเป็นพลังงานทันที
  • ยกเลิกการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจพลังงานจากเชื้อเพลิงขยะพลาสติก และการอนุญาตนำเข้าเศษพลาสติกเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า รวมถึงการรีไซเคิลพลาสติกเชิงเคมี
  • รับรองว่าชุมชนท้องถิ่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มแรงงาน  กลุ่มคนเก็บขยะ ซึ่งได้รับผลกระทบจากขั้นตอนใด ๆ ก็ตามในกระบวนการผลิตพลาสติกจะมีส่วนร่วมในการออกแบบและได้รับประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจที่สามารถฟื้นฟูได้และมีผลิตภาพ ซึ่งมิใช่เพียงการรีไซเคิลให้ได้มากขึ้น และเร็วขึ้นเท่านั้น

เมื่อการเมืองและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน การจะแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นปัญหาขยะพลาสติกแบบนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยบทบาทของพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่ชี้แนะทิศทางทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในเชิงโครงสร้าง

ร่วมติดตามการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่โครงสร้าง ผ่านแคมเปญ #VoteForClimate #เข้าคูหากาสิ่งแวดล้อม