แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับล่าสุด (PDP 2018) กำหนดทิศทางการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเป็นเวลา 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)

แผนดังกล่าวนี้ยังสอดคล้องต้องกันกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) อีกด้วย ในด้านหนึ่ง นับว่าเป็นการยกระดับการวางแผนให้สอดคล้องกันในทุกด้านของการพัฒนาประเทศ และได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดการจัดการพลังงานที่แตกต่างจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อพิจารณาจากเอกสารนำเรียนคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะพบความย้อนแย้งที่เกินเยียวยาในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เป้าหมายของแผนพีดีพีฉบับนี้มุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อ การกระจายระบบผลิตไฟฟ้าและการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในแต่ละภูมิภาค การผลิตไฟฟ้าต้นทุนต่ำ การลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของผู้ใช้ไฟฟ้าแบบ Prosumer แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของแผนพีดีพีฉบับล่าสุดจะพบ “การปิดทางเลือก” สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แนบเนียนเชิงยุทธศาสตร์

ไฟฟ้าสำรองทั้งประเทศล้นกว่าร้อยละ 30

มูลนิธินโยบายสุขภาวะระบุว่า หากพิจารณาจากสถิติและการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าของประเทศไทยจะพบว่า มีสัดส่วนแนวโน้มลดลงในช่วงปีต่างๆ จากปีพ.ศ. 2542-2549, ปีพ.ศ.2550-2555 และปี พ.ศ. 2556-2561

ทั้งนี้หากดูแนวโน้มภาพรวมความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละปีจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นไม่ได้มากตามการคาดการณ์แผนพีดีพี 2015 ในการจัดทำแผนพีดีพี 2018 ฉบับล่าสุดนี้จึงมีการปรับตัวเลขการพยากรณ์ใหม่อีกครั้ง โดยจากสถานการณ์ในปี พ.ศ. 2561 ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้นในเดือนเมษายน อยู่ที่ 29,969 เมกะวัตต์ และมีกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมดกว่า 40,000 เมกะวัตต์ ดังนั้นประเทศไทยมีไฟฟ้าสำรองเหลือกว่า 10,000 เมกะวัตต์หรือเกินกว่าร้อยละ 35

ไฟฟ้าสำรองล้นทุกภาคยกเว้นเขตพื้นที่นครหลวง

จากเอกสารนำเรียนคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ จะพบเป้าหมายเร่งด่วนอันเป็นวาระแห่งชาติคือ การผลักดันโรงไฟฟ้าขยะและชีวมวลประชารัฐใน 3 จังหวัดภาคใต้ และโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลขนาดใหญ่ (IPP)  กำลังผลิต 100เมกะวัตต์ขึ้นไปและขนาดต่ำกว่านั้นในแต่ละภูมิภาค ภายใต้เป้าหมาย การกระจายระบบผลิตไฟฟ้าและการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในแต่ละภูมิภาค ดังนี้

พื้นที่

ความต้องการไฟฟ้าสูดสุดในปี พ.ศ. 2561 (เมกะวัตต์) กำลังผลิตไฟฟ้าในปี พ.ศ. 2561(เมกะวัตต์) กำลังไฟฟ้าสำรองล้น
(เมกะวัตต์)
กำลังไฟฟ้าสำรองคิดเป็นร้อยละ (ของกำลังผลิตไฟฟ้าปี พ.ศ.2561)
ภาคเหนือ 3,183 6,070 2,887 47.56
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4,112 6,056 1,944 32.10
ภาคกลางตอนบน 2,873 9,735 6,862 70.48
ภาคตะวันออก 4,880 10,156 5,276 51.94
ภาคตะวันตก 3,022 7,953 4,931 62.00
ภาคใต้ 2,767 3,876 1,109 28.61
เขตนครหลวง (กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ) 10,307 4,156 6151 -67.56
รวม 31,144 48,002 16,858 35.11

หากพิจารณาจากเอกสารดังกล่าว พบว่า การจัดการไฟฟ้าของประเทศไทยก่อให้เกิดภาระต้นทุนจากไฟฟ้าสำรองล้นทุกพื้นที่ ยกเว้นเขตนครหลวง (กรุงเทพฯ นนทบุรีและสมุทรปราการ) ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากกว่า 10,000 เมกะวัตต์ แต่กำลังผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันเพียง 4,000 กว่าเมกะวัตต์ ดังนั้นการจัดการไฟฟ้าของประเทศไทยเกิดวิกฤตที่ยังคงอยู่คือ ไฟฟ้าสำรองของประเทศล้นกว่า 10,000 เมกะวัตต์ และหากคิดแยกส่วนตามการอ้างของ PDP2018 เขตพื้นที่นครหลวงเป็นพื้นที่ที่ไฟฟ้าไม่เพียงพอและจำเป็นต้องจัดการให้เกิดความสมดุลและมั่นคงทางพลังงาน แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาล กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเพิกเฉยต่อไฟฟ้ากำลังสำรองที่ล้นกว่า 10,000เมกะวัตต์อันนำมาซึ่งภาระต้นทุนที่สิ้นเปลืองทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้การแบ่งแยกการจัดการไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาค โดยบิดเบือนเจตจำนงของ Decentralization การกระจายศูนย์พลังงานที่ให้ความสำคัญกับการเกิดขึ้นของการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก

กระจายพื้นที่การผลิตไฟฟ้าและเป็นพลังงานหมุนเวียนที่มุ่งให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจและสิทธิการจัดการพลังงานให้กับประชาชน สู่การกระจายการผุดโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลขนาดใหญ่เป็นหลักไปในทุกภูมิภาคแทน ซึ่งหากพิจารณาจากข้อมูลในตารางด้านบนจะพบว่า การจัดการพลังงานที่มีอยู่ให้สมดุลและกระจายโดยการจัดการระบบสายส่งและโครงข่ายทั้งหมดถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้เกิดขึ้น

 

โครงการ เป้าหมายทั้งแผน ปี 2561-2568 เป้าหมายทั้งแผน ปี 2569-2580
จำนวน
(เมกะวัตต์)
จากเป้าหมายทั้งแผน
ปี 2561-2580
คิดเป็นร้อยละ
(จากเป้าหมายทั้งแผน ปี 2561-2580)
จำนวน
(เมกะวัตต์)
จากเป้าหมายทั้งแผน
ปี 2561-2580
คิดเป็นร้อยละ
(จากเป้าหมายทั้งแผน
ปี 2561-2580)
โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3,839 20,766 18.48 16,927 20,766 81.51
โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ 500 500 100 500
โรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น 2,112 2,112 100 2,112
โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 8,256 13,156 62.75 4,900 13,156 37.25
โรงไฟฟ้าถ่านหิน/ลิกไนต์ 600 1,740 34.48 1,140 1,740 65.51
ซื้อไฟฟ้าต่างประเทศ 2,357 5,857 40.24 3,500 5,857 59.76
โรงไฟฟ้าใหม่/ทดแทน 1,400 8,300 16.86 6,900 8,300 83.14
มาตรการอนุรักษ์พลังงาน 0 4,000 0 4,000 4,000 100
รวม 19,064 56,431 37,367 56,431

นอกจากการเพิกเฉยต่อการจัดการไฟฟ้าล้นในระบบและการกำลังสำรองไฟฟ้าเกินค่ามาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 15 ในทุกภูมิภาคยกเว้นเขตนครหลวงแล้ว เป้าหมายแผนการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยยังคงมุ่งให้ความสำคัญกับเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นลำดับแรกไม่แตกต่างจากแผนพีดีพีก่อนหน้านี้ ถึงแม้ว่าแผนพีดีพี 2018 ล่าสุดจะกำหนดให้เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 20,766 เมกะวัตต์ ซึ่งไม่แตกต่างจากแผนพีดีพี 2015 มากนัก และที่ซ้ำรอยเดียวกันคือ สัดส่วนการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนถูกกำหนดให้ส่งขายเข้าระบบได้ในช่วงสิบปีหลังของแผนคือช่วงปี 2569-2580 แต่ในช่วงแรกกลับเร่งเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศที่มีการลงนามผูกมัดไว้แล้ว เป็นต้น

อีกทั้งมาตรการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน(Energy efficiency) นำมาใช้ในแผนเพียงแค่ร้อยละ 7 และมีค่าเป็นศูนย์ในช่วง 10 ปีแรกเพราะในแผนพีดีพีกำหนดชัดเจนไม่มีการนำมาใช้ ทั้งๆที่มาตรการดังกล่าวเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องนำมาใช้เป็นลำดับแรกและถือเป็นต้นทุนการลงทุนที่ถูกที่สุดเมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าเพิ่มจากเชื้อเพลิงต่างๆ


การจัดทำแผนพีดีพีฉบับล่าสุดนี้ นอกจากประเด็นที่นำเสนอข้างต้นยังพบอีกว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็น การมีส่วนร่วมของประชาชนและการเผยแพร่เอกสารเพื่อประกอบการพิจารณายังคงเป็นปมหลักที่ยากเกินจะคลี่คลายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลักดันของประชาชนให้มีการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ Strategic Environmental Aseesment ของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ 20 ปี ถูกละเว้น การจัดทำแบบจำลองของแผนดังกล่าวเพื่อให้เห็นแผนพีดีพีทางเลือกเพื่อให้ประชาชนร่วมตัดสินใจถูกมองข้าม ดังนั้นการฟันธงแผนพีดีพีฉบับล่าสุดนี้จึง “ปิดประตู” ปิดกั้นพลังงานหมุนเวียนและการอนุรักษ์พลังงานตั้งแต่เริ่มต้น

เป็นที่ทราบกันดีว่าประวัติศาสตร์การจัดทำแผนพีดีพีของประเทศไทยไม่ได้ยาว 20 ปี ดั่งที่เขียนไว้ ช่วงเวลากอบโกยของอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลจะต้องช่วงชิงให้เกิดขึ้นเพียง 3 ปีแรกเพราะหลังจากนั้นจะมีการจัดทำแผนพีดีพีใหม่เป็นวังวนอย่างที่เป็นมา ดังนั้นพลังงานหมุนเวียนและการอนุรักษ์พลังงานที่อยู่ “หางแถว” จึงยากที่จะเข้าสู่ระบบสายส่งและก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดการพลังงานอย่างแท้จริง