วาฬหลังค่อมในมหาสมุทรอินเดีย ทางตะวันตกของประเทศออสเตรเลีย © Alex Westover / Greenpeace

ถือเป็นหนึ่งข่าวใหญ่ประเด็นสิ่งแวดล้อมปีนี้ กับการรับร่างสนธิสัญญาทะเลหลวง (Ocean Treaty) หลังใช้เวลาพูดคุย ต่อสู้ และต่อรองกันมาหลายสิบปี 

โดยหลังจากที่ประเทศต่าง ๆ ร่วมลงนามสนธิสัญญาทะเลหลวงในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ร่างสนธิสัญญาดังกล่าวก็ถูกนำไปแปลเป็นภาษาทางการของสหประชาชาติ ผ่านกระบวนการตรวจสอบทางกฎหมาย และเตรียมพร้อมให้ประเทศสมาชิกลงนามอย่างเป็นทางการ 

และในที่สุด เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลที่เข้าร่วมประชุมองค์การสหประชาชาติได้ลงรับสนธิสัญญาทะเลหลวงอย่างเป็นทางการ… สักที

สนธิสัญญาทะเลหลวง จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างแหล่งคุ้มครองมหาสมุทรทางทะเลกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลกภายในปี 2573 หรือภายใน 7 ปีหลังจากนี้ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นต่ำสุดที่จะช่วยให้มหาสมุทรที่เสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ ได้มีโอกาสฟื้นฟู 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ คือรัฐบาลทั่วโลกที่ลงนามเห็นด้วยกับสนธิสัญญาทะเลหลวง ให้สัตยาบันกับสนธิสัญญาดังกล่าว และบังคับใช้เพื่อสร้างเขตคุ้มครองทางทะเลได้ทันตามเป้าหมาย 

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ เส้นทางสนธิสัญญาทะเลหลวงต้องผ่านอะไรมาบ้าง เราสรุปให้ในบล็อกนี้ค่ะ 

เส้นทางชีวิต สนธิสัญญาประวัติศาสตร์

สนธิสัญญาทะเลหลวงเป็นสนธิสัญญาทางมหาสมุทรที่มีผลผูกพันตามกฎหมายฉบับแรกในรอบกว่า 20 ปี และเป็นสนธิสัญญาฉบับแรกที่โฟกัสไปที่การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลหลวง 

โดยกระบวนการได้มาซึ่งสนธิสัญญาเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 และดำเนินต่อเนื่องดังนี้

  • ปี 2547 มีการตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อศึกษา “ช่องโหว่” ในการกำกับดูแลมหาสมุทรทั่วโลก 
  • ปี 2551 มีการเปิดโต๊ะเจรจาเพื่อหาข้อตกลงการบังคับใช้
  • ปี 2054 ได้ข้อสรุปรายละเอียดสำคัญของสนธิสัญญา
  • ปี 2558 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN General Assembly) เสนอให้ปรับปรุงข้อตกลงในการบังคับใช้ และคณะกรรมการเตรียมการประชุมถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อหาข้อตกลงร่วมในสนธิสัญญา
  • ปี 2559-60 คณะกรรมการเตรียมการประชุมได้มีการประชุม 4 ครั้ง เป็นที่มาของการประชุมระหว่างรัฐบาลขององค์การสหประชาชาติ เพื่อหาข้อสรุป “สนธิสัญญาทะเลหลวง” หรือ Intergovernmental Conference on BBNJ
  • ปี 2561 มีการประชุมสนธิสัญญาทะเลหลวงของสหประชาชาติครั้งแรก 
  • ปี 2566 แม้จะเป็นการเจรจาที่ยาวนาน แต่ในที่สุดร่างสนธิสัญญาก็ได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมสนธิสัญญาทะเลหลวงของสหประชาชาติ ครั้งที่ 5 ที่มหานครนิวยอร์ก 

แคมเปญของกรีนพีซถือเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันสนธิสัญญานี้ตั้งแต่ต้น ในปี 2548 เราเริ่มเรียกร้องให้มีสนธิสัญญาที่จะช่วยปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและสร้างเขตอนุรักษ์ทางทะเลในน่านน้ำสากล ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UN Convention on the Law of the Sea)

นักกิจกรรมจากกรีนพีซ ฉายข้อความ “Protect The Oceans” ลงบนอาคารสำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนิวยอร์ก เพื่อเรียกร้องให้ตัวแทนรัฐบาลเร่งเจรจาและรับร่างสนธิสัญญาทะเลหลวง ระหว่างการประชุมสนธิสัญญาทะเลหลวงของสหประชาชาติ ครั้งที่ 5  © Greenpeace

การปล่อยข้อเรียกร้องนี้ถือเป็นก้าวย่างสำคัญ เพราะน่านน้ำที่อยู่ถัดไปจากทะเลอาณาเขตของประเทศ หรือที่เราเรียกกันว่า ทะเลหลวง (high sea) เป็นเขตที่ไม่มีกฎหมายในการกำกับดูแล และถูกคุกคามจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์

ข้อเสนอของเราคือการกำหนดเขตคุ้มครองทะเลให้ได้อย่างน้อยที่สุดคือร้อยละ 30 ของมหาสมุทรทั้งหมดภายในปี 2573 ซึ่งประเทศสมาชิกสหประชาชาติก็เห็นด้วยเป้าหมายนี้ในการประชุมสมัชชาภาคีว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ หรือที่เรียกกันติดปากว่า COP15 ในเดือนธันวาคม ปี 2022 ที่ประเทศแคนาดา

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างเห็นตรงกันว่าการคุ้มครองทะเลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 เป็นความต้องการขั้นต่ำที่สุดในการปกป้องมหาสมุทร 

สถานีต่อไป 

แต่การเดินทางยังไม่จบ แม้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติจะมีการลงนามในสนธิสัญญาทะเลหลวงอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว แต่เรายังมีงานต้องทำ

สถานีต่อไปคือการที่รัฐบาลทั่วโลก และแน่นอนมรวมถึงรัฐบาลไทยซึ่งลงนามเห็นด้วยกับสนธิสัญญาทะเลหลวง ให้สัตยาบันกับสนธิสัญญาดังกล่าว และบังคับใช้เพื่อสร้างเขตคุ้มครองทางทะเลได้ทันตามเป้าหมาย 

นักกิจกรรมกรีนพีซช่วยปลดเต่าออกจากเบ็ดราวของเรือประมงไต้หวัน พร้อมป้าย “Marine Reserve Now”
© Greenpeace / Paul Hilton

มหาสมุทรมีความสำคัญต่อทุกชีวิต มีหน้าที่สร้างสมดุลทางสภาพภูมิอากาศและเป็นแหล่งอาหารให้กับคนหลายพันล้านคนทั่วโลก เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล แต่เพราะการแสวงหาผลประโยชน์จากมหาสมุทรของมนุษย์ ที่ดำเนินต่อเนื่องมาหลายร้อยปี ทำให้ปัจจุบันมหาสมุทรต้องเผชิญกับวิกฤต 

นี่คือเหตุผลที่เรา “ต้องมี” สนธิสัญญาทะเลหลวง และรัฐบาลต้องให้สัตยาบันและบังคับใช้ให้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดเขตคุ้มครองทางทะเลอย่างน้อยร้อยละ 30 ของมหาสมุทรทั่วโลก 

หากเราทำสำเร็จ เราจะช่วยปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ปกป้องทะเลจากการทำประมงทำลายล้าง จากอุตสาหกรรมที่หวังเพียงผลประโยชน์ และเพื่อให้มหาสมุทรได้มีช่องว่างได้ฟื้นฟู 


อ้างอิง: 

https://www.greenpeace.org/international/press-release/60330/un-ocean-treaty-formally-adopted-race-ratification-begins/

https://www.greenpeace.org/international/press-release/60330/un-ocean-treaty-formally-adopted-race-ratification-begins/