คุณเคยเห็นการลงประชามติที่มีผู้ออกเสียงลงคะแนนเห็นชอบถึงร้อยละ 80 ไหม แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ผลการลงประชามตินี้จึงนับเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นว่ามาตรการที่เสนอไปนั้นได้รับการสนับสนุนในวงกว้าง และจะต้องมีการพิจารณาผลการลงประชามตินี้อย่างจริงจัง

จากผลสำรวจล่าสุด มีผู้คนกว่าร้อยละ 80 สนับสนุนให้มีการลดการผลิตพลาสติกลง

ผลการสำรวจความคิดเห็นในครั้งก่อนทำให้เราตระหนักดีว่าผู้คนมากมายเรียกร้องให้มีการจัดการปัญหามลพิษพลาสติก จากผลการสำรวจความคิดเห็นของคนทั่วไปใน 19 ประเทศทั่วโลกต่อวิกฤตพลาสติก เราจึงไม่แปลกใจที่มีคนสนับสนุนให้ยกเลิกการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวมากถึงร้อยละ 75

แต่เราก็สงสัยด้วยเช่นกันว่าจะมีใครสนับสนุนข้อเสนอให้มีการลดการผลิตพลาสติกบ้างไหม เพราะข้อเสนอนี้แม้ฟังดูสุดโต่ง แต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยจัดการวิกฤตพลาสติกได้ รายงาน People vs Plastics ของกรีนพีซที่เผยแพร่ในวันนี้ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นที่สร้างแรงผลักดันและกำลังใจให้เราเป็นอย่างมากที่ได้เห็นว่าคนที่สนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวมากถึงร้อยละ 82 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแรงสนับสนุนจากสังคมในวงกว้างได้เป็นอย่างดี

แต่ผลการสำรวจนี้เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดจริง ๆ หรือ มีใครบ้างที่อยากใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยพลาสติกล้นทะลักลงสู่แม่น้ำ กระจายเกลื่อนกลาดเต็มชายหาด และแตกตัวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยตกค้างไปอีกหลายสิบปีหรือแม้แต่เป็นร้อยปี จนเข้าไปปนเปื้อนอยู่ในอาหารและอากาศที่เราหายใจเข้าไป

ดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้กลับกลายเป็นสิ่งที่กลุ่มผู้สนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลต้องการ เรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งคือการที่คนกลุ่มนี้มีอิทธิพลต่อกระบวนการทางการเมืองในการกำหนดแนวทางแก้ไขวิกฤตพลาสติกเป็นอย่างมาก ทั้งยังมีความแน่วแน่เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการอีกด้วย

​​เด็กวัยรุ่นยืนมองปริมาณขยะพลาสติกมหาศาลในเมืองอักกรา ประเทศกานา

ปี 2567 นับเป็นปีที่ชี้ชะตาการต่อสู้กับมลพิษพลาสติก

ปี 2567 เป็นปีสำคัญที่จะมีการประชุมเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่จะมีผลผูกพันทางกฎหมาย เวทีเจรจาครั้งสำคัญกำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ที่ Shaw Centre เมืองออตตาวา แคนาดา โดยมีผู้แทนรัฐบาลจากทั้งหมด 173 ประเทศเข้าร่วม ข้อสรุปที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่การประชุมเจรจาในรอบสุดท้าย ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ปูซาน เกาหลีใต้

นอกเหนือจากผู้แทนของรัฐบาลและภาคประชาสังคม อย่างเช่น กรีนพีซและองค์กรแนวร่วม Break Free from Plastic แล้ว ยังมีตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเข้าร่วมการประชุมเจรจาอีกด้วย

นับตั้งแต่ที่เริ่มมีการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกขึ้นในปี 2565 ได้มีการกำหนดกรอบการจัดการพลาสติกตลอดวงจรชีวิต และหยุดยั้งมลพิษพลาสติกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรอบการจัดการนี้จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้หากไม่มีการชะลอการผลิตพลาสติกและยุติยุคพลาสติกในท้ายที่สุด ดังนั้น กรีนพีซจึงเรียกร้องให้สนธิสัญญาพลาสติกโลก

มีเป้าหมายในการลดการผลิตพลาสติกลงอย่างน้อยร้อยละ 75 ภายในปี 2583 เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

แน่นอนว่าข้อเรียกร้องเหล่านี้ล้วนไม่สำคัญต่อกลุ่มผู้สนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลเลยแม้แต่น้อย เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเขาคือกำไรที่แลกมาด้วยราคาที่ผู้คนและโลกใบนี้ต้องจ่ายไป

นักกิจกรรมกรีนพีซ อิตาลี ชูป้ายข้อความสร้างความตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่ามลพิษพลาสติกเริ่มมาจากการผลิต ณ โรงงานปิโตรเคมี Versalis ของบริษัท ENI ใกล้เมืองบรินดิซิ อิตาลี

ก้าวข้ามกำแพงเชื้อเพลิงฟอสซิล

ในการประชุมเจรจาสนธิสัญญาครั้งล่าสุด จำนวนผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลและอุตสาหกรรมเคมีมีมากกว่าผู้แทนที่มาจากจากประเทศเล็ก ๆ 70 ประเทศ ยิ่งบรรยากาศการเจรจาเข้มข้นขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จำนวนตัวแทนภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นไปด้วย ประชาชนตระหนักดีว่าภาคอุตสาหกรรมไม่ต้องการให้การเจรจาบรรลุข้อตกลงเชิงบวกใด ๆ ที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ จึงอาจเป็นสาเหตุที่กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจความคิดเห็นกว่าร้อยละ 60 ไม่ต้องการให้กลุ่มผู้สนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลและภาคอุตสาหกรรมเคมีเข้าร่วมการเจรจาสนธิสัญญาฉบับนี้

กลุ่มผู้สนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลมีอิทธิพลออกกว้างขวาง รัฐบาลในหลายประเทศสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของประชาชน

ตัวอย่างมีให้เห็นในกรณีของรัฐบาลอินเดียและจีนที่ต่อต้านการจำกัดการผลิตพลาสติก แม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนจีนถึงร้อยละ 92 และอินเดียกว่าร้อยละ 86 ให้ลดการผลิตลง ส่วนในบราซิลนั้น แม้ชาวบราซิลกว่าร้อยละ 89 เรียกร้องให้มีมาตรการดังกล่าว แต่ท่าทีของรัฐบาลบราซิลกลับไม่ชัดเจนว่าจะเดินหน้าลดการผลิตพลาสติกหรือไม่อย่างไร

นักกิจกรรมกรีนพีซ ประเทศไทย ชูป้ายข้อความว่า “ขยะพลาสติก ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบ” บริเวณหลุมฝังกลบที่เต็มไปด้วยขยะพลาสติก ในอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เพื่อเรียกร้องให้บริษัทต่างๆจัดการกับวิกฤตพลาสติก
© Roengchai Kongmuang/ Greenpeace

ผู้คนทั่วโลกต่างสนับสนุนมาตรการในการแก้ปัญหาพลาสติกที่จริงจัง ถึงเวลาฟังเสียงของประชาชนแล้ว

สนธิสัญญาพลาสติกโลกไม่อาจจะเกิดขึ้นได้จากเจตจำนงทางการเมืองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องมีแรงสนับสนุนจากสาธารณชนด้วย ผลการสำรวจความคิดเห็นต่อปัญหามลพิษพลาสติกได้แสดงให้เห็นแล้วว่า คนส่วนใหญ่กังวลกับปัญหาดังกล่าว กระแสการเรียกร้องให้มีมาตรการจัดการปัญหาพลาสติกจึงแพร่ขยายออกไปในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งกำลังประสบปัญหาขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลที่มีแหล่งกำเนิดมาจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงในประเทศต่าง ๆ เช่น เม็กซิโก ไทย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ที่ผู้คนต้องเผชิญกับผลกระทบจากขยะพลาสติกในแต่ละวัน

นักกิจกรรมในเม็กซิโกแสดงข้อความขนาดใหญ่เป็นคำว่า “Mexico sin plasticos” (เม็กซิโกไม่เอาพลาสติก) เพื่อประนามขยะพลาสติกที่พบในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ Sian Ka’an

เสียงเรียกร้องเพื่อให้มีการลดการผลิตพลาสติกและปกป้องสิ่งแวดล้อมนี้เป็นการส่งเสียงกระตุ้นให้รัฐบาลที่เข้าร่วมประชุมเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกมีความกล้าที่จะยืนหยัดต่อกลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล และปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน

ในการรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากมลพิษพลาสติกนั้น เราอยากเห็นสนธิสัญญาพลาสติกโลกเป็นเสมือนแสงแห่งความหวัง นำไปสู่การสิ้นสุดของยุคพลาสติก และเปลี่ยนแปลงแนวโน้มของมลพิษพลาสติกไปในทางที่ดีขึ้น การปกป้องสุขภาวะและความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกเรานั้นถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการปกป้องไว้เพื่อคนรุ่นหลัง พลังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนอยู่ในมือของพวกเราทุกคน