สำหรับชาวบ้านใน อ.จะนะ ‘แย้สงขลา’ ถือว่าเป็นสัตว์ชนิดพันธุ์ที่มีความโดดเด่น (Iconic Species) ของสงขลาเลยทีเดียว

ในอดีต แย้สงขลาพบมากใน จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน แย้สงขลา มีจำนวนลดลงอย่างมาก เนื่องจากการใช้พื้นที่ชายหาดโดยไม่มีการควบคุม

ย้อนกลับไปราว 20 ปีก่อน ชาวบ้านจะนะชุมนุมคัดค้าน “โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย” เพราะชุมชนมองว่ารัฐไม่เปิดโอกาสให้ชุมชนได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับโครงการที่กำลังจะเข้ามาตั้งอยู่หน้าบ้านตัวเอง จึงเกิดการรวมตัวกันและต้องการจะพูดคุยกับรัฐและตรึงพื้นที่บางส่วนที่เป็นป่าชายหาดไว้เป็นฐานที่มั่น อย่างไรก็ตามแม้ความพยายามของชุมชนในครั้งนั้นจะจบลงด้วยการสลายการชุมนุมโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นและทำให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ แต่ด้วยความเข้มแข็งของชุมชนที่ยืนหยัดคัดค้านทำให้พื้นที่ป่าชายหาดผืนเล็กๆนั้นยังคงถูกรักษาไว้ได้จนถึงปัจจุบัน 

ผลจากการต่อสู้ครั้งนั้นทำให้จะนะยังคงมีพื้นที่ป่าชายหาดที่ไม่ถูกครอบครอง และกลายเป็นแหล่งระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณและสัตว์หลายชนิด รวมถึง “แย้สงขลา” ด้วย เเย้ สัตว์และพืช จุลินทรีย์ชนิดต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ป่ามีแมลง แย้กินแมลง นกกินแย้ นกช่วยป่า ป่าช่วยคน วนไปแบบนี้เป็นห่วงโซ่อาหารที่เชื่อมโยงกันไม่รู้จบ 

รู้จัก แย้สงขลา

ประเทศไทยมีแย้อยู่ 5-6 สายพันธุ์  แย้สงขลา (Leiolepis boehmei) เป็นหนึ่งในนั้นและเป็นสัตว์ที่พบได้เฉพาะถิ่น เพราะจะเจอได้เพียงตามชายฝั่ง จ.นครศรีธรรมราช จ.สงขลา ไปจนถึง จ.ปัตตานีเท่านั้น เมื่อตอนที่ค้นพบแย้ชนิดนี้ มีการวิเคราะห์ DNA และบ่งบอกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางภูมิศาสตร์ของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

สิ่งที่น่าสนใจคือแย้เป็นสัตว์ที่มีเพศเดียวคือเพศเมีย สืบพันธุ์โดยวิธีการ พาร์ธีโนเจเนซิส (Parthenogenesis) ตัวอ่อนเจริญจากไข่ของตัวเมียโดยไม่ต้องมีการผสมพันธุ์จากตัวผู้ ปัจจุบัน แย้สงขลา อยู่ในสถานะ VU หรือ Vulnerable คือเปราะบาง ถูกคุกคามจากกิจกรรมของมนุษย์ที่จะนำไปสู่การสูญพันธุ์ได้ถ้าไม่มีการแทรกแซง

แย้ สัตว์และพืช จุลินทรีย์ชนิดต่างๆยัง มีความสำคัญต่อการค้นพบยา ค้นพบความรู้เชิงธรณีวิทยา ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ค้นพบความรู้ด้านพันธุกรรม การแพทย์ ฯลฯ

ดังนั้น การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ใช่แค่การประกาศไม่ให้ล่าแย้เท่านั้น แต่คือการรักษา แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติสำหรับแย้ สัตว์ และพืช จุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ให้ดำรงระบบนิเวศอยู่ได้ และมนุษย์เราในฐานะที่เป็นหนึ่งในระบบนิเวศก็จะได้รับประโยชน์จากการรักษาแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาตินี้ในท้ายที่สุด

ป่าชายหาด บ้านของแย้และความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ (ที่คงเหลืออยู่ไม่มาก)

ปัจจุบัน กรีนพีซ ประเทศไทย นักวิชาการ เครือข่ายในพื้นที่ หน่วยงาน และชุมชน พยายามผลักดันให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่ต้องปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญทั้งระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก ข้อค้นพบที่เราเจอเบื้องต้นหลังจากลงสำรวจพื้นที่ป่าชายหาด คือการคุกคามของพืชชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอย่างต้นสน ต้นกระถินเทพา และการรุกใช้พื้นที่แบบไม่มีการควบคุมดูแล

ป่าชายหาดมีลักษณะเฉพาะต่างจากป่าแบบอื่นมาก บางที่ดูเหมือนป่าแกรนๆแห้งๆ แต่ถ้าไปสำรวจดูจะพบว่าจริงๆแล้วเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญ

ป่าชายหาดมีประโยชน์มากต่อพื้นที่ที่อยู่ชายฝั่ง ช่วยกันคลื่นกันลม ไอเค็ม โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นเนินเช่นที่ อ.จะนะ ทำให้พื้นที่ข้างหลังสามารถพัฒนาเป็นป่าบกหรือเพาะปลูกได้ ป่าเหล่านี้จะมีพืชพรรณที่หลากหลาย ช่วยยึดเกาะทำให้บริเวณชายหาด หรือชายฝั่งถูกกัดเซาะได้ยากโดยเฉพาะเหล่าพืชพื้นล่าง และลดการสูญเสียทราย ช่วยกักเก็บคาร์บอน พรรณไม้ต่างๆใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสในการค้นพบทางการแพทย์ การวิจัย ธรณีวิทยา ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ฯลฯ

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทรัพยากรทางทะเลถูกกวาดขึ้นไปเพื่อทำกำไร พื้นที่ชายฝั่งทะเลที่อุดมสมบูรณ์ถูกนำไปใช้เป็นเขตอุตสาหกรรม ส่วนนโยบายพัฒนาในพื้นที่ชายฝั่งทะเลไทยถูกออกแบบโดยรัฐบาลซึ่งชุมชนเองไม่ได้มีส่วนร่วม กระทบต่อวิถีชีวิต รายได้ และสุขภาพของชุมชนชายฝั่ง

ร่วมปกป้องสิทธิของชุมชนชายฝั่งที่กำลังได้รับผลกระทบจากทั้งวิกฤตสภาพภูมิอากาศ มลพิษจากอุตสาหกรรม และประมงทำลายล้าง ส่งผลให้ชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้วิธีประมงอย่างยั่งยืน ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล เพื่อปกป้องมหาสมุทรไทยและสิทธิชุมชนชายฝั่ง

ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล เพื่อปกป้องมหาสมุทรไทยและสิทธิชุมชนชายฝั่ง

มีส่วนร่วม