“ผมเกิดในหมู่บ้านกะเหรี่ยงสะกอที่ ‘อมก๋อย’ ครับ หมอตำแยเป็นคนนำผมออกมาสู่โลกภายนอก ไม่ได้ไปคลอดที่โรงพยาบาล” เจษฎา กล่อมลีลา เกิดปี 2541 ปีนั้นเป็นปีที่ยานเคลเมนไทน์ค้นพบน้ำในหลุมที่ขั้วของดวงจันทร์ซึ่งเป็นประโยชน์ในการตั้งถิ่นฐานในอนาคต ปีนั้นเป็นปีที่บริษัทไมโครซอฟท์วางจำหน่ายวินโดวส์ 98

         “บ้านมีไฟฟ้าใช้ตอนผมเรียนชั้น ป.2 ก่อนหน้านั้นก็จุดเทียนให้ความสว่าง แม่หาฟืนมาก่อไฟ เรียนหนังสือที่โรงเรียนใกล้บ้านจนจบ ป.6 จากนั้นผมตัดสินใจบวชเป็นสามเณรที่วัดศรีโสดา การบวชเป็นประตูไปสู่การศึกษาของเด็กภาคเหนือครับ ชีวิตมีแค่ 2 ทางสำหรับเด็กปกาเกอะญออย่างพวกเรา ถ้าไม่บวชเรียน ก็ต้องอยู่บ้าน ซึ่งการศึกษามีค่าใช้จ่ายครับ”

         ระหว่างที่บวชเรียน สามเณรเจษฎาออกไปทำกิจนิมนต์ตามที่ต่างๆ ทำให้ค้นพบดนตรีฮิปฮอป เพราะเสียงเพลงลอยอยู่ในอากาศ ดนตรีฮิปฮอปเรียกร้องความสนใจจากสามเณรไม่น้อยไปกว่ามนต์ภาษาบาลี

         “มันเข้ามายังไงก็ไม่รู้นะพี่ เราค่อยๆ ซึมซับมัน ผมประทับใจเนื้อหาที่มาจากความจริงของชีวิต ชีวิตที่ผ่านความยากลำบาก เพลงแรกๆ ที่ฟังน่าจะเป็นวงไทเทเนียม illslick แต่ถ้าเนื้อหาเพลงที่จริงจังน่าจะเป็น Liberate P ทำให้ผมอยากเขียนเพลง หลังจบ ม.6 ผมหยุดเรียน 2 ปี เพราะคำนวณแล้วพบว่าไม่น่าจะมีเงินเรียนพอ ช่วงนั้นผมทำงานในร้านข้าวขาหมู เสิร์ฟ ล้างจาน และเริ่มเขียนเพลง”

         ช่วงเวลา 2 ปีของเจษฎาเป็นเหมือน GAP YEAR ของเด็กหนุ่มสาวทั่วโลก GAP YEAR เป็นเหมือนเหมืองทองที่ให้โอกาสคนหนุ่มสาวขุดหาอนาคตของตนเอง ต่างตรงที่ว่าเจษฎามองไม่เห็นสิ่งนั้น

         “ผมมองไม่เห็นอนาคตของตัวเองที่อมก๋อย ผมไม่รู้จะกลับไปทำอะไรด้วยซ้ำ คิดแต่ว่าจะลงมาหางานทำในเมือง ถ้ามีเงินก็จะซื้อวัวซื้อควายกลับไปเลี้ยงที่บ้าน วนอยู่กับสิ่งที่พ่อแม่ทำมา”

         สองปีผ่านไป เขาพาตัวเองเข้าเรียนมหาวิทยาลัยจนจบ และเขียนเพลงแรกจบ ‘Dejavu’ เป็น AKA ของเจษฎา เพลง รอคอย…บิลลี่ เป็นเพลงแรกของเขาในชื่อ Dejavu ร่วมกับ นะรันทู และ PPM รวมตัวในนาม ‘feeling rhythm’

‘ใช่…ฉันอยู่กับป่า กินกับป่า ฉันทำมาหากิน ใช่ฉันเป็นคนป่า เป็นคนดอย ป่าคือชีวิน ใช่…ฉันมีหัวใจ แต่คนบางกลุ่มมองฉันแค่เศษดิน ฉันจึงลุกขึ้นสู้ ให้คนได้รู้ แต่เหมือนเขาไม่ได้ยิน ฉันถูกเผาบ้าน ถูกทำลายแหล่งทำมาหากิน ไล่ให้ฉันห่าง ข่มเหง น้ำตาไหลริน โลกมันโหดร้าย หรือว่าหัวใจคนที่มืดทมิฬ ฉันตะโกนเท่าไหร่ทำไมพวกเขาทำเหมือนว่าไม่ได้ยิน’

         “เพลงนี้เขียนถึงเหตุการณ์อุ้มหายพี่บิลลี่ พอละจี เขาเป็นปกาเกอะญอ ต่อมาก็มีเหตุการณ์เสือดำ เขตป่าเชื่อมโยงกันหมดครับ บ้านผมอยู่อมก๋อย แต่แนวเขาเชื่อมต่อไปถึงอุ้มผาง เราผูกพันกันหมดครับ ไม่ว่าจะอยู่ฝั่งนู้นหรือฝั่งนี้ มันทำให้เกิดเพลง และจากนั้นก็เกิดเพลง ความยุติธรรม (ชาวอมก๋อยไม่เอาเหมืองเเร่)

“ช่วงนั้นผมเห็นข่าวโครงการเหมืองถ่านหินที่อมก๋อย ผมได้ยินเสียงนักข่าวบอกว่า ถ้าหากไม่มีเสียงต่อต้านที่ดังพอ เหมืองถ่านหินก็อาจจะเกิดขึ้นได้ เราแชร์ข่าวกันในกลุ่มเพื่อน เราคุยกันว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง ตอนนั้นพวกเรามีสมาชิกกัน 3 คน นะรันทู, PPM และผม DEJAVU

         “เราคุยกันว่าจะเอายังไงกับการขับเคลื่อนของชาวกะเบอะดิน มันมีเวทีหนึ่งที่เขาประท้วงกันเรื่องนี้ที่อมก๋อย พวกผมก็อยู่ในเมืองกัน เรากลับบ้านกันไม่ได้เพราะต้องทำงาน เราทำอะไรกันได้บ้าง เราทำเพลงกันนี่ ก็เลยทำเพลงนี้ขึ้นมาปล่อยในยูทูป”

         ‘ผืนป่าของผม พี่น้องของผม ก็ให้พวกผมตัดสินใจ คุณแค่คนนอก อย่ามาทำลายวิถีชีวิตอันยาวนาน พวกผมมีสุขในแบบของผม ไม่ต้องมีนายทุนมาจัดเตรียม’

         เพลง ความยุติธรรม (ชาวอมก๋อยไม่เอาเหมืองเเร่) เดินทางเข้ามาจับหัวใจ เอกชัย ดำรงสกุลไพร เด็กหนุ่มปกาเกอะญอแห่งบ้านหว่าโน แม่ฮ่องสอน ผู้ผิดหวังในเส้นทางรับราชการทหาร กำลังบูรณะหัวใจขึ้นมาเริ่มต้นชีวิตในเมืองเชียงใหม่

         “พอได้ฟังเพลงนี้ ผมชอบมันในทันที เพราะตัวผมเองก็เพิ่งได้รับความไม่ยุติธรรมมา เพลงนี้มันปลุกอะไรบางอย่างในตัวผม” เอกชัย เล่า

         เอกชัยเติบโตมาในครอบครัวซิงเกิลมัมในหมู่บ้านปกาเกอะญอ ชีวิตของเขาไม่ต่างจากเจษฎา แต่มีความฝันเป็นสมบัติส่วนตัว สิ่งนี้ทำให้ทุกคนมีความแตกต่างจากคนอื่น

“ผมอยากเป็นทหาร ตัดสินใจไปสอบนายสิบ เพราะถ้าเป็นนายสิบก็ได้เงินเดือน มีสวัสดิการ ได้ดูแลแม่ ผมสมัครเป็นพลอาสาสมัครที่หน่วยรบพิเศษลพบุรี เป็นทหารอาสา 3 ปีจนสอบบรรจุนายสิบได้ แต่มาผิดหลักเกณฑ์การเข้ารับราชการตรงที่พ่อของผมไม่ใช่คนไทย พ่อของผมเสียชีวิตไปตั้งแต่ผมจำความไม่ได้ ระเบียบของการบรรจุนายสิบคือพ่อและแม่ต้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด ผมก็เลยไม่ได้ไปต่อ ก็เลยมาเชียงใหม่ มาหางานทำ” เอกชัย เล่า

พูดจบ เอกชัยพลิกโทรศัพท์ให้ดู มีรูปถ่ายขนาด 1 นิ้วติดอยู่ เป็นรูปถ่ายเขาสวมชุดทหาร

“ผมเก็บรูปนี้ไว้เพราะภูมิใจ ผมทำความฝันสำเร็จแล้วด้วยความพยายามของตัวเอง แต่เขาไม่ยอมรับผมเท่านั้นเอง”

หลังจากนั้นเอกชัยเข้าร่วมวง feeling rhythm พวกเขาทำงานประจำในเมืองเชียงใหม่ แต่ไม่ลืมที่จะคอยกระตุ้นเตือนให้เพื่อนทำเพลง

         เดจาวู – เรื่องราวของเอกชัยคล้ายกับเรื่องราวของผู้คนมากมายที่ไม่ได้รับสิทธิอันชอบธรรมจากการเป็นพลเมืองในประเทศนี้ เรื่องราวของเจษฎาวนซ้ำคล้ายกับชีวิตของบรรพบุรุษของเขา เรื่องราวที่จะเกิดกับกะเบอะดินคล้ายกับเรื่องราวในดินแดนอื่นที่ผู้คนกลายเป็นอื่นในบ้านตัวเอง

         “บ้านของผมอยู่ห่างจากกะเบอะดิน 60 กิโลเมตร แต่เราใช้อากาศร่วมกัน น้ำสายเดียวกัน ดินผืนเดียวกัน เมื่อสิ่งหนึ่งได้เกิดขึ้นมันส่งผลเชื่อมโยงมาถึงเราหมดครับ” Dejavu กล่าว เราทั้งผองเชื่อมร้อยด้วยท่วงทำนองเดียวกัน  


#ฮักเจียงใหม่บ่เอาถ่านหิน

#HugChiangmaiNoCoal

‘อมก๋อย’ แหล่งอากาศดีที่เชียงใหม่กำลังจะสูญเสีย

ชวนรู้จักชุมชนกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย และส่งกำลังใจให้ประชาชนในพื้นที่ซึ่งยืนหยัดต่อสู้มาแล้วกว่า 4 ปี เพื่อปกป้องไม่ให้เหมืองเกิดขึ้น

มีส่วนร่วม